PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 28 สิงหาคม พ.ศ. 2560

ประเดิมกฎหมายปราบคอร์รัปชัน : ประเดิมคดีจำนำข้าว

ประเดิมกฎหมายปราบคอร์รัปชัน : ประเดิมคดีจำนำข้าว

“แอบหนีไปตั้งหลัก หรือหนีตลอดชีวิตกันแน่”

เป็นคำถามที่ยังไร้คำตอบ หลัง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จำเลยในคดีปล่อยปละละเลยให้เกิดความเสียหายในโครงการรับจำนำข้าว ไม่ปรากฎตัวฟังคำพิพากษาที่ศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง (ศาลฏีกาฯ)

คำตอบนี้จะชัดเจนเมื่อมีคำพิพากษาของศาลฎีกาฯ ในวันที่ 27 ก.ย.60 เวลา 09.00 น.

และตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ ซึ่งกำลังจะประกาศใช้ เพราะเป็นกฎหมายที่เกี่ยวกับคดีอาญาของนักการเมืองโดยตรง และจะเกี่ยวข้องกับคดีนี้อย่างไร นายอุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง

โดยชี้ให้เห็นถึงโครงสร้างกติกาใหม่ๆ กำหนดให้กระบวนการยุติธรรมในการปราบปรามการทุจริตเดินหน้าไปได้ มีการออกกฎหมายหลายฉบับอุดจุดอ่อน

ที่ผ่านมาคนที่เห็นช่องว่างในการคอร์รัปชันอาจจะไม่เกรงกลัว แต่ขณะนี้กฎหมายการป้องกันและปราบปรามการทุจริตเข้มข้นขึ้น อาทิ พ.ร.บ.การจัดซื้อจัดจ้างและการบริหารพัสดุภาครัฐ กฎหมายสี่ชั่วโคตร (ร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับผลประโยชน์ส่วนรวม)
สิ่งเหล่านี้จะทำให้ขบวนการคอร์รัปชันต้องสะดุ้ง สะเทือน ระมัดระวังตัวมากขึ้น

แม้อีกมุ่มหนึ่งการคอร์รัปชันจะมีความแนบเนียนมากขึ้น

และเจตนารมณ์ของ “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง” ยังถูกออกแบบให้แก้ไขปัญหา “ฝ่ายการเมือง-ข้าราชการ” ใช้หน้าที่และอำนาจแสวงหาผลประโยชน์

อาทิ กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาอยู่ในแวดวงการเมือง ปรับปรุงวิธีพิจารณาคดีอาญาที่ใช้กับผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ซึ่งมีรากเหง้ามาจากรัฐธรรมนูญปี 40 แยกการพิจารณาคดีอาญากรณีที่กล่าวหาผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองทุจริต ออกจากการดำเนินคดีอาญาตามปกติ

เดิมกำหนดให้ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาเป็นองค์คณะ 9 คน ใช้ระบบไต่สวน มุ่งหมายให้ผู้พิพากษาทำหน้าที่เป็นองค์คณะสามารถตรวจสอบข้อเท็จจริง ไม่ยึดแค่พยานหลักฐานที่นำเข้ามาเท่านั้น

แต่ไม่สามารถอุทธรณ์ได้ จึงมีเสียงทักท้วงว่าไม่สอดคล้องกับหลักความยุติธรรมสากล รัฐธรรมนูญปี 50 ได้เปิดช่องให้อุทธรณ์ได้ภายใต้เงื่อนไขที่ค่อนข้างจำกัด คือ มีพยานหลักฐานใหม่และต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน ทำให้โอกาสที่จำเลยจะต่อสู้หรือโต้แย้ง หักล้างคำพิพากษาได้ค่อนข้างจำกัดมาก
รัฐธรรมนูญปี 60 เห็นว่าการอุทธรณ์เป็นสิทธิ เป็นความยุติธรรมที่เป็นระบบสากล การให้สิทธิกับ “โจทก์-จำเลย” มีสิทธิอุทธรณ์ได้

เท่ากับเป็นการเปิดช่องให้คู่กรณี “โจทก์-จำเลย” ที่ไม่พอใจต่อคำพิพากษา ให้อุทธรณ์ต่อที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาได้ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ศาลฎีกาฯมีคำพิพากษา

การวินิจฉัยอุทธรณ์ของที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกผู้พิพากษาในศาลฎีกาซึ่งไม่เคยพิจารณาคดีนั้นมาก่อน เป็นองค์คณะ 9 คน

จะทำให้การพิจารณามีเงื่อนไขที่กว้างขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการอุทธรณ์ได้ทั้ง “ข้อเท็จจริง-ข้อกฎหมาย”

ในประเด็น “ข้อเท็จจริง” ถ้าการพิจารณาพยานหลักฐานใดๆแล้วในศาลชั้นต้น ฟังข้อเท็จจริงเป็นที่ยึดติดอย่างหนึ่ง อาจจะเป็นเรื่องของการชั่งน้ำหนักพยานหลักฐานว่าใครทำอะไร ที่ไหน อย่างไร ซึ่งเป็นข้อเท็จจริงเกี่ยวกับพยานหลักฐาน คู่กรณีย่อมทักท้วงมีสิทธิอุทธรณ์

ในประเด็น “ข้อกฎหมาย” ก็เป็นการปรับใช้กฎหมายกับกรณีที่เกิดขึ้น ในบางกรณีคู่ความอาจจะเห็นว่า ศาลปรับบทกฎหมายไม่ว่าจะเป็นการนำเอาข้อเท็จจริงมาปรับใช้กับกฎหมาย เป็นการเลือกใช้กฎหมายที่ไม่ถูกต้อง ตีความกฎหมายคาดเคลื่อน ใช้กฎหมายไม่เหมาะสม

เช่น กรณีการกำหนดบทลงโทษ การรอการลงโทษ คู่กรณีอาจจะโต้แย้งว่าการใช้กฎหมายไม่ถูกต้อง อาจจะลงโทษหนักหรือเบา ไม่สอดคล้องกับกฎหมายบัญญัติเอาไว้ในข้อหาฐานความผิด คู่กรณีย่อมมีสิทธิทักท้วงอุทธรณ์

อันนี้เป็นความเปลี่ยนแปลงที่ค่อนข้างสำคัญ ถึงขั้นทำให้คดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ด้านหนึ่งคือให้ความเป็นธรรมมากขึ้น อีกด้านหนึ่งอาจจะมีความยืดเยื้อเพิ่มขึ้น

อีกสิ่งที่เปลี่ยนแปลง คือ ต้องยอมรับว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกาฯ อาจจะมีความคุ้นเคยกับระบบกล่าวหา ไม่ถนัดการค้นหาความจริงในระบบไต่สวน ลงไปตรวจสอบพยานหลักฐานที่มีอยู่มันควรจะมีอยู่เพียงเท่านี้หรือไม่ ก็เน้นให้ศาลเกิดความเข้าใจโดยเขียนกฎหมายให้ชัดเจนมากขึ้น

การตรวจสอบความจริงไม่ใช่แค่โจทก์เห็นอย่าง จำเลยเห็นอย่าง แล้วศาลที่เป็นฝ่ายซึ่งความยุติธรรมอยู่แล้ว จะนำเอามาผสมกัน เพื่อบอกว่าความจริงเป็นเช่นนี้ไม่ได้ จะยืนยันอะไรต้องอาศัยพยานหลักฐาน ทำให้สาธารณชนเกิดความหายสงสัย ไม่ใช่ตัดสินเฉพาะความพอใจระหว่างโจทก์กับจำเลยเท่านั้น
ศาลต้องมีใจเป็นธรรม มีความเป็นกลาง แต่อีกด้านหนึ่งศาลก็ทำหน้าที่ที่หนักขึ้น ไม่ใช่ไปติดระเบียบแบบแผนเหมือนเดิม สิ่งเหล่านี้ในฐานะที่เป็นกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.พิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ก็พยายามเขียนอยู่ในกฎหมายฉบับนี้
กฎหมายฉบับนี้ไม่ได้พิจารณาเฉพาะผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและคนที่ร่วมกระทำความผิด ยังรวมถึงตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ กรรมการองค์กรอิสระต่างๆด้วย ถ้าเมื่อไหร่ถูกกล่าวหาว่าทุจริต คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ตรวจสอบพบว่ามีมูลก็ต้องขึ้นศาลฎีกาฯ เช่นเดียวกับ ป.ป.ช. หากถูกกล่าวหา ศาลฎีกา จะตั้งกรรมการไต่สวนอิสระตรวจสอบ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

ขณะที่การพิจารณาคดีที่ไม่มีตัวจำเลยหรือจำเลยหนี โดยเฉพาะนักการเมืองไปเสวยสุขที่อื่น กมธ.เห็นตรงกันว่าประเทศที่พัฒนาแล้วในยุโรปจะใช้ระบบไต่สวน ให้พิจารณาคดีโดยไม่มีตัวจำเลยได้ ในกรณียืนยันว่ามีการ “หลบหนี” แต่ต้องมีหลักประกันให้เขาได้รับการแจ้งข้อกล่าวหาและสิทธิที่จะต่อสู้คดี
ที่เพิ่มเข้ามาอีกคือ อายุความฟ้อง 15 ปี ถ้ายังไม่ฟ้องอายุความก็นับไปเรื่อยๆ และอายุความบังคับโทษ ถ้าศาลพิพากษาว่าจำเลยกระทำความผิดแล้วหลบหนี จะหยุดนับอายุความ

แต่กลับถูกวิจารณ์ว่าเลือกปฏิบัติเฉพาะนักการเมือง ทำไมข้าราชการ ทหาร ตำรวจไม่โดนแบบนี้ อย่าลืมว่านักการเมืองเป็นผู้มีอำนาจ ขณะที่ข้าราชการอยู่ภายใต้อำนาจการบริหารของฝ่ายการเมือง
ทีมข่าวการเมือง ถามว่า คดีจำนำข้าวหากตัดสินว่าไม่มีความผิด คู่ความสามารถอุทธรณ์ได้ นายอุดม บอกว่า ทุกอย่างเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 60 ซึ่งกำหนดเอาไว้แล้ว ให้อุทธรณ์ภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่มีคำพิพากษา

ขณะนี้ศาลฎีกาฯยังไม่มีคำตัดสินใดๆกับจำเลยทั้งสิ้นและยังไม่มีการนับอายุความ

อายุความจะเริ่มนับหลังจากศาลฎีกาฯตัดสินในวันที่ 27 ก.ย.นี้ หากจำเลยไม่มาฟังคำพิพากษา ศาลฎีกาฯ สามารถอ่านคำพิพากษาได้เลย และถ้าจำเลยจะอุทธรณ์ต้องมาแสดงตน ถ้าไม่มาศาลฎีกาฯก็ไม่รับอุทธรณ์

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า คดีทุจริตโครงการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐหรือจีทูจี นายอุดม บอกว่า กรณีนี้ขึ้นอยู่กับการอุทธรณ์ ถ้าอัยการอุทธรณ์ถือว่าคดียังไม่จบ ถ้าไม่อุทธรณ์ก็จบ ความจริงการอุทธรณ์ทำได้ทั้งสองฝ่าย ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดเอาไว้

แต่สืบเนื่องจาก พ.ร.บ.พิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองฉบับใหม่ยังไม่ประกาศใช้ ยังใช้กฎหมายฉบับเดิมอยู่ ถ้ามีจำเลยหนี เคยถามผู้พิพากษาว่าจะอ่านคำพิพากษาอย่างไร ท่านบอกว่าอ่านคำพิพากษาหมดเลย ให้จำเลยทั้งหมดและคนที่มาฟัง จำเลยที่หนีก็ออกหมายจับมันบังคับโทษไม่ได้ คนที่หนีก็หนีไป

ถ้าเป็นคดีที่ฟ้องคนเดียว เมื่อจำเลยไม่อยู่ก็ออกหมายจับ และยังไม่อ่านคำพิพากษา การออกหมายจับคือเพิ่มโทษตามกฎหมายใหม่ บางคนก็บอกว่ามันเป็นกฎหมายใหม่จะย้อนหลังได้หรือไม่

ไม่ว่าจะเป็นกรณีเดิมที่จำเลยหนี ศาลฎีกาฯทำอะไรไม่ได้ แต่กฎหมายใหม่ออกมาว่า ศาลฎีกาฯว่าไปเลย ประเด็นนี้มีการมองต่างมุม บางฝ่ายมองว่าการใช้กฎหมายใหม่ที่เป็นโทษกับจำเลย ศาลฎีกาฯพิจารณาลับหลังไม่ได้

บางฝ่ายมองว่าการที่จำเลยหนีเป็นการสละสิทธิ

การพิจารณาลับหลังไม่ได้แปลว่าจำเลยผิด

มันขึ้นอยู่กับหลักฐานที่เขามีกันอยู่แล้ว.
ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: