PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2560

ความขัดแย้งของพระธรรมยุติกนิกายกับพระสงฆ์อีสาน

ประวัติศาสตร์สามัญชนไทย ได้เพิ่มรูปภาพใหม่ 3 ภาพ
9 ชม.
ความขัดแย้งของพระธรรมยุติกนิกายกับพระสงฆ์อีสาน
การเผชิญหน้ากันมีอยู่ 2 ระลอกใหญ่ นั่นคือ การสร้างวัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานีให้เป็นวัดธรรมยุติแห่งแรกในอีสาน พระดี พันธุโลได้รับมอบหมายให้เป็นผู้นำของพระสงฆ์ธรรมยุติ ด้วยการสนับสนุนจากรัฐในสมัยนั้นที่ต้องการขยายอำนาจการปกครองทั้งทางโลกและทางสงฆ์เข้าไปในเขตอีสาน
.
ขณะที่ละเลยการให้ความสำคัญกับพระเถระผู้ใหญ่อย่าง พระสุ้ย วัดป่าน้อย พระเถระผู้ใหญ่ที่ฐานะเทียบเจ้าคณะเมือง รวมไปถึงความตึงเครียดที่ฝ่ายรัฐพยายามลดบทบาทความสัมพันธ์ของพระกับชาวบ้านในกิจการทางโลก เช่น การทำบุญบั้งไฟ เส็งกอง แข่งเรือและเลี้ยงม้า
.
ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวนำมาซึ่งความขัดแย้งที่ร้าวลึก จนประทุออกมาเป็นความรุนแรงทางกายภาพ นั่นคือ ครั้งหนึ่ง เมื่อสายบิณฑบาตทั้งสองฝ่ายเดินสวนทางกัน พระหนุ่มเณรน้อยของทั้งสองฝ่าย ก็ได้วิวาทจนหัวร้างข้างแตก จนฝ่ายบ้านเมืองต้องออกคำสั่งไม่ให้บิณฑบาตสวนทางกัน ความขัดแย้งดังกล่าวทำให้พระเสาร์ กันตสีโล พระอาวุโสขณะนั้น (ซึ่งเป็นอาจารย์ของหลวงปู่มั่น ภูริทัตโตด้วย) ที่สังกัดวัดเลียบ (มหานิกาย) พยายามประนีประนอม ด้วยการเสนอยุบรวม 2 นิกายเข้าด้วยกัน แต่ก็ทนแรงเสียดทานไม่ไหว ก็ต้องยอมผ่อนปรนให้ทำงานร่วมกัน
.
ระลอกที่ 2 คือช่วงปี 2471-2472 หลังจากที่หลวงปู่มั่น ภูริทัตโต เดินทางไปภาคเหนือแล้ว ชั้นลูกศิษย์อย่างหลวงปู่สิงห์ ขันตยาคโม
และพระมหาปิ่น ปัญญาพโลกับภิกษุสามเณรฝ่ายธรรมยุติกว่า 80 รูป ได้รับการสนับสนุนจากเจ้าเมืองอุบลให้ไปเผยแพร่อุดมการณ์ในเขตต่างๆ กล่าวกันว่า การเดินทางเข้าไปในท้องที่ต่างๆ ส่งผลต่อความรู้สึกพระสงฆ์ท้องถิ่นอย่างมาก พบว่าที่ขอนแก่นพระธรรมยุตได้เผชิญการต่อต้านจากสงฆ์ท้องถิ่นอย่างรุนแรง ทั้งยังส่งผลต่อญาติโยมที่แสดงตัวเป็นปรปักษ์กับพระป่าสายธรรมยุตด้วย
.
หลวงปู่อ่อน ญาณสิริ ในคณะธรรมยุต ได้บันทึกว่า โยมขอนแก่นไม่เคยเห็นพระกรรมฐาน เรียกว่า "พวกบักเหลือง" เห็นว่าเป็นงูจงอางต้องถือไม้ค้อนมาดูพระที่มาอาศัยอยู่ตามร่มไม้ และพร้อมจะไล่ออกจากพื้นที่ แม้แต่เวลาบิณฑบาตก็ไม่มีใครยอมใส่บาตร จนต้องภาวนาคาถาอุณหัสสวิชัย แยกสายกันไปบิณฑบาตตามที่ต่างๆ ถึงจะได้ฉันบ้าง
.
อย่างไรก็ตามฝ่ายธรรมยุตก็สามารถวางรากฐานที่ขอนแก่นได้สำเร็จ เห็นได้ชัดจากการวางแผนกระจายกันอยู่จำพรรษาตามสำนักสงฆ์ต่าง ๆ ครอบคลุมพื้นที่จังหวัดขอนแก่น เกือบสิบแห่ง
...
ที่มา
ธีระพงษ์ มีไธสง. "พระวัดป่าอีสาน : การช่วงชิงพื้นที่ภายใต้กลไกอำนาจรัฐ". วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 7 : 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559) : 179-183
.
ที่มาภาพ
1.เส้นทางเผยแพร่พระธรรมยุตในอีสาน
ธีระพงษ์ มีไธสง. "พระวัดป่าอีสาน : การช่วงชิงพื้นที่ภายใต้กลไกอำนาจรัฐ". วารสารมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี, 7 : 1 (มกราคม-มิถุนายน 2559)
2.ภาพงานศพในอุบล http://www.guideubon.com/2.0/ubon-story/830/
3.วัดสุปัฏนาราม อุบลราชธานี http://qakm.lib.ubu.ac.th/picture/?p=492

ไม่มีความคิดเห็น: