PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ. 2556

มหาวิปโยคครั้งที่ 2

โดย วสิษฐ เดชกุญชร

สถานการณ์บ้านเมืองในขณะนี้ใกล้จะถึงจุดที่วิกฤตที่สุด

ผู้จุดชนวนแห่งวิกฤตคือพรรคเพื่อไทย โดยนายวรชัย เหมะ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร จังหวัดสมุทรปราการ และคณะ ซึ่งกำลังจะเสนอร่างพระราชบัญญัตินิรโทษกรรมต่อสภาผู้แทน ราษฎร ที่จะเปิดประชุมในวันพุธที่ 7 สิงหาคมนี้ โดยจะให้เลื่อนขึ้นมาพิจารณาเป็นอันดับแรก ก่อนร่างกฎหมายอื่น ๆ

ร่างกฎหมายนิรโทษกรรมนี้ นายวรชัยอ้างว่าหากออกมาเป็นกฎหมาย จะทำให้ผู้ต้องหา และจำเลยในคดีสำคัญหลายคนและหลายคดีพ้นโทษเป็นอิสระทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นสมาชิก นปช. หรือพันธมิตร แต่ได้รับการวิพากษ์วิจารณ์จากหลายกลุ่ม โดยเฉพาะจากพรรคประชาธิปัตย์ ว่าจะทำให้ผู้ต้องหา และจำเลยในคดีสำคัญหลายคนและหลายคดีพ้นผิด

กลุ่มที่มิใช่นักการเมืองที่ไม่เห็นด้วยกับร่างกฎหมายฉบับที่กล่าว และได้นัดหมายจะชุมนุม แสดงความเห็นคัดค้านที่สวนลุมพินีในวันอาทิตย์ที่ 4 สิงหาคมนี้ ได้แก่กลุ่มกองทัพประชาชนโค่น ระบอบทักษิณ และ “คณะ เสนาธิการร่วม” ซึ่งประกอบด้วยนายทหารชั้นผู้ใหญ่นอกราชการ หลายคน กลุ่มสันนิบาตประชาชนเพื่อประชาธิปไตยแห่งประเทศไทย (สปท.) กลุ่มหน้ากากขาว เป็นต้น กลุ่ม สปท.นั้นจะส่ง “กองกำลังอาสาพิทักษ์ประชาชน” เข้าให้ความปลอดภัยแก่ผู้ที่จะไป ชุมนุมด้วย กลุ่มเหล่านี้มีวัตถุประสงค์เบื้องต้นที่กว้างกว่า คือไม่ยอมรับระบอบทักษิณ และต้องการ ให้รัฐบาลลาออก แต่ได้รวมเอาการคัดค้านกฎหมายนิรโทษกรรมเข้าไว้ด้วย

ผู้นำพรรคประชาธิปัตย์ประกาศว่า หากสภาดึงดัน พิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมไป จนถึงวาระที่ 3 และลงมติรับร่างนั้น พรรคประชาธิปัตย์ก็จะออกไปร่วมแสดงการคัดค้านกับกลุ่มอื่น ๆ นอกสภา

ปฏิกิริยาของบุคคลในคณะรัฐบาลในชั้นแรกเป็นไปในเชิงดูหมิ่น เช่นบอกว่าจำนวนผู้ที่จะ ชุมนุมประท้วงคงมีไม่กี่พันคน แต่แล้วรัฐบาลก็ประกาศใช้พระราชบัญญัติรักษาความมั่นคงภายใน ราชอาณาจักร พ.ศ.2551 ให้มีผลบังคับในเขตพระนคร ป้อมปราบศัตรูพ่าย และดุสิต ตั้งแต่วันที่ 1 ถึงวันที่ 10 สิงหาคม ห้ามใช้ถนนหลายสายที่ผ่านหรือไปสู่รัฐสภา และเรียกระดมกำลังตำรวจทั้งใน กรุงเทพ ฯ และต่างจังหวัด ทางด้านกระทรวงมหาดไทยได้เรียกสมาชิกกองอาสารักษาดินแดน (อส.) 350 คนไปรักษาความสงบเรียบร้อยในกระทรวงด้วย

ในขณะเดียวกัน เมื่อวันเสาร์ที่ 3 สิงหาคม ก็มีการประชุมแกนนำ นปช.จำนวนประมาณ 3 พันคนที่วิทยาลัยเทคนิคดอนเมือง เพื่อแสดงจุดยืนและกำหนดแนวทางการดำเนินงานของ นปช. ที่ ประชุมประณามฝ่ายที่ต่อต้านการเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมว่าขาดความชอบธรรม แสดงการไม่ ยอมรับกระบวนการทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตย ไม่ยอมรับการแข่งขันอย่างเป็นธรรม และ ใช้วิธีการอื่นเพื่อล้มล้างกระบวนการในระบอบประชาธิปไตย เพื่อให้กลุ่มตนเองขึ้นสู่อำนาจทางการ เมืองการปกครอง

แถลงการณ์ของ นปช.อ้างว่าสถานการณ์ปัจจุบันอาจสุ่มเสี่ยง ทำให้เกิดรัฐประหารโดยกอง ทัพ จึงจะเตรียมพร้อมในที่ตั้งทั่วประเทศ และให้รอฟังการส่งสัญญาณจาก นปช.ส่วนกลาง

เพราะฉะนั้น ช่วงเวลาตั้งแต่วันพุธที่ 7 สิงหาคมนี้เป็นต้นไป จึงเป็นช่วงที่สถานการณ์จะ วิกฤตยิ่งขึ้น เป็นที่คาดหมายว่าจำนวนคนที่จะไปร่วมชุมนุมแสดงการคัดค้านกับกองทัพประชาชนจะ มากขึ้นเรื่อย ๆ และนอกจากกลุ่มต่าง ๆ ที่กล่าวแล้ว สมาชิกกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชา ธิปไตยก็คงจะไปร่วมด้วย แม้ว่าแกนนำ อาทิ พล.ต.จำลอง ศรีเมืองจะอยู่ในระหว่างประกันตัว และ ถูกศาลห้ามมิให้เคลื่อนไหวปลุกระดมก็ตาม 

ที่น่าเป็นห่วงก็คือ หากผู้ชุมนุมเคลื่อนขบวนจากสวนลุมพินีไปที่ใดก็ตาม แล้วถูกเจ้าหน้าที่ ห้ามและสะกัดกั้น ทั้งสองฝ่ายก็อาจจะปะทะกัน เจ้าหน้าที่อาจใช้เครื่องมือปราบจลาจล เช่น แก๊ส น้ำตา และอาจจะหนักถึงกับยิงด้วยกระสุนหัวยาง ถ้าหากเป็นเช่นนั้น เหตุก็อาจจะลุกลามออกไป เป็นการจลาจล

ที่เคยปรากฏมาแล้ว อย่างในกรณีวันมหาวิปโยคเมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2516 และวันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งมีการปะทะกันระหว่างประชาชนและเจ้าหน้าที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บ เป็นจำนวนมาก

เมื่อวันที่ 2 สิงหาคม น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีได้แถลงการณ์เสนอทางออก โดยจะเปิดเวทีระดมความคิดเห็น เชิญตัวแทนจากฝ่ายรัฐบาล นปช. พันธมิตรประชาชนเพื่อ ประชาธิปไตย สมาชิกวุฒิสภา องค์กรอิสระเอกชน และนักวิชาการ ไปร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น และ “ออกแบบประชาธิปไตย” ของประเทศไทย เพื่อนำไปสู่การปฏิรูปการเมือง และความเปลี่ยน แปลงที่ออกจากวงจรแห่งความขัดแย้ง

แถลงการณ์ของนายกรัฐมนตรีดูเหมือนจะสะท้อนความปรารถนาดี แต่โดยเนื้อหาเป็นการ เริ่มต้นสิ่งที่ควรจะทำมานานแล้ว และยังจะต้องใช้เวลา ในขณะเดียวกันนายกรัฐมนตรีก็ไม่ได้พูดว่า จะระงับการพิจารณาร่างกฎหมายนิรโทษกรรมหรือไม่ หรือว่าจะปล่อยให้ดำเนินต่อไป

หากไม่มีคำตอบเกี่ยวกับกฎหมายนิรโทษกรรม ฝ่ายที่คัดค้านก็คงจะไม่รับข้อเสนอของ นายกรัฐมนตรี และการคัดค้านก็คงจะดำเนินต่อไปอย่างยืดเยื้อ โอกาสที่จะเกิดการปะทะกัน ระหว่างประชาชนกับเจ้าหน้าที่ก็ยังจะมีอยู่ และไม่มีใครทำนายได้ว่า จะรุนแรงจนปะทุขึ้นกลายเป็น การจลาจลนองเลือดครั้งใหม่อีกครั้งหนึ่งหรือไม่.

ไม่มีความคิดเห็น: