PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ธีระชัย ภูวนาทธรานุบาล:โครงการจำนำข้าว

แปลคำถามและคำตอบของผมใน นสพ. บางกอกโพสต์ เกี่ยวกับโครงการจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ที่เน้นมุมมองทางวิชาการมากกว่าการเมือง (ผมเดินทางต่างประเทศ จึงไม่สามารถตรวจสอบว่า นสพ. ได้ตีพิมพ์ครบทั้งหมดหรือเพียงบางส่วน)

1. โครงการจำนำข้าวเป็นโครงการที่สร้างความเสียหายหนักใช่หรือไม่?
โครงการจำนำข้าวเป็นสิ่งที่ดำเนินการมาแล้วโดยหลายรัฐบาลในอดีตก่อนหน้า ผมเองมีความเห็นว่าเจตนาของโครงการนี้เพื่อที่จะช่วยยกระดับฐานะความเป็นอยู่ของชาวนาเป็นสำคัญ

2. ปัจจัยหลักที่ทำให้โครงการนี้ประสบปัญหาใหญ่โต คืออะไร?
เกิดจากการตั้งราคารับจำนำที่สูงกว่าราคาตลาดมาก โดยหวังว่าจะสามารถผลักดันราคาข้าวในตลาดโลกให้สูงขึ้น แต่การแข่งขันในตลาดโลกทำให้ราคาตลาดโลกขึ้นไปน้อยกว่าที่คาดไว้ ทั้งนี้ จึงได้เกิดคำวิจารณ์ประกอบการมองสถานการณ์ย้อนหลังว่ารัฐบาลควรจะได้ทำการประเมินผล และเมื่อเล็งเห็นได้ว่าแผนการผลักดันราคาตลาดโลกไม่สำเร็จตามที่หวังไว้ รัฐบาลก็ควรจะได้ทบทวน หรือยุติ หรือลดทอนโครงการให้เล็กลง โดยเฉพาะภายหลังจากที่องค์กรอิสระต่างๆ ได้ทักท้วงตักเตือน

3. โครงการนี้มีผลในทางลบต่อตลาดและการปลูกข้าวของไทยอย่างไร?
โครงการนี้ทำให้ข้าวตกเป็นกรรมสิทธิ์ของรัฐปริมาณมหาศาล อันเป็นปริมาณที่ใหญ่โตมากกว่าที่เคยมีในอดีต และขนาดของโครงการทำให้การบริหารความเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชันในระดับปฏิบัติการต่างๆ ทำได้ยาก และมีผลกระตุ้นให้ชาวนาหันไปปลูกข้าวคุณภาพต่ำที่ใช้เวลาเพาะปลูกเร็วกว่าข้าวคุณภาพสูง รวมทั้งมีความเสี่ยงการนำข้าวจากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาปะปนด้วย
ทั้งนี้ คณะกรรมการของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธกส.) และผมเองในฐานะประธานกรรมการในขณะนั้นได้พยายามคิดและเสนอแนะมาตรการเพื่อป้องกันการทุจริตหลายเรื่อง เช่น เสนอกำหนดให้ทุกโกดังต้องจัดทำสต๊อคการ์ดเพื่อบันทึกการเข้าออกเป็นรายวัน พร้อมกับจัดให้มีผู้สอบบัญชีภายนอกเข้าไปทำการสุ่มตรวจสอบสต๊อคการ์ดและปริมาณข้าวแบบไม่แจ้งล่วงหน้า เป็นต้น ซึ่ง ธกส. ได้จัดพิมพ์ข้อเสนอเหล่านี้เป็นหนังสือปกเขียวเล่มย่อในช่วงปลายปี 2554 และได้ส่งให้ทั้งคุณยิ่งลักษณ์และคุณกิตติรัตน์

4. โครงการนี้ให้บทเรียนอะไรแก่การที่รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ในการที่จะเสนอโครงการประชานิยมที่เกินพอดีแก่ประชาชน?
เหตุการณ์ที่ผ่านมาให้บทเรียนประการหนึ่งว่า ควรจะมีกติกาที่บังคับห้ามมิให้รัฐบาลในอนาคตทำการรับจำนำสินค้าเกษตรในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด รวมทั้งควรมีกฎห้ามมิให้รัฐบาลในอนาคตเข้าไปซื้อหรือถือกรรมสิทธิ์ในสินค้าเกษตร เพราะมีความเสี่ยงทุจริตคอร์รัปชันในระดับปฏิบัติการสูง

5. ภายหลังโครงการนี้ ตลาดการค้าข้าวของไทยกลับไปสู่ภาวะปกติหรือไม่?
เมื่อไม่มีโครงการรับจำนำข้าว พฤติกรรมของเกษตรกรและตลาดข้าวของไทยก็กลับไปสู่ภาวะปกติโดยอัตโนมัติ อย่างไรก็ดี ปัญหาฐานะความเป็นอยู่ของชาวนาก็กลับไปแย่เหมือนเดิม ชาวนายังมีหนี้สินรุงรัง และสำหรับรายที่ยังมีที่ดินที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษเหลืออยู่ ก็มีความเสี่ยงอยู่เช่นเดิมว่าวันหนึ่งจะถูกยึดไปชดใช้หนี้

6. รัฐบาลยังจำเป็นต้องช่วยเหลือชาวนาและเกษตรกรอื่นๆ หรือไม่ และวิธีการที่เหมาะสมควรเป็นอย่างไร?
6.1 ควรมีการทบทวนยกเลิกโครงการช่วยเหลือที่เน้นไปที่ตัวสินค้าเกษตร อันมีลักษณะเป็นการช่วยเหลือปลายน้ำ ไม่ว่าจะเป็นการรับจำนำในราคาสูงเกินตลาด หรือการรับซื้อ หรือแม้แต่การชดเชยช่วยเหลือเกษตรกรโดยตรงตามปริมาณที่เพาะปลูก เพราะที่ผ่านมาได้มีโครงการทำนองนี้ผ่านมาหลายรัฐบาล แต่มิได้ปรากฏผลดีต่อเกษตรกรที่ยั่งยืนถาวร
6.2 รัฐบาลในอนาคตควรจะเปลี่ยนไปช่วยเหลือกระบวนการทำงานต้นน้ำและกลางน้ำแทน เพื่อช่วยลดต้นทุนและช่วยเหลือให้เกษตรกรสามารถดำรงวิถีชีวิตชุมชนเกษตรได้ตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงในศาสตร์ของพระราชา โดยมาตรการช่วยเหลืออาจจะมีดังต่อไปนี้
6.2.1 ปฏิรูปภาษีและการถือครองที่ดินครั้งใหญ่เพื่อกระตุ้นให้เจ้าของที่ดินรายใหญ่กระจายที่ดินออกมา โดยมาตรการนี้จะต้องมิใช่เพียงเพื่อกระตุ้นต่อต้านการปล่อยที่ดินให้รกร้างว่างเปล่าเท่านั้น แต่ต้องปฏิรูปทางภาษีโดยคำนวนปริมาณเนื้อที่ของที่ดินของแต่ละบุคคล ไม่ว่าจะปล่อยว่างหรือจะมีการใช้งาน และไม่ว่าถือกรรมสิทธิ์ในนามของตนเอง หรือในนามของนิติบุคคล โดยคำนวนตามสัดส่วนการถือหุ้นหรือความเป็นเจ้าของ และต้องเก็บกาษีสำหรับการถือครองเนื้อที่ต่อบุคคลรายที่มีปริมาณที่สูงพิเศษ โดยเก็บเป็นอัตราก้าวหน้า ยิ่งพื้นที่มาก ยิ่งกำหนดอัตราให้สูงขึ้นเป็นขั้นบันใด
6.2.2 รัฐบาลควรตั้งกองทุนและมาตรการช่วยเหลือให้ชุมชนสามารถซื้อหาที่ดินมาครองในรูปแบบโฉนดชุมชนที่ต้องใช้เฉพาะเพื่อส่วนรวมของชุมชนและไม่สามารถเปลี่ยนมือได้ ซึ่งเปลี่ยนจากหลักการเดิมที่เน้นการออกเอกสารสิทธิให้แก่รายบุคคลเพื่อการเกษตร แต่ภายหลังจะนำไปเปลี่ยนมือไปทำอย่างอื่น
6.2.3 รัฐบาลควรช่วยให้ชุมชนเกษตรสามารถจัดหาทรัพย์สิน อุปกรณ์ เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้เสริมสร้างวิถีชีวิต ซึ่งลักษณะของทรัพย์สินและลำดับความเร่งด่วนในแต่ละเรื่องของแต่ละชุมชนย่อมแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นเครื่องมือเพื่อบริหารจัดการน้ำ การผันทิศทางน้ำ การกักเก็บน้ำ โรงเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์ โรงเพื่อนำสินค้าเกษตรเบื้องต้นในท้องถิ่นมาแปรรูปเป็นอาหารสัตว์ โรงเพื่อบรรจุห่อผลิตภัณฑ์ของท้องถิ่น เครื่องสีข้าวชุมชนขนาดจิ๋ว ไซโลแบบทันสมัยเพื่อเก็บข้าวในรูปข้าวเปลือกที่มีลมร้อนหมุนเวียนไล่ความชื้น โรงเพื่อบริหารจัดการแยกขยะ เป็นต้น ซึ่งความช่วยเหลือเหล่านี้จะต้องเป็นไปตามความต้องการเฉพาะของแต่ละชุมชน
6.2.4 รัฐบาลควรช่วยให้ชุมชนเกษตรสามารถเรียนรู้ที่จะบริหารจัดการทรัพย์สินที่ได้รับจากการช่วยเหลือของรัฐบาลด้วยการพึ่งตนเอง โดยให้สถานศึกษาในท้องถิ่นหรือใกล้เคียงทั้งระดับมหาวิทยาลัยและอาชีวะเข้าไปร่วมในการจัดตั้งกระบวนการบริหารดังกล่าว รวมทั้งการจัดให้ทุกชุมชนมีศูนย์การเรียนรู้เพื่อเข้าใจและประเมินความเสี่ยงเองเกี่ยวกับสภาพอากาศ ความเสี่ยงด้านราคาพืชผล ความเสี่ยงของศัตรูพืช วิธีปรับปรุงการเพาะปลูก การเรียนรู้เครื่องมือเกษตรใหม่ๆ ฯลฯ
6.2.5 รัฐบาลควรช่วยให้ชุมชนเกษตรสามารถเรียนรู้และมีอำนาจที่จะบริหารจัดการวิธีการทำงานประจำวันของตนเอง โดยกำหนดแนะนำและตัดสินใจกันเองว่า การเพาะปลูกแต่ละฤดูกาลนั้น ควรจะเน้นพืชใดในพื้นที่เท่าใด รวมไปถึงการปกครองตรวจตรากันเองในเรื่องต่างๆ ของชุมชน เช่น สารวัตรคลอง การใช้น้ำต้นทุน การบริหารน้ำเสีย การบริหารขยะ เป็นต้น
6.2.6 อย่างไรก็ดี ผลประโยชน์จากโครงการการช่วยเหลือชุมชนเกษตรรากหญ้าให้เข้มแข็งและช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานและการลดต้นทุน ด้วยการมีเครื่องมือที่พร้อมเพรียง และด้วยการพึ่งตนเอง การบริหารจัดการกันเอง ที่เกิดขึ้นจากการปรึกษาหารือแต่ละชุมชนให้ตรงกับความต้องการและความเร่งด่วนเป็นการเฉพาะตามข้อเสนอแบบนี้ ย่อมจะใช้เวลานานจึงจะเกิดผล และกระบวนการทำงานก็ยากกว่า ต้องมีการประสานงานหลายด้าน รวมทั้งจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องหลายปีติดต่อกัน โดยต้องมีการจัดงบประมาณของรัฐบาลสนับสนุนอย่างต่อเนื่องทุกปี จึงย่อมไม่ทันใจเหมือนกับมาตรการช่วยเหลือที่เน้นที่ตัวสินค้าเกษตรแบบปลายน้ำ แต่ผลดีที่เกิดขึ้นจะยั่งยืน และประโยชน์จะลงไปสู่ระดับรากหญ้าโดยตรงได้ดีกว่าโดยไม่ต้องผ่านมือของนักการเมือง จึงจะดีกว่ามาตรการอดีตที่ผลประโยชน์กว่าจะตกถึงมือชาวบ้านก็มักจะร่อยหรอเพราะถูกแทะเล็มไประหว่างทาง

แต่การที่โครงการทำนองนี้ใช้เวลาต่อเนื่องหลายปี ไม่ตื่นเต้นเร้าใจ ประกอบกับบางมาตรการจะกระทบต่อการถือครองที่ดินของคนรวยซึ่งอาจจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคการเมือง หรืออาจจะกระทบต่อนักการเมืองโดยตรง ที่ผ่านมาจึงไม่เห็นมีพรรคการเมืองใดที่สนใจมาตรการแบบนี้ ดังนั้น แนวคิดทำนองนี้จึงอาจจะค้างอยู่แต่ในความฝันเท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น: