PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2561

ติดหล่มเน่า ถ่วงปฏิรูป

ติดหล่มเน่า ถ่วงปฏิรูป



ผ่าพฤติกรรมนักการเมืองเกี่ยงกติกา “ไพรมารี”
อุณหภูมิการเมืองโลกลดดีกรีลงวูบวาบ
ภายหลังฉากประวัติศาสตร์บนเกาะเซนโตซาประเทศสิงคโปร์ ปรากฏการณ์ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ แห่งสหรัฐอเมริกา จับมือกับประธานาธิบดีคิม จอง อึน แห่งเกาหลีเหนือ
จูงมือกันร่วมประชุมสุดยอดผู้นำ ทำสัญญาลดอาวุธนิวเคลียร์
“ทรัมป์-คิม” ภาพที่ไม่คิดว่าจะได้เห็นกลับเป็นไปได้ เงื่อนไขสันติภาพโลกระหว่างชาติคู่กรณีที่แข็งกร้าวใส่กันมาหลายสิบปี ยังสามารถลดระดับการประจันหน้าสงครามเย็นกันได้
เทียบกับสถานการณ์ปรองดองในประเทศไทยที่กลายเป็นเรื่องจิ๊บจ๊อย
แต่โคตรยากแสนยาก
นั่นเพราะตัวแปรสำคัญมันอยู่ที่อำนาจและผลประโยชน์ทางการเมือง
ตามท้องเรื่องล่าสุด เกมฉุดกระชากลากถูโรดแม็ปเลือกตั้งมาถึงจุดที่ “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม ยืนยันได้รับมอบหมายจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี หัวหน้า คสช. ให้นั่งหัวโต๊ะเป็นประธานประชุมฟลอร์ใหญ่
ในโปรแกรมที่ คสช.นัดตัวแทนพรรคการเมือง คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ หารือเกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้งปลายเดือนมิถุนายนนี้
ช็อตสำคัญที่ทุกฝ่ายลุ้นจับตากระบวนท่าทหารจะปลดล็อกกฎเหล็กในระดับใด
แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น มันก็พอมีคำตอบล่วงหน้าก่อนแล้ว แนวโน้มแบบที่ “บิ๊กป้อม” แบไต๋เป็นนัยกั๊กๆ จะยังไม่ปลดล็อกทั้งหมด ยังไม่ถึงขั้นปล่อยให้หาเสียงเลือกตั้งกันฟรีสไตล์
เน้นแค่การเปิดให้หาสมาชิกพรรคการเมืองได้เท่านั้น
ขณะเดียวกัน มันก็สะท้อนว่า พล.อ.ประยุทธ์พยายามมอบบทบาทสำคัญในการเจรจาความกับนักการเมืองให้กับ “พี่ใหญ่” ที่มีบารมีในทุกวงการ โดยเฉพาะคอนเนกชันกับนักเลือกตั้งอาชีพทุกป้อมค่าย
น่าจะทำให้คุยกันง่ายกว่า “บิ๊กตู่” ที่จุดเดือดต่ำ โดนจี้ต่อมโมโหไม่ค่อยได้
และเหตุผลสำคัญจริงๆน่าจะอยู่ที่การเลี่ยงข้อครหา ตามแนวโน้มสถานการณ์ที่ค่อนข้างชัดเจนว่า “นายกฯลุงตู่” จะเดินหน้าตีตั๋วต่อเก้าอี้นายกรัฐมนตรี
เป็น “นายกฯคนใน” ผ่านบัญชีพรรคการเมือง
ถ้านั่งคุมเกมกำหนดกติกาและคิวเลือกตั้ง หนีไม่พ้นปากนักการเมืองติฉินนินทา
ข้อหาชงเองกินเอง เอื้อประโยชน์ให้ตัวเอง
สถานการณ์มาถึงจุดที่ “ลุงตู่” ต้องโชว์สปิริต เคลียร์ความบริสุทธิ์ใจ
ไม่เปิดช่องให้โดนกระแทกให้เสียอาการทรงตัว
โดยเฉพาะในอารมณ์ที่จับทางได้เลยว่า นักการเมืองทุกป้อมค่ายกำลังกัดติดสถานการณ์ความได้เปรียบเสียเปรียบกับฝ่ายที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯต่อไป
ไม่มีใครยอมตกเป็นรองในสนามเลือกตั้ง
ถึงจังหวะปรองดองอัตโนมัติ นักการเมืองช่วยกันรักษาผลประโยชน์กันแบบสุดกำลัง
กลายเป็นพลังกดดันฝ่ายคุมเกมอำนาจพิเศษที่แฝงมากับอาการโหยหาเลือกตั้ง
ตามเงื่อนไขสถานการณ์ล่าสุดที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ ฝ่ายกฎหมาย ต้องหารือร่วมกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ และตัวแทนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เกี่ยวกับการจัดการเลือกตั้ง คำสั่งหัวหน้า คสช. และ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรค การเมือง
ยอมรับมี 4 ประเด็นที่ต้องออกกฎหมาย ก็ต้องดูว่าจะออกเป็นพระราชกำหนด พระราชบัญญัติ หรือหัวหน้า คสช.ใช้อำนาจตามมาตรา 44 เพื่อคลายปัญหาที่ติดขัด
ส่อไม่พ้นต้องผ่าทางตันโดยวิธีอัตโนมัติ
ตามสภาพการณ์ที่ดูเหมือน คสช.เองก็ตกอยู่ในวงล้อมกฎกติการัฐธรรมนูญที่มอบหมายให้ “ซือแป๋” นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ออกแบบกันมาเองต้องเออออห่อหมกตามเสียงโห่ฮาของนักการเมือง
โดยเฉพาะโฟกัสประเด็นปัญหาที่พูดกันในหมู่นักเลือกตั้งมากที่สุดก็คือปม “ไพรมารีโหวต”
จุดที่ทุกป้อมค่ายถือโอกาสอ้างโยงกับการปลดล็อกคำสั่ง คสช.ห้ามพรรคการเมืองดำเนินกิจกรรม ส่งผลให้ทำไม่ทัน ก่อให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบในการเลือกตั้ง
ไม่เว้นแม้แต่พรรคใหม่ที่ประกาศหนุน พล.อ.ประยุทธ์เองก็จะมีปัญหา
ตามกติกาที่กำหนดให้ทุกพรรคต้องทำไพรมารีโหวตหรือการเลือกตั้งเบื้องต้น เป็นขั้นตอนในการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งจากพรรคการเมือง
กล่าวคือ การส่งผู้สมัครจากพรรคการเมืองเพื่อเข้าสู่สนามเลือกตั้ง โดยสาขาพรรคประจำจังหวัดจะเป็นผู้คัดเลือกส่งตัวแทนทั้งระบบ ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และการสรรหาขั้นสุดท้าย สมาชิกพรรคจะประชุมเพื่อลงคะแนนว่าผู้ใดเหมาะสม แล้วส่งให้กรรมการบริหารพรรคพิจารณาเห็นชอบ
ทั้งนี้ ในส่วนการสรรหาผู้สมัคร ส.ส.ระบบแบ่งเขตเลือกตั้ง กำหนดวิธีการว่า เมื่อกรรมการสรรหาประกาศให้มีการสมัครเรียบร้อยแล้ว ให้สาขาพรรคการเมืองหรือตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด จัดประชุมเพื่อลงคะแนนเลือกตั้ง
โดยกำหนดว่า หากเป็นสาขาพรรคต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 100 คน ในขณะที่ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด ต้องมีผู้มาประชุมไม่น้อยกว่า 500 คน เพื่อให้สมาชิกพรรคการเมืองมาลงคะแนนเพื่อเลือกบุคคลเป็นผู้สมัคร ส.ส.
เมื่อลงคะแนนเสร็จก็ให้ส่งรายชื่อผู้ที่ได้รับการเลือกตั้งในลำดับที่ 1 และ 2 ให้กรรมการสรรหาฯ จากนั้นส่งชื่อให้กรรมการบริหารพรรคเป็นผู้เลือก
แต่หากไม่เลือกผู้ได้คะแนนลำดับแรก กรรมการบริหารพรรคต้องชี้แจงถึงเหตุผล หรือหากกรรมการบริหารพรรคตัดสินใจไม่เลือกทั้งสองคนที่เสนอมา ก็ต้องประชุมร่วมกับกรรมการสรรหาฯ หากมีมติเสนอใคร ก็ให้เสนอชื่อผู้นั้นเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง แต่หากไม่เห็นด้วยก็ให้กลับไปดำเนินการคัดเลือกใหม่ตั้งแต่ต้น จากสาขาหรือตัวแทนพรรคประจำจังหวัด
ชัดเจนว่าเป็นวิธีการให้ได้มาซึ่ง ส.ส.ที่เป็นตัวแทนจากประชาชนในพื้นที่อย่างแท้จริง
เป้าหมายเพื่อให้ผู้แทนราษฎรได้เข้าไปสะท้อนปัญหา แก้ไขความเดือดร้อนให้ชาวบ้านในเขตเลือกตั้งของตัวเอง ไม่ใช่พรรคจะส่ง “หมาหลง” มาลงสมัครยังไงก็ได้
ได้รับเลือกตั้งแล้วหายหัว เจอกันอีกทีเลือกตั้งใหม่
เหนืออื่นใด โดยระบบนี้คือการสกัด “นายทุน” ครอบงำพรรค
ไม่ให้พรรคการเมืองตกอยู่ในสภาพบริษัทจำกัด ที่ ส.ส.กลายเป็นแค่พนักงาน ลูกจ้าง ต้องทำตามใบสั่งเจ้าของพรรค ใช้เป็นเครื่องมือยึดสภา
ออกกฎหมายเอื้อผลประโยชน์ตัวเองและพวกพ้อง
จนเป็นที่มาของ “เผด็จการรัฐสภา” ต้นตอวิกฤติความขัดแย้งทางการเมืองที่ลากยาวมานับสิบปี
นี่คือเจตนาแท้จริงของระบบไพรมารีโหวต และถือเป็นแนวทางการปฏิรูปการเมืองที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างเห็นได้ชัดในบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ 2560
แต่ถึงตรงนี้ กำลังจะย้อนกลับไปใช้วิธีการเลือกตั้งแบบเก่า
หนีไม่พ้นวังวนน้ำเน่าแบบเดิมๆ
ที่ตลกก็คืออารมณ์ของนักการเมืองที่พากันเรียกร้องให้ใช้ ม.44 งดใช้กติกาไพรมารีโหวต
สวนทางจากที่เคยต่อต้านมาตรา 44 โจมตี พล.อ.ประยุทธ์ใช้อำนาจพิเศษพร่ำเพรื่อ แต่พอถึงเวลาได้ประโยชน์ก็ยุให้ใช้อำนาจพิเศษหักบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
สะท้อน “สันดาน” นักการเมืองที่ไม่ได้มีหลักการอะไร
ทุกลมหายใจ ห่วงแต่สถานการณ์ตัวเองจะได้เปรียบเสียเปรียบในสนามเลือกตั้ง แต่ไม่เคยพูดถึงประเทศไทยจะได้เปรียบหรือเสียเปรียบอย่างไร
ไม่เคยตอบโจทย์จะแก้วิกฤติขัดแย้งอย่างไร
เลือกตั้งไปแล้วนักการเมืองจะแบ่งข้าง แยกสีเสื้อปลุกม็อบกลับมาตีกันหรือไม่
ถึงจุดก็เผยธาตุแท้เดิมๆ มุ่งเอาแต่ผลประโยชน์ตัวเองเป็นที่ตั้ง
โดยพฤติการณ์สะท้อนคำตอบชัดๆว่า นักการเมืองยังไม่ปฏิรูปแต่อย่างใด
หากเป็นเช่นนี้แล้วต้องเสียเงิน 5-6 พันล้าน
เลือกตั้งไปจะมีประโยชน์อะไร.
“ทีมการเมือง”

ไม่มีความคิดเห็น: