PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 11 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

ณรงค์ โชควัฒนา :ว่าด้วย"เติ้งเสี่ยวผิง"

ปุจฉา
หลัง เติ้ง เสี่ยวผิง กลับมามีอำนาจอีกครั้งหนึ่ง ได้ทำการปฏิรูปประเทศจีน โดยนำเอาระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม บางส่วนกลับมาใช้นั้น ประสบความสำเร็จหรือมีความยากลำบากอย่างไรบ้าง?
วิสัชนา
หลังจาก ท่านประธาน เหมา เจ๋อตุง ถึงแก่อสัญกรรม ใน ปี ค.ศ.1976 ได้ตั้ง นาย หัว กั๊วเฟิง ขึ้นมาสืบทอดอำนาจ หัว กั๊วเฟิง ได้จับกุม แก็งค์ 4 คน อันประกอบด้วย เจียงชิง (ภรรยา ของประธานเหมา เจ๋อตุง) เหยาเหวินหยวน จางชุนเฉียว และหวังหงเหวิน ที่เป็นตัวการในการปฏิวัติวัฒนธรรม หลังจากนั้น หัว กั๊วเฟิง ก็ค่อยๆ หมดอำนาจในพรรคลง
ใน ค.ศ.1978 เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เข้ามามีอำนาจในพรรคอีกครั้งหนึ่ง และได้ทำการปฏิรูปประเทศจีนให้กลับมาสู่ระบบเสรีนิยมทางเศรษฐกิจ (ทุนนิยม) โดยไม่ได้มีการปฏิรูปที่ดิน ที่ดินยังคงเป็นของรัฐ 100 % แต่ทรัพย์สินอื่นๆ เช่น บ้าน โรงงาน ค่อยๆ ทยอยขายและให้ประชาชนเช่า มีการยกเลิกระบบนารัฐ นารวม ด้วยการแบ่งหน้าที่และความรับผิดชอบให้แก่ประชาชนแต่ละครอบครัวดูแลและผลิตอาหารในที่ดินของรัฐ ผลผลิตจำนวนหนึ่งส่งให้รัฐ ผลผลิตส่วนเกินจากจำนวนนั้นตกเป็นของประชาชน เพียงเท่านี้ ปริมาณผลผลิตภาคการเกษตรไม่ว่าจะเป็นอาหารทุกชนิด เพิ่มขึ้นทันที 3 เท่าจากที่เคยผลิตได้ ความขาดแคลนเรื่องอาหารหมดสิ้นไปโดยทันที ประชาชนในชนบทมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างรวดเร็ว
เติ้ง เสี่ยวผิง ได้ทำสนธิสัญญาความร่วมมือกับสหรัฐอเมริกาที่เป็นศัตรูเก่าได้สำเร็จเป็นครั้งแรก โดย ในปี ค.ศ.1979แลกเปลี่ยนกับการปิดสถานทูตสหรัฐอเมริกาในไต้หวัน หลังจากนั้นสหรัฐอเมริกาได้เลิกคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับประเทศจีน และมีสัมพันธ์ทางการทูตเป็นปกติ ประเทศที่เป็นตลาดที่ใหญ่ที่สุดในโลก 2 ประเทศ มีความสัมพันธ์ทางการค้า การลงทุนอีกครั้งหนึ่ง เติ้ง เสี่ยวผิง ได้เปิดเขตเศรษฐกิจพิเศษรอบๆ ชายฝั่งเพื่อสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม เริ่มจาก 14 เมือง ใน 3 มณฑลชายฝั่งทะเล แต่การลงทุนก็ยังมีอุปสรรคมาก อันเนื่องมาจากกฎหมายและระเบียบวิธีการที่ล่าช้า ล้าหลัง ทำให้การทำธุรกิจในประเทศจีนเป็นไปด้วยความยากลำบาก และผู้ลงทุนไม่สามารถที่จะไล่คนงานที่ขี้เกียจออก หรือให้รางวัลกับคนงานที่ขยันได้ การทำอุตสาหกรรมของชาวต่างชาติ จึงไม่ค่อยประสบความสำเร็จในตอนเริ่มต้น มีอุปสรรคจากความไม่เข้าใจ และความเคยชินในระบบเศรษฐกิจแบบสังคมนิยมมาช้านาน
การเปิดประเทศและเปิดเสรีทางเศรษฐกิจทำให้ข้าราชการและเจ้าหน้าที่ของรัฐ ประพฤติตนทุจริตคอร์รัปชั่น สร้างความร่ำรวยให้กับตนเองและพรรคพวก โรงงานของรัฐที่มีอยู่แต่ดั้งเดิมก็ไม่มีประสิทธิภาพภายใต้ระบบสวัสดิการ พนักงานส่วนใหญ่ก็ขี้เกียจ ไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นเมื่อ เติ้ง เสี่ยวผิง ตัดสินใจอนุญาตให้โรงงานของรัฐที่ขาดทุนสามารถปิดกิจการได้ ก็ส่งผลให้คนงานในภาคอุตสาหกรรมตกงานจำนวนถึง 100 ล้านคน แม้คนตกงานจะยังได้รับการเลี้ยงดูจากรัฐ แต่ก็สร้างปัญหามากมายในระบบเศรษฐกิจและสังคม
ต่อมา เติ้ง เสี่ยวผิง ตัดสินใจไม่ควบคุมราคาสินค้า ปล่อยให้ขึ้น-ลง ตามกลไกตลาด ปัญหาการกักตุนสินค้าเพื่อเก็งกำไรก็เกิดขึ้นอย่างกว้างขวาง ทำให้สินค้าหลายอย่างหายไปจากท้องตลาดและมีราคาสูงขึ้น จนสร้างความเดือดร้อนไปทั่วกับประชาชนส่วนใหญ่ บนความร่ำรวยของคนไม่กี่คนที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและคนส่วนน้อยที่กักตุนสินค้าไว้ ประกอบกับอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินหยวนของจีนในตอนนั้น ยังใช้อัตราแลกเปลี่ยนหลายอัตรา (อัตราที่เป็นทางการกับอัตราในตลาดมืด) อัตราที่เป็นทางการในปี ค.ศ.1980 อยู่ที่ประมาณ 2 หยวน ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ แต่ราคาในตลาดมืดอาจจะอ่อนอยู่ที่ 8-10 หยวน ต่อ 1 ดอลล่าร์สหรัฐ การที่มีอัตราแลกเปลี่ยนที่แตกต่างกันมากมายหลายอัตรา ทำให้การลงทุนและการค้าขายที่ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมายเป็นไปด้วยความยากลำบาก เกิดการทุจริตและคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐอย่างกว้างขวาง
เพราะฉะนั้นในปี ค.ศ.1989 จึงเกิดการชุมนุมของประชาชนที่ จัตุรัสเทียนอันเหมิน จากความไม่พอใจที่มีต่อเจ้าหน้าที่ของรัฐและเจ้าหน้าที่ของพรรคที่ทุจริตคอร์รัปชั่นมากมาย ปัญหาการทุจริตที่ไม่เคยเกิดขึ้นในยุคของเศรษฐกิจสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ได้เกิดขึ้นมากมายในยุคปฏิรูปทุนนิยม โดยยังไม่เข้าใจและขาดประสบการณ์ในการแก้ปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่นของเจ้าหน้าที่รัฐ การกักตุนเก็งกำไรและผูกขาดของพ่อค้าในระบบเศรษฐกิจทุนนิยมอย่างดีพอ เหตุการณ์ เทียนอันเหมิน จึงเกิดขึ้น และนำไปสู่การปราบปรามอย่างรุนแรง มีนักศึกษาและประชาชนล้มตายเป็นจำนวนหลายพันคน เป็นข่าวดังไปทั่วโลก และทำให้สหรัฐอเมริกาและประเทศตะวันตกอื่นๆ ถอนการลงทุน และคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจกับรัฐบาลจีนอีกครั้งหนึ่ง

ไม่มีความคิดเห็น: