PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2560

สงครามเย็นกับยุทธศาสตร์เอเชีย : ซีโรซัมเกม...!

สงครามเย็นกับยุทธศาสตร์เอเชีย : ซีโรซัมเกม...!

“ไทยเป็นประเทศที่สหรัฐฯเลือกเป็นพันธมิตรในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้”

นักการทูตระดับลายคราม “กลิน ที.เดวีส์” เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย เปิดฉากให้สัมภาษณ์ ทีมข่าวการเมือง ถึงนโยบายการต่างประเทศของสหรัฐฯต่อภูมิภาคนี้ หลังจากที่ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ

โดยขอหลีกเลี่ยงพูดถึงเรื่องภายในของประเทศไทย จะขอพูดถึงเฉพาะหลักการพื้นฐานความสำคัญ เช่น ประชาธิปไตย เสรีภาพการแสดงความคิดเห็น

พร้อมอธิบายถึงความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯที่มีมายาวนานจะครบ 200 ปีในปี 2561

โดยเราจะจัดนิทรรศการระดับโลก นำแสดงวัตถุโบราณ ของที่ระลึกตั้งแต่ต้นสมัยราชวงศ์จักรีที่เคยมอบให้สหรัฐฯ ใช้บ่งบอกถึงความเป็นมิตรสหาย เล่าเรื่องราวทั้งสองชาติ สองสังคมมารู้จักกันได้อย่างไรเป็นมิตรกันมา 200 ปีได้อย่างไร

ความสัมพันธ์ที่ย่างก้าวเข้าสู่ปี 201 หวังว่าผู้คนรุ่นหลังจะเข้าใจมากขึ้น จะมีโอกาสได้เรียนรู้จากนิทรรศการว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯมันพิเศษเช่นไร ไม่มีประเทศใดในโลกที่มาช่วยไทยมากเท่านี้ อเมริกาไม่เคยข่มขู่ประเทศไทยมีแต่ช่วยเหลือสนับสนุน

ที่สำคัญสหรัฐฯอยากเป็นประเทศที่เหมือนเพื่อนที่จะช่วยกันพิทักษ์เสรีภาพ มีอนาคตอันสดใสและบริบทการทำงานร่วมกัน มีความร่วมมือกันหลายสาขา เพื่อประสานให้ความสัมพันธ์กระชับความแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น

สหรัฐฯพยายามเสริมสร้างพันธไมตรีกับหลายประเทศในภูมิภาคเอเชีย ในภูมิภาคนี้ก็มีความสัมพันธ์กับไทยมายาวนาน อาเซียนก็เช่นกันที่กำลังจะครบรอบก่อตั้ง 50 ปีและครบรอบ 40 ปี ความสัมพันธ์สหรัฐฯ-อาเซียน และ “โดนัลด์ ทรัมป์” ก็ตัดสินใจที่จะเดินทางมาเอเชียเพื่อร่วมประชุมระดับผู้นำสุดยอดอาเซียนในเดือน พ.ย.นี้

สหรัฐฯยังพยายามที่จะรับมือกับความ ท้าทายและสิ่งที่เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพในภูมิภาคนี้ เห็นได้จากโครงการฝึกซ้อมคอบร้า–โกลด์มากว่า 40 ปีแล้วยังมีความร่วมมืออีกหลายด้าน ทั้งด้านสาธารณสุข ต่อต้านก่อการร้าย ภัยอาชญากรรมไซเบอร์ อาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์ การค้าสัตว์ป่า

และยังมีโอกาสที่ดีอีกหลายอย่าง เช่น ด้านเทคโนโลยี การสื่อสาร เราอยากจะทำงานร่วมกับทุกประเทศ รวมถึงไทยในการตักตวงโอกาสเหล่านี้และทำให้ดีที่สุด และเราอยากมีส่วนส่งเสริม เช่น ไทยแลนด์ 4.0
นับจากนี้สหรัฐฯก็พยายามเสริมสร้างภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้มีสันติภาพ

เป็นภูมิภาคที่มีผลประโยชน์ร่วมกัน เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม

“หวังว่าไทยจะกลับไปเป็นผู้นำของภูมิภาคนี้”

สหรัฐฯยังมีความท้าทายอยู่ทั้งในภูมิภาคเอเชียและทั้งโลก มีการเมืองในภาคภูมิรัฐศาสตร์ มีหลายอย่างที่เชื่อมโยงกัน การเลือกตั้งที่นี่เชื่อมโยงกับที่นั่น

ในฐานะที่มีประสบการณ์ทำงานมาแล้ว 37 ปี อย่างพ่อของผมก็ทำงานการทูตตั้งแต่ 1946 เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านสหภาพโซเวียต ผ่านมาหมดทั้งยุค ‘40 ‘50 ‘60 ทำงานทั้งที่รัสเซีย อินเดีย อัฟกานิสถาน ซึ่งผมเกิดที่นั่น

มันมีหลายเหตุการณ์เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะสงครามหรือเหตุการณ์ต่างๆ ตอนนั้นทุกคนคิดว่าโซเวียตจะชนะ อย่างเหตุการณ์ปัจจุบันไม่ว่าจะเรื่องเลือกตั้ง หรือกรณีปัญหาทะเลจีนใต้ หรือเกาหลีเหนือ คนก็มักจะสรุปไปในทิศทางใดทางหนึ่ง

แต่ผมจะมองที่พื้นฐานโดยรวม เช่น จีนมีความเจริญด้านเศรษฐกิจ ซึ่งดีต่อทั่วโลกและนำไปสู่เสถียรภาพที่มั่นคงขึ้น ศตวรรษนี้หลายสิ่งมันก็เปลี่ยนไปทั้งการเมือง เศรษฐกิจ สำหรับไทยผมก็พยายามทำความเข้าใจเรื่องการถ่วงดุลอำนาจ

สหรัฐฯก็สบายใจที่ไทยมีความสัมพันธ์ดีกับจีน เพราะถือว่าเป็นผลดีต่อไทยและสหรัฐฯ

กรณีนี้มันไม่ใช่เรื่องของซีโรซัมเกม (Zero-sumgame) ซึ่งเป็นเกมที่จะต้องมีคนแพ้คนชนะ

ทั้งโลกมันเชื่อมโยงและมีความเป็นโลกาภิวัตน์มากขึ้น ในปัจจุบันความท้าทายมีอยู่ทั่วไป

วิธีที่ดีทุกฝ่ายควรตกลงกติกาในระดับนานาชาติร่วมกัน ไม่ใช่ทำแบบสมัยก่อนที่มหาอำนาจทำอะไรก็ได้
ขณะที่ปัญหาเกาหลีเหนือ ซึ่งกลายเป็นภัยคุกคามไม่ใช่เฉพาะประเทศเพื่อนบ้านรอบๆ เป็นเหตุผลที่สหรัฐฯขอให้นานาชาติช่วยกดดันเกาหลีเหนือ และสหรัฐฯ จีน รัสเซีย เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ก็ไม่มีความคิดที่จะไปเปลี่ยนรัฐบาลเกาหลีเหนือ แต่พยายามเกลี้ยกล่อมมาโดยตลอดหลายปีแล้ว

ทีมข่าวการเมือง ถามว่า ท่ามกลางความหวาดวิตกว่าจะเกิดสงครามในภูมิภาค สหรัฐฯให้ความสำคัญเช่นไรกับการค้า เศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ “กลิน ที.เดวีส์” บอกว่า ผมไม่คิดว่าเกาหลีเหนือจะทำสงคราม
แม้เกาหลีเหนืออยากให้คุณเชื่อเช่นนั้น แต่ผมเชื่อว่าครอบครัวตระกูลคิม (คิม จอง อึน ผู้นำเกาหลีเหนือ) สนใจอย่างเดียว คือการเอาตัวรอดให้ได้ ทั้งโดดเดี่ยวตัวเอง ข่มขู่ว่าจะทำสงครามมาตั้งแต่สมัยสภาพโซเวียตแล้ว

เกาหลีเหนือพยายามบอกว่าตัวเองเป็น “รัฐนิวเคลียร์” แต่ไม่คิดว่ามีศักยภาพพอที่จะโจมตีใครได้ เป็นเพียงการข่มขู่ การพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์เป็นปัญหาใหญ่ ที่สามารถขายให้กลุ่มก่อการร้าย เช่น ไอเอส หรืออัลเคดา และเทคโนโลยีด้านนิวเคลียร์ก็เคยถูกขายให้ประเทศในตะวันออกกลางมาแล้ว สิ่งที่ต้องทำคือหยุดการกระทำเหล่านี้

โดยเฉพาะในศตวรรษที่ 21 เกาหลีเหนือเป็นประเทศเดียวที่ทดลองนิวเคลียร์

ทุกคนควรช่วยกัน ไม่ใช่รอให้สหรัฐฯแก้ไขปัญหาอย่างเดียว

ขณะในด้านการค้า “โดนัลด์ ทรัมป์” พูดถึงการถอนตัวออกจากข้อตกลงทีพีพี (กลุ่มความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก) แต่ในระดับยุทธศาสตร์สหรัฐฯมุ่งที่จะทำการค้าเสรี แต่ที่กำจัดข้อกีดกันการค้า เพื่อช่วยให้ทุกคนเจริญรุ่งเรืองและมีความสัมพันธ์ที่ดีกับสหรัฐฯ

สหรัฐฯอยากทำการค้าแบบทวิภาคีกับทั่วโลก อย่างประเทศไทยก็เพิ่งประชุมระดับยุทธศาสตร์ไปเมื่อวันที่ 14 ก.ค. ที่กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ส่วนหนึ่งได้หารือถึงด้านการค้าเสรีจะเสริมสร้างเช่นไรต่อ
“โดนัลด์ ทรัมป์” ประธานาธิบดีสหรัฐฯ เชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช.เยือนสหรัฐฯ ขณะนี้มีความชัดเจนอย่างไร “กลิน ที.เดวีส์” บอกว่า เราตั้งตารอการพบปะครั้งนี้ และพยายามประสานงานทุกด้าน เพื่อกำหนดวัน ในการหารือยุทธศาสตร์ที่ผ่านมาก็เป็นสัญญาณที่ดีว่าสหรัฐฯสนับสนุนให้เกิดการหารือขึ้น

แต่ยังตอบไม่ได้ ตามระบบแล้วต้องให้ทำเนียบขาวเป็นฝ่ายชี้แจงการประชุมที่จะเกิดขึ้นถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะได้หารือเรื่องความท้าทายต่างๆ

ความท้าทายยุคใหม่ของสหรัฐฯต่อภูมิภาคนี้และไทยเป็นอย่างไร “กลิน ที.เดวีส์” บอกว่าเราไม่คิดว่ามีเรื่องอะไรที่ท้าทายโดยตรง แต่มองภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในด้านโอกาสที่ดีมากกว่าความท้าทาย
แน่นอนมันมีบางเรื่อง เช่น มีสัญญาณว่าผู้ก่อการร้ายเข้ามาในภูมิภาคนี้ เราให้ความสนใจ ส่วนในแง่ด้านเศรษฐกิจและสังคม ถือเป็นภูมิภาคที่เปิดกว้าง ก็อาจจะมีความท้าทาย เช่น การลักลอบค้ามนุษย์ หรือด้านอื่นๆ อาชญากรรมแต่ก็เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นทั่วโลก สหรัฐฯได้ทำงานกับหน่วยบังคับใช้กฎหมายและกองทัพของไทย

มองประชาธิปไตยของไทยอย่างไร ทั้งในด้านสิทธิมนุษยชน กฎหมาย การดำเนินการกับนักการเมือง “กลิน ที.เดวีส์” บอกว่า ส่วนหนึ่งในการประชุมยุทธศาสตร์ ได้หารือถึงด้านสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพ ซึ่งอยากให้ประเทศไทยเข้มแข็ง เป็นเอกภาพ เจริญรุ่งเรือง มีอนาคตสดใส มีประชาธิปไตยโดยประชาชนในสังคมมีส่วนร่วม

ในช่วงการเปลี่ยนผ่านประชาธิปไตย สหรัฐฯอยากให้ไทยแสดงตัวออกมาในฐานะประเทศที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแข็งแกร่ง ตามที่รัฐบาลได้ประกาศโรดแม็ปและการเลือกตั้งปี 2561 ขอชื่นชมเป้าหมายของโรดแม็ปที่ระบุว่า ประชาธิปไตยจำเป็นต้องสร้างกันเองในประเทศไทย

ถ้าไม่มีการเลือกตั้งตามโรดแม็ปจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ อย่างไร “กลิน ที.เดวีส์” บอกว่า สหรัฐฯและไทยถือเป็นหนึ่งในคู่ประเทศที่มีความสัมพันธ์แบบเปิดกว้างมากที่สุดในโลก ผ่านอะไรร่วมกันมามาก และจะเป็นเช่นนั้นต่อไปถึงแม้เกิดเหตุรัฐประหารครั้งที่ผ่านมา ความร่วมมือหลายอย่างยังคงดำเนินต่อไป

แต่เรามีกฎหมายเกี่ยวกับการรัฐประหาร หากประเทศใดเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ขึ้น

สหรัฐฯจำเป็นจะต้องระงับความร่วมมือด้านความมั่นคงบางอย่าง

ฉะนั้นอยากให้ไทยกลับมาเป็นรัฐบาลพลเรือน

เพื่อจะได้มีความสัมพันธ์กันแบบเต็มร้อยเปอร์เซ็นต์.

ทีมการเมือง

ไม่มีความคิดเห็น: