PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

“ยุทธศาตร์ชาติ-การปฏิรูป-การสร้างปรองดองจะเดินไปด้วยกัน”

(ไทยรัฐ-23/1/60)
น้ำเสียงหนักแน่นของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง สะท้อนถึงความมุ่งมั่นของรัฐบาลและคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่จะนำพาบ้านเมืองไปให้ถึงจุดหมายดังกล่าวท่ามกลางบนถนนที่เต็มไปด้วยขวากหนามเพราะหลังจากใช้มาตรา 44 ตั้งคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.) มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. เป็นประธาน นายสุวิทย์ เมษินทรีย์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นเลขานุการ ป.ย.ป.

ก่อนแตกกิ่งก้านคณะกรรมการให้ระดับรองนายกรัฐมนตรีกำกับดูแล ประกอบด้วยคณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์

คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง มี พล.อ.ประวิตร เป็นผู้รับผิดชอบ พร้อมดึง พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เข้ามาเป็นหัวหน้าฝ่ายคณะอำนวยการสร้างความปรองดอง โดยจะมีการทาบทามนักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วม และสร้างกระบวนรับฟังความคิดเห็นจากฝ่ายต่างๆทั้งพรรคการเมือง กลุ่มการเมือง

โดยมีสำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี ที่มีนายอำพน กิตติอำพน ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี เข้ามาเป็นหัวหน้าสำนักงาน เพราะมีฝีมือในการประสานสิบทิศ เพื่อทำหน้าที่กลั่นกรอง ตรวจสอบ รวบรวมข้อมูล ข้อเสนอแนะต่างๆนำเสนอให้ ป.ย.ป.

คณะกรรมการทุกชุดมีภารกิจสำคัญที่แตกต่างกันไป และจะเชื่อมโยงถักทอยุทธศาสตร์ชาติ-การปฏิรูปประเทศ-การสร้างความปรองดองให้ประเทศเดินหน้าไปได้เสียที ดีเดย์เริ่มทำงานตั้งแต่วันที่ 1 ก.พ.60 แต่ยังไม่ทันได้เริ่มทำงาน คณะกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดองกลับถูกสังคมจับตาและวิพากษ์วิจารณ์ถึงมากที่สุด

เพราะที่ผ่านมามีคณะกรรมการศึกษาเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดองหลายชุดแล้ว เช่น สถาบันพระปกเกล้า คณะกรรมการศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) มีนายเอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นประธานฯ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อความปรองดองแห่งชาติ (คอป.) มีนายคณิต ณ นคร อดีตอัยการสูงสุด เป็นประธาน

สุดท้ายก็ถูกเก็บเข้าลิ้นชัก เพราะในห้วงเวลานั้นตัวแปรเหนือการควบคุมและปัจจัยต่างๆยังไม่เอื้อให้ขั้วขัดแย้งหันหน้าเข้าหากัน ครั้งนี้จะซ้ำรอยเดิมหรือจะเดินไปถึงจุดหมายตามที่สังคมตั้งความหวังเอาไว้
พล.อ.ประวิตร บอกว่า ในฐานะที่เราเป็นหนึ่งใน ป.ย.ป.จะเริ่มนับจากปัจจุบันและปูทางไปสู่อนาคต โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญแต่ละด้านเข้ามาร่วมรับฟังทุกกลุ่มการเมือง ทุกพรรคการเมือง เพื่อให้คณะกรรมการฯได้พิจารณาในภาพรวม และวางรูปแบบการสร้างความปรองดองให้อยู่ร่วมกันอย่างสันติต่อไปในอนาคต
ไม่เกี่ยวกับอดีตในด้านคดีความ การนิรโทษกรรม การอภัยโทษ เป็นเรื่องของรัฐบาลชุดต่อไปที่จะทำอะไรก็ไปทำหลังทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุขแล้วฝ่ายการเมืองพยายามออกมาเรียกร้องเสนอการนิรโทษกรรมพ่วงท้ายเข้าไปด้วย พล.อ.ประวิตร บอกว่า ไม่มี ไม่เอา ขอบอกว่าไม่เอาอดีต ขอให้ยึดปัจจุบันและวางแผนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติในอนาคต คดีความที่เกิดขึ้นเมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมแล้ว สุดท้ายศาลจะพิพากษา

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ก่อนหน้านั้นสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) โดยคณะทำงานศึกษาประเด็นกฎหมายที่จะส่งเสริมสนับสนุนกระบวนการสร้างสังคมสันติสุข ในคณะกรรมาธิการการเมือง (กมธ.) ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.อำนวยความยุติธรรมทางอาญาที่เกี่ยวเนื่องกับมูลเหตุจูงใจทางการเมือง และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) โดย กมธ.ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมือง เสนอผลการศึกษาเรื่องการสร้างความปรองดอง หนึ่งในข้อเสนอขอให้พักโทษคดีการเมือง พล.อ.ประวิตร บอกว่า ขอย้ำว่าจะไม่มีการมองย้อนอดีต เพราะมันจะเดินไปไม่ได้

เรามีหน้าที่ทำอย่างไรให้บ้านเมืองเดินหน้าไปให้ได้ เริ่มจากการจะเชิญนักการเมืองมาเสนอแนะและลงสัตยาบันร่วมกัน มีข้อตกลงยาวเหยียดว่า ในอนาคตจะร่วมมือกันเดินหน้าปฏิรูปประเทศด้านต่างๆ อาทิ ด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข ด้านการเมือง

ถ้านัก การเมืองคนไหนไม่ลงสัตยาบันก็ไม่ว่าอะไร ถ้าคนไหนตกลงทำสัตยาบันก็ร่วมมือกันเดินหน้าได้ ไม่เกี่ยวข้องกับตัวบุคคล ดูภาพรวมแล้วมันไปได้ เพราะไม่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง หนึ่งในนั้นที่จะต้องลงสัตยาบันคือ พรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงข้างมากต้องสามารถจัดตั้งรัฐบาล พรรคที่ได้คะแนนรองจะต้องไม่ยกพวกออกมาเคลื่อนไหวที่ขัดต่อกฎหมาย เพื่อให้การเลือกตั้งผ่านพ้นไปด้วยดี สามารถมีรัฐบาลชุดต่อไปที่อยู่ร่วมกันอย่างปรองดอง และบริหารประเทศโดยยึดเอาผลประโยชน์ของชาติและประชาชนเป็นหลัก

ผมเชื่อว่า ประชาชนทุกคนเห็นประโยชน์ร่วมกันกับกระบวนการเริ่มต้นปรองดองกัน ทุกคนต้องการอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข ต้องการเห็นประเทศชาติเดินไปข้างหน้า โดยทุกฝ่ายเคารพต่อกฎหมาย สิ่งเหล่านี้นักการเมืองจะต้องรับปากและลงสัตยาบัน ถ้าใครหักหลังก็ขอให้ประชาชนและสังคมรับรู้ว่าคนนี้หักหลัง
เมื่อเรามีข้อเสนอที่ดีต่อสังคมออกมาแล้ว อาจจะจำเป็นต้องออกกฎหมาย หรือแก้ พ.ร.บ.ที่เกี่ยวข้อง หรือใช้มาตรา 44 ในบางเรื่อง เพื่อให้เกิดกระบวนการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ

ทีมข่าวการเมือง ถามย้ำว่า ข้อเสนอด้านการสร้างความปรองดองของรัฐบาลมาพร้อมข้อเสนอของ กมธ.ด้านการเมือง สปท.ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธานฯ เสนอทางออกต่อสังคม ถูกมองว่าเป็นข้อเสนอชุดความคิดเดียวกัน พล.อ.ประวิตร บอกว่า คุณเสรีมาเข้าพบก็ได้อธิบายได้เข้าใจว่า ถ้าทำตามที่คุณเสรีเสนอ 1 ปีก็ไม่สำเร็จ ต่างกับโมเดลที่รัฐบาลเสนอทางออกแบบไทยๆ จะทำให้
ประเทศเดินหน้าไปได้

ขอยืนยันอีกครั้งว่า ไม่เกี่ยวข้องกับคดีความ ต้องตัดทิ้ง ไม่เกี่ยวกับการพักโทษ การนิรโทษกรรม แต่เกี่ยวข้องกับการอยู่ร่วมกันให้ได้ ต่อให้ออกกฎหมายอย่างไรถ้าไม่ร่วมมือกันก็ตีกันอีก แต่ถ้าอยู่ในข้อตกลงว่าจะไม่ตีกัน ไม่พาคนออกมาประท้วง ถ้าใครออกมาจะกลายเป็นคนหักหลัง

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ถูกตั้งข้อสังเกตว่าเป็นผู้ที่มีคอนเนกชั่น สนิทกับสายนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะถูกมองว่าอาจจะมีข้อเสนอที่แฝงเข้ามา พล.อ.ประวิตร บอกว่า...
“...ผมสนิทกับทุกฝ่าย ผมทำงานโดยไม่มีผลประโยชน์ วางตัวเป็นกลาง มาถึงวันนี้ยังไม่ได้คุยกับใคร ผมจะไม่ให้เถียงกัน ไม่ให้พบหน้ากัน จะพบเจอกันในวันที่เราได้ข้อตกลงออกมาแล้วว่าจะแก้ในเรื่องอะไรบ้าง

ผมไม่กังวลอะไร เพราะมีเจตนาดีกับบ้านเมือง ไม่ได้ทำให้ใครเสียประโยชน์หรือได้ประโยชน์ แต่จะทำอย่างไรให้ประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์สูงสุด ประเทศเดินหน้าได้ตามทิศทางยุทธศาสตร์ชาติที่รัฐบาลกำลังผลักดันให้เกิดการคิดและทำร่วมกันอยู่”

ขั้นตอนการรับฟังพิจารณาการสร้างความปรองดองจะทำภายใน 3 เดือน เมื่อเสร็จแล้วคณะกรรมการฯจะปรับให้เป็นข้อตกลงภายใต้กรอบที่กลุ่มการเมือง พรรคการเมืองเสนอทั้งหมด และนำข้อเสนอคณะกรรมการปรองดองชุดต่างๆมาดูด้วย แต่ขอย้ำว่าจะไม่เอาเรื่องในอดีตเข้ามา

ถูกมองว่าโครงสร้างของคณะอำนวยการสร้างความปรองดอง มีแต่นายทหารจะสร้างความปรองดองได้อย่างไร พล.อ.ประวิตร บอกว่า ไม่ใช่ปัญหา เพราะกองทัพมีความเป็นกลาง และนายทหารระดับผู้ใหญ่ก็ทำหน้าที่รับฟังประมวลข้อมูลก่อนเสนอต่อคณะกรรมการเตรียมการสร้างความปรองดอง
สุดท้ายการเลือกตั้งยังเป็นไปตามโรดแม็ปช่วงต้นปี 2561 พล.อ.ประวิตร บอกว่า ยังเป็นไปตามโรดแม็ป นายกรัฐมนตรีไม่เคยบอกให้เลื่อน เมื่อเป็นสัญญาประชาคมเราต้องทำให้ได้

ถึงได้บอกว่า ให้ทำข้อตกลงและลงสัตยาบันร่วมกันว่าจะให้เกิดความปรองดองให้เกิดขึ้น เพื่อในอนาคตจะได้อยู่ร่วมกันอย่างสันติ

อย่าลืมว่าที่ผ่านๆมา พอเดินเข้าอุโมงค์มืดมนไปหมด ไม่มีแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ แต่โมเดลปรองดองแบบไทยๆ พอไม่พูดถึงคดีความในอดีต ควรปล่อยให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลชุดต่อไป
เมื่ออยากให้มีการเลือกตั้งก็ต้องร่วมมือกันทุกฝ่าย

พอเข้าไปจะเห็นแสงสว่างในอุโมงค์ รู้ว่าจะเดินออกทางไหน.

ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: