PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 8 ตุลาคม พ.ศ. 2556

กู้2ล้านล้านตัดอำนาจสำนักงบ เลี่ยงตรวจสอบ

โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์

อดีตข้าราชการกระทรวงการคลังผู้รักชาติ!ระบุพ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท ตัดอำนาจสำนักงบ เตือน "ไม่เป็นเงินแผ่นดิน" สตง.สอบไม่ได้

อดีตข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ของกระทรวงการคลัง ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งสำคัญในกรมสรรพสามิตและกรมบัญชีกลาง เขียนบทความเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่งของประเทศ วงเงิน 2 ล้านล้านบาท พ.ศ. .... หรือ "ร่าง พ.ร.บ. กู้เงิน 2 ล้านล้านฯ" ตอนที่ 2 หลังจากเคยสร้างกระแสฮือฮาจากบทความชิ้นแรกมาแล้ว

บทความชิ้นที่ 2 นี้ใช้ชื่อว่า "ถ้าเงินกู้ 2 ล้านล้านบาทไม่เป็นเงินแผ่นดิน" โดยใช้นามปากกาเดิม คือ "ต.ม.ธ.ก. 2905" มีเนื้อหาระบุว่า เชื่อว่าทุกคนอยากให้ประเทศไทยมีรถไฟรางคู่ทั่วประเทศ มีรถไฟความเร็วสูง การคมนาคมสะดวก รวดเร็ว ประหยัด และปลอดภัยด้วยกันทั้งนั้น และก็เชื่อมต่อไปด้วยว่าการที่จะบรรลุความอยากต้องใช้เงินลงทุนมหาศาลและต้องใช้เวลาหลายปี ฉะนั้นปัญหาเรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องความอยาก แต่อยู่ที่วิธีการหาเงินมาใช้จ่าย ถ้าจะใช้จากเงินที่ทำมาหาได้ในปัจจุบันก็เป็นเรื่องเป็นไปไม่ได้ หรือจะค่อยๆ เก็บออมจากรายได้ในปัจจุบันสะสมให้มากพอแล้วจึงดำเนินการ ก็ไม่รู้ว่าอีกกี่ปีกี่ชาติถึงจะบรรลุความอยาก

ด้วยเหตุนี้จึงเป็นเรื่องหนีไม่พ้นต้องใช้วิธีการนำเงินที่จะได้ในอนาคตมาใช้ก่อน ฉะนั้นการใช้วิธีกู้เงินจึงไม่มีปัญหา แต่ปัญหาอยู่ที่เมื่อได้รับเงินกู้มาแล้วจะนำไปใช้จ่ายด้วยวิธีการอย่างไรในทางการคลังมากกว่า

รัฐบาลภายใต้การนำของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 2 ล้านล้านบาท และให้นำเงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามร่างกฎหมายดังกล่าวไปใช้นอกกฎหมายว่าด้วยงบประมาณ ในส่วนการให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินนั้นไม่มีปัญหา เพราะกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม อยู่แล้ว แต่ปัญหาอยู่ที่วิธีการนำเงินที่ได้รับจากการกู้ไปใช้ เพราะบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญมาตรา 169 บัญญัติว่า

"การจ่ายเงินแผ่นดินจะกระทำได้ก็เฉพาะที่ได้อนุญาตไว้ในกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย กฎหมายว่าด้วยวิธีการงบประมาณ กฎหมายเกี่ยวด้วยการโอนงบประมาณ หรือกฎหมายว่าด้วยเงินคงคลัง..."

จึงเกิดปัญหาว่า 1.เงินที่ได้รับจากกฎหมายดังกล่าวเป็น "เงินแผ่นดิน" หรือไม่ และ 2.ถ้าเป็นหรือไม่เป็นแล้วจะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายนอกกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่าย ซึ่งได้แก่กฎหมายงบประมาณรายจ่ายประจำปี กฎหมายงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม และกฎหมายโอนเงินงบประมาณ รวมทั้งมีมติให้จ่ายเงินไปก่อนได้หรือไม่

อดีตข้าราชการระดับสูงกระทรวงการคลัง ระบุในบทความอีกว่า ประเด็นที่ว่าเงินกู้ที่ได้รับมาจากกฎหมายดังกล่าวเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่ ในที่สุดต้องไปยุติที่ศาลรัฐธรรมนูญ โดยหากคำตอบเป็นที่ยุติว่าเป็นเงินแผ่นดิน ก็จะมีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยต่อไปว่า แล้วจะนำเงินนั้นไปใช้จ่ายนอกกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายได้หรือไม่ ซึ่งแม้ส่วนตัวจะตอบให้เป็นข้อยุติไม่ได้เช่นกัน แต่ก็พอจะมองเห็นว่าถ้าเงินที่ได้รับจากการกู้เงินตามกฎหมายดังกล่าว "ไม่เป็นเงินแผ่นดิน" แล้วจะมีผลทางกฎหมายตามมาอย่างไร และถ้าเป็นเงินแผ่นดินหรือไม่เป็นแล้วนำไปใช้นอกเหนือจากกฎหมายว่าด้วยงบประมาณรายจ่ายแล้วจะมีผลทางกฎหมายตามมาอย่างไร

ทั้งนี้ การจัดทำงบประมาณนั้น ต้องให้สอดคล้องกับแผนการทำงานของหน่วยงาน ทั้งด้านนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยจัดลำดับก่อนหลังให้เหมาะสมสอดคล้องกับข้อจำกัดทางทรัพยากรในการทำงานประมาณแต่ละปี

ฉะนั้นในปี พ.ศ. 2502 จึงได้มีการจัดตั้งสำนักงบประมาณขึ้นในสำนักนายกรัฐมนตรีภายใต้การกำกับดูแลของนายกรัฐมนตรี เพื่อรับโอนงานการจัดทำงบประมาณที่เคยเป็นหน่วยงานในกระทรวงการคลังภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังไปอยู่ที่สำนักงบประมาณ แล้วให้สำนักงบประมาณมีภารกิจเกี่ยวกับการเสนอแนะ และให้ความเห็นแก่รัฐบาล ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐในด้านการงบประมาณ การจัดทำงบประมาณที่สนองต่อนโยบายและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ของรัฐบาล และการบริหารจัดการงบประมาณ ทั้งนี้ เพื่อให้บรรลุภารกิจของรัฐเกิดประโยชน์สูงสุดต่อประเทศชาติ ตอบสนองความต้องการของประชาชน รวมทั้งมีความคุ้มค่าสามารถตรวจและเปิดเผยต่อสาธารณะได้

ฉะนั้นการที่คณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันมีนโยบายพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งของประเทศ และเลือกที่จะกู้เงินมาใช้จ่ายนอกงบประมาณ โดยให้ "สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ" ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับการบริหารจัดการเงินกู้ จึงมีผลเท่ากับกฎหมายกู้เงินตัดบทบาทหน้าที่ของ "สำนักงบประมาณ" ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน ซึ่งขณะนี้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ นางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี

นอกจากนั้น เมื่อดูบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญในหมวด 11 ส่วนที่ 1 องค์กรตามรัฐธรรมนูญที่ 4 "คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน" มาตรา 252 วรรคหนึ่ง บัญญัติว่า "การตรวจเงินแผ่นดินให้กระทำได้โดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินที่เป็นอิสระและเป็นกลาง" ฉะนั้นถ้าเงินที่ได้รับจากกฎหมายกู้เงินฉบับดังกล่าว "ไม่เป็นเงินแผ่นดิน" ก็มีผลให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจตรวจสอบตามที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญและกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการตรวจเงินแผ่นดิน

โดยสรุป 1.การไม่นำรายจ่ายในการดำเนินการตามกฎหมายกู้เงิน 2 ล้านล้านระบุไว้ในกฎหมายงบประมาณ และให้ "สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ" ซึ่งเป็นหน่วยงานในสังกัดกระทรวงการคลังมีอำนาจหน้าที่ในการบริหารและจัดการเงินกู้ จึงมีผลเท่ากับกฎหมายเงินกู้ฉบับนี้ได้ตัดบทบาทหน้าที่ของ "สำนักงบประมาณ" ในการจัดทำงบประมาณตลอดทั้งการบริหารและควบคุมตามกฎหมายระเบียบบริหารราชการแผ่นดินโดยตรง

2.ถ้าเงินที่ได้รับจากกฎหมายกู้เงินฉบับดังกล่าวได้ขอยุติว่า "ไม่เป็นเงินแผ่นดิน" ก็จะมีผลทำให้คณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินไม่มีอำนาจเข้าไปตรวจสอบตามรัฐธรรมนูญตามมาตรา 252

ไม่มีความคิดเห็น: