PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ด้วยด้วยการคัดค้านเหมืองทอง

วานนี้ขณะที่จะต้องไปรอมติ ครม.จึงถือโอกาสทำหนังสือแจ้งให้นายกรัฐมนตรีตรวจสอบว่ามีอ่างเก็บน้ำใต้ดินทิศเหนือพื้นที่เหมืองทองคำขนาด 1-6 ล้านลูกบาศก์เมตร ตามรายงาน EIA ของบริษัท อัคราจริงไหม
วันที่ 10 พฤษภาคม 2559
เรื่อง เสนอให้แก้ปัญหาภัยแล้งของประชาชนด้วยทรัพยากรน้ำจากอ่างเก็บน้ำใต้ดิน (Underground Reservoir) ในบริเวณพื้นที่ด้านเหนือของพื้นที่โครงการเหมืองทองคำบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) จังหวัดพิจิตร และหยุดเหมืองทองคำในประเทศไทย
เรียน ท่านนายกรัฐมนตรี พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา
สิ่งที่ส่งมาด้วย รายงานด้านอุทกวิทยาน้ำใต้ดินและคุณภาพน้ำ ในรายงาน EIA พ.ศ.2550 ของบริษัท อัคราไมนิ่ง ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน) และบางส่วนของรายงานประจำปี 2558 และรายงาน เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2559 บริษัท Kingsgate Consolidated Limited และ รายงานบริษัท MATSA ประเทศออสเตรเลีย
เนื่องจากปัจจุบันประเทศกำลังประสบภาวะภัยแล้งอย่างรุนแรง ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างแสนสาหัสรัฐบาลต้องทุ่มงบประมาณเป็นจำนวนมากเพื่อจัดหาแหล่งน้ำสะอาดจากทุกวิถีทางเพื่อแก้ปัญหาภัยแล้ง 




ด้วยพบว่าในรายงาน EIA ฉบับที่ 2 ของบริษัทอัคราฯ ที่ผ่านการเห็นชอบของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ สำนักนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เมื่อ พ.ศ. 2550 ซึ่งจัดทำโดย บริษัท เอส.พี.เอส.คอนซัลติ้ง จำกัด บทที่ 3 สภาพแวดล้อมปัจจุบัน ข้อ 3.1.5.2 อุทกวิทยาน้ำใต้ดินและคุณภาพน้ำ หน้า 3-55 ย่อหน้าที่ 3 ระบุว่า ชั้นหินอุ้มน้ำตะกอนลักพา (Alluvial Aquifer) พื้นที่บริเวณเหมืองแร่ทองคำชาตรีนี้มีหินอุ้มน้ำอยู่ 2 แบบ ได้แก่ ชั้นหินอุ้มน้ำระดับตื้น คือ ชั้นตะกอนน้ำพา และชั้นหินอุ้มน้ำระดับลึกคือชั้นหินฐาน (bedrock) เป็นชั้นหนาวางตัวอยู่ด้านล่าง (ซึ่งชั้นนี้เป็นชั้นต้านน้ำ (aquitard) ชั้นหินอุ้มน้ำนี้เป็นชั้นหินอุ้มน้ำแบบไร้แรงดัน....
ย่อหน้าที่ 4 ระบุว่า พื้นที่ด้านเหนือพื้นที่โครงการที่มีการใช้น้ำจากแหล่งน้ำใต้ดินระดับตื้นมีเนื้อที่ประมาณ 1-2 ตารางกิโลเมตร (625-1250 ไร่-ผู้จัดทำ) จากการศึกษาพบว่ามีลักษณะเป็นอ่างเก็บน้ำใต้ดิน (Underground Reservoir) ที่มีความจุของน้ำแทรกอยู่ตามชั้นกรวด-ทรายที่ได้จากการคำนวณโดยโปรแกรม Surfer Golden Software Version 7 ประมาณ 1.8-6.3 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยน้ำที่กักอยู่บริเวณนี้ได้มาจากการถ่ายเทน้ำจากพื้นที่โดยรอบ ซึ่งมีศักยภาพการให้น้ำสูงเช่นเดียวกันประมาณ 41.5-145.3 ล้านลูกบาศก์เมตร รายละเอียดการศึกษาเรื่องน้ำใต้ดินระดับตื้นอยู่ในภาคผนวก ซ ของรายงาน EIA ฉบับดังกล่าว

แม้ว่ารายงาน EIA ฉบับดังกล่าวจะจัดทำเมื่อราว 10 ปีมาแล้ว แต่เนื่องจากตามรายงานผลการติดตามตรวจสอบสิ่งแวดล้อมครั้งที่ 49 ประจำเดือนกันยายน 2558 พื้นที่เหมืองทองคำชาตรีของบริษัทอัคราฯ มีพื้นที่ถึง 7,282-0-66 ไร่ ดังนั้น จึงขอให้ท่านนายกรัฐมนตรีสั่งการให้ตรวจสอบความจริง หากอ่างเก็บน้ำใต้ดินตามที่ระบุในรายงาน EIA ดังกล่าวนี้ยังคงให้น้ำอยู่แล้วไซร้ย่อมควรที่จะนำน้ำเหล่านี้ไปตรวจคุณภาพจากห้องปฏิบัติการที่มีมาตรฐาน เมื่อพบว่าน้ำมีความสะอาดปลอดภัยก็สมควรนำออกแจกจ่ายแก่ประชาชนก็จะเป็นการบรรเทาทุกข์ในสถานการณ์ภัยแล้งที่รุนแรงอยู่นี้ให้คลี่คลายลงได้ไม่น้อยเลยทีเดียว แต่หากรายงาน EIA นี้ไม่เป็นความจริงก็เท่ากับรายงานเป็นเท็จ หรือหากรายงานเป็นความจริงแต่อ่างเก็บน้ำใต้ดินปราศนาการไปเพราะการทำเหมืองทองคำ ก็สมควรที่ท่านนายกฯจะทบทวนการพิจารณาเรื่องการต่ออายุใบประกอบโลหกรรมและนโยบายเหมืองแร่ทองคำทั่วประเทศอย่างรอบคอบที่สุด ทั้งนี้เพื่อปกป้องทรัพยากรอันมีค่าที่เสียหายไปอย่างไม่สามารถฟื้นคืนได้ และปกป้องคุณภาพชีวิตของประชาชนเป็นสำคัญ
เชื่อว่าปัญหาความเสียหายจากการทำเหมืองแร่ทองคำ ท่านคงทราบจากรายงานและหนังสือร้องเรียนต่างๆ ด้วยดีแล้ว และโปรดใช้อำนาจโดยธรรมหยุดเหมืองทองคำทั้งหมดในประเทศไทย
จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณาให้เกิดประโยชน์สูงสุดของประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศไทย โปรดอย่าปล่อยให้คนเพียงส่วนน้อยมาฉกฉวยประโยชน์จากทรัพยากรที่มีค่าของคนไทย โดยเฉพาะบริษัทต่างชาติที่อยู่เบื้องหลังอย่างเปิดเผยในการผลิตทองคำจากแผ่นดินของเราที่บังอาจเขียนในรายงานประจำปีทุกปีว่าเป็นผู้ถือหุ้นสามัญ100% ในบริษัท 7 แห่งที่เกี่ยวกับกิจการเหมืองทองคำในประเทศไทย
ด้วยความนับถือ
สมลักษณ์ หุตานุวัตร
อดีตพยานผู้เชี่ยวชาญกรณีเหมืองทองคำพิจิตร
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ
และคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงและแก้ไขปัญหา
ข้อขัดแย้ง ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ จากการ ทำเหมืองแร่ทองคำของ บริษัท อัครา รีซอร์สเซส จำกัด (มหาชน)










ไม่มีความคิดเห็น: