PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

"องค์ภาฯ"ทรงรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ทรงรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรมและระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หลัง UNODC ทูลเกล้าฯ ถวาย เชื่อเป็นโอกาสสำคัญให้ได้สนับสนุนงานต่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ลดอาชญากรรม และความรุนแรง ปกป้องผู้เปราะบาง จัดการคอร์รัปชัน สร้างหลักนิติธรรมระดับโลก
วันนี้ (14 ก.พ.) ที่สำนักงานสหประชาชาติประจำประเทศไทย นายกิตติพงษ์ กิตยารักษ์ อดีตปลัดกระทรวงยุติธรรม ในฐานะผู้อำนวยการสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย (องค์การมหาชน) เปิดเผยว่า สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ หรือ UNODC ทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีด้านการส่งเสริมหลักนิติธรรม และระบบงานยุติธรรมทางอาญาสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แด่ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา เพื่อดำเนินกิจกรรมที่สนับสนุนการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยมุ่งเน้นการส่งเสริมความยุติธรรมในสังคม ซึ่งการทูลเกล้าฯ ถวายตำแหน่งทูตสันถวไมตรีนี้ เป็นผลมาจากการที่ทรงมีบทบาทสนับสนุนการดำเนินงานของสำนักงาน UNODC ในภูมิภาค และการที่ทรงช่วยระดมความร่วมมือในประเด็นระดับโลกที่เกี่ยวข้องต่างๆ อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ
ทั้งนี้ พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ประทานพระดำรัสว่า “การรับตำแหน่งทูตสันถวไมตรีเป็นโอกาสสำคัญให้ได้สนับสนุนงานของสหประชาชาติด้านหลักนิติธรรมและความเป็นธรรมซึ่งมีผลโดยตรงต่อความสำเร็จของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ ข้าพเจ้ามุ่งหมายที่จะทำงานร่วมกับสำนักงาน UNODC ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในการลดปัญหาอาชญากรรมและความรุนแรง ปกป้องกลุ่มผู้เปราะบางในสังคม จัดการกับปัญหาคอร์รัปชั่น รวมถึงการสนับสนุนความพยายามในการเสริมสร้างหลักนิติธรรมระดับโลก”
นายกิตติพงษ์ กล่าวว่า พระเจ้าหลานเธอฯ ได้ทรงปฏิบัติพระภารกิจเพื่อส่งเสริมความยุติธรรม และความเท่าเทียมของกลุ่มเปราะบางอย่างต่อเนื่องมากว่าสิบปี ทั้งยังทรงสนพระทัยพิเศษด้านการช่วยเหลือและพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้หญิงในกระบวนการยุติธรรม โดยได้ทรงริเริ่มดำเนินโครงการต่างๆ รวมถึงการยกร่างและรณรงค์อันนำไปสู่การรับรองข้อกำหนดสหประชาชาติว่าด้วยการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังหญิงและมาตรการที่มิใช่การคุมขัง หรือข้อกำหนดกรุงเทพฯ (Bangkok Rules) รวมถึงการก่อตั้งสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นองค์กรล่าสุดที่เข้าร่วมเป็นสถาบันเครือข่ายของสำนักงาน UNODC ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับงานของสำนักงาน UNODC นั้น พระเจ้าหลานเธอฯ ทรงผลักดันในเวทีสหประชาชาติให้ตระหนักถึงความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรม และการพัฒนามาโดยตลอด โดยทรงริเริ่มให้เกิดการประชุมเสวนาระดับนานาชาติว่าด้วยหลักนิติธรรม ในปี 2556 เพื่อสร้างแรงผลักดันทางการเมือง ให้ประเด็นความยุติธรรม ความมั่นคง และหลักนิติธรรม ได้ถูกบรรจุเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวาระการพัฒนา นอกจากนี้ ในระหว่างที่ทรงดำรงตำแหน่งเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติ ณ กรุงเวียนนา ได้ทรงเข้าร่วมเวทีสำคัญในการกำหนดนโยบายความยุติธรรมระดับโลก คือ การประชุมคณะกรรมาธิการยาเสพติด หรือ CND และการประชุมคณะกรรมาธิการสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา หรือ CCPCJ ซึ่งได้ทรงเป็นประธานในสมัยที่ 21 ด้วย
ทั้งนี้ อาชญากรรมเป็นปัจจัยที่ทำลายเสถียรภาพของชุมชน ประเทศ และภูมิภาค ในฐานะทูตสันถวไมตรี พระเจ้าหลานเธอฯ จะทรงมีบทบาทในโครงการของสำนักงาน UNODC ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เกี่ยวกับความเชื่อมโยงระหว่างหลักนิติธรรม สันติภาพ เสถียรภาพ และวาระ 2030 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยในเดือนมีนาคม พระเจ้าหลานเธอฯ จะเสด็จเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงในเวทีระหว่างประเทศและเวทีภูมิภาค 2 กิจกรรม จากนั้นจะทรงเข้าร่วมในการประชุมระดับสูงอื่นๆ ตลอดทั้งปี
ด้าน นายเจเรมี ดักลาส ผู้แทนประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก สำนักงานป้องกันยาเสพติดและปราบปรามอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) กล่าวถึงความสำคัญของการเป็นทูตสันถวไมตรีของพระเจ้าหลานเธอฯ และแสดงความยินดีที่พระเจ้าหลานเธอฯ จะทรงเข้ามาร่วมในงานป้องกันอาชญากรรมและความขัดแย้งรูปแบบต่างๆ ที่สั่นคลอนเสถียรภาพในภูมิภาค โดยเชื่อว่าบทบาทของพระองค์ในภารกิจดังกล่าว สามารถส่งเสริมการตระหนักเรื่องความสำคัญของหลักนิติธรรมและความยุติธรรมที่ส่งผลต่อการพัฒนาทุกมิติได้อย่างชัดเจน
ขอบคุณข้อมูล.Web_ผู้จัดการ

ไม่มีความคิดเห็น: