PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

มองโลกปี 2017 และหลังจากนั้น : ภาวะถดถอยทางภูมิรัฐศาสตร์ สงครามโลกที่ใกล้เข้ามา

ปี2016 มีเหตุการณ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจ-การเมือง แสดงสัญญาณชัดเจนของการเปลี่ยนแปลงใหญ่ที่กล่าวทำนายกันมาหลายปีก่อนหน้านี้ได้แก่
การเสื่อมถอยของสหรัฐจากฐานะการเป็นอภิมหาอำนาจ
การแตกเป็นเสี่ยงของสหภาพยุโรป
วิกฤติเศรษฐกิจ 2008 ที่ไม่ยอมฟื้นตัวอย่างที่หวัง
และความเสื่อมโทรมหมดไปของทรัพยากรธรรมชาติ จนถึงขั้นวิกฤติที่ลามจนถึงปัญหาประชากรและการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์
เหตุการณ์ใหญ่ดังกล่าวได้แก่การลงประชามติในอังกฤษให้ออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปในช่วงกลางปี และปรากฏการณ์ลัทธิทรัมป์ในตอนปลายปี เหตุการณ์ทั้งสองสะท้อนความไม่พอใจของประชาชนจำนวนมากในอเมริกัน-อังกฤษ ที่ไม่พอใจระบบอำนาจเดิมและนโยบายต่างประเทศและลัทธิโลกาภิวัตน์
เนื่องจากอเมริกัน-อังกฤษเป็นแกนจัดระเบียบโลกมาตลอดศตวรรษที่ 20 จนถึงปัจจุบันเมื่อเกิดความอ่อนแอรวนเร ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ของตนได้เหมือนเดิม ก็ย่อมส่งผลต่อเศรษฐกิจ-การเมือง และความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปทั่วโลก
เหตุการณ์ดังกล่าวถือเป็นจุดพลิกผันใหญ่ เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ไม่อาจหวนกลับมาอีก
ก่อให้เกิดการเปลี่ยนสภาพภูมิรัฐศาสตร์ครั้งใหญ่
การแตกตัวและรวมตัวใหม่อย่างซับซ้อน บางช่วงรุนแรงรวดเร็ว
บางช่วงอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีวิธีวิเคราะห์กันไปต่างๆ แต่ผลออกมาใกล้เคียงกัน นั่นคือ โลกเข้าสู่ภาวะความเสี่ยงสูง คล้ายเดินเรือสมุทรเข้าสู่ห้วงน้ำที่ไม่เคยไปมาก่อน
ในตอนนี้จะกล่าวถึงเอกสารการวิเคราะห์และประชามติเกี่ยวกับความเสี่ยงของโลก 3 กรณีเป็นตัวอย่าง

ภาวะถดถอยทางภูมิรัฐศาสตร์

ของกลุ่มยูเรเซีย (Eurasia Group)
กลุ่มยูเรเซีย เป็นบริษัทใหญ่ด้านการปรึกษาความเสี่ยงทางการเมืองสำหรับวงธุรกิจ ผู้ก่อตั้งสำคัญได้แก่ เอียน เบรมเมอร์ นักรัฐศาสตร์ นักเขียน นักลงทุนชาวสหรัฐ รายงานสถานการณ์โลกประจำปี 2017 ให้ภาพรวมความเสี่ยงปีนี้ว่าเข้าสู่ “ภาวะถดถอยทางภูมิรัฐศาสตร์” ซึ่งหนักหน่วงกว่าภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจ
ปรากฏการณ์หลัก ได้แก่ ภาวะที่โลกขาดผู้นำ เกิดสุญญากาศทางอำนาจในการเมืองระหว่างประเทศ เนื่องจากความเสื่อมถอยของอิทธิพลตะวันตก (G-zero)
ปรากฏการณ์รอง ได้แก่ การลุกขึ้นสู้ของประชาชนทั่วโลกต่อต้านลัทธิโลกาภิวัตน์ เริ่มจากการลุกขึ้นสู้ชาวอาหรับ (2011)
ต่อมาลามมาที่ยุโรป และขณะนี้เข้าสู่อเมริกา จากปรากฏการณ์ที่ทรัมป์ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดี เป็นการสิ้นสุดของยุค “สันติภาพอเมริกา” ที่ดำเนินมา 70 ปี
“สันติภาพเอมริกา” มีลักษณะเด่นสองประการควบคู่กัน ได้แก่ ลัทธิโลกาภิวัตน์และการทำให้เป็นแบบอเมริกัน นอกจากนี้ ได้แก่ การครองความเป็นใหญ่ของสหรัฐทั้งในด้านความมั่นคงการค้า
รายงานกล่าวถึงความเสี่ยงใหญ่ 10 ประการของโลกปี 2017 ว่าได้แก่
1) อเมริกาที่เป็นอิสระ คือแนวคิดเรื่อง “อเมริกาก่อนอื่น” เน้นผลประโยชน์แห่งชาติระยะใกล้ ขณะที่มีความยืดหยุ่นสูงบนเวทีการเมืองโลก (แต่มองจากสายตาของประเทศต่างๆ อเมริกากลายเป็นประเทศที่คาดเดาไม่ได้)
2) จีนที่ตอบโต้แรงเกินไป เนื่องจากจะมีการจัดประชุมสมัชชาใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์จีนสมัยที่ 19 ในฤดูใบไม้ร่วง 2017 ซึ่งจะมีการเปลี่ยนตัวผู้นำระดับสูงและกำหนดอนาคตของประเทศอาจทำให้ สี จิ้น ผิง ที่ต้องการเสริมฐานอำนาจของตนให้เข้มแข็งขึ้น อาจตอบโต้ต่อนโยบายต่างประเทศโดยเฉพาะจากสหรัฐที่มาท้าทายต่อจีนรุนแรงเกินไปได้
3) นางแมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนีที่อ่อนแอลงแม้คาดว่าการเลือกตั้งทั่วไปเดือนสิงหาคม 2017 นางอาจจะกลับมาดำรงตำแหน่งนายกฯ ได้อีกครั้ง แต่ก็อ่อนแอลง ต้องโอนอ่อนต่อพลังขวาจัดในประเทศมากขึ้น
ขณะที่ถ้า นางมารีน เลอแปง ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีในฝรั่งเศส ก็จะจัดทำประชามติเพื่อออกจากการเป็นสมาชิกสหภาพยุโรปอีกราย เท่ากับว่าจะเกิดการขาดผู้นำที่เข้มแข็งหรือเกิดสุญญากาศทางอำนาจในยุโรป
4) การขาดการปฏิรูปทางเศรษฐกิจ ในประเทศต่างๆ เนื่องจากผู้นำทั้งหลายต้องจมอยู่ในปัญหาภายในของตนกันไปต่างๆ เช่น อินเดียและเม็กซิโก รู้สึกว่าตนปฏิรูปไปมากแล้ว ผู้นำในจีน รัสเซีย ฝรั่งเศส เยอรมนี และอาร์เจนตินา เป็นต้น จะชะลอการปฏิรูปไปจนพ้นการเลือกตั้งแล้ว มีหลายประเทศไม่ต้องการการปฏิรูปอะไร เช่น ตุรกี แอฟริกาใต้ อิตาลี และอังกฤษ และบางประเทศต้องการปฏิรูปแต่มีอุปสรรคมาก เช่น ในซาอุดีอาระเบีย และ ไนจีเรีย จากการปฏิรูปที่ไม่เพียงพอ นำมาสู่การหยุดชะงักความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจโดยทั่วไป
5) เทคโนโลยีกับปัญหาความมั่นคงในตะวันออกกลาง มีนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่สามารถเพิ่มความไร้เสถียรภาพของตะวันออกกลาง เช่น การปฏิวัติพลังงานในสหรัฐ การเป็นแบบอัตโนมัติที่เร่งอัตราการว่างงานของคนหนุ่มสาวในประเทศเหล่านี้
6) ธนาคารกลางถูกแทรกแซงจากการเมือง หรือธนาคารกลางปฏิบัติเชิงการเมืองมากขึ้น นั่นคือเพิ่มการชักใยทางเศรษฐกิจที่ทำอยู่แล้ว เช่น กรณีธนาคารกลางสหรัฐหลังทรัมป์เปลี่ยนตัวผู้ว่าการคนปัจจุบัน นางเยลเลน
AFP PHOTO / Bryan R. Smith
7) ทำเนียบขาวปะทะกับซิลิคอนวัลเลย์ เช่น ด้านวงการสื่อ การเป็นอัตโนมัติที่ไม่ช่วยแก้ปัญหาว่างงานอย่างที่ทรัมป์ต้องการ
8) การกวาดล้างต่อเนื่องในตุรกี รวมศูนย์อำนาจในมือของประธานาธิบดีแอร์โดอาน ทำให้ภาคธุรกิจเอกชนต้องขึ้นต่อการเมืองยิ่งขึ้น
9) เพลงกระบี่จากเกาหลีเหนือที่มีความเสี่ยงจากระบบทรัมป์ของสหรัฐ กดดันเกาหลีเหนือมากขึ้น ทำให้สหรัฐต้องเข้าไปเผชิญหน้ากับจีน และการเปลี่ยนผู้นำเกาหลีใต้ ซึ่งถ้าหากได้ผู้นำแนวคิดกลางซ้าย ก็จะเน้นการปรองดองกับเกาหลีเหนือผ่านการทูต มากกว่าการเผชิญหน้า ซึ่งย่อมกระทบต่อนโยบายของสหรัฐและตะวันตกในภูมิภาคนี้
10) การต่อสู้ภายในชนชั้นนำแอฟริกาใต้ (ดูเอกสารชื่อ Top Risks 2017 : The Geopolitical Recession ใน eurasiagroup.net 03.01.2017 การวิเคราะห์นี้ได้รับความสนใจอย่างกว้างขวาง มีการนำไปเผยแพร่ต่อในหลายสื่อกระแสหลัก มีคำอธิบายและการสัมภาษณ์เพิ่มรายละเอียดต่างๆ ไปบ้าง ดังที่ได้ประมวลไว้ในที่นี้)
การวิเคราะห์ดังกล่าวข้างต้น เห็นได้ว่าเน้นสหรัฐและตะวันตกเป็นศูนย์กลาง และเพื่อบรรษัทในการบริหารความเสี่ยง ไม่ใช่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั่วไปและสาธารณชน เช่น การเห็นว่าเมื่ออิทธิพลของตะวันตกลดลงมาก และจีน-รัสเซียเป็นต้นไม่สามารถเข้ามาแทนที่ได้ จะทำให้เกิดภาวะสุญญากาศทางอำนาจในความสัมพันธ์ระหว่างประเทศขึ้น
ซึ่งในทางเป็นจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้นเสียทีเดียว
เพราะ
ก) สหรัฐและพันธมิตรยังมีความอาลัยอาวรณ์ในความยิ่งใหญ่ของตนในอดีต และไม่ยอมปล่อยอำนาจนี้ไปง่ายๆ และจะเข้ามาแทรกแซงด้วยวิธีการที่หลากหลายออกไป
ข) มีอำนาจระดับภูมิภาคกระจายอยู่ทั่วโลก เช่น จีน รัสเซีย อินเดีย บราซิล แอฟริกาใต้ อิหร่าน ตุรกี ซาอุดีอาระเบีย อินโดนีเซีย พร้อมที่จะสวมอำนาจนั้น หากอิทธิพลตะวันตกยอมถอยร่นไปจริงๆ
ค) ระเบียบโลกใหม่กว่า ย่อมต่างกับ “สันติภาพอเมริกา” แต่มันก็ยังถูกปกครองด้วยอำนาจอยู่ดี

ความเหลื่อมล้ำที่น่าอันตราย

มีมูลนิธิของกลุ่มธุรกิจเอกชนโลกที่มีชื่อเสียงองค์กรหนึ่ง ได้แก่ สมัชชาเศรษฐกิจโลก (บางแห่งใช้สภาเศรษฐกิจโลก) วางบทบาทเป็นผู้กำหนดระเบียบวาระของกระบวนโลกาภิวัตน์ ความเป็นไปในระดับภูมิภาค และธุรกิจอุตสาหกรรมสาขาต่างๆ จัดการประชุมใหญ่ประจำปีในเดือนมกราคม 2017 นี้ ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย เศรษฐี ซีอีโอของบรรษัทใหญ่ ผู้นำการเมืองโลก และบุคคลสำคัญด้านต่างๆ ในการประชุมจะมีเอกสารประกอบ เพื่อให้ผู้นำโลกสามารถหยั่งรู้และกำหนดนโยบายที่เหมาะสมในสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
ในการประชุมประจำปี ระหว่าง 17-20 มกราคมที่ผ่านมา ได้มีการออกเอกสารชิ้นหนึ่งชื่อ “รายงานความเสี่ยงโลก 2017” ที่ทำต่อเนื่องกันมา 12 ปีแล้ว
วิธีทำ ใช้การสำรวจทัศนะผู้เชี่ยวชาญด้านความเสี่ยงทั่วโลก จำนวน 750 คน แล้วมาประมวลเรียบเรียง สรุปความเห็นของผู้เชี่ยวชาญเหล่านี้ได้ว่า มีแนวโน้มใหญ่ห้าประการที่กำหนดแนวทางเศรษฐกิจโลกในทศวรรษหน้า ได้แก่
1) ความเหลื่อมล้ำทางรายได้และความมั่งคั่งที่สูงขึ้น
2) การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ
3) การแตกแยกหรือแตกขั้วทางสังคม
4) การพึ่งพาไซเบอร์มากขึ้น
5) ความชราภาพของประชากร นอกจากนี้ ยังมีการเติบโตของชนชั้นกลางในประเทศตลาดเกิดใหม่ เป็นต้น
ส่วนประเด็น “ภาวะถดถอยทางภูมิรัฐศาสตร์” หรือการเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ของการปกครอง หรือการจัดระเบียบทางสากลอยู่ในอันดับหลัง และถือว่าเป็นผลพวงจากเหตุปัจจัยห้าประการแรก
ความเสี่ยงที่น่ากังวลตามรายงานนี้ก็คือ ความเหลื่อมล้ำที่เพิ่มมากขึ้น
การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากวิกฤติ 2008 ที่อ่อนแอ ก่อให้เกิดกระแสต่อต้านระบบอำนาจเดิมทั้งในสหรัฐและยุโรป
การเสริมแรงระหว่างความเหลื่อมล้ำและการแตกขั้วทางการเมืองยิ่งทำให้ความเสี่ยงในโลกขยายตัว ความเป็นปึกแผ่นทางสังคมขาดลุ่ย ซึ่งกระทบต่อพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจและการเมืองในระบบทุนรุนแรง
ในช่วงก่อนวิกฤติ 2008 ยังอาศัยการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนเป็นพลังขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก
แต่ในปัจจุบันไม่มีแรงเช่นว่าแล้ว เมื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนลดความร้อนแรงโดยลำดับ เทคโนโลยีก็มีด้านที่เป็นโทษต่อปัญหาความเหลื่อมล้ำสูงขึ้น รัฐบาลประเทศต่างๆ จะอ่อนแอลง
ไม่สามารถปกป้องหรือควบคุมสังคมได้อย่างเคย
อย่างไรก็ตาม เอกสารนี้ชี้ให้เห็นการท้าทายและทางออกไว้หลายประการ
ในทางเศรษฐกิจ ได้แก่ การฟื้นชีพการเติบโตทางเศรษฐกิจ ไม่ใช่การเติบโตธรรมดา แต่ต้องการเป็นการเติบโตอย่างมีชีวิตชีวา ซึ่งต้องกระทำควบคู่กับการปฏิรูประบบตลาดแบบทุนนิยม
ในทางการเมือง ได้แก่ สนใจจัดการความคิดเรื่องอธิปไตยของชาติ ค่านิยมดั้งเดิม และความรู้สึกทางสังคม ให้ความสำคัญแก่เอกลักษณ์และชุมชุน การสนใจปัญหาประชาธิปไตย และเพิ่มพื้นที่แก่พลเรือน
ในทางการผลิต ได้แก่ การจัดการต่อการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีซึ่งก็คือการปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่สี่อย่างเหมาะสม
และสุดท้ายสำหรับกระบวนโลกาภิวัตน์ ได้แก่ ปกป้องและเสริมความเข้มแข็งแก่ความร่วมมือกันในโลก
(ดูรายงานเชิงลึกของ World Economic Forum ชื่อ The Global Risks Report 2017 ฉบับปีที่ 12 ใน weforum.org และบทความของ Nick Beams ชื่อ Report to Davos summit : Rising inequality threatens “msrket capitalism” 14.01.2017)

สงครามโลกที่ใกล้เข้ามา

มีบริษัทวิจัยด้านตลาดชื่อยูกัฟของอังกฤษ เชี่ยวชาญการสำรวจประชามติทางอินเตอร์เน็ต มีผลงานการสำรวจประชามติที่แม่นยำหลายครั้ง ระหว่างวันที่ 21 พฤศจิกายน ถึง 9 ธันวาคม 2016 บริษัทนี้ได้สำรวจประชามติของประชาชน 8 ประเทศตะวันตก จำนวนตัวอย่าง 8,000 คน
พบว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศตะวันตกคิดว่า เราเข้าใกล้สงครามโลกครั้งใหม่เข้าไปทุกที
ในประเทศใหญ่อย่างเช่นสหรัฐ มีผู้เห็นว่าจะเกิดสงครามโลกครั้งใหม่ถึงร้อยละ 64 เท่ากับฝรั่งเศส
แต่ในฝรั่งเศสยังมีผู้มองด้านดีว่าจะเกิดสันติภาพมากกว่าในสหรัฐเล็กน้อย คือร้อยละ 18
ขณะที่ในสหรัฐมีเพียงร้อยละ 15 ในเยอรมนีมีผู้เห็นว่าจะเกิดสงครามโลกร้อยละ 63 เห็นว่าจะมีสันติภาพร้อยละ 18 อังกฤษเห็นว่ามีสงครามร้อยละ 61 ที่จะเกิดสันติภาพร้อยละ 19
สำหรับประเทศอีก 4 ประเทศ ที่มีขนาดเล็กอยู่ทางยุโรปเหนือ ได้แก่ ฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ และเดนมาร์ก เห็นว่าจะเกิดสงครามโลกสูงร้อยละ 52, 48, 46 และ 45 ตามลำดับ
สำหรับประเทศที่คุกคามต่อประเทศยุโรปมากที่สุดได้แก่ รัสเซีย ซึ่งเป็นทางทหารมากกว่าด้านเศรษฐกิจ นอกจากนี้ ประเทศใหญ่ในตะวันตกเห็นว่าจะมีการโจมตีจากการก่อการร้ายขนาดใหญ่ในปี 2017 สูงกว่าครึ่ง นั่นคือ ฝรั่งเศสร้อยละ 81 อังกฤษร้อยละ 68 เยอรมนีร้อยละ 60 สหรัฐร้อยละ 59
(ดูรายงานการสำรวจของ YouGov โดย Matthew Smith ชื่อ People across the West think we are close to a new world war ใน yougov.co.uk 05.01.2017)
จากการวิเคราะห์และประชามติในประเทศพัฒนาแล้วดังกล่าว ย่อมเห็นได้ว่าโลกปัจจุบันไม่ปกติ การพยายามเข้าใจและอยู่ในโลกแบบนี้ย่อมเป็นการท้าทายมากทีเดียว
ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงชีวิตในความเสี่ยงที่ความมั่งคั่งก็ช่วยอะไรไม่ได้มาก การแปรโฉมใหญ่ และการมองโลกจากความขัดแย้งใหญ่สามประการ

ไม่มีความคิดเห็น: