PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2561

สมคบคิดเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง เกมเสี่ยงคสช.ฝืนความรู้สึกประชาชน

18พ.ย.2561/ไทยโพสต์

ในขณะที่พรรคการเมืองต่างๆ เตรียมความพร้อมสู่สนามเลือกตั้ง หลังจากที่รัฐบาล-คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ประกาศโรดแมปเลือกตั้งชัดเจนว่าจะจัดการเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562

      พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เดินสายไปปฏิบัติหน้าที่ในต่างประเทศ ก็ให้คำมั่นสัญญาเป็นมั่นเหมาะกับผู้นำประเทศทั่วโลกว่ารัฐบาลยึดโรดแมปเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 เช่นเดิม

      แต่เมื่อวันศุกร์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคสช. ที่ 16/2561 เรื่อง การดำเนินการตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง (เพิ่มเติม) ลงนามโดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. มีสาระสำคัญที่เกี่ยวข้องการที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ยังไม่ประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งระบุว่า เพื่อให้การแบ่งเขตเป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่ขัดต่อกฎหมาย จึงสมควรผ่อนผัน และขยายเวลาให้ กกต.ดำเนินการต่อไป

      อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 265 ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 44 จึงมีคำสั่ง ในกรณีที่ กกต. คสช. หรือรัฐบาล ได้รับข้อร้องเรียนเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ กกต.มีหน้าที่และอำนาจตรวจสอบหรือเปลี่ยนแปลงการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตสำหรับการเลือกตั้งแบบแบ่งเขต หรือเลือกตั้งตามหมวด 3 การจัดการเลือกตั้งแห่ง พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. และข้อ 7 ของคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ให้ได้ข้อยุติ หากเป็นกรณีเร่งด่วนจำเป็นที่ไม่อาจดำเนินการตามกฎหมายระเบียบประกาศหรือมีมติใดๆ ของ กกต.ที่ออกไว้ให้ก็สามารถดำเนินการต่อไปได้โดยชอบด้วยกฎหมายให้เป็นไปตามมติของ กกต. ทั้งนี้ให้จัดทำและประกาศเขตเลือกตั้งให้แล้วเสร็จก่อนวันที่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.มีผลใช้บังคับ

      ส่วนการพิจารณาหรือดำเนินการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ถือเป็นการปฏิบัติที่ชอบด้วยกฎหมายและรัฐธรรมนูญและเป็นที่สุดเพื่อให้การดำเนินการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยเป็นธรรมแก่พรรคการเมือง และอำนวยความสะดวกแก่ประชาชนตามเจตนารมณ์ของกฎหมาย ให้พรรคการเมืองสามารถสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้งตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 13/2561 ได้จนถึงวันสมัครรับเลือกตั้ง 

      คำสั่ง คสช.ดังกล่าวเท่ากับเป็นการประกาศตัดหน้า กกต.ที่เตรียมประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไว้แล้ว โดย พ.ต.อ.จรุงวิทย์ ภุมมา เลขาธิการ กกต. เปิดเผยว่า เดิมในวันที่ 16 พ.ย. สำนักงานอยู่ระหว่างนำส่งประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา แต่เมื่อคำสั่งหัวหน้า คสช.ดังกล่าวออกมา จึงได้มีการระงับการนำส่งประกาศดังกล่าวไว้ และทางสำนักงานก็จะนำร่างประกาศประกาศแบ่งเขตเดิม พร้อมคำสั่งหัวหน้า คสช.เสนอให้ที่ประชุม กกต.พิจารณาในวันจันทร์นี้ (19 พ.ย.) รวมทั้งอาจจะต้องมีการแก้ไขระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตเลือกตั้ง ในเรื่องของเงื่อนเวลาให้สอดคล้องกับคำสั่งหัวหน้า คสช.

      ขณะเดียวกัน ได้มีหนังสือแจ้งไปยังผู้อำนวยการการเลือกตั้งประจำจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้เลื่อนการเปิดรับสมัครผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำเขต และ กกต.ประจำเขต ที่เดิมจะเปิดรับสมัครในวันที่ 19-23 พ.ย. ออกไปก่อน

      ก่อนหน้านั้น นายอิทธิพร บุญประคอง ประธาน กกต.ก็ให้สัมภาษณ์ว่า "ขณะนี้ กกต.มีมติเลือกแล้วว่าจะใช้เขตเลือกตั้งในรูปแบบใด โดยตรวจสอบอย่างรอบคอบในทุกจังหวัดว่าทำได้จริงเป็นการเลือกรูปแบบที่ดีที่สุดตามที่ กกต.จังหวัดเสนอมา แต่ก่อนที่จะส่งไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา กกต.ยังต้องตรวจสอบให้มั่นใจว่ารูปแบบที่เลือกตรงกับรูปแบบที่จะจัดพิมพ์ไม่คลาดเคลื่อน เนื่องจากเขตเลือกตั้งลดลงจาก 375 เหลือ 350 เขต ไม่เท่าเดิมและไม่เหมือนเดิม ยืนยันไม่มีการพิจารณาเขตเลือกตั้งในรายจังหวัดใหม่"

      มีรายงานจาก กกต.เปิดเผยด้วยว่า หลังวันที่ 6 พ.ย. ซึ่งเป็นการประชุม กกต.นัดสุดท้าย และได้มีการพิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตของแต่ละจังหวัดเสร็จสิ้นทั้งหมดแล้ว กกต.ทั้ง 5 คนได้มีการลงนามในมติดังกล่าวและเตรียมให้ประธาน กกต.ลงนามในประกาศแบ่งเขตเพื่อนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว แต่ปรากฏว่าในวันที่ 8 พ.ย. ประธาน กกต.ได้มีการเชิญประชุมนัดพิเศษ เนื่องจากเห็นว่ามีการร้องเรียนการแบ่งเขตเลือกตั้งในบางจังหวัด จึงอยากให้มีการพิจารณาทบทวนอีกครั้ง แต่ปรากฏว่ามี กกต. 2 เสียงเห็นว่าไม่สามารถดำเนินการได้ เพราะ กกต.ได้มีมติและลงนามไปแล้ว ถ้าจะทบทวนก็ต้องใช้มติ กกต. 5 เสียง

      รวมทั้งระยะเวลาที่พิจารณาก็มีระเบียบ กกต.ว่าด้วยการแบ่งเขตกำหนดไว้ในแต่ละขั้นตอน ซึ่งขณะนั้นถือครบตามกรอบเวลาแล้ว หากมาแก้ไข กกต.อาจจะทำผิดกฎหมาย และสุ่มเสี่ยงว่าจะถูกฟ้องปฎิบัติหน้าที่โดยมิชอบตามมาตรา 157 ได้ ที่ประชุม กกต.จึงไม่ได้มีการพิจารณา แต่ก็มีกระแสจากภายนอกว่ามีใบสั่งมายัง กกต.ที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการแบ่งเขตที่มีมติไปแล้ว 

      จะเห็นได้ว่า กกต.ได้พิจารณาคัดเลือกรูปแบบการแบ่งเขตเสร็จสิ้นหมดแล้ว โดย กกต.ทั้ง 5 คนก็ได้ลงนามในมติดังกล่าวแล้ว และสามารถดำเนินการทันเดดไลน์ของระเบียบ กกต.ซึ่งคาดการณ์ว่าจะประกาศได้ในวันที่ 9 พ.ย. แต่จู่ๆ กลับมีเหตุการณ์พลิกผัน ทั้งประธาน กกต.และ คสช.อ้างเหตุมีการร้องเรียนมาล้มมติ กกต.ดังกล่าว

      เป็นที่น่าสังเกตว่า พฤติการณ์ของประธาน กกต-คสช. สอดรับกระแสข่าวที่ว่ามีการสมคบคิดที่จะเลื่อนโรดแมปเลือกตั้งออกไปอีก

       โดย นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช.ระบุว่า "ตอนนี้เหมือนการสลับหน้าเล่น เนื่องจาก คสช.และรัฐบาล กกต.จึงจะมีหน้าที่เลื่อนการเลือกตั้งครั้งนี้ออกไปโดยรัฐบาลจะทำทีขึงขังว่าต้องมีเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.2562 จนเมื่อไม่สามารถเลือกตั้งได้ก็จะบอกว่า กกต.ไม่พร้อม" 

      แต่เมื่อผู้สื่อข่าวถาม พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯ และ รมว.กลาโหม ถึงกรณีที่มีคนกังวลว่า คสช.จะตุกติกเลื่อนโรดแมปเลือกตั้ง ก็ย้อนกลับ "พูดอย่างนั้นได้อย่างไร จะตุกติกได้อย่างไร คสช.วางโรดแมปมานานแล้ว พูดแบบนี้มาชกกันดีกว่า" 

      เป็นการประจานความไร้วุฒิภาวะทางอารมณ์ของผู้นำ คสช.อย่างน่ารังเกียจยิ่ง ทั้งที่คำถามดังกล่าวก็มาจากพฤติการณ์ของ คสช.ที่ส่อไม่มีความจริงใจและไร้ความน่าเชื่อถือมาโดยตลอด

      ขณะที่กลุ่มพรรคการเมืองนำโดย นายสาธุ อนุโมทามิ หัวหน้าพรรคพลังไทยดี ได้เตรียมยื่นหนังสือถึง กกต. ขอเลื่อนวันเลือกตั้งออกไปเป็นวันที่ 5 พ.ค.2562 โดยอ้างว่า การเลือกตั้งในวันที่ 24 ก.พ.62 ทำให้พรรคที่ได้รับการจัดตั้งใหม่จะมีเวลาในการหาสมาชิกน้อย ซึ่งอาจไม่ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด โดยมีพรรคการเมืองเห็นด้วยกับข้อเสนอนี้แล้วประมาณ 10 พรรค จะนัดแถลงข่าววันที่ 22 พ.ย.นี้

      วันถัดมา นายราเชน ตระกูลเวียง หัวหน้าพรรคทางเลือกใหม่ พร้อมสมาชิกเข้ายื่นหนังสือต่อ กกต.ขอให้พิจารณาเลื่อนวันเลือกตั้ง โดยเรียกร้องให้ คสช.ปลดล็อกพรรคการเมืองทันทีหากจะเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 เพื่อให้ทุกพรรคมีระยะเวลาที่เหมาะสมและเท่าเทียมกัน แต่ถ้ายังไม่ปลดล็อกก็ขอให้เลื่อนเลือกตั้งออกไปอีกประมาณ 30 วันจากกำหนดเดิม คือไปเลือกตั้งช่วงปลาย มี.ค.หรือต้น เม.ย.62

      สำหรับ นายราเชน เป็นอดีตประธาน กปปส. จ.นนทบุรี มีความแน่บแน่นกับบิ๊ก คสช. และประกาศชัดเจนว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ อีกสมัย 

      ทางด้านพรรคการเมืองใหญ่ 2 พรรคอย่าง เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ คัดค้านคำสั่งหัวหน้า คสช.อย่างรุนแรง เชื่อว่าเป็นแผนการเลื่อนเลือกตั้ง โดย นายชูศักดิ์ ศิรินิล ประธานคณะทำงานฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย ตั้งข้อสังเกตว่า 1.ออกคำสั่งให้ตนเองและรัฐบาลมีหน้าที่รับข้อร้องเรียนเรื่องการแบ่งเขตทั้งที่ไม่ใช่หน้าที่ของตน เพื่อเอื้อประโยชน์ให้พรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่งเกี่ยวกับการแบ่งเขตเลือกตั้งหรือไม่ 2.การให้ คสช.และรัฐบาลเข้าไปเกี่ยวข้องกับกระบวนการจัดการเลือกตั้งจะทำให้กระบวนการจัดการเลือกตั้งไม่เป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ทำให้เข้าใจได้ว่าเป็นการก้าวก่ายแทรกแซงเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือผู้อื่นในการเลือกตั้ง

      3.การแบ่งเขตเลือกตั้งที่ล่าช้ามีผลโดยตรงต่อการแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดของพรรคการเมืองที่จะส่งผู้สมัคร ก็ไม่อาจแต่งตั้งตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัดได้ เพื่อต้องการให้มีเหตุผลเพื่อเลื่อนการเลือกตั้งออกไปจากวันที่ 24 ก.พ.2562 ใช่หรือไม่ และ 4.เหตุผลที่อ้างว่าเพื่อให้การจัดการเลือกตั้งเป็นไปด้วยความเรียบร้อยอันเป็นประโยชน์ในการปฏิรูปการเมืองก็ไม่สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 265 ประกอบมาตรา 44 แต่อย่างใด แต่กลับเป็นสิ่งตรงกันข้าม ยิ่งจะทำให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยเสียมากกว่า

      ขณะที่ นายภูมิธรรม เวชยชัย เลขาธิการพรรคเพื่อไทย ระบุว่า วันนี้ กกต.กลับทำตัวเป็นเหมือนกับไม้หลักปักขี้เลน การจัดการเลือกตั้งที่ไม่เป็นธรรมย่อมทำลายความเชื่อมั่นของประชาชนต่อรัฐบาล ทำลายความเชื่อมั่นของประเทศต่อนานาชาติ ต่อนักลงทุน ประวัติศาสตร์ที่ผ่านมาทำให้เรียนรู้เสมอมาว่าผู้นำที่ลุแก่อำนาจมากๆ โดยไม่คำนึงถึงประชาชนนั้นจะมีจุดจบที่ไม่สวย รัฐบาลและ คสช อย่าได้กลัวพรรคการเมือง แต่ควรกลัวที่จะทำให้ประชาชนไม่สบายใจ ฝืนความรู้สึกของประชาชน เพราะเมื่อถึงวันที่ประชาชนมีสิทธิ์ตัดสินใจในวันเลือกตั้ง ผลที่ออกมาจะน่ากลัวกว่ามาก เพราะการฝืนความรู้สึกของประชาชนเป็นสิ่งที่อันตราย และผลที่ตอบสนองจากการถูกกดดันนั้นจะรุนแรง ซึ่งผมไม่อยากเห็นสิ่งนั้นเกิดขึ้น

      นายบุญยอด สุขถิ่นไทย อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคประชาธิปัตย์ ตั้งข้อสังเกตเช่นกันว่า อาจส่งสัญญาณจากผู้มีอำนาจที่จะแทรกแซงให้มีการเปลี่ยนแปลงการแบ่งเขตเลือกตั้งที่ กกต.ทำไปแล้วแต่ไม่สำเร็จ และยังเปิดช่องให้มีการร้องเรียนผ่าน คสช.และรัฐบาล ซึ่งจะนำไปสู่เงื่อนไขให้ กกต.เปลี่ยนแปลงเขตเลือกตั้งใหม่ จะเป็นความเสียหายร้ายแรงต่อกระบวนการเลือกตั้ง จะทำให้ผลการเลือกตั้งไม่ได้รับความเชื่อถือ อันจะนำไปสู่การไม่ยอมรับการเลือกตั้งในอนาคตได้ การยื้อเวลาการแบ่งเขตเลือกตั้งให้ล่าช้าออกไปยังกระทบกับการเตรียมความพร้อมของพรรคการเมือง จึงถูกมองได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งที่จะทำให้เกิดการเลื่อนการเลือกตั้งหรือไม่

      สำหรับกรณีพรรคการเมืองเกิดใหม่รวมตัวกันยื่นขอให้เลื่อนการเลือกตั้งนั้น นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ก็มีความเห็นสอดคล้องกับ คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานยุทธศาสตร์การเลือกตั้งพรรคเพื่อไทย ว่า หากมีการเลื่อนเลือกตั้งเกิดขึ้นจริง กกต.และ คสช.ต้องเป็นผู้รับผิดชอบ เพราะจะส่งผลลบกับส่วนรวมมากกว่า ทั้งภาพลักษณ์และระบบเศรษฐกิจ

      โรดแมปการเลือกตั้งวันที่ 24 ก.พ.62 กลายเป็นสัญญาประชาคมไปแล้ว หากจะเลื่อนให้อยู่ในกรอบ 150 วัน ใช้แจกแจงเหตุผลและความจำเป็นอย่างตรงไปตรงมาได้ แต่การที่หัวหน้า คสช. ใช้ ม.44 ล้มประกาศแบ่งเขตเลือกตั้งของ กกต.เช่นนี้ไม่มีความชอบธรรม และยิ่งจะทำลายความน่าเชื่อถือของรัฐบาล คสช.ลงไปเรื่อยๆ เป็นเกมเสี่ยงอีกครั้งของ คสช.ที่น่าจับตาว่าหากมีเหตุพลิกผันในวันข้างหน้าจะรับมือกับสถานการณ์ได้เหมือนเดิมหรือไม่?.

ไม่มีความคิดเห็น: