PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2561

คำสั่งคสช.3ห้ามชุมนุม

iLaw
3 ชม.
ตั้งแต่ปี 2558 เราก็ต้องอยู่ภายใต้ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติเป็นคนร่าง และสภานิติบัญญัติแห่งชาติพิจารณาผ่านออกมาโดยไม่ได้ผ่านการมีส่วนร่วมจากทุกฝ่าย โดยเฉพาะฝ่ายประชาชนผู้จัดการชุมนุม ซึ่งกฎหมายนี้มีเงื่อนไขต่างๆ มากมายทำให้การจัดการชุมนุมแต่ละครั้งผู้จัดต้องมีภาระรัดตัวเต็มไปหมด เช่น
- ต้องมีผู้จัดการชุมนุมแจ้งล่วงหน้า 24 ชั่วโมงให้ตำรวจในท้องที่ทราบ
- การชุมนุมต้องระบุสถานที่และวันเวลา เมื่อจัดจริงแล้วจะเกินจากที่แจ้งไว้ไม่ได้
- ห้ามชุมนุมในระยะ 150 เมตรจากเขตพระราชฐาน ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติอาจห้ามชุมนุมในระยะ 50 เมตรจากรัฐสภา หรือทำเนียบรัฐบาลได้ ซึ่งปัจจุบันสถานที่ตั้งของหน่วยงานรัฐสำคัญๆ ก็อยู่ใกล้กับเขตพระราชฐานบริเวณถ.ราชดำเนินนอก
- ห้ามปราศรัย หรือใช้เครื่องขยายเสียงในเวลา 24.00-06.00 น. และห้ามเดินขบวนตั้งแต่ 18.00-06.00 น.
- หากตำรวจเห็นว่า การชุมนุมจะขัดต่อกฎหมายก็อาจสั่งไม่อนุญาตให้ชุมนุมได้ และแจ้งให้เลิกชุมนุม
- หากผู้ชุมนุมได้รับแจ้งแล้วไม่เลิก ตำรวจอาจขออนุญาตศาลแพ่งเพื่อเข้าสลายการชุมนุมได้
ฯลฯ
การชุมนุมใดที่จัดขึ้นตามเงื่อนไขของ พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้วทุกประการ ตำรวจก็จะมีหน้าที่เพียงอำนวยความสะดวก ดูแลความปลอดภัย แต่ไม่อาจห้ามหรือขัดขวางหรือใช้กำลังเข้าสลายการชุมนุมได้
แต่แม้ว่าจะมีเงื่อนไขมากมายเขียนไว้ตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แล้ว ยังมีคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 3/2558 ข้อ 12. ที่กำหนดสั้นๆ เพียงว่า ผู้ใดมั่วสุมหรือชุมนุมทางการเมือง ณ ที่ใดๆ ที่มีจํานวนตั้งแต่ห้าคนขึ้นไป ต้องระวางโทษจําคุกไม่เกินหกเดือน หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจําทั้งปรับ เว้นแต่เป็นการชุมนุมที่ได้รับอนุญาตจากหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติหรือผู้ที่ได้รับมอบหมาย
ซึ่งเป็นการกำหนดข้อห้ามโดยเด็ดขาด และกำหนดโทษจำคุกและโทษปรับเอาไว้ชัดเจน โดยข้อห้ามนี้ไม่ต้องคำนึงถึงรายละเอียดการชุมนุมเลยว่า จัดในสถานที่ใด เวลาเท่าไร รบกวนบุคคลอื่นเพียงใด และให้เป็นดุลพินิจอันกว้างขวางของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และทหารที่พล.อ.ประยุทธ์บมอบหมายที่จะสั่งว่า การชุมนุมใดทำได้หรือทำไม่ได้
ตั้งแต่พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ บังคับใช้เป็นต้นมา การชุมนุมหลายครั้งที่ปฏิบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ แต่กลับถูกเจ้าหน้าที่อ้างว่า เป็นการชุมนุมทางการเมือง ขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. และสั่งไม่อนุญาตเอาดื้อๆ รวมถึงใช้กำลังเข้าขัดขวาง และขู่ว่าจะดำเนินคดีกับผู้ชุมนุม
ตัวอย่างเช่น
- การชุมนุมของเครือข่ายประชาชนเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน บริเวณหน้าอาคารสหประชาชาติ เพื่อคัดค้านการยกเลิกกฎหมายผังเมืองในเขตเศรษฐกิจพิเศษ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2559 เมื่อแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุสาธารณะ ถูกตำรวจสน.นางเลิ้ง ตอบกลับว่า การชุมนุมเพื่อเรียกร้องให้ยกเลิกกฎหมาย ถือเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 อันเป็นการบ่อนทำลายความสงบเรียบร้อย และความมั่นคงของชาติ
- การชุมนุมของกลุ่มคนรักหลักประกันสุขภาพ บริเวณหน้ากระทรวงศึกษาธิการ เพื่อคัดค้านการแก้ไขกฎหมายหลักประกันสุขภาพ เมื่อเดือนมิถุนายน 2560 เมื่อแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุสาธารณะ ก็ถูกตำรวจสน.ดุสิต ตอบกลับว่า เห็นควรงดจัดกิจกรรมที่อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12
- การชุมนุมของเครือข่ายสนับสนุนการแบนสารพิษที่เป็นอันตรายร้ายแรง บริเวณทำเนียบรัฐบาล เมื่อเดือนกันยายน 2560 เมื่อแจ้งการชุมนุมตามพ.ร.บ.การชุมนุสาธารณะ ก็ถูกตำรวจสน.ดุสิต ตอบกลับว่า อาจขัดต่อคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12
ฯลฯ
และล่าสุด กิจกรรม #Wewalkเดินมิตรภาพ ของเครือข่าย People Go ที่จะเดินเท้าจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ไปยังจ.ขอนแก่น ก็ได้แจ้งการชุมนุมล่วงหน้า และปฏิบัติถูกต้องตามพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะทุกประการแล้ว แต่ตำรวจสน.คลองหลวง ก็ยังคงอ้างคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 มาเป็นเหตุผลที่ไม่อนุญาตให้จัดกิจกรรมได้ พร้อมทั้งใช้กำลังตำรวจหลายร้อยนายเข้าปิดประตูมหาวิทยาลัย และข่มขู่ผู้ที่มีส่วนร่วมในกิจกรรมทุกคนให้เลิกจัดให้ได้
รวมทั้งยังมีแนวโน้มว่าทหารจะเอาจริงเอาจังดำเนินคดีกับผู้จัดกิจกรรม We Walk ฐานฝ่าฝืนคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 อีกด้วย
แม้ในทางกฎหมายจะยังมีประเด็นว่า เมื่อพ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ ประกาศใช้ในปี 2558 เพื่อควบคุมดูแลการชุมนุมทุกประเภท คำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ข้อ 12 ซึ่งเป็นกฎหมายที่ออกมาใช้แทนกฎอัยการศึกก็ควรจะถือว่าถูกยกเลิกไปโดยปริยาย และหมดความจำเป็นในการใช้แล้ว แต่ในทางปฏิบัติการใช้กฎหมายทั้งสองฉบับพร้อมๆ กัน และซ้ำซ้อนกัน ก็เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องโดยความจงใจ
ปรากฏการณ์เช่นนี้ สร้างความสับสนให้กับประชาชนผู้อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่ไม่สามารถปฏิบัติให้ถูกได้ และทำให้เสรีภาพการชุมนุมเป็นเรื่องที่ไม่มีความแน่นอนอย่างที่สุด
อ.สงกรานต์ ป้องบุญจันทร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อธิบายว่า รัฐบาลทหารกำลังพยายามสื่อสารต่อสังคมไทยว่า กฎหมายมีเนื้อหาสาระอย่างไรไม่สำคัญ เท่ากับว่า เจ้าหน้าที่รัฐมีความเห็นว่ากฎหมายมีความหมายอย่างไร ซึ่งหากยอมรับวัฒนธรรมทางกฎหมายเช่นนี้ย่อมหมายความว่าสังคมไทยยอมรับการปกครองแบบอำนาจนิยมไปโดยปริยาย https://ilaw.or.th/node/4726
ขณะที่เครือข่าย People Go ก็ได้ยื่นฟ้องคดีต่อศาลปกครอง เพื่อให้ตีความการบังคับกฎหมายที่สับสนนี้ด้วยเช่นกัน http://www.tlhr2014.com/th/?p=6049

ไม่มีความคิดเห็น: