PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 23 มีนาคม พ.ศ. 2559

"สดศรี" ชี้ ส.ว.คือผู้กำหนดเกม เลือกตั้งแค่พิธีกรรม...รัฐบาลใหม่เป็นไม้ประดับ

updated: 23 มี.ค. 2559 เวลา 17:58:25 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
สัมภาษณ์พิเศษ
ข้อเสนอของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถึงคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ความยาว 6 หน้ากระดาษ ถูกตีความว่า เป็น "ใบสั่ง" มากกว่าจะเป็น "ข้อเสนอ" 

ประชาชาติธุรกิจ ชวน "สดศรี สัตยธรรม" อดีตกรรมการการเลือกตั้ง สนทนาถึงบรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ในฐานะที่เธอเคยเป็นคณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญเมื่อ 9 ปีก่อนร่วมเขียนรัฐธรรมนูญที่เป็นผลผลิตจากการรัฐประหาร ไม่ผิดแผกกับร่างรัฐธรรมนูญที่ "มีชัย ฤชุพันธุ์" ที่กำลังร่างอยู่

"สดศรี" เหลียวความหลังในช่วงที่ร่างรัฐธรรมนูญปี50 แลไปข้างหน้าถึงข้อเสนอ คสช. ที่กำลังร้อนแรงอยู่ในเวลานี้ 



- มองสถานการณ์การร่างรัฐธรรมนูญปัจจุบันอย่างไร

เหมือนอย่างที่เสียงส่วนใหญ่พูด มองว่าเป็นการต่อท่ออำนาจหรือเปล่า คสช.ยังไม่วางมืออย่างแท้จริง แม้จะมีการเลือกตั้งเสร็จแล้วก็ยังมีองค์กรเข้ามาควบคุมการบริหารงานรัฐบาลได้ คือ ส.ว. ซึ่งมาจากการสรรหา 250 คน มีตำแหน่งประจำคือผู้นำทหารทั้งหมด และยังให้ คสช.มีหนังสือมา ลักษณะเหมือนกับว่าบังคับกันกลายๆ ว่าต้องร่างตามนี้ ซึ่งอาจทำให้ กรธ.อึดอัด

มีคำถามว่าทำไมไม่สั่งโดยไม่มีลายลักษณ์อักษรหรือแอบสั่งกัน ก็เชื่อว่า กรธ.ไม่ต้องการแบบนั้น คงมองดูแล้ว สิ่งที่ลักษณะเหมือนต่อท่ออำนาจไม่ใช่มาจาก กรธ. ก็ต้องการว่าไม่ใช่ท่านนะ คนอื่นสั่งมา ก็กลายเป็นคำสั่งลายลักษณ์อักษร

และถ้า กรธ.เอาตามคำสั่งดังกล่าว ก็เหมือนกับว่า กรธ.ไม่ได้มีอิสระในการร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งเป็นเรื่องน่าเห็นใจว่า การทำงานอาจจะมีความกดดันจนเกินไปหรือไม่ แต่ถ้ามองอีกแง่ดี ก็ตรงๆ ดี ที่ คสช.ต้องการแบบนี้ มีลายลักษณ์อักษรแบบนี้ ถ้า กรธ.เห็นด้วยก็ร่างไปตามหนังสือที่สั่งการมา บทบาทต่อไปของ กรธ.ก็เป็นที่จับตาของประชาชน ว่าร่างรัฐธรรมนูญที่มาจากคำสั่งของผู้มีอำนาจในขณะนี้หรือไม่


- เป็นแท็กติกของอาจารย์มีชัยหรือไม่ว่าจะต้องไม่สั่งลับหลัง

อาจจะต้องเป็นการป้องกันตัวเองอย่างหนึ่งเพื่อให้สังคมรู้ว่าไม่ใช่ไอเดียของท่านแต่เป็นการสั่งมา เป็นเรื่องฉลาดที่ให้สั่งเป็นลายลักษณ์อักษร เพราะถ้ามีอะไรก็บอกว่าไม่ได้เป็นความคิดของท่านเอง

ตอนนี้มีแนวสองความคิด แนวความคิดแรกเป็นของอาจารย์มีชัย ผู้ที่กุมอำนาจรัฐมอบหมายให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้ดูแลทั้งหมด อีกแนวความคิดของทหารไม่เอาศาลรัฐธรรมนูญ แต่เอา ส.ว.เป็นผู้ควบคุมการเปลี่ยนผ่านในขณะนี้ 5 ปี จึงต้องดูวันที่ 29 มี.ค. (วันเปิดเผยร่างรัฐธรรมนูญ) ว่า ท่านมีแนวโน้มไปทางไหน หากไม่ทำตามคำสั่ง คสช.จะมีแนวแก้ไขอย่างไร อาจจะไปไม่ถึงการทำประชามติก็ได้


- ปัจจัยอะไรที่จะไปไม่ถึงการลงประชามติ


สิ่งที่จะทำให้ไม่ถึงประชามติ คือคำสั่งของ คสช. ที่จะใช้มาตรา 44 ไม่ต้องทำประชามติ ถ้าท่านมีชัยทำสิ่งที่เป็นความต้องการของ คสช.แล้ว เชื่อว่าพรรคการเมืองต่างๆ ไม่เห็นด้วย โดยเฉพาะพรรคการเมืองใหญ่ๆ ไม่รับ มันจะกระทบไปถึงประชาชนด้วย เพราะอย่าลืมว่าแต่ละพรรคมีหัวคะแนนในจังหวัดต่างๆ ในกรณีนี้พรรคการเมืองไม่จำเป็นต้องรณรงค์ว่าไม่รับ แค่เพียงพูดต่อๆ กันไป หัวคะแนนพูดให้ลูกบ้านฟังก็ชัดเจนอยู่แล้ว

ถ้าแนวโน้มประชามติไม่ผ่าน สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป คสช.อาจใช้มาตรา 44 ไม่ต้องทำประชามติ และอาจให้ใช้รัฐธรรมนูญ 2521 ก็ได้ เพราะรัฐธรรมนูญ 2521 มีบทบัญญัติเรื่องนายกฯ มาจากคนนอก และ ส.ว.มาจากการแต่งตั้ง ซึ่งเป็นลักษณะที่ตรงกับ คสช.ในขณะนี้


- ถ้า กรธ.ยอมทำตามคำสั่งให้มี ส.ว.สรรหา ทั้งหมด อนาคตการเมืองจะเป็นอย่างไร


ไม่ต่างไปจาก คปป. ของอาจารย์บวรศักดิ์ มีคนดูแลรัฐบาลอีกที การทำงานของรัฐบาลจะทำงานได้ยากมาก หรือทำไม่ได้เลย ก็แล้วแต่ว่า ส.ว.ว่าอย่างไร เพราะ ส.ว.สามารถยับยั้งนโยบายหรือโครงการต่างๆ ของรัฐบาลได้ เหมือนยกอำนาจ คปป.มาใส่ใน ส.ว. แต่ถ้า ส.ว.จากการแต่งตั้งไม่มีอำนาจ เพียงแต่กลั่นกรองกฎหมายก็ไม่มีอะไร


- ส.ว.สรรหาปี50 กับ ส.ว.สรรหาในรัฐธรรมนูญใหม่ จะทำให้การเมืองทั้ง 2 ช่วงแตกต่างกันอย่างไร


ส.ว.สรรหาปี50 เป็น ส.ว.ที่แต่งตั้งโดย 7 ประธานองค์กรอิสระ คนก็มองว่าเล่นพวกกันหรือเปล่า โดยมากคนที่เข้ามาเป็น ส.ว.ก็เป็นหน้าเดิม แล้วเข้ามาก็มาจับกลุ่มกัน ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับ ส.ว.ที่มาจากการเลือกตั้ง จะเห็นว่ากฎหมายต่างๆ จะถูกยับยั้งโดย ส.ว.สรรหา กฎหมายจะเดินไปยากมากแต่ถ้ามี ส.ว.สรรหาทั้งหมด แน่นอนทุกอย่างก็ไปได้ราบรื่น แต่ไปได้ราบรื่นเพื่อประโยชน์ของฝั่งใด ก็เป็นเรื่องชี้ขาดในอนาคตข้างหน้า ถ้าคุม ส.ว. 250 คนได้ทั้งหมด ก็จะเป็นไปตามผู้ที่คุมได้ชี้ไปตามนั้น


- เท่ากับว่าการเมืองช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปี ส.ว.จะเป็นคนกำหนดเกม


ส.ว. จะเป็นผู้กำหนดเกม การเลือกตั้งจะเป็นแค่พิธีกรรมเท่านั้น การได้มาซึ่งรัฐบาลในรัฐธรรมนูญที่จะเกิดขึ้นข้างหน้าเป็นไปตามที่ต่างชาติมีคือการเลือกตั้ง แต่อำนาจของรัฐบาลแทบจะไม่มีความหมาย สิ่งที่จะชี้นำรัฐบาลขึ้นอยู่กับการทำงานของ ส.ว.มากกว่า ที่จะเป็นบทบาทของรัฐบาล ซึ่งมีหลายท่านเห็นว่า เอ๊ะ...อย่างนี้ก็ไม่ต้องมีเลือกตั้ง เพราะมีหรือไม่มี รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งก็ไม่มีอะไรที่เป็นประชาธิปไตยที่เขาทำกัน รัฐบาลในอนาคตข้างหน้าจะเป็นเหมือนไม้ประดับ อยู่ไปวันๆ ผู้ที่มีบทบาทจะเป็น ส.ว. แล้วถ้าองค์กรอิสระไม่ถูกแก้ไข เอาตามอาจารย์มีชัย องค์กรอิสระก็จะมีบทบาทมากมาย


- คิดว่า กรธ.คำนึงถึงผลกระทบทางการเมืองหรือไม่ ถ้าร่างไปตามข้อเสนอของ คสช.


ถ้า กรธ.ไม่ได้รับการสั่งมา เชื่อว่าท่านจะร่างรัฐธรรมนูญคล้ายรัฐธรรมนูญ 2550 มากกว่า คงไม่มีองค์กรใดคุมรัฐบาลอีกที แต่ขณะนี้คงเป็นลักษณะที่เขามองว่าเป็นการต่อท่ออำนาจกันหรือไม่ แต่ถ้ารัฐบาลถูกควบคุมแบบนี้ ต้องทำให้ต่างชาติยอมรับได้ด้วย ถ้าต่างชาติไม่ยอมรับก็จะถูกกดดันด้านเศรษฐกิจ มันจะไปไม่รอดในเรื่องเศรษฐกิจ


- มองบทลงโทษในร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ในกรณีที่การบิดเบือนร่างรัฐธรรมนูญ ต้องจำคุก 10 ปี อย่างไร


จะลงโทษจำคุก 10 ปี คงไม่ถึงขนาดนั้น แต่บทลงโทษเหมือนกับ พ.ร.บ.ออกเสียงประชามติ ปี 2552 แต่มีเพิ่มเติมว่าใครจะไปเดินรณรงค์ต่อต้านรัฐธรรมนูญไม่ได้ ซึ่งเป็นอันตรายอย่างยิ่ง เพราะการทำประชามติต้องให้โอกาสคนที่เห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยสามารถพูดได้ แต่การที่ปิดปากไม่ให้พูดคงทำไม่ได้

และการตีความของ กกต. อาจทำให้เกิดการตีความขึ้นมาว่า แค่ไหน อย่างไร ถึงเรียกว่าวิพากษ์วิจารณ์ และเป็นการไม่ให้รับร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่มีตัวอย่างหรือบทบัญญัติใดที่ชัดเจน เป็นเรื่องที่ กกต.ต้องชี้แจงให้ประชาชนทราบว่าแค่ไหนเพียงไร เพราะหลายครั้งที่ กกต.ทำงานก็จะมีคนสอบถามเรื่อยว่าแค่ไหนจะเป็นมาตรฐาน ซึ่งบางครั้ง กกต.ก็ไม่สามารถตอบได้ แล้วแต่วิจารณญาณของผู้ดำเนินการ แต่การออกบทบัญญัตินี้เป็นเหมือนการปรามว่าพูดอะไรมากไม่ได้นะ เพราะถ้าพูดไปอาจเข้าลักษณะมาตรานี้ก็ได้


- การกำหนดบทลงโทษรุนแรงเพราะต้องการเข็นรัฐธรรมนูญให้ผ่านประชามติหรือไม่


ใช่ แต่อย่าลืมว่านักการเมืองมีวิชาของเขา ที่พูดบ่อย ๆ ว่านักการเมืองเป็นบุคคลพิเศษถึงมีข้อห้ามแบบนี้ แต่สิ่งที่เขาจะทำคือการบอกต่อผ่านหัวคะแนนโดยไม่มีการเปิดเผย วิพากษ์วิจารณ์ การบอกต่อในที่นี้คือเดินใต้ดิน บอกว่าไม่รับรัฐธรรมนูญ


- การใช้เกมใต้ดินของฝ่ายการเมืองรณรงค์ไม่รับรัฐธรรมนูญ จะเป็นเหตุให้ คสช.ใช้มาตรา 44 ยกเลิกประชามติได้หรือไม่

เขาทำได้ทั้งนั้น เพราะมาตรา 44 เหมือนกับยาดำแทรกได้หมดทุกอย่าง ดังนั้นถ้า คสช.เห็นว่า มีแนวโน้มไม่ผ่านประชามติ อาจจะเลิกล้มการทำประชามติก็ได้


- มีโอกาสหรือไม่ที่สองพรรคใหญ่ที่คัดค้านรัฐธรรมนูญจะบอยคอตไม่ลงเลือกตั้ง

เชื่อว่าไม่บอยคอตเลือกตั้งแต่จะทำเรื่องประชามติมากกว่า แต่สิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไปคือ คสช.วางโรดแมปไว้ ปี60 แม้ประชามติไม่ผ่าน แต่ คสช.อาจเอารัฐธรรมนูญปี21 มาใช้ พรรคการเมืองไม่มีทางที่จะไปแล้ว สมมุติประชามติไม่ผ่านก็เอาฉบับอื่นมาแทน ไม่ต้องตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญอีกแล้ว


- นักการเมืองจะต้องหวานอมขมกลืนยอมเล่นตามกติกา คสช.


บทบาทของทหารมีมานานแล้ว เป็นเรื่องการยอมรับอำนาจทหาร สิ่งที่เกิดขึ้นขณะนี้คือการยอมรับบทบาททหาร การที่นักการเมืองไม่มีงานทำขึ้นอยู่กับทหาร การจะมีงานทำจะรับได้ไหม โดยถูกควบคุมโดยองค์กรใดองค์กรหนึ่งที่จะเกิดขึ้นข้างหน้า


- เทียบกับบรรยากาศตอนร่างรัฐธรรมนูญ 2550 เป็นอย่างไร


บรรยากาศการร่างรัฐธรรมนูญ 2550 ความกดดันต่อ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งตนเองเป็น 1 ใน 35 คน ไม่มีคำสั่งใดๆ ในลักษณะลายลักษณ์อักษรหรือทางโทรศัพท์ แต่สำหรับคนอื่นไม่ทราบ คมช.ไม่ได้มาเกี่ยวข้องสั่งให้เราร่างอย่างไร สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็ไม่มีการตรวจสอบ ให้อำนาจสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ดำเนินการได้โดยตรง เพราะมีบทบัญญัติรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2549 ระบุว่า เมื่อร่างรัฐธรรมนูญเสร็จ ต้องเร่งให้มีการทำประชามติ

การร่างรัฐธรรมนูญ เราเปิดโอกาสให้สื่อมวลชนได้เข้าฟังตลอดเวลา จะไม่มีการปิดบัง ไม่มีการประชุมลับเลย แรงกดดันจากการวิพากษ์วิจารณ์ไม่มี เพราะสื่อมวลชนรู้ก่อน และได้ประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ โดยเฉพาะพรรคการเมืองก็ไม่ได้คัดค้านในการร่างรัฐธรรมนูญ จะคัดค้านเล็กน้อยในส่วนที่เกี่ยวกับการยุบพรรคการเมือง ในมาตรา 237 กรรมการบริหารพรรคทำผิดก็ให้ยุบพรรคได้


- รัฐธรรมนูญ 2550 มีการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรคที่ถูกยุบ ซึ่งนำมาจาก คปค.ฉบับที่ 27 จะถือเป็นคำสั่ง คมช.หรือไม่

คมช. ไม่ได้สั่งในลักษณะเป็นลายลักษณ์อักษรว่าต้องมีบทบัญญัติอันนี้นะ แต่เป็นการประชุมของคณะกรรมการ 35 คน ว่าควรมีประเด็นนี้หรือไม่ ขณะนั้นมองว่ารัฐบาลก่อนหน้านั้นเข้มแข็งจนเกินไป อาจกลัวว่าเป็นเผด็จการรัฐสภา จึงมีการควบคุมพรรคการเมือง ต้องทำให้ความเข้มแข็งของพรรคการเมืองอ่อนลงไป จึงมีบทบัญญัตินี้ขึ้นมา คมช.ไม่ได้มีหนังสือสั่งการมาเหมือน คสช.ในรัฐธรรมนูญที่กำลังจะใช้ในวันข้างหน้า


- การร่างรัฐธรรมนูญขณะนั้นไม่มีการพูดถึงเจตนารมณ์ของ คมช.เลย
ไม่มีลักษณะโจ่งแจ้งเป็นหนังสือสั่งการข้อ 1 2 3 ไม่มี แต่การพูดกันข้างหลังหรือไม่...ไม่ทราบ แต่สิ่งที่เป็นข้อครหา คือการเอากรรมการองค์กรอิสระเข้ามาเป็น กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ทั้ง กกต. ป.ป.ช. (กรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ) และศาลรัฐธรรมนูญ ก็มีการพูดกันว่า เข้ามาเพื่อดูแลองค์กรของตัวเอง และจะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญในรัฐธรรมนูญ 2550 มีบทบาทมากขึ้น อาจจะมองดูว่าเกี่ยวพันกับมีผู้เข้าไปร่างหรือไม่ 

ไม่มีความคิดเห็น: