PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 10 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559

การขัดแย้งทางความคิดรอบใหม่

ไทยรัฐ10/2/59

วันนี้ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ได้สร้าง ความขัดแย้งทางความคิดรอบใหม่ขึ้นอีกครั้งในสังคมไทย ก็ยังไม่รู้จะลงเอยอย่างไร เพราะ ความขัดแย้งทางความคิดในสังคมครั้งที่แล้ว ที่นำไปสู่ความรุนแรง นำไปสู่การปฏิวัติ 22 พฤษภาคม 2557 คณะปฏิวัติ หรือ คสช. ก็จัดให้มีการ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปทุกด้าน ทั้งการเมือง ประชาธิปไตย เศรษฐกิจ สังคม เพื่อไม่ให้ซ้ำรอยเดิม

แต่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับแรก ก็แท้งกลาง สภาปฏิรูปแห่งชาติเสียก่อน จากความขัดแย้งทางความคิดในกลุ่มแม่น้ำ 5 สาย

จนมาถึง ร่างรัฐธรรมนูญฉบับที่ 2 ที่มี คุณมีชัย ฤชุพันธุ์ เป็นประธาน ก็ยังนำไป สู่ความขัดแย้งทางความคิด เหมือนเดิม เพราะร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัยที่คลอดออกมา ไม่เป็นประชาธิปไตยจริง แต่เป็นประชาธิปไตยอะไรก็ไม่รู้ สามารถขโมยคะแนนเสียงประชาชนที่เลือกพรรคการเมืองหนึ่ง เอาไปให้อีกพรรคการเมืองหนึ่งที่ประชาชน ไม่ได้เลือก เพื่อช่วยให้พรรคนั้นได้จำนวน ส.ส.เพิ่มขึ้น แม้แต่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ก็ยังยำใหญ่ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย เช่นเดียวกับ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่โหวตคว่ำ ร่างรัฐธรรมนูญฉบับบวรศักดิ์

5 ประเด็นใหญ่ที่ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ไม่เห็นด้วยใน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ผมได้ลงรายละเอียดไปแล้วเมื่อวานนี้

ที่น่าสนใจตามมาก็คือ หลังจากที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้แถลง คัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย ใน 5 ประเด็นไปแล้ว พล.ต.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกสำนักนายกฯ ก็ได้เสนอบทความเรื่อง “ประชาธิปไตย จิตสำนึกของสังคม” เผยแพร่สู่สาธารณะ

พล.ต.วีรชน ได้อ้างอิงบทความเรื่อง “ปรากฏการณ์ประชาธิปไตยไร้เสรี” (The Rise of llliberal Democracy) ของ Fareed Zakaria ที่ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศเมื่อ 20 ปีก่อนว่า ได้กระตุ้นให้ขบคิดว่า การพัฒนาประชาธิปไตยและเสรีนิยมภายใต้รัฐธรรมนูญที่มีรูปแบบประชาธิปไตยแบบตะวันตก อาจเป็นเพียงหนึ่งในหลายหลักการประชาธิปไตย เพราะ ประชาธิปไตยคือจิตสำนึกหนึ่งของสังคม แต่ไม่ใช่ทั้งหมด ดังนั้น อาจจะผิดพลาดได้ หากตีความว่า ประชาธิปไตยคือธรรมาภิบาล พล.ต.วีรชน ระบุว่า ข้อคิดเห็นของนาย Zakaria อาจตรงกับสิ่งที่กำลังเกิดขึ้นในปัจจุบัน

ก็ไม่รู้ว่าบทความนี้เป็น ความคิดเห็นส่วนตัว ของ พล.ต.วีรชน หรือ เป็นนโยบาย

ช่วงหนึ่ง พล.ต.วีรชน ได้ยกคำพูดของ ผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศ ที่อ้างถึงคำพูดของ นายวิล ดูแรนต์ นักเขียนรางวัลพูลิตเซอร์ว่า “ในวัยหนุ่มของฉัน ฉันให้ความสำคัญต่ออิสรภาพ และเมื่อวัยชรา ฉันให้ความสำคัญต่อกฎระเบียบ สิ่งที่ฉันค้นพบที่ยิ่งใหญ่คือ เสรีภาพเป็นผลิตผลหนึ่งของการคงไว้ซึ่งกฎระเบียบ”

ผมไม่แน่ใจว่าท่านรองโฆษกเข้าใจคำพูดประโยคนี้ว่าอย่างไร เพราะไม่ได้เขียนไว้

แต่ผมอ่านแล้วเข้าใจว่า คำพูดของ นายวิล ดูแรนต์ ในประโยคที่ว่า “เสรีภาพเป็นผลิตผลหนึ่งของการคงไว้ซึ่งกฎระเบียบ” คือ “หัวใจประชาธิปไตยที่แท้จริง” เลยทีเดียว สิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตยจะมีได้ ก็ต่อเมื่อมีกฎระเบียบที่เข้มงวด คอยควบคุมป้องกันและลงโทษผู้ฝ่าฝืน ไม่ให้มีการใช้ “อิสรภาพ” ในการไป คุกคามหรือละเมิดสิทธิเสรีภาพของบุคคลอื่น ดังนั้น สิทธิและเสรีภาพ จึงเป็น “หัวใจสำคัญ” ของ ระบอบประชาธิปไตยในประเทศที่เจริญแล้ว เช่น สหรัฐฯ อังกฤษ

หลักการของ สิทธิเสรีภาพ นี่แหละที่จะนำไปสู่ การสร้างกลไกประชาธิปไตยที่ถูกต้องขึ้นในสังคม ไม่ใช่การให้อำนาจแก่ผู้หนึ่งผู้ใดหรือหน่วยงานหนึ่งหน่วยงานใด

“เสรีภาพเป็นผลิตผลหนึ่งของการคงไว้ซึ่งกฎระเบียบ” อย่างที่ นายวิล ดูแรนต์ พูดไว้นั้นถูกต้องแล้ว เพราะนั่นคือ หลักการในระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง และไม่ผิดพลาดแน่นอน.

“ลม เปลี่ยนทิศ”

ไม่มีความคิดเห็น: