PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 31 มกราคม พ.ศ. 2560

เพื่อความโปร่งใสของชาติ:หมัดเหล็ก ไทยรัฐ

ตามที่ องค์กรเพื่อความโปร่งใสนานาชาติ Transparency International ประกาศคะแนนดัชนีความรับรู้การทุจริตปี 2016 จากทั้งหมด 176 ประเทศทั่วโลก อันดับที่ 1 ยังเป็น เดนมาร์กและนิวซีแลนด์ ที่ได้ 90 คะแนนเท่ากัน ส่วน ประเทศไทยอย่างที่เป็นข่าวไปแล้ว หล่นจากลำดับที่ 76 ไปอยู่ลำดับที่ 101 จาก 38 คะแนนเหลือ 35 คะแนน ลดไป 3 คะแนน ในขณะที่ในอาเซียน สิงคโปร์ ยังอยู่อันดับที่ 7 ด้วยคะแนน 84 คะแนน โดยมีการพิจารณาจัดอันดับจากแหล่งข้อมูล 9 แหล่งด้วยกัน มีอยู่ 3 แหล่งข้อมูลที่ไทยได้คะแนนมากขึ้น อีก 1 แหล่งข้อมูลคะแนนเท่าเดิม ลดลงไป 4 แหล่งข้อมูล

ที่น่าสนใจคือมีแหล่งข้อมูลที่เกิดขึ้นใหม่ 1 ข้อมูล วัดเอาจากความหลากหลายของประชาธิปไตย ส่วนด้านกฎหมาย เช่นนโยบายต่อต้านการค้ามนุษย์ ได้คะแนนเพิ่มขึ้น เรื่องของสิทธิและเสรีภาพ ดูดีขึ้นเมื่อ คสช.ลดหย่อนมาตรการด้านกฎหมายให้พลเรือนย้ายจากศาลทหารไปขึ้นศาลยุติธรรมได้

มีกระบวนการทางกฎหมายที่เอาผิดกับการทุจริตคอร์รัปชันได้อย่างมีประสิทธิภาพและรวดเร็วขึ้น ความชัดเจนในการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ สิ่งต่างๆเหล่านี้เป็นคะแนนเพิ่มขึ้น เมื่อสำรวจความเห็นจากบรรดาผู้บริหารระดับสูง ซึ่งเกิดจากประสิทธิภาพของภาครัฐ สมรรถนะทางเศรษฐกิจ ประสิทธิภาพภาคธุรกิจและโครงสร้างพื้นฐาน

เวลาเดียวกัน ความเสี่ยงทางด้านการเมือง เช่น การเรียกรับสินบน ความไม่ต่อเนื่องของนโยบาย ความไม่ชัดเจนทางการเมือง ด้านเศรษฐกิจและการเงิน การแก้ไขปัญหาในระบบอุปถัมภ์ยังเป็นตัวฉุดให้คะแนนลดลง

ปัจจัยเกี่ยวกับการคอร์รัปชันที่กระทบกับนักลงทุนจากต่างชาติ ลดลงกว่าเมื่อ 4 ปีก่อนหน้านี้ ถือว่าสอบตก ที่น่าสนใจ คือ ข้อมูลด้านความหลากหลายของประชาธิปไตย ที่มีการรวบรวมข้อมูลเป็นปีแรก แน่นอนว่า ประเทศไทย ย่อมได้รับผลกระทบจากการปฏิวัติรัฐประหารไปเต็มๆอยู่แล้ว

ข่าวการจ่ายสินบนให้กับภาครัฐ ทำไปทำมากลายเป็นเรื่องใหญ่ที่ต่างชาติให้ความสำคัญเป็นพิเศษ พฤติกรรมการคอร์รัปชันในระดับ ฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติและตุลาการ ในอาเซียนมีการรวบรวมข้อมูลจาก 4 ประเทศ ได้แก่ เมียนมา ที่ได้ถึง 50 คะแนน ฟิลิปปินส์ ได้ 36 คะแนน ไทย ได้ 24 คะแนนและ กัมพูชา ได้ 17 คะแนน

ทั้งหมดนี้พอจะสรุปได้ว่า การที่ประเทศไทยจะถูกจัดอันดับความโปร่งใสอยู่ในลำดับใดก็แล้วแต่ ไม่ใช่สาระสำคัญที่รัฐบาลจะต้องออกมาตอบโต้หรือพยายามหยิบยกเอาในส่วนที่เพิ่มขึ้นมาใช้ในการหลบกระแสเรื่องนี้

สิ่งที่รัฐบาลจะต้องหันกลับมาประเมิน ก็คือ รัฐบาลได้ใช้จุดแข็งในการใช้อำนาจพิเศษ ให้เกิดความน่าเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องใช้ ม.44 เพราะใช้ไปแล้วก็แก้ไม่ได้ในวันเดียวอยู่ดี แต่ควรทำให้เห็นว่า รัฐบาลที่มาจากการยึดอำนาจ สามารถจะสร้างความเด็ดขาดในการแก้ปัญหาคอร์รัปชันมากกว่าจะเป็นการปกปิดการคอร์รัปชันได้แตกต่างกว่านักการเมืองอย่างไร ไม่ใช่ว่าแต่เขาแต่อิเหนาเป็นเสียเอง.

หมัดเหล็ก
mudlek@hotmail.com 

ไม่มีความคิดเห็น: