PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2560

บีฮายเดอะซีน-อีโม่งหลังฉาก!!!“สมชาย”แฉสุดลึก เบื้องหลังสินบนโรลส์รอยซ์ ผู้หญิงบงการ ย้อนเที่ยวบินกรุงเทพ-นิวยอร์ก ผลาญหมื่นล้านยุค“ทักษิณ"??

จากกรณีบริษัทโรลลส์รอยซ์ บริษัทผู้ผลิตเครื่องยนต์ยักษ์ใหญ่อังกฤษ รับสารภาพกับศาลสูงอังกฤษว่าได้ติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ นักการเมือง และพนักงานบริษัทใน7ประเทศ เพื่อขายเครื่องยนต์ ซึ่งมีประเทศไทยเป็นหนึ่งในนั้น โดยมีชื่อของบริษัทการบินไทย และปตท. เข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ล่าสุดวันนี้นายสมชาย แสวงการ สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. ได้ออกมาให้ข้อมูลถึงบริษัทการบินไทย ซึ่งมีมูลค่าการรับสินบน ประมาณ 1270ล้านว่า
       “  การมีชื่อของรัฐมนตรีว่าการฯ(คมนาคม) และรัฐมนตรีช่วยฯนั้น มันเป็นบีฮายเดอะซีน (Behind-the-scene)ลำพังรัฐมนตรี สั่งการดำเนินการเรื่องนี้ไม่ได้หรอก มันต้องมีตัวใหญ่กว่านั้น จำได้ไหมเที่ยวบินกรุงเทพ-นิวยอร์ก ที่เปิดกันขึ้นมา แล้วก็ยุติกันไป ไม่บอกว่ากระทรวงไหน แต่มีผู้หญิงอยู่เบื้องหลัง ” นายสมชาย กล่าว
       ทั้งนี้เมื่อย้อนเรื่องราวไปถึงกรณีเที่ยวบินกรุงเทพ-นิวยอร์ก ของการบินไทย จะพบข้อมูล ว่าเป็นเที่ยวบินตรง TG 972 กรุงเทพ-นิวยอร์ก ซึ่งเรื่องนี้ว่ากันว่าเป็นบทเรียนทำให้ บริษัทการบินแห่งนี้ขาดทุนมหาศาล โดยจุดเริ่มต้นเมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2548 ที่สนามบินนานาชาติ JFK มหานครนิวยอร์ก เที่ยวบินปฐมฤกษ์ มีทั้งแขกวีไอพีและสื่อมวลชนบนเครื่องบินแอร์บัส A340-500 ของการบินไทย ที่ว่าจะเป็นเส้นทางใหม่ที่เป็นจุดขายของการสายการบินแห่งชาติในการบินตรงแบบ นอนสต็อป ไม่แวะพักระหว่างทาง ในเวลาเพียง 17 ชั่วโมง และที่สำคัญเที่ยวบินนี้เป็นเครื่องบินใหม่เอี่ยม มีเพียง 26 ลำในโลกที่ให้บริการเท่านั้น

       กระนั้นเมื่อ 3 ปีผ่านไป การลงทุนนับหมื่นล้านบาท ทั้งการฝึกนักบิน ลูกเรือสำหรับเครื่องบินใหม่ ขณะที่ค่าเครื่องบินที่สั่งซื้อมากกว่า 16,000 ล้านบาทยังไม่ได้ทุนคืน ตรงกันข้ามแต่ละวันที่บิน มีแต่ตัวเลขขาดทุน กระทั่งกลางเดือนมิถุนายน 2551 บอร์ดมีมติให้วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 หยุดบิน หลังพบตัวเลขขาดทุนสูงกว่าปีละ 1,000-3,000 ล้านบาท รวมประมาณ 3 ปีขาดทุนจากบริการเกือบ 7,000 ล้านบาท และหากบินต่อไปจะถึงหลักหมื่นล้านอย่างรวดเร็ว



       มีการพบข้อมูลจากบันทึกการประชุมบอร์ดการบินไทย เมื่อวันที่ 6 มิถุนายน 2551 โดย วรเนติ หล้าพระบาง ผู้อำนวยการฝ่ายแผนงานและประเมินผลกลยุทธ์ รายงานว่า เส้นทางบินตรงทวีปอเมริกาเหนือ ตั้งแต่ปี 2548 จนถึงปัจจุบัน ประสบการขาดทุนมาโดยตลอด  หากต้องการมีรายได้คุ้มค่าใช้จ่าย (Break Even) ต้องมีผู้โดยสาร (Cabin Factor) สูงกว่า 100% นั่นหมายถึงการมีผู้โดยสารเกินจำนวนเก้าอี้ที่มีไว้บริการ

       สาเหตุการขาดทุนมี 5 ข้อคือ 1.ราคาน้ำมันที่สูงกว่า 50% ของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ซึ่งแพงขึ้นจากที่เคยทำแผนวิสาหกิจ 2545 ไว้ 82 USC/USG (US Cents a gallon) เมื่อบินจริงในปี 2548 ราคาน้ำมันปรับตัวเป็น 162 USC/USG และในเดือนพฤษภาคม 2551 ปรับเพิ่มขึ้นเป็น 349 USC/USG หรือเพิ่มขึ้นเกือบ 5 เท่า 2.ความผันผวนจากอัตราแลกเปลี่ยน ที่เงินบาทแข็ง เงินเหรียญสหรัฐอ่อน ทำให้รายได้ลดลง เพราะรายได้ส่วนใหญ่จากเส้นทางนี้เป็นเงินเหรียญสหรัฐ เมื่อแปลงเป็นเงินบาททำให้ได้ลดลง 3.ปัญหาแบบเครื่องบินที่เป็น A340-500 มี 4 เครื่องยนต์ เพื่อบินพิสัยไกลพิเศษ แบบบินข้ามทวีป (Super หรือ Ultra Long Range) มีจำนวนที่นั่งบนเครื่องบินเพียง 215 ที่นั่ง เพื่อไม่ให้แออัดจนเกินไป เพราะต้องบินแบบนอนสต็อป ในเวลา 16-17 ชั่วโมง แบ่งที่นั่งเป็น 3 คลาส คือ รอยัลซิลค์ 60 ที่นั่ง พรีเมียร์อีโคโนมี 42 ที่นั่ง และอีโคโนมี 113 ที่นั่ง
       แม้การบินไทยจะขายตั๋วได้ 79.0% จากจำนวนที่นั่งโดยสารทั้งหมด ซึ่งในระดับนี้ในเส้นทางปกติก็ถึงจุดคุ้มทุน แต่สำหรับกรุงเทพ-นิวยอร์ก ยังไม่เพียงพอ และต้องขายตั๋วถึง 100.9% เมื่อเจอปัจจัยราคาน้ำมัน และอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำให้แลกได้เงินบาทลดลง จุดคุ้มทุนต้องถึง 120% และแม้การบินไทยจะแก้ปัญหาด้วยการเพิ่มที่นั่งเป็น 229 ที่แล้วก็ยังมีรายได้ไม่เพียงพอ 4.ความนิยมการใช้เครื่องบิน A340-500 ที่ใช้สำหรับบินพิสัยไกลพิเศษ เหมาะกับตลาด เฉพาะเจาะจง (Niche Market) ปัจจุบันจึงมีเครื่องนี้ใช้อยู่ในอุตสาหกรรมการบินเพียง 26 ลำ ทำให้โอกาสที่จะขาย “ค่อนข้างยากมาก”

       5.ราคาขาย และสภาวะการแข่งขันในเส้นทางอเมริกาเหนือที่มีสายการบินคู่แข่งบินผ่านจุดบินต่างๆ โดยเฉพาะการบินตรงไปยังนิวยอร์ก มีจุดแวะเปลี่ยนเครื่อง ทำให้การบินไทยไม่สามารถปรับราคาค่าโดยสารบินตรงได้สูงนัก เพราะการใช้บริการสายการบินที่แวะเปลี่ยนเครื่อง จะเสียเวลาในการต่อเที่ยวบินอีกประมาณ 2-3 ชั่วโมงเท่านั้น หากการบินไทยเพิ่มค่าโดยสาร ผู้โดยสารอาจยอมเสียเวลาเลือกสายการบินที่แวะพักมากกว่า

       จากตัวเลขที่ฝ่ายบริหารรายงานต่อบอร์ดนั้น ชัดเจนว่าการขาดทุนของ “กรุงเทพ-นิวยอร์ก” ไม่ใช่เกิดจากน้ำมันเป็นจุดเริ่มต้น เพราะปี 2548 เส้นทางบินในอเมริกาเหนือ ซึ่งมีกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส และกรุงเทพ-นิวยอร์ก ก็ขาดทุนถึง 1,592.7 ล้านบาท แต่จากเหตุผลในข้อ 3 แล้วสะท้อนให้เห็นถึงความผิดพลาดในการตัดสินใจซื้อเครื่องบิน A340-500 ที่เป็นรุ่นที่ต้องใช้น้ำมันจำนวนมาก และแบบเครื่องบินที่ไม่สามารถเพิ่มจำนวนที่นั่งให้มากพอที่จะคุ้มทุน เพียงแต่ว่าเมื่อมาเจอวิกฤตราคาน้ำมันแพงขึ้น จึงทำให้แผลของกรุงเทพ-นิวยอร์กยิ่งสาหัสมากยิ่งขึ้น โดยในช่วง 3 เดือนแรกของปี 2551 ระหว่างมกราคม-มีนาคม การบินไทยขาดทุนไปแล้วถึง 980.4 ล้านบาท


       การตัดสินใจหยุดบินกรุงเทพ-นิวยอร์ก นอกจากสะท้อนถึงความผิดพลาดในการเปิดเส้นทางบิน และเลือกซื้อเครื่องบินแล้ว ยังทำให้ปัจจุบันการบินไทยต้องสูญเสียจากการขายเครื่องบิน A340-500 ทั้ง 4 ลำ เป็นการเสีย “ค่าโง่” ถึง 4,237.4 ล้านบาท เพราะต้องขายทิ้งแบบขาดทุน ได้มูลค่าตลาดรวม 4 ลำ เพียง 12,553.2 ล้านบาท ขณะที่การบินไทยซื้อเครื่องบินมา บันทึกตามมูลค่าทางบัญชีอยู่ที่ 16,796.6 ล้านบาท ทั้งที่มีอายุการใช้งานไม่เกิน 3 ปี และลำสุดท้ายเพียง 1 ปีเศษ

       จากรายงานการประชุมคณะกรรมการ ได้ระบุชัดเจนว่าเมื่อหยุดบินกรุงเทพ-นิวยอร์ก ตามมาด้วยปลดระวางและจำหน่ายเครื่องบิน A340-500 จะทำให้ขาดทุนในปี 2551 จำนวน 1,963.8 ล้านบาท และปี 2552 อีก 2,279.6 ล้านบาท แต่เมื่อชดเชยจากที่ไม่ต้องบินกรุงเทพ-นิวยอร์กแล้ว มีผลทำให้การบินไทยมีกำไรลดลง โดยปี 2551 กำไรสุทธิลด 726.1 ล้านบาท และปี 2552 จะกำไรสุทธิลด 698.3 ล้านบาท ปี 2553-2555 จะไม่ได้รับผลกระทบจาการขายเครื่องบิน แต่จะมีกำไรในปี 2553-2555 รวมกว่า 10,000 ล้านบาท

       นี่อาจเป็นบทเรียน ของคนในการบินไทย ที่มีเสียงลือดังกระหึ่มว่ามีใบสั่งทางการเมือง ที่ทำให้การบินไทยต้องสูญเสียเกือบ 20,000 ล้านบาท เพราะเส้นทางกรุงเทพ-นิวยอร์ก สะท้อนให้เห็นความต้องการซื้อเครื่องบินมากกว่าการพิจารณาเรื่องความเป็นไปได้ในทางธุรกิจ โดยเกิดขึ้นอย่างเป็นกระบวนการตั้งแต่รัฐบาลจนมาถึงบอร์ด และดีดีการบินไทย ที่เป็น พรรคพวก เดียวกัน ทำให้การจัดซื้อแอร์บัส A340-500 มูลค่ากว่า 16,000 ล้านบาท สำหรับเส้นทางบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก เกิดขึ้นอย่างราบรื่น
       อย่างไรก็ตามเรื่องนี้มีการรายงานว่าเริ่มจากเดือนเมษายน 2546 ช่วงที่รัฐบาล ทักษิณ ชินวัตร กำลังผุดนโยบายรายวัน มี สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เลขาธิการพรรคไทยรักไทยในขณะนั้น เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ซึ่งกำกับดูแลการบินไทย มี ทนง พิทยะ เป็นประธานบอร์ดการบินไทย และมี กนก อภิรดี เป็นกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ หรือดีดี

       ทั้งนี้ช่วงต้นเดือนเมษายน 2546 บอร์ดอนุมัติซื้อเครื่องบินทั้งหมด 8 ลำ คือมีทั้ง A 340-500 และ A340-600 สำหรับบินพิสัยไกลพิเศษ กรุงเทพ-นิวยอร์ก และกรุงเทพ-ลอสแองเจลิส ท่ามกลางโลกที่กำลังเจอวิกฤตการณ์ภาวะเศรษฐกิจ และการเมืองที่ไม่มีความแน่นอน หลังจากสหรัฐอเมริกาโดยประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู เปิดฉากสงครามถล่มอิรัก และไข้หวัดนกกำลังระบาด ซึ่งในเวลาเดียวกันนี้แม้กระทั่งสิงคโปร์แอร์ไลน์ส ยังลดเที่ยวบินในช่วงนั้นถึง 125 เที่ยวบิน รวมทั้งปลายทางนิวยอร์ก

       และปลายปี 2547 ก่อนที่รัฐบาลทักษิณจะหมดวาระการเป็นรัฐบาล ได้อนุมัติทิ้งทวนซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่ มูลค่ารวม 96,355 ล้านบาท ซึ่งรวม A340-500 ในฝูงบิน 2 ปีสำหรับการเตรียมการ และสานต่อนโยบายด้านอื่นๆ ของรัฐบาลสมเหตุสมผลและเป็นรูปธรรมมากขึ้น ไม่กี่เดือนรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” กลับมาอีกครั้ง ช่วงต้นปี 2548 กระทรวงพาณิชย์ ได้เช่าอาคาร ในย่าน Fifth Avenue เพื่อเปิด “ไทยแลนด์พลาซ่า” นำสินค้าโอท็อปจากเมืองไทยมาจำหน่าย เพื่อเพิ่มความคึกคักให้กับกรุงเทพ-นิวยอร์ก ที่จะมีทั้งเจ้าหน้าที่ของกระทรวงพาณิชย์ และสินค้าโอท็อปโดยสาร ดังนั้น1 พฤษภาคม 2548 จึงเป็นวันเริ่มต้นของการสูญเสียของการบินไทย หลังเทกออฟบินตรงกรุงเทพ-นิวยอร์ก ก่อนที่คณะกรรมการบริษัทการบินไทยตัดสินใจยกเลิกเที่ยวบินกรุงเทพ -นิวยอร์ก ตั้งแต่วันที่ 1 กรกฎาคม 2551 โดยอ้างว่าเพื่อลดค่าใช้จ่าย เพราะน้ำมันแพง




เรียบเรียงโดย : ศิริพงศ์ สำนักข่าวทีนิวส์

ไม่มีความคิดเห็น: