PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

บทบาทพลเมืองสยาม ในการปราบกบฏบวรเดช 2476


“คนไทยยังไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย” นี่เป็นคำพูด ความคิดเห็นที่เราท่านได้พบ ได้เห็น ตั้งแต่เมื่อแรกมีประชาธิปไตยในไทย ใน พ.ศ. 2475 ถึงไม่บ่อยแต่ไม่เคยจางหาย และขยายแนวคิดไปว่า “ประชาธิปไตยไม่เหมาะกับประเทศไทย”
ท่านคิดเห็นอย่างไรเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล ตามสถานะ ข้อมูล ฯลฯ
หากวันนี้อยากจะชวนท่านมาดูบทความหนึ่ง ที่ทำให้เห็นภาพประชาชนที่ “ใส่ใจ” และ “เอาใจช่วย” ที่มีต่อ “ประชาธิปไตย”
กับบทความวิชาการที่ชื่อว่า “เมื่อสามัญชนหาญปราบกบฏ : บทบาทพลเมืองสยามในการปราบกบฏบวรเดช 2476” ของ ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา
บทความวิชาการนี้ตีพิมพ์ในนิตยสาร “ศิลปวัฒนธรรม” ฉบับเดือนตุลาคมนี้
ที่เรียกว่า “บทความวิชาการ” เพราะผู้เขียน (ผศ.ดร.ณัฐพล ใจจริง) สืบค้นเอกสารชั้นต้นอย่างรอบด้าน ทุกเรื่องมีเอกสารอ้างอิง เอกสารที่อ้างอิงจำนวนมากเป็นเอกสารชั้นต้น เอกสารชั้นต้นกว่าครึ่งเป็นเอกสารราชการ
ปราบกบฏบวรเดช 2476
ในที่นี้ขอยก 2-3 ตัวอย่างมาเล่าสู่กันฟัง
หนึ่งคือ พระมหาภู่ นาคสลับ วัดมหาธาตุ จังหวัดนครศรีธรรมราช มีลิขิตถึงนายกรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2476 ความว่า
การปราบกบฏไม่ใช่เรื่องของสงฆ์ แต่เรื่องของชาติเป็นเรื่องของทุกคน ภิกษุสงฆ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของชาติ เป็นเพื่อนร่วมชาติกับทุกคน พระมหาภู่ยังได้รายงานสถานการณ์ให้รัฐบาลทราบว่า ประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่เชื่อข่าวของพวกกบฏมากกว่า ขอให้รัฐบาลเร่งแก้ไขการนำเสนอข่าวสาร และอำนวยพรมายังรัฐบาลว่า
“อาตมาภาพนอกจากเอาใจช่วยรัฐบาลแล้ว ยังขออัญเชิญพระรัตนไตรและสิ่งศักดิ์สิทธิ์ช่วยอภิบาลปกป้องในกาลทุกเมื่อด้วย”
หนึ่งคือ นายพร้อม ทัพประพนท์ เสมียนอำเภอพานทอง ชลบุรี โทรเลขถึงนายกรัฐมนตรี วันที่ 17 ตุลาคม 2476 ได้แจ้งว่า เขาได้ขอลาหยุดงาน 7 วัน เพื่อเข้ามาร่วมกับฝ่ายรัฐบาลปราบกบฏ
หนึ่งคือ นางปุ่น สุภาพันธ์ จังหวัดเพชรบุรีส่งจดหมายลงวันที่ 18 พฤศจิกายน 2476 ถึงนายกรัฐมนตรี บริจาคแหวนแต่งงานสมทบทุนให้รัฐบาลปราบกบฏ
“ดิฉัน เป็นราษฎรสามัญชนคนหนึ่ง ซึ่งไม่มั่งมีศรีสุขอย่างใด แต่ทั้งกายและใจของดิฉันเคารพมั่นคงในรัฐธรรมนูญซึ่งใต้เท้าได้เป็นประมุขนำมาหยิบยื่นให้ด้วยพลีชีวิต
ดิฉันพร้อมแล้วที่จะสละทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อประเทศต้องการเพื่อรักษารัฐธรรมนูญของชาติให้สถิตสถาพรอยู่
ดังนั้น ดิฉันได้ส่งแหวนมาพร้อมจดหมายนี้ 1 วง แม้จะเป็นแหวนทองเกลี้ยงๆ ไม่มีราคาเท่าใดนัก แต่เป็นของมีค่าที่สุดของดิฉันสิ่งหนึ่ง เพราะเป็นแหวนวิวาห์ของดิฉัน‚”
หนึ่งคือ นางส้มจีน รักภาระพิทักษ์ เจ้าของร้านสหธัญญาพานิช ขออนุญาตรัฐบาลอัดรูปถ่ายพวกกบฏจำหน่ายในราคาถูก เพื่อช่วยรัฐบาลในการจับกุมผู้ก่อกบฏมารับโทษ
นางส้มจีนกล่าวว่า “ดิฉันจะพยายามจำหน่ายให้ถูกที่สุด แม้จะเสียเวลาหรือขาดทุนบ้าง ดิฉันก็ยอม เพราะดิฉันเห็นแก่ชาติมากกว่า”
ตัวอย่างข้างต้นคือ “ชาวบ้านทั่วไปล้วน” แต่ในบทความของณัฐพลยังมีกลุ่มบุคคลอีกจำนวนมากที่เข้าร่วมการปราบกบฏ เช่น พนักงานการรถไฟ, พลเมืองอาสา ที่ช่วยเหลือ, บริจาค, อวยพร ฯลฯ แก่รัฐบาลในการต่อสู้กับกบฏบวรเดช ซึ่งนอกจากจะมีเรื่องของสามัญชนที่ช่วยปราบกบฏ ก็ยังมีเรื่องที่พวกเขาถูกคุกคามชีวิตและทรัพย์สินเพราะเห็นต่างจาก
อภิชนด้วย
เนื้อหาที่เหลือและตอนจบของบทความนี้ขอท่านได้โปรดติดตามต่อใน “ศิลปวัฒนธรรม”
ส่วนตอนจบของการต่อสู้ทางประชาธิปไตยนั้นคงต้องยืมคำอภิปรายของจอมพล ป. พิบูลสงคราม นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2483 ว่า
“ระบอบเก่าและระบอบใหม่นี้จะต้องรบกันไปอีกนานจนกว่าระบอบใดจะชนะ และผมขอยืนยันว่า ในชั่วชีวิตเรา บางทีลูกเราด้วยจะต้องรบกันไปอีกและแย่งกันระหว่างระบอบเก่ากับระบอบใหม่นี้”
ปราบกบฏบวรเดช 2476
ปราบกบฏบวรเดช 2476ปราบกบฏบวรเดช 2476ปราบกบฏบวรเดช 2476ปราบกบฏบวรเดช 2476ปราบกบฏบวรเดช 2476

ไม่มีความคิดเห็น: