PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2558

จุฬาราชมนตรีชี้ผลกระทบจากข่าวด้านลบจนมีกระแสต้านมุสลิม


จุฬาราชมนตรีชี้ผลกระทบจากข่าวด้านลบจนมีกระแสต้านมุสลิม ต้องแก้ด้วยการที่รัฐช่วยป้องปราม ขณะที่มุสลิมเองต้องแสดงออกในวิถีที่ทำให้คนเข้าใจตัวเอง
นายอาศิส พิทักษ์คุมพล จุฬาราชมนตรี ให้สัมภาษณ์บีบีซีไทยถึงเรื่องของผลกระทบในด้านลบจากข่าวต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับเหตุรุนแรงและมุสลิมทั้งในและนอกประเทศ รวมทั้งเรื่องกลุ่มที่เรียกตัวเองว่ารัฐอิสลาม (ไอเอส) และเหตุก่อการร้ายต่าง ๆ โดยยอมรับว่าเท่าที่เห็นขณะนี้รับรู้ได้ว่า เหตุการณ์หลายอย่างได้ทำให้เกิดกระแสต่อต้านมุสลิม แต่ก็เห็นว่าสำหรับสังคมไทยแล้ว อาจจะถือว่ายังไม่มากนัก แต่ก็มีแนวโน้มหรือความเป็นไปได้อยู่บ้างว่าจะรุนแรงได้หากไม่ป้องปราม จุฬาราชมนตรีชี้ว่า เรื่องนี้ต้องอาศัยความช่วยเหลือจากรัฐ ในขณะที่มุสลิมเองก็ต้องประพฤติตนให้คนเชื่อมั่น
“มุสลิมก็ต้องแสดงตัวให้แตกต่างไปจากผู้ที่มีความคิดใช้ความรุนแรง การแสดงออกของมุสลิมจะเป็นสิ่งที่อธิบายให้คนทั่วไปเข้าใจได้ดีที่สุด มากกว่าการใช้เอกสารหรือการประชาสัมพันธ์ใด ๆ การแสดงออกของมุสลิมต่อคนต่างศาสนา การโอภาปราศรัย มีความรู้สึกเป็นพี่น้องร่วมประเทศ สิ่งนี้จะอธิบายข้อเท็จจริงและลักษณะที่แท้จริงของอิสลาม ต้องเอื้ออาทรต่อคนอื่น โดยเฉพาะคนต่างศาสนา ในสังคมไทยเราไม่มีความแตกต่างทางศาสนาที่จะเป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิต ยังไม่เคยมี” พร้อมกับย้ำว่า มุสลิมควรจะศึกษาประวัติศาสตร์ ว่าผู้นำในอดีตเคยปฏิบัติต่อผู้อื่นอย่างไร แม้กระทั่งคนที่เป็นศัตรูก็ยังช่วยเหลือ ถึงแม้ว่าอาจจะพบกับคนที่ไม่เปิดใจ แต่ก็เป็นหน้าที่ของมุสลิมที่จะต้องแสดงออกให้ชัดเจนถึงความเอื้ออาทรต่าง ๆเพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นมุสลิมและอิสลาม
จุฬาราชมนตรีกล่าวว่า กระแสต่อต้านมุสลิมที่ปรากฎในบางครั้ง เช่นเรื่องของการสร้างกระแสจะทำลายมัสยิด ทำให้ที่ผ่านมาได้พยายามขอความร่วมมือกับทางรัฐบาลให้ช่วยยับยั้งกระแสต่อต้านและให้ร้าย แต่อีกด้านก็พยายามบอกมุสลิมไม่ให้ตอบโต้ แต่ให้ใช้วิธีการแสดงออกในการปฏิบัติเพื่อให้เห็นว่าเป็นมิตรและไม่ใช่ศัตรู
“เราก็เคยขอให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับปัญหานี้ เพราะมันเป็นเรื่องของความมั่นคงของชาติด้วย ช่วยหาทางยับยั้งกระแสในเรื่องการต่อต้านก่อนที่มันจะบานปลาย ขณะที่มุสลิมก็ต้องตรวจสอบตัวเอง” จุฬาราชมนตรีกล่าว
อย่างไรก็ตาม จุฬาราชมนตรีเห็นว่า ไม่น่าจะมีอะไรรุนแรงมากสำหรับคนเอเชีย โดยเฉพาะสำหรับสังคมไทย เพราะชาวพุทธเองก็เป็นผู้ที่รักความสงบเช่นกัน แต่จุดที่น่าเป็นห่วงอีกจุดหนึ่งคือมือที่สาม ที่อาจจะสร้างสถานการณ์ให้รุนแรงมากขึ้นได้ จึงต้องฝากให้รัฐบาลดูแลให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ในโอกาสต่อไป ความขัดแย้งทางศาสนาไม่ควรจะเกิดขึ้นในประเทศไทย เพราะว่าเกิดแล้วแก้ไขได้ยาก

ไม่มีความคิดเห็น: