PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 14 สิงหาคม พ.ศ. 2556

"ดร.ชัยวัฒน์" วิจัยพิมพ์เขียวปฏิรูป แค่ "ทักษิณ" คุย "พล.อ.เปรม" ก็ไม่จบ

: 11 ส.ค. 2556 เวลา 16:00:01 น.
ประชาชาติธุรกิจออนไลน์


ดร.ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ เป็นนักวิชาการด้านสันติวิธี เป็นหนึ่งในหลายคนที่ "สภาปฏิรูปการเมือง" ของ "ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร" นายกรัฐมนตรี ส่งเทียบเชิญเพื่อให้เข้าร่วมองคาพยพ แต่สุดท้ายเขาปฏิเสธคำเชิญนั้น โดยบอกว่า เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัว

แต่ก่อนหน้านั้น เขาและลูกทีมหมกมุ่นอยู่กับงานวิจัยปัญหาความขัดแย้งทางสังคม-การเมือง เรื่อง "พื้นที่สันติวิธี/หนทางสังคมไทย"

"ดร.ชัยวัฒน์" จึงสังเคราะห์ความคิดที่ตกผลึกจากงานวิจัยผ่านหน้ากระดาษ "ประชาชาติธุรกิจ" แม้เขาไม่เข้าร่วมวงสภาปฏิรูปการเมือง แต่เขาได้วางวิธีพูดคุยแบบสันติวิธีอย่างน่าสนใจ

- สภาปฏิรูปการเมืองช่วยให้เกิดความปรองดองได้ไหม

ไม่ทราบว่านายกฯอยากเห็นอนาคตของสภาปฏิรูปการเมืองเป็นอะไร เท่าที่ฟังบอกว่าจะให้ใครต่อใครเข้ามา มีอะไรจะได้แลกเปลี่ยนกัน แต่การพยายามให้มีทุกฝ่ายในสังคมที่แยกขั้ว นั่นไม่ใช่เรื่องง่าย แล้วเราเริ่มเห็นว่าคนจำนวนหนึ่งเข้ามา แต่คนอีกจำนวนหนึ่งไม่ยอมเข้ามา เรื่องสำคัญไม่ใช่คนที่มา แต่เป็นคนที่ไม่ยอมมา ว่าจะทำอย่างไรถึงจะมีสะพานสร้างไปสู่คนเหล่านั้น เพราะถ้าไม่มีมุมมองจากคนเหล่านั้น มันก็จะเป็นที่ประชุมของคนที่มีความเห็นคล้ายกัน

- วิธีที่จะนำคนที่ไม่ยอมมา เปลี่ยนใจมาเข้าร่วมสภาปฏิรูปได้ต้องทำอย่างไร

มันเริ่มได้หลายวิธี วิธีหนึ่งคือ ทำอย่างไรถึงมองปัญหาจากมุมของเขา ในการศึกษาวิจัยด้านความขัดแย้งจะอธิบายเสมอว่า สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องทำ คือ มองเรื่อง ๆ เดียวกัน แต่อย่ามองในมุมมองของตัว ต้องมองมุมของอีกฝ่าย เราก็จะเห็นว่าเรื่องนี้ทำไมถึงสำคัญขนาดนี้กับเขา ทำไมเขาถึงรู้สึกว่าจะเป็นจะตาย

- คิดว่านายกฯมองจากมุมมองของฝ่ายตรงข้ามไหม

ถ้าคิดจากมุมของรัฐบาล คิดว่ารัฐบาลคงหาวิธี และวิธีที่รัฐบาลอยากทำ คือ อยากใช้วิธีที่ไม่อยากให้มีฝ่ายใดเสีย บัวไม่ช้ำ น้ำไม่ขุ่น สามารถเชิญฝ่ายต่าง ๆ เข้ามาพูดคุยกันได้ก็เข้ามาก่อน ส่วนจะคุยได้ผลไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง วิธีนี้ก็เป็นวิธีหนึ่งที่เขาคิดออก ไปเชิญคนสำคัญของชาติบ้านเมืองเข้ามา ไม่ว่าคุณบรรหาร (ศิลปอาชา) พล.อ.ชวลิต (ยงใจยุทธ) คุณอุทัย (พิมพ์ใจชน) คนเหล่านั้นเขาเห็นดีเห็นงามด้วยก็มา

- การเชิญบุคคลที่มีชื่อเสียงร่วมเป็นคณะกรรมการ สามารถช่วยทำให้ปรองดองเกิดขึ้นไหม

ท่านเหล่านี้คงมีความเห็นอะไรของท่านอยู่ แต่ช่วยได้จริงไหม...มันตอบยาก คือแน่นอนคนต้องมองว่านี่เป็นวิธีการทางการเมืองของพรรคเพื่อไทยและรัฐบาล แต่เชื่อในที่สุดว่าคุยกันดีกว่าตีกัน แต่มันต้องมีวิธีการคุยเหมือนกัน บางเรื่องสำคัญ ๆ ไม่ใช่เรื่องที่ควรจะพูดในที่สาธารณะ

- ปัญหาความขัดแย้งขณะนี้ ควรคุยในที่ลับหรือที่แจ้งจะเหมาะสมที่สุด

ควรจะใช้ทั้งสองอย่าง แต่ควรดูเป็นเรื่อง ๆ ไป ว่าอะไรควรนั่งคุยกันบนโต๊ะกาแฟตอนเช้าที่ไม่มีนักข่าวอยู่ เหตุผลคือความขัดแย้งบางเรื่องไม่ใช่แค่ประเด็นของเรื่อง สมมติญาติพี่น้องทะเลาะกันเรื่องมรดก บางทีนำเรื่องไปถึงศาล นำเรื่องไปลงหนังสือพิมพ์ พอเป็นอย่างนั้นสิ่งที่เสียหายไปไม่ใช่ใครจะได้ หรือใครจะชนะ แต่คือความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายต่าง ๆ ที่ต้องซ่อม ซึ่งมันไม่ได้ซ่อมในที่สาธารณะ มันอาจจะค่อย ๆ ซ่อมในที่รโหฐาน หลังจากนั้นค่อยมาที่สาธารณะ แล้วจับมือกัน ถ่ายรูปกัน จริง ๆ ในการเจรจาระหว่างประเทศและเจรจาความเมืองมันมีเวทีต้องคุยกันก่อน มีคณะทำงานละเอียดรอบคอบ พอสุดท้ายค่อยบอกว่าเราตกลง เราจะเจรจากันแบบนี้นะ มันแบบนี้ทั้งนั้น

- ถ้าโฟกัสตัวคู่ขัดแย้งอย่างคุณทักษิณ ชินวัตร และ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ที่ปรากฏผ่านคลิปเสียงคล้ายนักการเมือง คิดว่าความขัดแย้งจะจบไหม

เรากำลังอธิบายว่าความขัดแย้งนี้เป็นความขัดแย้งระหว่างชนชั้นนำ เป็นความขัดแย้งของคุณทักษิณกับคุณเปรม แต่ถ้าไม่ใช่ล่ะ คือผมมองว่าความขัดแย้งของบุคคลมันสัมพันธ์อยู่กับความขัดแย้งแบบอื่น ๆ ซึ่งฝังอยู่ในโครงสร้าง การดีกันในระดับบุคคลช่วยไหม...ช่วย แต่ทำให้ความขัดแย้งในโครงสร้างหายไปไหม...ไม่

- 6-7 ปีที่ผ่านมา ความขัดแย้งไม่ใช่เฉพาะกลุ่ม แต่เป็นความขัดแย้งลึกถึงโครงสร้าง

จึงไม่เห็นด้วยว่าทั้งหมดเป็นปัญหาของคุณทักษิณ หรือของคุณอภิสิทธิ์ ผมเห็นว่าคุณทักษิณหรือคุณอภิสิทธิ์อยู่ในบริบททางสังคมการเมือง และบริบททางสังคมการเมืองมีพลังสังคมการเมืองหลายอย่าง เช่น พลังเศรษฐกิจ พลังวัฒนธรรม ซึ่งเวลานี้สังคมกำลังเปลี่ยน และคนแต่ละคนอาจเป็นตัวแทนของพลัง 2 อย่างซึ่งต่างกัน พวกนั้นจำเป็นต้องหาวิธีอยู่กับมันให้ได้ ว่าเรากำลังอยู่ในสังคมที่เปลี่ยนแปลง

- ความขัดแย้งที่ดำรงอยู่ในปัจจุบันมีอะไรบ้าง

โจทย์ของนักวิจัยสันติภาพที่น่าสนใจ คือ อารมณ์ในสังคมไทย ซึ่งน่าสนใจ 2 อัน คือ อารมณ์ขัน กับความเกลียดชัง ซึ่งอารมณ์ขันเป็นพลังทางการเมืองได้จากกลุ่มบางกลุ่มที่ใช้อารมณ์ขันเป็นเครื่องมือ มีการใช้ในต่างประเทศ เช่น เซอร์เบีย ที่ต่อสู้กับเผด็จการสันติวิธีผ่านอารมณ์ขัน ส่วนด้านที่เป็นปัญหาคือความเกลียดชังที่เป็นปัญหาใหญ่ อาจนำไปสู่ความรุนแรงได้ง่ายที่สุด

- หลังจากวิจัยความขัดแย้งในปัจจุบัน อะไรที่เป็นอุปสรรคขัดขวางความปรองดองมากที่สุด

การปรองดองที่เป็นภาพใหญ่มันยาก โดยเฉพาะการปรองดองที่เกิดหลังจากความรุนแรงไปแล้วมันเลยยิ่งยาก สังคมไทยตั้งแต่ปี 2549 ถึงปัจจุบัน มันเกิดเหตุสำคัญ 2 อย่าง คือ การยึดอำนาจ 19 กันยา มันทำให้สังคมฉีกออกจากกัน ผลของมันทำให้ความมั่นใจในสังคมการเมืองไทยมันแยกออกเป็น 2 ส่วน ส่วนแรกยังเชื่อมั่นในระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นเรื่องสำคัญ อีกฝ่ายหนึ่งไม่...การยอมรับการรัฐประหารคือการสูญเสียศรัทธาที่มีต่อระบอบประชาธิปไตยที่มีการเลือกตั้งเป็นฐาน แต่นั่นยังพอพูดกันได้อยู่บ้างในบางเรื่อง

แต่พอถึงการชุมนุมปี 2553 เกิดความรุนแรงบนท้องถนน ต่อสู้กัน นำไปสู่การเผาพื้นที่บางพื้นที่ มีผู้เสียชีวิต 90 คน บาดเจ็บ 1,700 คน พอทำอย่างนี้จึงทำให้ความปรองดองมันยาก รอยแผลแบบนี้มันจัดการลำบาก รอยแผลแบบนี้มันมีผู้เสียหายที่จะอยากเห็นความจริง อยากได้ความยุติธรรม แต่ทั้งความจริงและความยุติธรรมซึ่งเป็นเงื่อนไขของการปรองดองมันมีต้นทุนต่อการปรองดองสูง คือโจทย์อันหนึ่งที่เรากำลังเจออยู่ในสังคมไทย

- จะแก้โจทย์ที่ยากได้อย่างไร

คงต้องไปดูตัวอย่างจากที่ต่าง ๆ บางเรื่องเชื่อว่าความจริงรักษาได้ทุกอย่าง บางทีเขาก็คิดว่าการลืมสำคัญ แม้กระทั่งตัวอย่างของประเทศแอฟริกาใต้ที่มักเอ่ยถึงเสมอ คือ คณะกรรมการสัจจะและการปรองดอง คนที่เป็นคนทำเรื่องนี้มี 2-3 คน คือ เนลสัน เมนเดลล่า, เดสมอนด์ ตูตู, เอฟ ดับบลิว เดอ เคลิร์ก ซึ่งเมลเดลล่าบอกว่า ความรุนแรงที่เกิดขึ้นก่อนหน้านี้บางเรื่องมันต้องลืมบ้าง ผมตอบไม่ได้ว่าต้องทำอะไร แต่บอกเพียงว่ามีเงื่อนไขพวกนี้อยู่ เวลาเราคิดเรื่องปรองดองมันไม่ได้ไป Track เดียว

- แต่เมื่อศาลอาญาชี้ว่าคดี 6 ศพวัดปทุมวนาราม เป็นการถูกยิงจากเจ้าหน้าที่ ฝ่ายคนเสื้อแดงและพรรคเพื่อไทยเรียกร้องความรับผิดชอบจากรัฐบาลอภิสิทธิ์ แต่อีกฝ่ายก็บอกว่าเรื่องทั้งหมดมีคุณทักษิณและคนเสื้อแดงเป็นต้นเหตุ อย่างนี้จะหันหน้ามาแล้วลืมกันได้อย่างไร

โจทย์ใหญ่ของสังคมไทยมันเลยกลายเป็นว่าเราจะอยู่กับความจริงที่เกี่ยวข้องกับตัวเราเองอย่างไร แต่ความจริงที่มีอยู่ในสังคมไทยมี 2 ชั้นซ้อนอยู่เสมอ 1.ความจริงของเรื่องที่เราพูดถึง คือ ใครเป็นคนยิงที่วัดปทุมฯ อันนี้เป็นข้อเท็จจริง แต่ 2.สังคมไทยเวลาที่มีความรุนแรงเกิดขึ้น คนผิดชี้ตัวได้ว่าใครคนยิงคนสั่ง แต่สังคมไทยทั้งหมดได้ทำเพียงพอหรือเปล่าที่จะทำไม่ให้ความรุนแรงนั้นเกิดขึ้น ถ้าคำตอบคือ ทุกคนยังไม่ได้ทำอย่างเพียงพอที่จะป้องกันไม่ให้ความรุนแรงเกิดขึ้น เราเองก็คงต้องมีส่วนรับผิดชอบด้วยในความรุนแรงที่เกิดขึ้น ไม่ใช่คนพวกนั้นเท่านั้น

เหมือนกับบอกว่า ในที่สุดมีคนยิง แต่ก่อนคนยิงจะเหนี่ยวไกก็มีผู้บังคับบัญชา ก่อนมีผู้บังคับบัญชาต้องมีการสั่ง ก่อนมีการสั่งต้องมีกระบวนการบางอย่าง ก่อนมีกระบวนการบางอย่างต้องมีการสร้างความเกลียดชัง ถ้าพูดอย่างนี้เราอาจเห็นมากขึ้นไหมว่า ไม่ใช่ฝั่งนู้นที่ผิดคนเดียว เราก็มีส่วนผิดด้วยแม้จะอยู่ไกลก็ตาม

- เราจะจัดสมดุลระหว่างผู้ที่เป็นเหยื่อ กับผู้ที่สั่งการตามกฎหมายอย่างไรให้ไปด้วยกันได้

วิธีคิดของผม ปืนทุกกระบอกเวลามันยิงมีเหยื่อ 2 ด้าน ด้านหนึ่งอยู่ที่ด้ามปืน อีกด้านหนึ่งอยู่ที่ปลายกระบอกปืน คนเรามักจะเห็นเหยื่อที่ปลายกระบอกปืน แต่เรามักไม่เห็นว่าคนที่ยิงเป็นเหยื่อเหมือนกัน ใครก็ตามที่เหนี่ยวไกในปี 2553 คนเหล่านั้นผมคิดว่าเขาก็ถูกหล่อหลอมมาว่า

อีกฝ่ายหนึ่งเป็นผู้ร้าย ทำร้ายบ้านเมือง ในแง่นั้นเขาจึงเป็นเหยื่อ ดังนั้น หนึ่งในที่วิจัยจึงมุ่งไปที่ความเกลียดชังมาจากไหน กลไกอะไรที่ทำ ของพวกนี้ต่างหากที่สังคมไทยต้องเข้าใจ

- ทุกวันนี้วาทกรรมการสร้างความเกลียดชังก็ยังมีจากพรรคการเมือง 2 พรรค แม้ด้านหนึ่งรัฐบาลประกาศปรองดอง แต่ด้านหนึ่งก็ยังสร้างความเกลียดชังตลอดเวลา

คือเขาอาจทำไปโดยยังไม่ได้เห็นชัดเจนว่าความเกลียดชังมีประสิทธิภาพ การผลิตอารมณ์มันจึงส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการเมือง ฉะนั้น คนที่รู้ดีที่สุดในเรื่องนี้คือพวกนักการเมือง เพราะสิ่งที่เขาขับขี่มันไม่ใช่เรื่องเหตุผล เรื่องที่เป็นรูปธรรมเท่านั้น แต่เป็นเรื่องอารมณ์ของผู้คน

- ถ้าเตือนนักการเมืองในฐานะที่เป็นผู้สร้างวาทกรรมการเกลียดชังได้จะบอกว่าอะไร

ก็จะตอบว่าความเกลียดชังมันเป็นยาพิษ เพราะยาพิษนี้ออกฤทธิ์ช้า เวลามันออกฤทธิ์มันรักษาลำบาก เพราะความเกลียดชังบางอย่างพอลงไปลึกแล้วมันก่อรูปเป็นอคติ แล้วเราก็มองโลกเป็นอีกแบบหนึ่ง โลกที่เรามองเห็นมันอันตรายต่ออนาคต มันทำร้ายอดีต และมันแย่งชิงปัจจุบันไปจากเรา

- ความปรองดองจะเกิดขึ้นอีกนานไหม

ตอบไม่ได้ มันยาก (หัวเราะ)
/////////
"ดร. ชัยวัฒน์ เป็นนักวิชาการด้านสันติวิธี เป็นหนึ่งในหลายคนที่ "สภาปฏิรูปการเมือง" ส่งเทียบเชิญเพื่อให้เข้าร่วมการประชุม แต่สุดท้ายเขาปฏิเสธคำเชิญนั้น โดยบอกว่า เพราะเขาไม่ได้เตรียมตัว

ไม่มีความคิดเห็น: