PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

หายนะทางการทูตของไทย ในละครตบ-จูบ รมว.ดอน-ทูตเดวีส์


  1. เรื่องของเรื่อง สืบเนื่องมาตั้งแต่หลังการประชุมเวที UPR หรือการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนไทยโดยชาติสมาชิก UN สหรัฐฯเป็นหนึ่งใน 105 ประเทศที่ยื่นขอซักถามปัญหาเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนในไทย โดยทวงถามทั้งเรื่องการใช้กฎหมายอาญามาตรา 112 และการละเมิดเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของประชาชนด้านอื่นๆ การนำพลเรือนขึ้นศาลทหาร การจำกัดสิทธิประชาชนในการวิพากวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ ทำให้ไทยเรียกนายกลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐฯ เข้าพบที่กระทรวงต่างประเทศ ซึ่งการเรียกพบเช่นนี้เป็นท่าทีปกติมาตรฐานในวงการทูต เพื่อแสดงความไม่พอใจที่รัฐบาลไทยมีต่อท่าทีของสหรัฐฯ
  2. แต่เหตุการณ์กลับตาลปัตร เมื่อทูตเดวีส์เข้าพบนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีต่างประเทศของไทย "วงใน" กลับบอกว่าอดีตทูตดอนโดนทูตเดวีส์ "จัดหนัก" แทนที่จะเป็นฝ่ายทางการไทยจัดหนักตามที่ควรจะเป็น ส่วนหนึ่งก็คงเป็นเพราะสหรัฐฯอยู่ในฐานะมหาอำนาจ ไทยจะเรียกไปต่อว่าแบบจริงจังก็เกรงใจ แต่จะไม่ทำก็ถือเป็นการเสียเกียรติประเทศ และอาจทำให้รัฐบาลขุ่นเคืองค้อนควักรัฐมนตรีต่างประเทศขึ้นมาอีกได้
  3. เท่านั้นยังไม่พอ หลังการพบกันเป็นการส่วนตัว ทูตเดวีส์และนายดอนได้ออกมาแถลงข่าวร่วมกัน ซึ่งท่าทีนี้จริงๆแล้วถือเป็นการเดินเกมที่ฉลาดของทั้งสองฝ่าย การต่อว่าต่อขานกันทำกันเป็นการลับเฉพาะตัว ถึงจะมีวงในแพร่ข่าวออกมาว่าใครโดนต่อว่ายังไง ก็ไม่ปรากฏหลักฐานให้เสียหน้า แต่การแถลงข่าวร่วมหลังการพบกัน เป็นการยืนยันว่าไม่ว่าจะอย่างไร ไทยและสหรัฐฯก็ยังเป็นพันธมิตรที่แน่นแฟ้นกันเสมอ
  4. แต่เหตุการณ์กลับดาลปัตรซ้ำสอง และเป็นการกลับตาลปัตรที่ร้ายแรงหนักขึ้น เพราะเกิดต่อหน้าสื่อมวลชนทั้งไทยและเทศหลายสิบชีวิต เมื่อทูตเดวีส์ถูกนักข่าวถามถึงอีกกรณีร้อนที่เกิดขึ้นในช่วงนี้ นั่นก็คือการที่เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เดอะการณ์เดียนของอังกฤษ รายงานข่าวที่โฆษกกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ "ประณาม" การที่ไทยริดรอนเสรีภาพของประชาชน จากกรณีดำเนินคดีแม่จ่านิวในข้อหา 112 แล้วกระทรวงต่างประเทศของไทยออกแถลงการณ์ตอบโต้ โดยยืนยันว่า
  5. 1. กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มิได้ออกแถลงการณ์ใด ๆ ในประเด็นดังกล่าว

  6. 2. ข้อความที่สื่อรายงานเป็นเพียงการตอบคำถามโดยเจ้าหน้าที่เวรข่าวของกรมเอเชียตะวันออกของกระทรวงการต่างประเทศสหรัฐฯ มิใช่การตอบคำถามโดยโฆษกระดับกรมอย่างที่มีการรายงาน อีกทั้ง มิได้ใช้ถ้อยคำว่า “ประณาม” (condemn)

  7. 3. รัฐบาลขอยืนยันว่า ประเทศไทยเคารพหลักสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศและให้ความสำคัญกับเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น อย่างไรก็ดี ต้องคำนึงถึงการรักษาความสงบเรียบร้อย การป้องกันความแตกแยกในสังคม เนื่องจากขณะนี้อยู่ในช่วงของการปฏิรูปประเทศเพื่อนำสู่ประชาธิปไตยที่มั่นคงและความสามัคคีภายในชาติ
  8. ทูตเดวีส์ดูเหมือนจะเตรียมตัวตอบเรื่องนี้มาแล้วอย่างดี เนื่องจากทันทีที่นักข่าวสอบถามว่าตกลงแคทรีนา อดัมส์ ผู้ที่วิพากษ์วิจารณ์รัฐบาลไทย เป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯจริงหรือไม่ ทูตเดวีส์ก็ควักเอกสารออกมาแจกนักข่าวได้ทันที แถมยังส่งให้นายดอนด้วย 1 ฉบับ พร้อมกับอ่านแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯในประเด็นนี้อย่างชัดเจน ได้ใจความว่าสหรัฐฯกังวลกรณีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชนโดยรัฐบาลไทยอย่างมาก ไม่ต่างจากที่เดอะ การ์เดียนรายงาน และแคทรีนา อดัมส์ ก็เป็นโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯ แต่ยังทิ้งท้ายว่า สหรัฐฯไม่ได้เอ่ยคำว่า "ประณาม" จริงตามที่กระทรวงต่างประเทศของไทยปฏิเสธ
  9. เรื่องเล่าเช้านี้ กต.หารือทูตมะกัน โต้สหรัฐฯประณามไทยละเมิดสิทธิฯ (13 พ.ค.59)
  10. สิ่งที่ทูตเดวีส์ละไว้ในฐานที่เข้าใจก็คือ แถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศไทยนั้น มีเรื่องจริงเพียงประการเดียว ก็คือสหรัฐฯไม่ได้เอ่ยคำว่า "ประณาม" หรือ "condemn" ออกมา เพราะคำนี้ถือว่ามีระดับรุนแรง แม้แต่กับเกาหลีเหนือ สหรัฐฯก็ไม่ได้ใช้บ่อยๆ แต่ข้อความส่วนที่เหลือล้วนเป็นความเท็จ การส่งแถลงการณ์ที่กระทรวงต่างประเทศไทยปฏิเสธว่าไม่มี ให้กับนายดอน และอ่านแถลงการณ์นั้นต่อสื่อมวลชนแบบสดๆ จึงไม่ต่างอะไรกับการตบหน้าทั้งนายดอนและประเทศไทยแบบ "เน้นๆ"
  11. นี่ถือว่าเป็นการหักหน้ากันทางการทูตต่อหน้าธารกำนัลที่เกือบจะร้ายแรงที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เพราะคนที่ยืนอยู่กับทูตเดวีส์คือรัฐมนตรีต่างประเทศ ไม่ใช่ระดับปลัดกระทรวงหรืออธิบดี และนายดอนเองก็เป็นอดีตทูต เพราะฉะนั้นย่อมทราบดีว่าละครการทูตฉากนี้ของสหรัฐฯตั้งใจจะทำอะไร ส่วนความร้ายแรงนั้น ไม่ต้องดูจากไหน สีหน้าของนายดอนเองย่อมเป็นประจักษ์พยานได้เป็นอย่างดีว่า "เจ็บนี้อีกนาน" แต่ก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากย้ำว่าสหรัฐฯไม่ได้พูดคำว่าประณามจริงๆนะจ๊ะ
  12. ก่อนหน้านี้ ทูตเดวีส์ถูกมองว่ามีท่าทีระมัดระวัง ไม่แทรกแซงประเด็นอ่อนไหวในไทยเท่าที่หลายฝ่ายคาดหวัง เพราะสหรัฐฯกลัวว่าหากกดดันไทยมากเกินไป จะกลายเป็นการเสียผลประโยชน์ทางการเมือง เพราะสหรัฐฯกำลังต้องการกลับมามีอำนาจในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เพื่อคานกับจีน
  13. แต่ในขณะเดียวกัน อย่าลืมว่าสหรัฐฯก็จำเป็นต้องยังรักษาภาพลักษณ์ในด้านการพิทักษ์สิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย นี่คือสาเหตุที่สหรัฐฯเลือกแสดงบทบาทหนักหน่วงในเวที UPR และยิ่งเมื่อกระทรวงต่างประเทศของไทยโจมตีสหรัฐฯในลักษณะดูหมิ่นด้วยการบิดเบือนว่าโฆษกกระทรวงต่างประเทศสหรัฐฯไม่ได้พูดเรื่องแม่จ่านิว ทูตเดวีส์ยิ่งมีเหตุสมควรและจำเป็นที่จะต้องปกป้องจุดยืนและศักดิ์ศรีของประเทศ
  14. อันที่จริงแล้ว ก็ถือว่าน่าเห็นใจกระทรวงต่างประเทศของไทย ที่ต้องเป็นหนังหน้าไฟ รับหน้าเสื่อทั้งการวิจารณ์จากต่างชาติ และรับหน้าที่ทำภาพลักษณ์ไทยให้ดูดีที่สุดเท่าที่จะเป็นได้ในสายตาชาวโลก ซึ่งไม่ใช่งานที่ง่ายเลย แต่หายนะทางการทูตที่ฉีกหน้ารัฐมนตรีเป็นชิ้นๆงานนี้ ก็น่าจะเป็นบทเรียนว่าภารกิจรักษาหน้ารัฐบาลไทยทั้งในสายตาคนไทยและชาวโลก ไม่อาจทำแบบง่ายๆ เพียงการให้ข้อมูลข้างเดียว คนไทยอาจไม่รู้จะทำอย่างไร หรือไม่กล้าทำอะไรกับข้อมูลด้านเดียวแบบนี้ แต่ต่างชาติ "รู้" และ "กล้าทำ" แน่นอน

ไม่มีความคิดเห็น: