PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

" ทบ.จัด 40 กองร้อยตามคำขอรัฐ ย้ำห้าม ปชช.เจ็บ ซัด “ทนายแม้ว” ไม่"สร้างสรรค์


5 เสือ ทบ.ถกพร้อม มทภ.1 วางมาตรการรับชัตดาวน์ กทม.ใช้ทหาร 40 กองร้อย หนุนตร.ตามคำขอ ศอ.รส.ดูความปลอดภัยที่ราชการไม่พกอาวุธ ครึ่งหนึ่งเป็นชุดปฐมพยาบาล ห้ามปชช.เจ็บ รองโฆษก ทบ.รับ กองทัพฟังทุกคำวิจารณ์ แต่ “อัมสเตอร์ดัม” ไม่สร้างสรรค์ อคติ ไม่วิจารณ์โดยสุจริต มีนัยยะทำลายความเชื่อมั่น เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา ยัน หนุน ปชต.ปฏิบัติหน้าที่ตาม รธน.ย้อนเหตุในอดีตใช้ความรุนแรงต่างปัจจุบัน ถึงใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

วันนี้ (10 ม.ค.) ที่กองบัญชาการทหารบก (บก.ทบ.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร รองผู้บัญชากรรทหารบก (รอง ผบ.ทบ.) พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก (ผช.ผบ.ทบ.) พล.อ.อักษรา เกิดผล เสนาธิการทหารบก (เสธ.ทบ.) และ พล.ท.ธีรชัย นาควานิช แม่ทัพภาคที่ 1 ได้ประชุมเพื่อวางมาตรการรักษาความปลอดภัยในวันที่ 13 มกราคมนี้ ที่จะมีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มคณะกรรมการประชาชนเพื่อการเปลี่ยนแปลงประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.) โดยทาง พล.ท.ธีรชัย ได้สรุปถึงแผนการใช้กำลังทหาร 40 กองร้อยที่จะสนับสนุนเจ้าหน้าที่ตำรวจตามคำร้องของศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) ซึ่งรูปแบบการใช้กำลังทหารจะออกมารักษาความปลอดภัยในสถานที่สำคัญ สถานที่ราชการในเชิงสัญลักษณ์ และทหารทั้งหมดจะไม่มีการพกอาวุธ โดยการบรรจุกำลังครึ่งหนึ่งจะเป็นรูปแบบทหารเสนารักษ์ใส่ปลอกแขนกาชาด พร้อมพกชุดปฐมพยาบาล เปลสนาม เพื่อคอยช่วยเหลือประชาชนหากเกิดเหตุ และชุดปฏิบัติการจิตวิทยา (ปจว.) และปัจจัยที่สำคัญทั้งหมดต้องไม่ให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บจากการชุมนุมในวันที่ 13 มกราคมนี้

ด้าน พ.อ.วินธัย สุวารี รองโฆษกกองทัพบก กล่าวถึงกรณีที่ นายโรเบิร์ต อัมสเตอร์ดัม ทนายความชาวต่างชาติของคนเสื้อแดง เขียนแสดงความคิดเห็นในหัวข้อ “ชีวิตภายใต้ รัฐประหาร-การคุกคามประชาธิปไตยของกองทัพไทย” เผยแพร่ทางอินเทอร์เน็ตนั้นว่า ปกติกองทัพยินดีรับฟังคำวิจารณ์ของทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศ และต่างประเทศมาโดยตลอด แต่เนื้อหาที่ นายโรเบิร์ต ได้เขียนแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้ไม่สร้างสรรค์ ทำลายบรรยากาศแห่งความรักความสามัคคีขัดต่อแนวทางของประเทศในภาพรวม เป็นเพียงความเห็นตามมุมมองส่วนตัวที่มีทัศนคติเชิงลบต่อกองทัพเป็นทุนเดิม กองทัพบกมองว่าไม่ใช่เป็นคำวิพากษ์วิจารณ์โดยสุจริต แต่เป็นคำกล่าวร้ายกล่าวหาที่ปราศจากข้อเท็จจริง มีอคติมุมมองที่คับแคบเกินไป และมีนัยยะแอบแฝง มุ่งทำลายความเชื่อมั่น ศรัทธาของประชาชนที่มีต่อกองทัพ อาจเพียงเพื่อเอาใจและตอบสนองคนเฉพาะกลุ่มที่มีทัศนคติที่ไม่ดีต่อทหาร

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า คนไทยทุกคนตระหนักดีว่าระบอบประชาธิปไตยจะพัฒนาได้ต้องเกิดขึ้นจากการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ฝ่ายการเมือง ส่วนราชการ ที่ผ่านมาประเทศไทยมีพัฒนาการในเรื่องนี้มาโดยตลอด สำหรับกองทัพได้มีบทบาทและจุดยืนในการที่จะสนับสนุนให้ระบอบประชาธิปไตยเดินหน้ามาเป็นลำดับ หากกองทัพไม่มีผู้บังคับบัญชาที่มีภาวะผู้นำ และมีกำลังพลที่มีคุณภาพ คงไม่สามารถเป็นสถาบันที่สนับสนุนให้ประเทศไทยเจริญก้าวหน้าถึงทุกวันนี้ ในปัจจุบันกองทัพก็ยังคงดำรงบทบาทตามกฎหมายตามรัฐธรรมนูญ สนับสนุนทุกภาคส่วนในการสร้างความสงบเรียบร้อย ดูแลประชาชน และให้การสนับสนุนการบริหารบ้านเมืองของทุกรัฐบาล ปฏิบัติหน้าที่ด้วยเป็นธรรม ตรงไปตรงมา การที่จะปฏิบัติอะไรมีการพิจารณาอย่างรอบด้านทุกมิติ ปัจจุบันความรู้สึกของสังคมเป็นเรื่องที่มีความอ่อนไหว ซึ่งกองทัพให้ความระมัดระวังมาตลอด อย่าปรักปรำมองว่ากองทัพได้วางเฉยหรือไม่ช่วยปกป้องรัฐบาล อาจสืบเนื่องจากเป็นความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากเหตุที่มีกระแสข่าวว่ากองทัพไม่สนับสนุนให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน หรือใช้กำลัง ทหารเข้าดูแลผู้ชุมนุมเหมือนเมื่อเหตุการณ์ในอดีตปี 53 ที่มีการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน และมีทหารเป็นผู้ปฏิบัติหลัก

“เหตุการณ์ในอดีตมีลักษณะโดยรวมต่างจากปัจจุบัน เหตุการณ์ในอดีตจะมีข้อมูลการใช้ความรุนแรงที่เกิดจากบุคคล หรือกลุ่มคนที่ไม่หวังดีได้ใช้อาวุธสงคราม และระเบิดกระทำต่อบุคคล สถานที่ราชการ และระบบสาธารณูปโภค อย่างกว้างขวางในหลายจุดหลายพื้นที่จำนวนหลายเหตุการณ์ด้วยกัน ก่อนนำไปสู่การพิจารณาขอยกระดับการใช้กฎหมายเริ่มจาก พ.ร.บ.ความมั่นคง และตามด้วย พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ตามจำนวนครั้งความถี่ที่ปรากฏเหตุ และตามระดับความรุนแรงที่เกิดขึ้น แต่สำหรับสถานการณ์ในครั้งนี้ต่างเหตุการณ์ในอดีต ปัจจุบันมีปรากฏอยู่บ้าง ซึ่งผู้รับผิดชอบโดยตรงคือทางเจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังเร่งดำเนินการสืบหาผู้กระทำผิดมาเข้ากระบวนการ เพื่อให้สังคมกระจ่างชัดหายข้อข้องใจจะได้ไม่ป้ายสีกันไปมา หรือไปคาดเดากันเองจนเป็นเงื่อนไขเพิ่มเติมความขัดแย้งให้รุนแรงขึ้น เพราะฉะนั้นเรื่องระดับการใช้กฎหมายจึงเป็นสิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายให้ความสำคัญในการพิจารณาร่วมกันด้วยความระมัดระวัง เพราะถ้าใช้ระดับของกฎหมายสูงเกินจำเป็นหรือไม่สอดคล้องต่อสภาพที่เหมาะสมต่อความเป็นไปของสถานการณ์อาจส่งผลลัพธ์กลับมาในทางตรงข้าม เป็นผลลบต่อภาพรวมของการแก้ปัญหาได้”

พ.อ.วินธัย กล่าวต่อว่า ด้วยความเป็นห่วงต่อสถานการณ์ภายใต้หลักความปรารถนาดีต่อชาติบ้านเมือง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ผบ.ทบ.ได้พยายามให้ความคิดเห็นในมุมมองของกองทัพเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ ไม่ใช่การข่มขู่ใครอย่างที่นำเสนอ เจตนาเพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องส่วนต่างๆ ได้มีไว้ใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาเรื่องที่ละเอียดอ่อนด้วยความระมัดระวัง สุดท้ายประชาชนจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าความคิดเห็นดังกล่าวเป็นประโยชน์หรือไม่” พ.อ.วินธัย กล่าว

พ.อ.วินธัย กล่าวอีกว่า นับตั้งแต่ปี 53 สังคมไทยรู้จักนายโรเบิร์ตดีว่ามีพื้นฐานอย่างไร มีบทบาทสนับสนุน และมีการเคลื่อนไหวทางด้านการเมืองอย่างไร ในบางโอกาสยังสร้างความสับสนให้กับสังคมไทยอีกด้วย ในครั้งนี้ก็เช่นเดียวกัน ข้อเขียนดังกล่าวนอกจากจะไม่ได้ส่งผลดีต่อสถานการณ์ของประเทศแล้วยังสร้างความสับสนเพื่อปลุกระดมให้เกิดความเกลียดชังกันไม่เหมาะต่อสถานการณ์ และจากพฤติกรรมดังกล่าวอาจเป็นเหตุเป็นผลอันสมควรที่กองทัพบกจะปฏิเสธตัวตนนายโรเบิร์ต และน่าจะให้เป็นบุคคลที่ไม่พึงปรารถนาของกองทัพ

ไม่มีความคิดเห็น: