PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ข่าว1/3/60

ธรรมกาย

นายกฯ ปัดตอบปมธรรมกาย ยันรัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกคน ขอสื่อนำเสนอเรื่องดี ๆ

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือ คสช. กล่าวเป็นประธานในพิธีเปิดงานการแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับทุกคน และอย่าไปสนใจในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง โดยเฉพาะเรื่องที่ไม่มีประโยชน์ต่อบ้านเมือง และปล่อยให้เจ้าหน้าที่ทำงานน่าจะดีกว่า และขอให้สื่อมวลชนนำเสนอในเรื่องที่ดี ๆ ให้คนเขารับรู้ด้วย หากทุกคนไปติติงในทุกเรื่องปัญหาก็จะกลับมาทั้งหมด

ทั้งนี้ ในช่วงท้ายผู้สื่อข่าวพยายามสอบถามในเรื่องเกี่ยวกับการประชุมเพื่อหาแนวทางในการดำเนินการวัดพระธรรมกายร่วมกับรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเมื่อวานนี้นั้น โดย พล.อ.ประยุทธ์ ระบุเพียงว่า ไม่รู้ ไม่มีคำตอบ รู้ว่าจะถามเรื่องธรรมกาย ก่อนที่จะเดินทางกลับไป
-------------
พล.อ.ประวิตร" แนะพระธัมมชโยมอบตัว ย้ำเดินหน้าค้นวัดตามกฎหมาย ยันพบนายกฯแค่กินข้าว

พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวว่าเมื่อวานที่ผ่านมาที่ได้เข้าพบนายกรัฐมนตรี ไม่ได้หารือเรื่องการดำเนินการกับวัดพระธรรมกาย เป็นเพียงการนัดรับประทานอาหาร ส่วนการปรับแผนการทำงาน อะไรที่ไม่ก้าวหน้าก็ต้องปรับ เพื่อให้สามารถดำเนินการให้ได้ข้อยุติ โดยให้นายสุวพันธ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะกำกับดูแลกรมสอบสวนคดีพิเศษหรือดีเอสไอ ไปหารือกับ พลตำรวจเอกจักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ  เจ้าหน้าที่ทหาร และสำนักพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เพื่อหาวิธีการเข้าไปดำเนินการ โดยจะไม่มีการใช้ความรุนแรง เน้นการเจรจาและดำเนินการตามกฎหมาย ซึ่งคดีนี้เป็นเรื่องของตัวบุคคลเพียงคนเดียว ดังนั้นหากคิดว่าไม่ผิดก็ขอให้ออกมามอบตัว และยินยอมให้เจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจค้นภายในวัด หรือหากหนี บ้านเมืองก็มีกฎหมายเอาผิดอยู่แล้ว
----------
"อดีต" สปช. "ไพบูลย์" เตรียมเสนอร่างกฎหมายจัดการทรัพย์สินวัด ต่อสมเด็จพระสังฆราช และนายกรัฐมนตรี เพื่อสอดรับพระธรรมวินัย ป้องกันสงฆ์ยุ่งเกี่ยวการเงิน

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ แถลงว่า ตนเองได้มีหนังสือถึงนายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา, ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ และกราบทูลสมเด็จพระสังฆราช เพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดการทรัพย์สินวัดและพระภิกษุ และร่างพระราชบัญญัติสภาพุทธบริษัทแห่งชาติ เพื่อให้หน่วยงานของรัฐ พิจารณานำไปเป็นแนวทางแก้ไขปัญหาการจัดการเรื่องทรัพย์สินของวัดต่าง ๆ และของพระภิกษุเอง และปัญหาในการขาดองค์กรที่ทำหน้าที่ศึกษาตีความพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าไม่ให้มีผู้นำไปบิดเบือน เพื่อส่งเสริมให้กิจการพระพุทธศาสนาอยู่ในหลักการแห่งพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้า ตามเจตนารมณ์ของประชาชนทั้งประเทศที่มีความเป็นห่วงในเรื่องนี้
--------------
"ไพบูลย์" มั่นใจ "พระธัมมชโย" ยังอยู่วัดพระธรรมกาย พบหลักฐานบ่งชี้หลายอย่าง

นายไพบูลย์ นิติตะวัน อดีตประธานคณะกรรมการปฏิรูปแนวทางและมาตรการปกป้องพิทักษ์กิจการพระพุทธศาสนา สภาปฏิรูปแห่งชาติ มั่นใจว่า พระธัมมชโย ยังอยู่ในเขตวัดพระธรรมกาย 196 ไร่ เนื่องจากมีหลักฐานหลายประการบ่งชี้ อาทิ มีการตรวจสอบพบว่า คนใกล้ชิดกับพระธัมมชโยทุกคนยังอยู่ในวัดพระธรรมกาย จึงเป็นไปไม่ได้ที่ พระธัมมชโย จะอยู่นอกวัดเพียงลำพัง อีกทั้งยังมีการตรวจจับสัญญาณโทรศัพท์ ซึ่งคนใกล้ชิดกับพระธัมมชโย ได้โทรไปยังเบอร์โทรศัพท์มือถือของบุคคลหนึ่งในช่วงเวลา 04.00 น. ของวันเสาร์ที่ 18 ก.พ. ที่ผ่านมา ประกอบกับเมื่อบ่ายวันอาทิตย์ที่ 19 ก.พ. มีพระภิกษุและลูกศิษย์วัดพระธรรมกายจำนวนหลายพันคนได้บุกเข้ามาแหวกแนวกั้นของทางเจ้าที่ตำรวจเข้ามา เพื่อเพิ่มกำลังมวลชนเข้ามาอยู่ในวัด และต่อมา ทางวัดได้ประกาศไม่ยอมให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอเข้าค้นวัดอีก ย่อมแสดงว่า ไม่ต้องการให้เจ้าหน้าที่เข้าไปพบตัว พระธัมมชโย

อย่างไรก็ตาม ส่วนตัวเชื่อว่า เรื่องจะยุติได้ เมื่อเจ้าหน้าที่ได้ล้อมวัดพระธรรมกายจนอ่อนแรงและบุกเข้าไปจับกุมตัว หรือ พระธัมมชโย เข้ามอบตัวเอง แต่ก็กรณีนี้ทาง พระธัมมชโย เป็นห่วงว่าจะไม่ได้รับการประกันตัวและถูกจับสึก ดังนั้น จึงขอให้สังคมช่วยกันหาทางออกเพื่อให้ พระธัมมชโย มอบตัว พร้อมขอให้กระบวนการยุติธรรมให้โอกาสโดยให้สามารถใช้สิทธิ์ประกันตัวได้
------------
ผอ.พศ. คนใหม่ เข้าพบ "วิษณุ" ยัน แก้ปัญหาวัดพระธรรมกาย ใช้แนวทางลดความเสี่ยง ไม่รุนแรง เชื่อการเจรจาคือทางออก

พ.ต.ท.พงศ์พร พราหมณ์เสน่ห์ ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เข้าพบ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายกฎหมาย และ นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อรายงานตัวพร้อมกับรับมอบนโยบายในการทำงานหลังได้รับการแต่งตั้ง พร้อมเปิดเผยหลังเข้าพบว่า เป็นการเข้ารายงานตัวตามธรรมเนียมราชการทั่วไปต่อผู้บังคับบัญชา ซึ่งรองนายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ดูแลงานพระพุทธศาสนา อย่างไรก็ตาม ในส่วนของการออกกฎหมายเกี่ยวกับคณะสงฆ์ ต้องผ่านความเห็นของมหาเถรสมาคม (มส.) ก่อนอยู่แล้ว อะไรที่กระทบต่อพระสงฆ์จะต้องหารือกับฝ่ายสงฆ์ก่อน

สำหรับการแก้ไขปัญหาวัดพระธรรมกาย ในฐานะที่เคยทำงานในกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) นั้น จะใช้แนวทางลดความเสี่ยง ป้องกันการบาดเจ็บและล้มตาย ดังนั้น จึงไม่ต้องเป็นห่วง เพราะเจ้าหน้าที่จะไม่กระทำการรุนแรง ซึ่ง พศ. มีหน้าที่ทำตามหลักพระพุทธศาสนา และเชื่อว่าการเจรจาเพื่อแก้ไขปัญหานี้ยังสามารถใช้ได้เสมอ การเจรจาและการทูตไม่มีวันสาย หากใครไม่ทำตามการเจรจาก็ไม่สมควรเป็นผู้นำ ส่วนท่าทีขณะนี้จากวัดพระธรรมกายเป็นอย่างไรนั้นต้องถามฝ่ายปฏิบัติ

ทั้งนี้ พ.ต.ท.พงศ์พร ยังกล่าวถึงกรณีที่มีบางฝ่ายเสนอให้แก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์เพื่อควบคุมพระนอกรีต ว่า การเอาผิดพระนอกรีตนั้น มีระบุอยู่ใน พ.ร.บ.สงฆ์ และระเบียบวินัยสงฆ์ จึงไม่จำเป็นต้องแก้ไขกฎหมายเพราะมีบทบัญญัติสำหรับการเอาผิดไว้อยู่แล้ว และกระแสข่าวที่ว่าตนเองเข้ามาเพื่อออกกฎหมายเรียกเก็บภาษีในวัดต่าง ๆ และวัดพระธรรมกาย และการกล่าวหาว่าตนเองเคยอยู่สำนักคดีภาษีดีเอสไอและจะมาทำเรื่องภาษีนั้นเรื่องนี้นั้น ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด

รวมถึงไปถึงการกล่าวหาว่าตนเองเป็นแขกพราหมณ์ เข้ามาเพื่อทำลายพระพุทธศาสนา ก็ถือว่าเป็นการใส่ร้ายกัน และกระทบต่อพระสงฆ์ด้วย ดังนั้นขออย่าเพิ่งไปฟังและเชื่ออะไร
-----------
เจ้าหน้าที่ยังตรึงเข้มคัดกรองบุคคลผ่านเข้าออก วัดพระธรรมกาย จับตาความคืบหน้าหลังนายกฯ เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหารือ

บรรยากาศบริเวณ รอบวัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ในช่วงเช้านี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจ ทหาร ยังคงตั้งด่านตรวจตราอย่างเข้มงวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งโดยการคัดกรองและตรวจตราบุคคลที่จะผ่านเข้าออก และยานพาหนะที่สัญจรผ่านไปมา ขณะที่บริเวณตลาดกลางหลวง ฝั่งตรงข้ามประตู 5 - 6 ยังคงมีศิษยานุศิษย์ทำบุญตักบาตรพระสงฆ์ และรอทำวัดเช้าตามปกติ ท่ามกลางมาตรการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดจากเจ้าหน้าที่ทหารและตำรวจ

นอกจากนี้ ยังมีพระสงฆ์จากวัดพระธรรมกายเดินทางตากประตู 5 ออกมาบิณฑบาต แต่เมื่อต้องการกลับเข้าไปภายในวัดพระธรรมกาย เจ้าหน้าที่ ซึ่งตรึงกำลังรักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณดังกล่าวไม่อนุญาตให้กลับเข้าไป เนื่องจากได้รับคำสั่งว่าให้พระกลับเข้าวัดทางประตู 7 พระและเจ้าหน้าที่จึงได้มีการเจรจากัน ซึ่งพระก็ได้นำใบสุทธิสงฆ์เพื่อยืนยันสถานะความเป็นพระ โดยเจ้าหน้าที่ยืนยันว่าไม่สามารถให้กลับเข้าไปทางประตู 5 ได้เพราะต้องทำตามคำสั่งที่ได้รับจากผู้บังคับบัญชา

สำหรับบริเวณหน้าประตู 7 ซึ่งประตูใหญ่ที่สุด และก่อนหน้านี้เป็นทางเข้าออกหลักของวัด มีเจ้าหน้าที่ตำรวจประจำการอยู่ และตั้งเต็นท์ด้านหน้า ศิษย์บางส่วนได้มาทำบุญตักบาตร ซึ่งโดยทั่วไปยังคงเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

อย่างไรก็ตาม วันนี้ต้องจับตาความเคลื่อนไหว หลังจากที่เมื่อวานนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เรียกรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ผู้บัญชาการหารบก (ผบ.ทบ.) ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) รวมทั้ง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) และ ผู้อำนวยการสำนักงานพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) เข้าหารือเป็นการด่วน คาดว่าจะหารือปรับแผนแนวทางในการดำเนินการกรณีวัดพระธรรมกาย หลังปัญหายื้อเยื้อมานาน
-----------
เจ้าหน้าที่เข้มทางเข้าออกวัดพระธรรมกายต้องผ่านประตู 7 พระสงฆ์บอกไกล นั่งฉันภัตตาหารเช้า หน้าประตู 6 

ที่บริเวณทางเข้าประตู 6 วัดพระธรรมกาย มีพระสงฆ์จำนวน 16 รูป นั่งอยู่บริเวณด้านหน้าทางเข้า หลังได้ออกมาบิณฑบาต และต้องการกลับเข้าไปในวัดพระธรรมกายผ่านประตู 6 ซึ่งไม่สามารถกลับเข้าไปได้ โดยเจ้าหน้าที่ทหารที่ดูแลพื้นที่ได้ชี้แจงว่า ไม่ได้มีปิดกั้นการเข้าวัด แต่ต้องเข้าทางประตู 7 เท่านั้น ซึ่งก่อนหน้านี้อาจมีอนุโลมบ้าง ทำให้พระสงฆ์บางรูปสามารถเข้าได้ โดยหลังจากนี้จะแจ้งพระสงฆ์ทั้งหมดที่อยู่ในวัดให้ทราบ และทำความเข้าใจเพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติตรงกัน ทั้งนี้ พระสงฆ์กลุ่มดังกล่าว จึงได้นั่งฉันภัตตาหารเช้า อยู่บริเวณปากทางเข้าประตู 6

ซึ่ง พระสุรพล ปุณโณภาโส พระลูกวัดพระธรรมกาย เปิดเผยว่า พระสงฆ์ที่มานั่งจุดนี้ มีใบสุทธิสงฆ์ บัตรประจำตัวสงฆ์ครบถ้วน และก่อนหน้านี้ ได้เดินเข้าวัดผ่านประตูทางเข้าที่ 6 มาตลอด เพราะเป็นทางเข้าที่ใกล้ที่สุด ซึ่งหากต้องไปเข้าประตูที่ 7 จะเดินไกลขึ้น และทำให้ฉันอาหารเช้า เวลา 07.00 น. ไม่ทัน จึงขอความอนุเคราะห์จากเจ้าหน้าที่เปิดทางให้เข้า แต่ทั้งนี้เจ้าหน้าที่ ยังคงยืนยันว่าต้องทำตามกฎระเบียบ ทำให้พระสงฆ์ต้องเดินทางไปเข้าที่ประตู 7 โดยไม่มีเหตุการณ์ความรุนแรงเกิดขึ้น
-----------
เจ้าหน้าที่ นำป้ายมาติดรอบตลอดกลางคลองหลวง ขอผู้ที่ชุมนุมออกจากพื้นที่ มาติดบริเวณโดยรอบ ขณะป้าย "we need food" ถูกนำมาติดอีกครั้ง

บรรยากาศที่ตลาดกลางคลองหลวง จ.ปทุมธานี ซึ่งอยู่ฝั่งตรงข้ามทางเข้าประตู 5 - 6 วัดพระธรรมกาย เจ้าหน้าที่ทหารได้นำป้ายประกาศ ประมาณ 3 ป้าย มาติดบริเวณโดยรอบ ในข้อความ ระบุว่า "พื้นที่นี้เป็นพื้นที่ส่วนบุคคลไม่อนุญาตให้ประกอบกิจกรรมชุมนุม จึงขอความกรุณาพระภิกษุสงฆ์และสามเณร และผู้ชุมนุมออกจากพื้นที่บริเวณนี้โดยเร็ว เพื่อที่จะได้ประกอบกิจการค้าได้ตามปกติ หากฝ่าฝืนจะถูกดำเนินคดีฐานบุกรุกตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 364 และมาตรา 365"

ขณะที่ลูกศิษย์บางส่วนยังนั่งสวดมนต์อยู่ภายในเต็นท์ที่ตั้งอยู่ในตลาดกลาง ยังไม่มีท่าทีจะเคลื่อนย้ายออกจากพื้นที่แต่อย่างใดนอกจากนี้ ยังพบว่า ที่เสาส่งสัญญาน ข้างอาคาร 100 ปี คุณยายอาจารย์ฯ ในพื้นที่ 130 ไร่ โซน B วัดพระธรรมกาย ยังคงมีป้ายข้อความ "we need food" ติดอยู่ หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้นำออกไปแล้ว
---------------
พระสนิทวงศ์ ขอรัฐปล่อยสัญญาณโทรศัพท์ เพื่อหวังติดต่อสื่อสารกับคนภายนอก พร้อม ระบุ ว่าการที่ จนท. ปิดกั้นเสรีภาพเสบียงอาหาร ถือเป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลร้ายแรง ยิ่งกว่า สงคราม

พระสนิทวงศ์ วุฑฒิวังโส ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารองค์กรวัดพระธรรมกาย โชว์ภาพจากกล้องวงจรปิด ระบุว่า เมื่อเย็นวานนี้เจ้าหน้าที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ 2 - 3 คน เข้ามาภายในอาคาร 60 ปี โดยพลการ เพื่อมาดึงสายสัญญาณกล้องวงจรปิดที่ติดอยู่ในอาคารดังกล่าวออก พร้อมจับกุมเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยของวัดไป และเพิ่งจะปล่อยตัวเมื่อช่วงเช้าวันนี้ โดยทางวัดได้ตั้งข้อสังเกตว่าการมาของเจ้าหน้าที่เป็นการมาโดยพลการ จึงไม่ทราบว่ามีวัตุประสงค์ใด และหวั่นว่าจะนำสิ่งของที่ผิดกฎหมาย มาไว้ในพื้นที่อาคาร หากจะเข้ามาตรวจค้น ก็ควรจะมาแบบปกติ

ส่วนการที่เจ้าหน้าที่ได้ข้าวกล่องจำนวน 300 กล่อง มาให้ทางวัดเมื่อวานนี้ พระสนิทวงศ์ ระบุว่า ข้าวกล่องทั้งหมด ไม่สามารถฉันได้เพราะเสียทั้งหมด และไม่เพียงพอต่อผู้ที่อาศัยอยู่ในวัดซึ่งมีเป็นหมื่นคน พร้อมกันนี้ ยังได้กล่าวอีกว่า การที่เจ้าหน้าที่ ปิดกั้นเสบียงอาหาร สัญญาณโทรศัพท์และการสัญจร ถือเป็นการละเมิดสิทธิขั้นพื้นฐานอย่างร้ายแรง เป็นการกระทำที่ยิ่งกว่าสงคราม จึงขอให้ช่วยปล่อยสัญญาณโทรศัพท์มือถือ เพราะจะได้ติดต่อกับเจ้าหน้าที่รัฐได้สะดวก รวมถึงติดต่อครอบที่จังหวัดยะลา เพราะทุกคนเป็นห่วงความปลอดภัยของพระสงฆ์ในวัด

นอกจากนี้ ยังได้ชี้แจงกรณีที่เมื่อช่วงเช้าวันนี้มีบุคคลไม่ทราบชื่อ ถือใบกระท่อมมาที่หน้าประตู 7 โดยยืนยันว่าบุคคลดังกล่าว ไม่มีความเกี่ยวข้องกับวัดพระธรรมกายแน่นอน และไม่ทราบว่าทำเพราะจุดประสงค์ใด รวมไปถึงเรื่องการจับผิด ของวัดพระธรรมกาย เพราะขณะนี้มีข้อความเผยแพร่ทางโซเชียลมีเยอะมาก โกยเฉพาะภาพฆ้อน ชี้แจงว่าทำเป็นสีสัน ใช้ในพิธีไม่มีการนำมาขายแน่นอน
------------
อธิบดีดีเอสไอ ประชุมคดีวัดพระธรรมกาย ระบุ นายกฯ ไม่ได้สั่งการอะไรพิเศษ โดยให้ทำตามกฎหมาย

พ.ต.อ.ไพสิฐ วงศ์เมือง อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) ประชุมประเมินสถานการณ์และแนวทางปฏิบัติการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ที่กองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนภาค 1 เพื่อติดตามจับกุมตัวพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม อาทิ ผู้แทนสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) และกรมการปกครอง พ.ต.อ.ไพสิฐ กล่าวก่อนเข้าประชุมสั้น ๆ กรณีนายกรัฐมนตรีได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายเข้ารายงานสรุปสถานการณ์ที่เกี่ยวกับคดีวัดพระธรรมกาย ว่า นายกรัฐมนตรีไม่มีข้อสั่งการอะไรเป็นพิเศษ เพียงแต่ให้ดำเนินการตามกฎหมาย

ด้าน พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ รองโฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ กล่าวปฏิเสธที่จะแสดงความคิดเห็น กรณีมีกระแสข่าวการเปลี่ยนตัวผู้รับผิดชอบการตรวจค้นวัดพระธรรมกาย ยืนยันว่า ที่ผ่านมา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ก็ได้ให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องนี้ไปแล้ว ส่วนเรื่องการปฏิบัติก็เป็นเรื่องปกติ

นอกจากนี้ ยังพบว่า สถานการณ์ภาพรวมยังไม่พบความเคลื่อนไหว หลังมีรายงานข่าวว่า มีความพยายามในการยกระดับการชุมนุมของกลุ่มพระสงฆ์และคณะลูกศิษย์ ซึ่งจะมีการประชุมสรุปสถานการณ์ภาพรวมอีกครั้ง
----------
โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกหมายเรียก "อัยย์ เพชรทอง" พร้อมพวก รวม 3 คน รายงานตัวภายในวันที่ 3 มี.ค. นี้ 

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผย ว่า ขณะนี้ดีเอสไอได้ออกหมายเรียกบุคคลที่มีพฤติกรรม ขัดขวางและปลุกระดมในพื้นที่ประกาศมาตรา 44 ประกอบด้วย 1. นายอัยย์ เพชรทอง 2. นางกชกร ไชยวาน และ 3. นายพยุง อุณหิต โดยให้มารายงานตัวต่อเจ้าหน้าที่ ที่ บก.ตชด.ภ.1 ในวันที่ 3 มีนาคม นี้

ส่วนกรณีมีข่าวว่า นายรุ่งโรจน์ เภกะนันทน์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย และ นายสมเกียรติ ศรลัมพ์ อดีต ส.ส.พรรคเพื่อไทย มาเคลื่อนไหวร่วมกับศิษยานุศิษย์วัดพระธรรมกาย ในพื้นที่ตลาดกลางคลองหลวงนั้น ขณะนี้ยังไม่ได้รับรายงาน แต่เจ้าหน้าที่เฝ้าจับตาอยู่

ส่วนการเข้าออกภายในวัดเจ้าหน้าที่ได้อำนวยความสะดวกกับพระสงฆ์ ซึ่งเจ้าหน้าที่ได้ใช้วิธีการปฏิบัติด้วยความละมุนละม่อม อนุญาตให้นำอาหารปรุงสุก ยารักษาโรคเข้าไปภายในวัดได้

อย่างไรก็ตาม สำหรับการประชุมระะหว่างอธิบดี DSI ร่วมกับนายกรัฐมนตรีเมื่อวานนี้ นายกรัฐมนตรีไม่ได้สั่งการอะไรเป็นพิเศษ แต่กำชับว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายทั้งภายในและนอกวัด ซึ่งทางการข่าวเจ้าหน้าที่ยังเชื่อว่า พระธัมมชโย ยังคงภายในวัดพระธรรมกาย
-------------
โฆษกดีเอสไอ ขอ พระสงฆ์ - ลูกศิษย์ ออกจากพื้นที่ตลาดคลองหลวง - จ่อฟันผิดผู้สนับสนุนการชุมนุม

พ.ต.อ.ทรงศักดิ์ รักศักดิ์สกุล โฆษกกรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า ในวันนี้จะมีการแจ้งให้กลุ่มผู้ชุมนุมที่อยู่บริเวณตลาดกลางคลองหลวง ทั้งพระสงฆ์ และประชาชนออกจากพื้นที่ โดยในเวลา 15.00 น. เจ้าหน้าที่จะเข้าไปประกาศทำความเข้าใจกับประชาชนถึงแนวทางปฏิบัติ ในการให้ออกจากพื้นที่ รวมถึงพิจารณาออกหมายเรียกกับกิจกรรมที่สนับสนุนการชุมนุม เช่น การจัดระเบียบยานพาหนะ และรถที่นำเต็นท์เข้ามาในพื้นที่ รวมถึงจะตรวจสอบใบสุทธิสงฆ์ เพื่อแยกพระสงฆ์ และคนที่แต่งกายเลียนแบบพระสงฆ์ออกจากกัน

สำหรับตลาดกลางคลองหลวง แม้ว่าก่อนหน้านี้จะห้ามไม่ให้มีการชุมนุม รวมถึงเจ้าของตลาดก็ได้มีการไปแจ้งความไว้แล้ว แต่สาเหตุที่ประชาชนยังไม่ออกจากพื้นที่ เนื่องจากบางส่วนเป็นผู้สูงอายุที่ถูกชักชวนเข้ามา และเข้าใจว่าไม่มีความผิด ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ที่มีความละเอียดอ่อนเจ้าหน้าที่จึงต้องใช้เวลาในการทำความเข้าใจและประกาศเตือนให้ทราบ เพราะไม่ต้องการให้เกิดความสูญเสีย
---------------
พ่อค้าแม่ค้าตลาดเมืองแก้วมณี ยืนถือป้ายเรียกร้องมาตรา 44 คุมวัดพระธรรมกาย หลังขายของไม่ได้มากว่า 14 วัน

กลุ่มพ่อค้าแม้ค้า ตลาดเมืองแก้วมณี กว่า 10 ราย ได้นำป้ายข้อความต่าง ๆ ยืนถือที่บริเวณทางเจ้าประตูที่ 5 วัดพระธรรมกาย เพื่อเรียกร้องให้ทางรัฐบาลยกเลิกการใช้กฎหมาย มาตรา 44 เนื่องจากได้รับความเดือดร้อน และไม่มีรายได้จากการปฏิบัติการปิดล้อมของเจ้าหน้าที่

โดยตัวแทนผู้ประกอบการร้านค้า ระบุว่า ผู้ประกอบการร้านค้าต่าง ๆ ที่ขายของภายในเมืองแก้วมณีแห่งนี้ ทั้งขายอาหาร ขายผลไม้ ขายเครื่องดื่ม และอื่น ๆ อีกมากมาย ต่างได้รับผลกระทบจากการใช้กฎหมายมาตรา 44 เพราะร้านค้าไม่สามารถค้าขายได้มาแล้ว 14 วัน ไม่มีรายได้เข้ามา แถมยังต้องเสียค่าเช่าร้าน ค่าน้ำ ค่าไฟ รายเดือนอีก ใครจะรับผิดชอบในเรื่องดังกล่าวนี้ ดังนั้น จึงอยากจะวิงวอนขอให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องยกเลิกกฎหมายมาตรา 44 นี้ ด้วย เพื่อพวกตนจะได้มีรายได้ไปเลี้ยงครอบครัวได้
----------
ตำรวจเคลียร์รถจอดกีดขวางการจราจร ช่วงประตู 7 - ประตู 5 วัดพระธรรมกาย หลังการจราจรติดขัด - ฝ่าฝืนมีความผิด คุก 1 ปี ปรับ 2 หมื่นบาท 

ที่วัดพระธรรมกาย ช่วงบ่ายวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจร สภ.คลองหลวง เข้าเคลียร์ยานพาหนะที่จอดกีดขวางการจราจรอยู่ตลอดแนวถนนบางขัน - หนองเสือ ฝั่งขาเข้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี โดยเฉพาะช่วงบริเวณแนวของวัดพระธรรมกาย ตั้งแต่ ทางเข้าประตูที่ 7 จนถึง ประตู 5 - 6 เนื่องจากพบปัญหาการจราจรติดขัด และทำให้ผู้ใช้รถใช้ถนนได้รับความเดือดร้อน ซึ่งทางเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ประชาสัมพันธ์ให้ย้ายรถออกจากพื้นที่ และนำกรวยจราจร มาตั้งเพื่อกันรถที่จะเข้ามาจอดภายหลังจากนี้

สำหรับพื้นที่บริเวณดังกล่าว เป็นพื่นที่ควบคุมพิเศษตามคำสั่ง คสช. มาตรา 44 และตามสั่งการปฏิบัติการในพื้นที่ควบคุมของอธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ซึ่งหนึ่งในข้อห้าม ระบุว่า ห้ามผู้ใดที่ไม่ใช่
เจ้าพนักงานจอดรถ หรือยานพาหนะ บนเส้นทางสาธารณะในพื้นที่ควบคุม เว้นแต่จะได้รับอนุญาต หากฝ่าฝืน มีโทษ จำคุก ไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท

ด้านความเคลื่อนไหวของศิษยานุศิษย์ที่ตลาดกลางคลองหลวง ได้มีการนำป้ายข้อความจำนวนหลายอัน มาติดไว้บริเวณใต้แผ่นไวนิลขนาดใหญ่ ที่ตั้งอยู่หน้าตลาดกลางคลองหลวง โดยมีใจความสำคัญ ให้ยกเลิกการใช้กฎหมายมาตรา 44 และมีการเชิญชวนลูกศิษย์มาร่วมสวดมนต์ในเวลา 18.00 น. ของทุกวันอีกด้วย
--------
ดีเอสไอ ตั้งโต๊ะคัดกรองพระและศิษย์เข้าพื้นที่ตลาดกลางคลองหลวง โดยภาพรวมยังเป็นไปด้วยความเรียบร้อย 

บรรยากาศที่วัดพระธรรมกาย บริเวณถนนเลียบคลองแอน ฝั่งตลาดกลางคลองหลวง เจ้าหน้าที่ดีเอสไอ ทหาร เจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง เจ้าหน้าที่จากสำนักพระพุทธศาสนามาตั้งโต๊ะเพื่อคัดกรองพระภิกษุสงฆ์และสามเณร ที่เดินทางเข้ามาในพื้นที่บริเวณตลาดกลางคลองหลวง โดยจะทำการตรวจสอบใบสุทธิสงฆ์ และซักถามเหตุผลของการเดินทางมาที่วัดพระธรรมกาย

ซึ่งตลอดทั้งวันมีพระสงฆ์จากต่างจังหวัด เดินทางเข้ามาในพื้นที่ อาทิ พระสงฆ์จากวัดแสงทอง จ.เชียงใหม่ ที่เดินทางมาพร้อมกับสามเณรอีก 2 รูป โดยให้เหตุผลว่า เดินทางมาเพื่อร่วมปฏิบัติธรรม
กับทางวัดพระธรรมกาย ทั้งนี้ ได้ให้เจ้าหน้าที่ดีเอสไอตรวจสอบใบสุทธิตามขั้นตอน โดยเจ้าหน้าที่ดีเอสไอยืนยันว่า ไม่สามารถให้เข้าไปภายในพื้นที่ได้ โดยจะนำพระสงฆ์และสามเณร ไปส่งยังวัดบางขัน ซึ่งเป็นวัดในพื้นที่ใกล้เคียง ขณะที่พระสงฆ์บางหลายรูปที่เดินทางออกมาจากวัดพระธรรมกาย ก็มาลงทะเบียนตรวจสอบใบสุทธิ และกลับภูมิลำเนาด้วยเช่นกัน

ด้าน พ.อ.พินิจ ตั้งสกุล ผบช.สำนักคดีทรัพย์สิน กรมสอบสวนคดีพิเศษ เดินทางมาตรวจสอบดูความเรียบร้อยรอบวัดพระธรรมกาย ซึ่งยังคงมีเจ้าหน้าที่ตั้งด่านตรวจ 3 ชั้น ทั้งภายในและภายนอกพื้นที่เพื่อคัดกรองบุคคล ซึ่งขณะนี้ได้รับรายงานว่าภาพรวมทุกจุดเป็นไปด้วยความเรียบร้อยดี ทั้งนี้ ไม่มีความกังวลว่าจะมีผู้ชุมนุมเข้ามาเพิ่มขึ้น และมีแนวโน้มว่าพระสงฆ์มาเข้าร่วมชุมนุมที่ตลาดกลางคลองหลวงวันนี้ลดลง และเดินทางออกไปดป็นจำนวนมาก

ส่วนจะมีการเข้าปฏิบัติการภายในตลาดกลางคลองหลวงหรือไม่ ยังไม่สามารถตอบได้ ต้องผลการประชุมจากกองบังคับการตำรวจตระเวนชายแดนก่อน
-----------
ผบช.ภ.1 เด้ง ผกก.สภ.คลองหลวง ช่วยงาน ศปก.ภ.1 ขาดจากตำแหน่ง ยังไม่ชัดปมวัดพระธรรมกาย 

มีคำสั่งจากตำรวจภูธรภาค 1 ที่ 57/2560 ให้ พ.ต.อ.เขมพัทธ์ โพธิพิทักษ์ ผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง ไปปฏิบัติราชการที่ศูนย์ปฏิบัติราชการตำรวจภูธรภาค 1 และมอบหมายให้รองผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ที่รับผิดชอบศูนย์ปฏิบัติการตำรวจภูธรภาค 1 เป็นผู้ควบคุมกำกับดูแลการปฏิบัติราชการของข้าราชการดังกล่าว โดยให้ขาดจากตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง

ด้าน พล.ต.ท.ชาญเทพ เสสะเวช ผู้บัญชาการตำรวจภูธรภาค 1 ระบุว่า มอบหมายให้ พ.ต.อ.สามารถ ศรีสิริวิบูลย์ชัย รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดปทุมธานี รักษาราชการแทนผู้กำกับการสถานีตำรวจภูธรคลองหลวง
-------------
//////////
ม.44

นายกฯ ยัน จำเป็นต้องใช้ ม.44 แก้ปัญหาให้ประเทศเดินหน้า ขอเคารพกฎหมาย ไม่สร้างความขัดแย้ง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในพิธีเปิดงาน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” ตอนหนึ่งว่า ขณะนี้ขอพักปัญหาความขัดแย้งไว้ก่อน เพราะมีหลายเรื่องต้องเร่งดำเนินการ ซึ่งหากประชาชนมีความเห็นหรือข้อเสนอรัฐบาลพร้อมที่จะรับฟังเสียงของประชาชนทุกเรื่อง เพราะเสนอตัวมาทำงานเอง ส่วนขอเรียกร้องให้ยกเลิก ม.44 นั้น ยืนยันว่ายังจำเป็นต้องใช้เพื่อให้ประเทศเดินหน้า เพราะกฎหมายปกติใช้ไม่ได้

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรี ยังระบุว่า อย่ามัวแต่คิดว่าตนเองมาไม่ถูกต้อง เพราะรู้ดีว่าไม่ถูกต้อง แต่อยากให้มองสิ่งที่ได้ทำ และให้กำลังใจในการทำหน้าที่ต่อไป เพราะส่วนตัวเชื่อว่า ไทยยังมีโอกาสมากกว่าอีกหลายประเทศ และทุกประเทศก็มีปัญหารวมถึงเรื่องการบังคับใช้กฎหมาย เพราะเส้นแบ่งของสิทธิมนุษยชนและการทำความผิดกฎหมายเป็นเรื่องเดียวกัน แต่อย่านำเรื่องนี้มาเป็นข้ออ้าง และขอให้ทุกคนเคารพกฎหมายเพื่อไม่ให้ประเทศต่อวุ่นวายอีกต่อไป
--------------
รมช.กต. หารือผู้แทนพิเศษของเลขาฯ UN ย้ำเจตนารมณ์ไทยพร้อมกระชับความร่วมมือ - เตรียมรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ

เฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ระหว่างเข้าร่วมการประชุมระดับสูงของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ สมัยที่ 34 (High-Level Segment of the 34th Session of the Human Rights Council - HRC) ณ นครเจนีวา สมาพันธรัฐสวิส ซึ่งมีขึ้นระหว่างวันที่ 27 กุมภาพันธ์ – 1 มีนาคม 2560 นั้น นายวีระศักดิ์ ฟูตระกูล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้พบหารือกับ นายโรเบิร์ต กลาซเซอร์ ผู้แทนพิเศษของเลขาธิการสหประชาชาติด้านการลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ เพื่อย้ำเจตนารมณ์ของรัฐบาลไทยในการกระชับความร่วมมือและการเตรียมพร้อมรับมือกับภัยพิบัติในรูปแบบต่าง ๆ

นอกจากนี้ ยังได้พบหารือกับ นายโฆเซ ลุยส์ กานเซลา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศอุรุกวัย เพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะเกี่ยวกับการดำเนินงานของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนด้วย
-----------
/////////////
ทุจริต/7สนช.

"ศรีสุวรรณ" โพสต์เฟซบุ๊ก ร้อง ป.ป.ช. เอาผิดประธาน สนช. เชื่อมีความพยายามปกปิดข้อมูล - ช่วยเหลือ 7 สนช. ขาดประชุม

นายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย โพสต์ข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัว "Srisuwan Janya" ว่า สมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทยและคณะ เดินทางไปยื่นคำร้องต่อ ป.ป.ช. ถนนสนามบินน้ำ นนทบุรี กรณี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และเลขาธิการวุฒิสภา และ 7 สนช. มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ตามกฎหมาย ป.ป.ช. 2542 โดยเชื่อว่ามีความพยายามปกปิดข้อมูลที่ควรเปิดเผยต่อสาธารณะ และช่วยเหลือเกื้อกูล 7 สนช. ให้ไม่ต้องโทษตามรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 มาตรา 9 (5) และข้อบังคับการประชุมสภา สนช. และระเบียบว่าด้วยการลา ฯลฯ
--------------
กกต. พร้อมให้ สตง. ตรวจสอบงบฯ ดูงานที่ต่างประเทศ ยืนยันนำข้อมูลมาปรับใช้ทำงานคุ้มค่า

นายภูมิพิทักษ์ กองแก้ว ผู้ทรงคุณวุฒิ รักษาการในตำแหน่ง รองเลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ด้านกิจการบริหารกลางกล่าวถึงกรณีที่สำนักงาน การตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) จะตรวจสอบการใช้งบประมาณของหลักสูตรพัฒนาการเมืองและการเลือกตั้งระดับสูง (พตส.) โดยเฉพาะการเดินทางไปดูงานต่างประเทศ ว่า การไปศึกษาดูงานของหลักสูตรดังกล่าว ไปดูงานจริง มีตารางการดูงานที่แน่นอน เป็นการดูงานเกี่ยวกับระบบการเลือกตั้ง พรรคการเมืองของต่างประเทศ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ เพื่อนำข้อมูลมาปรับใช้ในการทำงาน มั่นใจมีความคุ้มค่ามากกว่าเงินที่ใช้จ่ายไป

ทั้งนี้ ยืนยัน กกต. พร้อมให้ สตง. เข้าตรวจสอบ และยินดีให้ความร่วมมือในเรื่องเอกสารหลักฐานอย่างตรงไปตรงมา
-------------------
รองโฆษกเพื่อไทย แนะ ควรตัดงบประมาณซื้อเรือดำน้ำ เพิ่มให้โครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค 

นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด รักษาการรองโฆษกพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณี ครม. อนุมัติงบประมาณสำหรับหลักประกันสุขภาพแห่งชาติประจำปี 2561 และกรอบงบประมาณกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติปี 2562 วงเงิน 172,861,301,800 บาท ว่า ไม่แน่ใจว่า ครม. อนุมัติงบประมาณตามที่สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เสนอมาหรือไม่ หรือพิจารณาอนุมัติงบประมาณครอบคลุมการบริหารจัดการโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เพียงพอแล้วหรือไม่ ซึ่งในความเป็นจริง ควรจะเพิ่มงบดังกล่าวให้มากขึ้นเพื่อการดูแลประชาชนอย่างมีคุณภาพและครอบคลุมมากขึ้น เพราะปัจจุบันมีโรคภัยไข้เจ็บแปลก ๆ ใหม่ ๆ เกิดขึ้นมากมาย จึงอยากให้รัฐบาลพิจารณางบประมาณด้านการดูแลสุขภาพประชาชนให้มากขึ้น ซึ่งสามารถทำได้หลายแนวทาง เช่น การตัดงบจัดซื้อยุทธภัณฑ์ที่ยังไม่จำเป็นอย่าง เรือดำน้ำ ที่ควรพิจารณาอย่างรอบคอบ เพราะปัจจุบันกองทัพเรือก็ทำหน้าที่ปกป้องผลประโยชน์ชาติได้ดีอยู่แล้ว ไม่ควรเร่งรีบ ควรรอให้เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนน่าจะเหมาะสมกว่า ที่สำคัญธนาคารโลกได้ยกตัวอย่างความสำเร็จของประเทศไทยที่รัฐบาลรับภาระรายจ่ายด้านบริการสุขภาพแทนประชาชน ทำให้ประชาชนลดความกังวลของค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพยามเจ็บป่วยที่มีค่าใช้จ่ายสูง ทำให้เกิดความมั่นใจในการบริโภคสินค้าจำเป็นอื่น ๆ เป็นการยืนยันอีกครั้งว่าโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรค เป็นการดูแลประชาชนที่คุ้มค่า สร้างหลักประกันในการรับการรักษา ไม่ใช่ประชานิยม
--------------------

//////////

ปรองดอง

ปลัด กห. เชิญ พรรคพลังชน เข้าหารือเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง - "พล.ต.คงชีพ" เตรียมแถลงผลเที่ยงนี้

พล.อ.ชัยชาญ ช้างมงคล ปลัดกระทรวงกลาโหม เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการเตรียมการสร้างความสามัคคีปรองดอง ครั้งที่ 10 โดยวันนี้ ได้เชิญพรรคพลังชนเข้ามาให้ข้อเสนอแนะในการสร้างความปรองดอง ซึ่งการหารือนี้ยังคงจะยึดแนวทางการปรองดองตามกรอบแนวทางของรัฐธรรมนูญ แผนการปฏิรูปประเทศ และสอดคล้องกับการทำงานของคณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง หรือ ป.ย.ป ใน 10 ข้อ ตามนโยบายรัฐบาล และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)

อย่างไรก็ตาม ในเวลาประมาณ 12.00 น. พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง จะแถลงผลการหารือกับพรรคการเมืองที่มาให้ความเห็นในต้นสัปดาห์นี้
-------------
โฆษก กห. เผย ภาพรวมความเห็นปรองดองพรรคการเมือง แนะเร่งจัดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ - หนุนปฏิรูปการศึกษาเร่งด่วน

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง แถลงข่าวภาพรวมการเชิญพรรคการเมืองเข้ามาให้ข้อเสนอแนะ ต่อคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ว่า การรับฟังความเห็นเป็นไปอย่างสร้างสรรค์ มีการเสนอข้อคิดเห็นไปในแนวทางเดียวกัน คือ การร่วมมือกันในทุกภาคส่วนเพื่อเดินหน้า และกำหนดอนาคตประเทศร่วมกัน โดยในส่วนของประเด็นความขัดแย้ง สิ่งสำคัญทุกพรรคการเมืองมองว่า เกิดมาจากปัญหาทางการเมือง การไม่เคารพกฎหมายส่งผลต่อสังคมในวงกว้าง รวมทั้งปัญหาการทุจริตคอร์รัปชั่น และการไม่เคารพกลไกทางการเมืองที่มีอยู่

ขณะที่การการดำเนินการของภาครัฐ มีข้อเสนอว่าควรจะเร่งเข้ามาบริหารจัดการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ พร้อมสนับสนุนประเด็นการปฏิรูปการศึกษาซึ่งถือเป็นเรื่องเร่งด่วน รวมทั้งต้องปลูกฝั่งคุณธรรมจริยธรรมและสร้างจิตสำนึกการต่อต้านทุจริตคอร์รัปชั่นให้กับเยาวชน
-----------------
อนุฯ ปรองดอง งดเชิญพรรคการเมืองพรุ่งนี้ นัดอีกที 3 มี.ค. ย้ำเป็นกลาง ขอทุกฝ่ายนำเสนอสร้างสรรค์ เตรียมส่งให้กับอนุฯ ชุด 2

พล.ต.คงชีพ ตันตระวาณิชย์ โฆษกกระทรวงกลาโหม ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการประชาสัมพันธ์ เพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง เปิดเผยว่า ในวันพรุ่งนี้งดเชิญพรรคการเมืองมาให้ความเห็นในการสร้างความปรองดอง แต่ในวันศุกร์ (3 มี.ค.) จะเชิญตัวแทน 4 พรรคการเมือง ได้แก่ พรรคเงินเดือนประชาชน พรรคแทนคุณแผ่นดิน พรรคเพื่อสันติ และ พรรคเสรีรวมไทย เข้าให้ข้อคิดเห็น ซึ่งล่าสุดมีพรรคการเมืองเข้าให้ข้อคิดเห็นแล้ว 30 พรรคการเมือง

ส่วนการรับฟังความเห็นในระดับพื้นที่ได้มีการทยอยเปิดเวทีในการรับฟังความเห็น โดยได้รับการตอบรับจากประชาชนและท้องถิ่นในพื้นที่เป็นอย่างดี โดยย้ำว่าทางอนุกรรมการฯ รับฟังทุกความคิดเห็น พร้อมขอให้เชื่อมั่นในการเดินหน้าขับเคลื่อนการสร้างความปรองดองอย่างดีที่สุด มีความเป็นกลางและสร้างสรรค์

ขณะเดียวกัน อนุกรรมการฯ เริ่มทยอยส่งข้อมูลให้คณะอนุกรรมการพัฒนาบูรณาการข้อคิดเห็นข้อเสนอแนะเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง ที่มี พล.อ.สุรพงษ์ สุวรรณอัตถ์ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด เป็นประธาน ซึ่งเป็นขั้นตอนที่ 2 ของกระบวนการสร้างความสามัคคีปรองดอง โดยย้ำว่าการทำงานในทุกขั้นตอนเป็นการทำงานควบคู่กันทั้ง 4 อนุกรรมการฯ ซึ่งคาดว่าช่วงปลายเดือนมีนาคม จะเสร็จสิ้นทุกพรรคการเมือง จากนั้นจะเปิดรับฟังความเห็นกลุ่มการเมือง อาทิ กลุ่ม นปช. กลุ่ม กปปส. รวมทั้งความเห็นจากภาคเอกชนและภาธุรกิจต่อไป
/////////
รัฐธรรมนูญ
กรธ. เร่งพิจารณา พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน พร้อมเปิดรับฟังความเห็น พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองวันนี้

ศ.ดร.อุดม รัฐอมฤต โฆษกคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าการพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ ว่า ขณะนี้พิจารณา พ.ร.ป.ว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีในศาลรัฐธรรมนูญในเบื้องต้นเสร็จแล้ว โดยจะมีการเชิญเจ้าหน้าที่ของศาลเข้ามาหารือให้ความคิดเห็นภายหลัง เนื่องจากอาจจะมีความคิดที่ยังไม่ตรงกัน โดยยืนยันว่าจำนวนตุลาการศาลยังคงมีทั้งหมด 9 คน เช่นเดิม

ทั้งนี้ ศ.ดร.อุดม กล่าวว่า กรธ. จะนัดองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายลูกในวันเวลาต่าง ๆ เพื่อเข้ามาให้ข้อมูลความเห็นในเรื่องที่เกี่ยวข้องที่ยังเห็นต่างกันมาให้ข้อมูลเพิ่มอีก ส่วนในวันนี้ กรธ. จะนำ พ.ร.ป.ผู้ตรวจการแผ่นดิน มาพิจารณา รวมถึงจะมีการรับฟังความคิดเห็นของ พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ในเวลา 13.00 - 16.00 น. ที่รัฐสภา โดยได้เชิญพรรคการเมือง นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ศาลยุติธรรม ตัวแทน ป.ป.ช. อัยการสูงสุด เข้าให้ความคิดเห็นอีกด้วย
------------
กรธ. จัดสัมมนาฟังความเห็นร่างกฎหมายลูกว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดย มีชัย ร่วมเปิดงาน พร้อมจัดระดมความเห็น 5 กลุ่มย่อย

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จัดโครงการสัมมนา เรื่อง การรับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.. โดย นายมีชัย ฤชุพันธ์ ประธาน กรธ. เป็นประธานเปิดงานสัมมนา จากนั้นจะเปิดอภิปรายนำเสนอประเด็นของร่างกฎหมายฉบับนี้ อาทิ นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการอาวุโส สำนักอัยการสูงสุด นายอธิคม อินทุภูติ เลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม นายธรรมนูญ เรืองดิษฐ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ดำเนินรายงการโดย นายอุดม รัฐอมฤต โฆษก กรธ. และในฐานะประธานอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาร่างกฎหมายนี้

ขณะเดียวกัน เมื่ออภิปรายแล้ว จะแบ่งกลุ่มย่อย 5 กลุ่ม เพื่อระดมความคิดเห็น คือ กลุ่ม 1 ระบบไต่สวนในคดีทุจริต, กลุ่ม 2 การนับอายุความในกรณีจำเลยหลบหนี, กลุ่ม 3 การฟ้องและการพิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลย, กลุ่ม 4 จำนวนผู้พิพากษาในองค์คณะและผู้พิพากษาสำรอง และ กลุ่ม 5 การทำความเห็นส่วนตัวของผู้พิพากษาก่อนทำคำพิพากษา
-----------------
"มีชัย" เสนอแนวคิดการพิจารณาคดี โดยตัดเทคนิคการต่อสู้คดีออก เพื่อให้ศาลไต่ส่วนคดีอย่างเป็นธรรม และเตรียมนำไปใช้กับศาลรัฐธรรมนูญ

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ. .... เพื่อนำความเห็นไปประกอบการพิจารณาจัดทำร่างพระราชบัญญัติดังกล่าว ว่า ศาลถือเป็นองค์กรที่ได้รับการยอมรับและเชื่อถือจากสังคมมาโดยตลอด แต่ กรธ. ยังมีความกังวลว่า ทำอย่างไรจะทำให้กลไกของศาลเดินไปข้างหน้าได้อย่างรวดเร็ว และยังรักษาความเป็นธรรมให้กับประชาชนได้ ซึ่งต้องวางแนวทางทำให้เกิดความสมดุล

ทั้งนี้ ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ จึงสร้างขั้นตอนการอุทธรณ์ขึ้นมา แต่ก็ต้องรักษาความรวดเร็วไว้เพื่อให้เห็นผล พร้อมยอมรับระบบกระบวนการยุติธรรมไทยเคยชินกับระบบกล่าวหามากกว่าไต่สวน หรือคำนึงถึงเทคนิคการต่อสู้คดีมากกว่าการหาความจริงให้ปรากฏ ดังนั้น กรธ. จึงพยายามตัดเรื่องเทคนิคออก เพื่อให้ศาลสามารถไต่สวนได้ มีความเป็นธรรม และนำไปใช้กับศาลรัฐธรรมนูญได้
-----------------
"มีชัย" ชี้คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ไม่ควรให้คดีมีอายุความ แนะไต่สวนลับหลังได้

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวตอนหนึ่งในงานสัมมนารับฟังความคิดเห็นร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง โดยเสนอว่า ไม่ควรให้คดีมีอายุความ ควรเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้คดีผ่านทนายความและไต่ส่วนลับหลังได้ โดยวิธีพิจารณาจะเน้นหาสาระเพื่อประโยชน์ของตุลาการ รวมทั้งเสนอให้ช่วยกันหาแนวทางช่วยองค์กรอิสระทั้งหลายที่ค่าตอบแทนน้อย เนื่องจากถูกจำกัดเทียบเคียงกับองค์กรทางการเมือง ดังนั้น ควรให้องค์กรอิสระมีค่าตอบแทนสูงขึ้นทัดเทียมค่าครองชีพ

ด้าน นายอรรถพล ใหญ่สว่าง อัยการอาวุโส สำนักงานอัยการสูงสุด เห็นด้วยกับข้อเสนอของ กรธ. ที่ให้พิจารณาคดีหลับหลังทั้งการฟ้องคดี และการพิจารณาคดี ทั้งนี้ ยังเห็นว่าควรกำหนดระบบการไต่ส่วนคดีให้เป็นของไทยโดยเฉพาะ รวมถึงควรออกเป็นกฎหมายเพื่อบังคับใช้ต่อไป
//////////
หนี้นอกระบบ

นายกฯ เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” 

วันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นประธานในพิธีเปิดงาน “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี ซึ่งกระทรวงการคลังได้จัดโครงการนี้ขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน ตามเจตนารมณ์ “ขจัดหนี้นอกระบบในประเทศไทยให้เป็นศูนย์” ซึ่งเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาหนี้โดยให้มุ่งเน้นการแก้ปัญหาที่สาเหตุ ทั้งด้านสินเชื่อ และศักยภาพในการหารายได้ ให้ชุมชนเข้ามามีบทบาทในการแก้ไขปัญหา ควบคู่ไปกับการทำงานของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ โดยในโอกาสนี้นายกรัฐมนตรี จะร่วมกล่าวปาฐกถาพิเศษ เรื่อง “การแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างบูรณาการและยั่งยืน” ก่อนจะเดินเยี่ยมชมนิทรรศการ ที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้จัดขึ้นบริเวณงานอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดงานในครั้งนี้ มีผู้แทนหน่วยงานภาคี และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนที่สนใจประกอบธุรกิจสินเชื่อพิโกไฟแนนซ์ เข้าร่วมกว่า 1000 คน
-----------

//////////
ทรัมป์มั่นคงไทย

พล.อ.ประวิตร มั่นใจ นโยบายใหม่ "โดนัลด์ ทรัมป์" ด้านความมั่นคง ไม่กระทบไทย และภูมิภาคอาเซียน 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวถึงการแถลงนโยบายต่อสภาคองเกรสของ นายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ที่มีการเปลี่ยนแปลงนโยบายที่สำคัญหลายเรื่องโดยเฉพาะการเพิ่มขีดความสามารถ ของกระทรวงกลาโหม ว่า นโยบายดังกล่าวไม่มีผลกระทบกับภูมิภาคและประเทศไทย ซึ่งในส่วนของไทย อยู่ในช่วงของการปฏิรูป และดูแลประชาชนให้ดีที่สุด พร้อมทั้งรักษาอธิปไตยของประเทศ อีกทั้งประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่มอาเซียนที่มีนโยบายของภูมิภาคอยู่แล้ว และล่าสุดจากการหารือกับ นาย กลิน ที เดวีส์ เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย ก็ยืนยันไม่มีการเปลี่ยนแปลงใด ๆ เกี่ยวกับประเทศไทย
-------------
พล.อ.ประวิตร ห่วงใยการทำงานของตำรวจ กำชับดูแล ปชช. เรื่องความปลอดภัยชีวิตทรัพย์สิน 

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) แถลงผลประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 ว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มีข้อห่วงใยถึงการทำงานของตำรวจ โดยให้ความสำคัญเรื่องการให้บริการประชาชนให้เกิดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน และป้องกันการเกิดปัญหาอาชญากรรม พร้อมเพิ่มความปลอดภัยในชีวิต จึงได้ฝากให้ปรับและเพิ่มเติมเพื่อการทำงาน ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ให้มีความรวดเร็วทั้งเรื่องการสั่งการและระบบการทำงาน เพื่อให้บริการประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ ส่วนงานใดที่มีความซับซ้อนให้ดูแลให้เกิดความชัดเจน

ส่วนปัญหาแรงงานต่างด้าวนั้น ปีที่ผ่านมา คสช. มีคำสั่งให้แรงงานต่างด้าวสามารถเดินทางกลับประเทศได้ เพื่อไปเยี่ยมเยือนและเดินทางกลับมาทำงานในประเทศไทยได้ตามปกติ ซึ่งที่ประชุมวันนี้ ได้เสนอขอให้พิจารณาเรื่องดังกล่าวอีกครั้งโดยมอบให้กระทรวงแรงงานเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีในสับดาห์หน้า เพื่อให้กระทรวงมหาดไทยใช้อำนาจผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวเดินทางกลับประเทศได้ในช่วงเทศกาลสงกรานต์และกลับมาทำงานได้ โดยจะมีการพิจารณายกเว้นค่าธรรมเนียมอีกด้วย
------------
นายกฯ มอบ "พล.อ.ประวิตร" หามาตรการให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมเดินหน้าเรื่องพลังงานภาคใต้ เตรียมเปิดเวทีรับฟังความเห็น 1 เดือน

พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) กล่าวถึงปัญหาพลังงานในภาคใต้ ว่า นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ช่วยหาวิธีการและมาตรการเพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเสนอความคิดเห็นและความคืบหน้าเรื่องของพลังงานในภาคใต้ โดย พล.อ.ประวิตร ได้มอบให้กระทรวงพลังงาน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย และ พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการขับเคลื่อนและปฏิรูปการบริหารราชการแผ่นดิน คณะที่ 5 เข้าไปชี้แจงรับฟังความคิดเห็นเพื่อจัดหาพลังงานมาใช้ในพื้นที่ภาคใต้อย่างเหมาะสม ขณะเดียวกัน ต้องรองรับการเจริญเติบโตและสอดคล้องกับการใช้ชีวิตประจำวัน โดยภายใน 1 เดือน ให้เปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนในพื้นที่ และต้องมีผู้ลงไปให้ข้อมูลถึงสถานการณ์พลังงานในพื้นที่ว่าเป็นอย่างไร
----------------

ไม่มีความคิดเห็น: