PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2560

เลือกตั้งแบบไหนไม่โกง?

คึกคักขึ้นมาทันตาเห็น
กรธ.เขาไปคิดสูตรเลือกตั้ง ส.ส.มา พยายามจะอุดรูรั่วสิ่งที่เกิดในอดีต เปลี่ยนจากแบ่งเขตเบอร์เดียว คือผู้สมัครจากพรรคการเมืองเดียวกัน ใช้เบอร์เดียวกันในทุกเขตเลือกตั้ง
มาเป็นให้ผู้สมัครแต่ละคนจับสลากเบอร์ของตัวเองตามลำดับของการสมัคร คือ...ใครมาก่อนได้เบอร์ต้นๆ มาหลังก็ได้ท้ายๆ
ฉะนั้น เขตที่มี ส.ส.ได้มากกว่า ๑ คน ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันจะได้คนละเบอร์
เป็นวิธีการเลือกตั้งที่น่าสนใจ!
กรธ.ให้เหตุผลว่า
ทำให้ซื้อเสียงได้ยากขึ้น
ให้ ส.ส.มีอิสระจากพรรคมากขึ้น
ขจัด ส.ส.เสาไฟฟ้า นักการเมืองนอมินี
ถามว่านี่คือของใหม่ใช่หรือไม่?
คล้ายกับการเลือกตั้งเมื่อปี ๒๕๕๐ ที่ใช้ระบบการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเรียงเบอร์ แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว
ที่ว่าเหมือนการเลือกตั้งปี ๒๕๕๐ คือ ผู้สมัครแต่ละพรรคได้เลขคนละเบอร์ แต่วิธีการได้มาซึ่งหมายเลขนั้นต่างกัน
ปี ๒๕๕๐ ผู้สมัครจากพรรคเดียวกันจะได้หมายเลขเรียงกัน เช่น พรรค ก. จับสลากได้ลำดับแรกก็ได้เบอร์ ๑, ๒, ๓ ไป พรรค ข. จับได้ลำดับถัดไปได้เบอร์ ๔, ๕, ๖ เป็นต้น
แต่ของใหม่ ใครมาก่อนได้เบอร์ ๑ ถัดไปก็เบอร์ ๒ โดยไม่อิงกับพรรคการเมืองแต่อย่างใด
เรียกง่ายๆ แบ่งเขตไม่เรียงเบอร์
นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. ๒๔๗๕ มีการเลือกตั้งมาแล้ว ๒๗ ครั้ง ระบบการเลือกตั้งแตกต่างกันไป
เลือกตั้งครั้งที่ ๑ วันที่ ๑๕ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๗๕ เลือกตั้งทางอ้อม
๒.วันที่ ๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๐ เลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
๓.วันที่ ๑๒ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๔๘๑ เลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
๔.วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
๕.วันที่ ๕ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๘๙ เลือกตั้งแบบเขตเดียวเบอร์เดียว
๖.วันที่ ๒๙ มกราคม พ.ศ. ๒๔๙๑ เลือกตั้งแบบรวมเขต
๗.วันที่ ๕ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๙๒ เลือกตั้งแบบรวมเขต
๘.วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๔๙๕ เลือกตั้งแบบรวมเขต
๙.วันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๐๐ เลือกตั้งแบบรวมเขต
๑๐.วันที่ ๑๕ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๐๐ เลือกตั้งแบบรวมเขต
๑๑.วันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๑๒ เลือกตั้งแบบรวมเขต
๑๒.วันที่ ๒๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๑๘ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๑๓.วันที่ ๔ เมษายน พ.ศ. ๒๕๑๙ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๑๔.วันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๒ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๑๕.วันที่ ๑๘ เมษายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๑๖.วันที่ ๒๗ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๑๗.วันที่ ๒๔ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๑ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๑๘.วันที่ ๒๒ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๕ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๑๙.วันที่ ๑๓ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๕ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๒๐.วันที่ ๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๓๘ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๒๑.วันที่ ๑๗ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตผสมรวมเขต
๒๒.วันที่ ๖ มกราคม พ.ศ. ๒๕๔๔ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตบัญชีรายชื่อ
๒๓.วันที่ ๖ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๔๘ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตบัญชีรายชื่อ
๒๔.วันที่ ๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๔๙ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตบัญชีรายชื่อ
๒๕. วันที่ ๒๓ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๐ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตบัญชีรายชื่อ
๒๖.วันที่ ๓ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ เลือกตั้งแบบแบ่งเขตบัญชีรายชื่อ
และครั้งที่ ๒๗ วันที่ ๒ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๕๗ ใช้วิธีการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตบัญชีรายชื่อ
....จะเห็นว่าระบบการเลือกตั้งนับแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เปลี่ยนไปมา ลองผิดลองถูก วิวัฒนาการเรื่อยมา
๘๕ ปีที่ยังไม่สามารถหาระบบการเลือกตั้งที่เหมาะสมกับประเทศไทยมากที่สุดได้
ปัญหาใหญ่ของการเลือกตั้งมีอยู่ไม่กี่เรื่อง
หลักๆ คือการซื้อสิทธิ์ขายเสียง
เพราะการที่พรรคการเมืองมีนายทุน หรือตระกูลการเมืองเป็นเจ้าของ
ขณะเดียวกันประชาชนไม่มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง ทำให้การเลือกตั้งเป็นเพียงเครื่องมือเข้าสู่อำนาจ ไม่สะท้อนระบอบประชาธิปไตยที่แท้จริง
เราถึงมีนายกรัฐมนตรีแบบทักษิณ ชินวัตร ที่เคยประกาศว่า
“ผมตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม จังหวัดไหนมอบความไว้วางใจให้เราต้องดูแลเป็นพิเศษ แต่เราต้องดูแลคนทั้งประเทศด้วย แต่เวลาจำกัด ต้องเอาเวลาไปจังหวัดที่เราได้รับความไว้วางใจมากเป็นพิเศษ จังหวัดที่ไว้วางใจเราน้อยต้องเอาไว้ทีหลัง ไม่ใช่ไม่ไป คิวต้องเรียงอย่างนี้ ผมเป็นคนพูดตรงไปตรงมา"
นี่คือนิยามคำว่าประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ที่ผิดเพี้ยน
ประชาธิปไตยถูกตีความว่าเป็นเรื่องของเสียงข้างมาก
เสียงข้างมากต้องการอย่างไร ประเทศต้องเอาตามนั้น
เราจึงผ่านประสบการณ์อันเลวร้าย จากการบริหารราชการแผ่นดินโดยรัฐบาลเสียงข้างมากที่ไม่ให้ความสำคัญเสียงข้างน้อย
มองเสียงข้างน้อยเป็นอุปสรรคทางการเมือง
ขณะที่ฝ่ายนิติบัญญัติเสียงข้างมาก ลักหลับผ่านกฎหมาย เสียบบัตรแทนกัน เป็นพฤติกรรมที่ไร้จริยธรรม ไม่สนใจความถูกผิด
เพียงเพราะเชื่อกันว่าตัวเองเป็นเสียงข้างมาก
นับเป็นเรื่องน่าหดหู่ การเลือกตั้งในประเทศไทย ไม่เคยปลอดการซื้อสิทธิ์ขายเสียง จะโทษนักการเมืองเพียงฝ่ายเดียวคงไม่ได้
ประชาชนเองก็มีส่วนต้องรับผิดชอบกับความล้มเหลวในการปกครองระบอบประชาธิปไตย
การเลือกตั้งไม่ใช่สูตรสำเร็จที่จะได้นักการเมืองที่ดี
ไม่ว่าจะเลือกตั้งด้วยวิธีไหน มักมีคนเลวเล็ดลอดเข้าสู่การเมืองได้เสมอ เพราะการเลือกตั้งแต่ละแบบล้วนมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป
แต่จำเป็นต้องค้นหาวิธีที่จะทำให้คนเลวเล็ดลอดเข้าสู่การเมืองให้น้อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
ตอบยากครับว่า ระบบการเลือกตั้งแบบ แบ่งเขตไม่เรียงเบอร์ ที่ กรธ.เสนอนั้น จะสามารถอุดรูรั่วได้ดีแค่ไหน
"มีชัย ฤชุพันธุ์" ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ยืนยันว่าวิธีนี้จะทำให้การซื้อเสียงทำได้ยากขึ้น
แต่เมื่อไปฟังนักการเมือง โดยเฉพาะจากพรรคเพื่อไทย จะได้มุมมองในทิศตรงข้าม
เช่น นายนพดล ปัทมะ มองไม่เห็นว่าการใช้เบอร์ต่างกันในแต่ละเขต หรือยกเลิกการใช้เบอร์ไปเลยจะป้องกันการซื้อเสียงได้อย่างไร
"ถ้าคนจะซื้อมันก็ซื้อวันยังค่ำ"
"ผมว่าการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้นและสร้างจิตสำนึกน่าจะป้องกันการซื้อเสียงได้ดีกว่า"
ก็จริงครับ!
ตราบใดที่นักการเมืองยังซื้อเสียงจากประชาชน ขณะที่ประชาชนยังต้องการที่จะขายเสียงให้นักการเมือง มันไม่มีทางแก้ไขอะไรได้
แต่การบังคับใช้กฎหมายที่เข้มข้น ป้องกันการซื้อเสียงได้ดีกว่าเช่นนั้นหรือ?
ที่จริงพรรคเพื่อไทยมีประสบการณ์ตรงในเรื่องนี้ น่าจะตอบคำถามได้ดีที่สุด
การใช้ยาแรงด้วยการยุบพรรคการเมือง ตัดสิทธิ์ทางการเมืองกรรมการบริหารพรรคการเมืองที่พบว่าทุจริตการเลือกตั้ง นับว่าเป็นยาแรงที่สุดเท่าที่เคยมีมา
พรรคไทยรักไทย พรรคพลังประชาชนถูกยุบ เพราะทุจริตการเลือกตั้ง แต่ถามว่าบริวารของทักษิณเคยยอมรับการบังคับใช้กฎหมายหรือไม่?
ปัญหาความขัดแย้งในชาติที่เกิดขึ้น ก็มาจากสาเหตุเหล่านี้
การเลือกตั้งแบบใหม่ของ กรธ. แก้ปัญหาซื้อขายเสียงได้ระดับหนึ่ง อย่างน้อยก็เป็นเพราะนักการเมืองตั้งตัวไม่ติด เนื่องจากรูปแบบการเลือกตั้งที่เปลี่ยนไป ทำให้บริหารจัดการได้ยากขึ้น
แต่ประชาชนจะไม่ยุ่งยากตามไปด้วย
อย่าเป็นห่วงประชาชนเลยครับ ไม่ว่าเลือกตั้งแบบไหน ประชาชนปรับตัวได้เสมอ
คนไทยเก่งเรื่องตัวเลข วิถีชีวิตอยู่กับตัวเลขมาตลอด
ตีหวย ยังยากกว่าแยกแยะหมายเลขผู้สมัคร ส.ส.
ฉะนั้นเมื่อนักการเมืองไม่ยอมปรับตัว การจะปล่อยให้การเลือกตั้งเป็นไปแบบเดิมๆ ก็จะไม่มีการเปลี่ยนแปลงอะไรเลย
เมื่อปรับที่คนไม่ได้ ก็ต้องเปลี่ยนที่กติกา
แต่หากคาดหวังให้การซื้อสิทธิ์ขายเสียงหายไป ไม่มีทางอื่น คนต้องเปลี่ยน
ยากครับ!
เพราะแค่เปลี่ยนกติกานิดๆ หน่อยๆ นักการเมืองยังดิ้นเป็นไส้เดือนถูกน้ำร้อนลวก.
ผักกาดหอม

ไม่มีความคิดเห็น: