
กับการที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ไม่ไปปรากฏตัวที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามการนัดหมายอ่านคำพิพากษาในคดีที่ตกเป็นจำเลยข้อหาปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายการทุจริตโครงการรับจำนำข้าว
โดยที่ทนายจำเลยยื่นคำร้องว่า ได้รับแจ้งจากจำเลยว่าป่วยด้วยโรคน้ำในหูไม่เท่ากัน มีอาการวิงเวียนศีรษะอย่างรุนแรง ไม่สามารถเดินทางมาศาลได้ ขอเลื่อนการฟังคำพิพากษาในวันนี้
แต่โจทก์แถลงคัดค้านว่า ไม่เชื่อว่าจำเลยป่วยจริง เนื่องจากไม่มีใบรับรองแพทย์และอาการป่วยที่อ้างไม่ถึงขนาดที่จะมาศาลไม่ได้
ศาลพิเคราะห์แล้ว เห็นว่า ไม่เชื่อว่าจำเลยเจ็บป่วยจนถึงขนาดมาศาลไม่ได้ พฤติการณ์มีเหตุอันควรเชื่อว่าจำเลยหลบหนี จึงให้ออกหมายจับจำเลยและปรับนายประกันเต็มตามสัญญาจำนวน 30 ล้านบาท
ให้เลื่อนไปฟังคำพิพากษาในวันที่ 27 กันยายน 2560 เวลา 09.00 น.
เบื้องต้นยังเป็นปริศนา
กระแสหนึ่ง อดีตนายกฯยิ่งลักษณ์หนีตามรอยพี่ชายอย่างอดีตนายกฯทักษิณ ชินวัตร ที่หลบคดีไปอยู่ต่างแดน ตามแผนหนีผ่านประเทศเพื่อนบ้านไปซุ่มโป่งที่สิงคโปร์
ก่อนบินไปปักหลักปักฐานที่มั่นเมืองดูไบ
ภายหลังจากทนอึด ลุ้นวัดดวงวัดใจ เล่นเกมชิงกระแส ปลุกเร้ามวลชน เอาล่อเอาเถิดกับฝ่ายคุมเกมอำนาจ คสช.มาจนนาทีสุดท้าย
เดินสายทำบุญไหว้พระก็แล้ว หลั่งน้ำตาอ้อนกองเชียร์ กระตุกคะแนนสงสารก็แล้ว
แต่ไร้สัญญาณบวก เลยต้องเผ่นไปตายดาบหน้า
ต้องยอมเสียฟอร์ม เสียรังวัด เสียความชอบธรรมในกระบวนการต่อสู้
สำคัญสุดคือเสียความรู้สึกมวลชนผู้สนับสนุน แบบที่มีเครื่องหมายคำถามจากแนวร่วมมวลชนฝั่ง “ทักษิณ” ไหนว่าเป็นนักรบเพื่อประชาธิปไตยยอมตายในสนามรบไง “หลอกกูหรือเปล่า”
ขณะที่อีกกระแสหนึ่งก็อาจเป็นเรื่องเทคนิคข้อกฎหมาย
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ที่เกี่ยวพันกับประเด็นของการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามรัฐธรรมนูญ 2560 ที่มีความเปลี่ยนแปลงไปจากรัฐธรรมนูญเก่า
ในมาตรา 195 วรรคสี่ บัญญัติว่า คำพิพากษาศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองมีคำพิพากษา
โดยไม่ต้องมีเงื่อนไขว่า ต้องมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งไม่เคยปรากฏในสำนวนคดีมาก่อนและต้องเป็นหลักฐานซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดี
นั่นก็คือถ้าอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ถูกพิพากษาจำคุก จำเลยก็มีสิทธิอุทธรณ์คำพิพากษาได้ทันทีในวันที่มีคำพิพากษาและมีสิทธิยื่นประกันตัวได้ทันทีเช่นกัน ส่วนจะให้ประกันหรือไม่ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของศาล
สำหรับการพิจารณาอุทธรณ์ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะดำเนินการโดยองค์คณะของศาลฎีกา ซึ่งประกอบด้วยผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกาหรือผู้พิพากษาอาวุโสซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน และได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจำนวน 9 คน
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เงื่อนไขในการยื่นอุทธรณ์และประกันตัว ก็ยังผูกโยงอยู่กับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ที่อยู่ในขั้นตอนการเตรียมประกาศบังคับใช้
นั่นหมายถึง ณ วันที่ 25 สิงหาคม 2560 กฎหมายใหม่ยังไม่ออกมาบังคับใช้ จึงต้องถือตามกฎหมายเดิมต่อไป
คือจำเลยจะอุทธรณ์ได้จะต้องมีพยานหลักฐานใหม่ซึ่งเป็นสาระสำคัญของคดี
ในทางปฏิบัติ จำเลยจึงไม่แน่ว่ามีสิทธิอุทธรณ์ตามรัฐธรรมนูญปี 2560 หรือไม่
“ยิ่งลักษณ์” เสี่ยงโดนล็อกเข้าเรือนจำทันที
แบบกรณีของนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว. พาณิชย์ และนายภูมิ สาระผล อดีต รมช.พาณิชย์
ที่โดนพิพากษาจำคุกจากคดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) อ่วมคนละ 30–40 ปี
โดนล็อกตัวขึ้นรถเข้าเรือนจำหลังฟังคำพิพากษา
นี่น่าจะเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้นำมาซึ่งปรากฏการณ์ “ล่องหน” ของ “ยิ่งลักษณ์”
แต่ที่แน่ๆหลังจากนี้ไป ตามผลหมายจับของศาลฯ ถ้าเจ้าหน้าที่พบเจอตัวอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ที่ไหน สามารถจับกุมตัวมาดำเนินคดีได้ทันที
ไม่สามารถเคลื่อนไหวได้อย่างอิสระในราชอาณาจักรไทย
ตามจังหวะ “พิพากษาสะดุด” จุดที่ทั้งคนไทยและทั่วโลกเฝ้าจับตาคดีประวัติศาสตร์ทางการเมือง ต้องทอดเวลาไปลุ้นกันอีกทีในวันที่ 27 กันยายน 2560
ความอึมครึมก็ยังดำเนินต่อไป
และก็เป็นอะไรสะท้อนดีกรีการเผชิญหน้า
กับภาพกลุ่มมวลชนผู้สนับสนุนที่เดินทางมาให้กำลังใจอดีตนายกรัฐมนตรีหญิงเป็นจำนวนมาก เช่นเดียวกับแกนนำพรรคเพื่อไทยที่ยกขบวนกันมาเกือบหมดพรรค สวนทางกับมาตรการของฝ่ายความมั่นคงที่สกัดทุกวิถีทาง
มวลชนผู้สนับสนุนยังมุ่งแสดงพลังเชิงสัญลักษณ์ช่วย “ยิ่งลักษณ์”
ภายใต้ฉากมวลชน ตอกย้ำว่าคนมองเป็นเรื่องการเมือง ไม่เหมือนคดีในกระบวนการยุติธรรมปกติ
และว่ากันตามรูปการณ์ไม่ว่าผลการตัดสินออกมาจะเป็นบวกหรือลบกับ “ยิ่งลักษณ์” มันต้องมีทั้งคนพอใจและไม่พอใจ ยังไงก็หนีสภาพจิตใจและความรู้สึกของผู้คนในสังคมไม่พ้น
มีเยอะพวกที่ตัดสินผิดถูกในใจไปแล้ว โดยไม่สนกฎหมาย
ในเครื่องหมายคำถามมันจะนำไปสู่ปรากฏการณ์อะไร ในท่ามกลางวิกฤติการเมืองที่ยังคุกรุ่นเป็น ภูเขาไฟที่ยังมีพลัง ไฟใต้ดินยังไม่สงบ ประชาชนแบ่งข้างเชียร์ 2 ขั้ว 2 ข้าง
หัวเชื้อตกค้างจากวิกฤติแตกแยกพร้อมปะทุกลับมาตลอดเวลา
แต่ไม่ว่าสถานการณ์จะน่ากลัวยังไง ผลของคดีจำนำข้าวต้องมีข้อยุติ ในเมื่อรัฐต้องปกครองโดยกฎหมาย กระบวนการยุติธรรมต้องได้รับความเชื่อถือเป็นหลักของบ้านเมือง
ไม่ใช่ศาลเตี้ย ไม่ใช่รัฐล้มเหลว
คำพิพากษาของศาลต้องถือเป็นที่สิ้นสุด มีผลผูกพันทุกฝ่าย
ที่สำคัญปฏิกิริยาของสังคมต่อคำพิพากษาในคดีของอดีตนายกฯยิ่งลักษณ์ จะเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ข้างหน้าของประเทศไทยจะเป็นไปในทิศทางใด
ตามรูปการณ์แค่ “ยิ่งลักษณ์” ไม่มาฟังคำพิพากษายังมีคำถามกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช.ว่า จะกระทบกระบวนการปรองดองหรือไม่
ในจังหวะที่ฝ่ายคุมเกมอำนาจ รัฐบาล คสช.ต้องประคองกระแสรองรับทุกสถานการณ์
ตามปรากฏการณ์ก่อนถึงวันที่ศาลนัดอ่านคำพิพากษา 25 สิงหาคม
พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรีเดินสายประชุม ครม.สัญจรที่จังหวัดนครราชสีมา ระหว่างวันที่ 21–22 สิงหาคม อารมณ์ไม่ต่างจากผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งที่ลงพื้นที่สัมผัสกับชาวบ้าน ตามรูปการณ์ที่มองได้ถึงยุทธศาสตร์ของรัฐบาลทหาร คสช.ที่พยายามเดินเกมมวลชน
ซื้อใจประชาชนฐานรากในต่างจังหวัด ตัดเกมม็อบของฝ่ายต่อต้าน
ล้อไปกับการเปิดตัวเลขสำคัญทางด้านเศรษฐกิจ ภายใต้การวางยุทธศาสตร์ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกฯ หัวหน้าทีมเศรษฐกิจ ที่เริ่มเห็นเค้าสัญญาณบวก
ตามที่คณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 2 ของปี 2560 ขยายตัว 3.7 เปอร์เซ็นต์ สูงสุดในรอบ 17 ไตรมาส ขณะที่สถานการณ์ส่งออกเดือนกรกฎาคม โตร้อยละ 10.5 ขยายตัวร้อยละ 8.2 ในรอบ 7 เดือน สูงสุดในรอบ 6 ปี
โชว์ข่าวดีด้านเศรษฐกิจทยอยมาเสริมโมเมนตัมของประเทศ
อีกมุมหนึ่งก็เป็นภาพที่ พล.อ.ประยุทธ์ นำคณะรัฐมนตรี ผู้นำเหล่าทัพ ตบเท้าเข้าอวยพรวันคล้ายวันเกิด “ป๋าเปรม” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ที่บ้านสี่เสาเทเวศร์
กระชับความแนบแน่นระหว่าง คสช.กองทัพ กับอำมาตย์
มวลชน เศรษฐกิจ ความมั่นคง อยู่ในจุดที่คุมสถานการณ์ได้
รัฐบาล คสช.กุมสภาพไว้ทุกมุม.
“ทีมการเมือง”
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น