PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 15 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560

‘คสช.’ รุกคืบ ‘ปรองดอง’ ล่วงหน้า กลไก แห่ง ศปป.

ขณะที่ “ปรองดอง” ของคณะกรรมการชุด พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เพิ่งเริ่ม “คิกออฟ” ในวันวาเลนไทน์ที่ 14 กุมภาพันธ์
“ศปป.” ได้ก้าว “ล่วงหน้า” ไปแล้ว
ถามว่า “ศปป.” คืออะไร คำตอบคือ “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป”
เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ที่จังหวัดกาญจนบุรี พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ รองเสนาธิการทหารบกในฐานะ “ผู้อำนวยการ”ศูนย์เพิ่งทำพิธีปิดกิจกรรมสร้างพัฒนา “บุคลากรอาสาสมัครประเทศไทย ด้วยทุนทางปัญญา ไทยรุ่น 3”
ขณะที่ “ปรองดอง” เพิ่งนับ 1 “ศปป.” นับแล้ว 3
“ขณะนี้ยังไม่เจอปัญหาที่จะกลายเป็นจุดบอดและขัดขวางการสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ ในระดับพื้นที่มีความสงบ ไม่มีปัญหาอะไร แต่เราจะทำให้เกิดความยั่งยืนก่อนที่จะมีการเลือกตั้ง”
เป็นแถลงจาก พล.ท.ณัฐ อินทรเจริญ
สะท้อนให้เห็นได้อย่างเด่นชัดว่า การอบรมเพื่อสร้าง “บุคลากรอาสาสมัคร” ของ ศปป.เป้าหมายอยู่ที่ใด
เป็นปรองดอง เป็นสมานฉันท์ เป็นการเลือกตั้ง

กล่าวสำหรับคนที่คุ้นๆ กับสถานการณ์ก่อน “ประชามติ” รับ ไม่รับ “ร่างรัฐธรรมนูญ” ในเดือนสิงหาคม 2559 จะรู้สึกได้โดยพลัน
ยิ่งเมื่อเจาะลึกลงไปภายในองค์ประกอบ ยิ่งจะรู้สึก
เพราะองค์ประกอบ 1 คือ นักศึกษาวิชาทหาร หรือที่เรียกว่า “รด.” หรือรักษาดินแดน และองค์ประกอบ 1 คือ ครูกำกับนักศึกษาวิชาทหาร
ตอน “ประชามติ” ก็ใช้ “องค์ประกอบ” เช่นนี้
เพียงแต่ในตอนนั้นดำเนินการภายใต้การสนธิกำลังระหว่าง 1 พลเรือน 1 ตำรวจ 1 ทหาร ภายใต้การกำกับของ “กองกำลังรักษาความสงบ” หรือ “กกล.รส.”
ลงไปในแต่ละ “พื้นที่”
เหมือนที่ ศปป.ลงไปในพื้นที่จังหวัดกาญจนบุรี อันอยู่ในความรับผิดชอบของกองทัพภาคที่ 1 และธง 1 ของ ศปป.ก็คือปฏิบัติตามนโยบายของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา
มิใช่ในฐานะ “หัวหน้า คสช.” มิใช่ในฐานะ “นายกรัฐมนตรี” หากแต่ในฐานะ “ผอ.รมน.”
เป็นนโยบายอันสรุปและเรียกตามภาษาทางราชการว่า “สร้างความปรองดอง สมานฉันท์ให้เกิดแก่สังคมอย่างยั่งยืน”
นี่คือการขับเคลื่อนของ “กองทัพ” ผ่านกระบวนการ “ศปป.”
อย่าได้แปลกใจไปเลยที่ “คณะกรรมการ” ไม่ว่าในด้านปฏิรูป ไม่ว่าในด้านปรองดอง จะประกอบส่วนขึ้นโดยมี“ทหาร” เป็นองคาพยพสำคัญ
ยิ่งสำหรับคณะกรรมการในชุดของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ
ปัจจัย 1 เนื่องจาก พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ปัจจัย 1 เนื่องจากพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นรองนายกรัฐมนตรีด้านความมั่นคง
“ปลัดกระทรวงกลาโหม” จึงต้องมา“ผู้บัญชาการทหารสูงสุด” จึงต้องมา
และเมื่อประสานเข้ากับ “กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน” หรือ “กอ.รมน.” มีความจำเป็นที่ “ศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป” หรือ “ศปป.” จะต้องแสดงบทบาท
เหมือนกับบทบาทของ “กองทัพ” ในห้วงแห่ง “ประชามติ”
ความสำเร็จจาก “ประชามติ” จึงเป็นเหมือนกับพิมพ์เขียวและเป็นหลักประกันให้กับการขับเคลื่อนในเรื่อง “ปรองดอง”
นี่เป็น “งานใหญ่” ของ “คสช.”
หากมิได้เป็นงานใหญ่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา คงไม่ลงมาเล่นเอง หากมิได้เป็นงานใหญ่ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ คงไม่ได้รับการมอบหมาย
ทั้งหมดเป็นการเคลียร์พื้นที่ก่อนเข้าสู่ “เลือกตั้ง”
ไม่ว่าพรรคเพื่อไทยจะเต็มใจหรือไม่ ไม่ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะเต็มใจหรือไม่ ไม่ว่าพรรคภูมิใจไทยจะเต็มใจหรือไม่ ไม่ว่าพรรคชาติไทยพัฒนาจะเต็มใจหรือไม่
แต่นี่คือ “ไฟต์” บังคับในทาง “การเมือง”
เป็นการเมืองในแบบที่เคยกระหึ่มในห้วงแห่งมาตรการ “ชัตดาวน์” กรุงเทพมหานครของ “กปปส.” นั่นก็คือ
“ปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง”

ไม่มีความคิดเห็น: