PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

'อดีตปธ.ศาลรธน.'ชี้ศาลมีอำนาจชี้ขาดสถานะนายกฯ


โดย : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์
"วสันต์ สร้อยพิสุทธิ์" อดีตปธ.ศาลรธน. ระบุ ศาลรธน.มีอำนาจชี้ขาดสถานภาพนายกฯ พร้อมยกเทียบเคียงคดีสถานภาพ "อภิสิทธิ์"

ที่สำนักงานศาลรธน.นายวสันต์ สร้อยพิสุทธิ์ อดีตประธานศาลรัฐธรรมนูญ กล่าวถึงกรณีที่พรรคเพื่อไทยตั้งข้อสังเกตว่าศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจรับวินิจฉัยสถานะนายกรัฐมนตรีสิ้นสุดลงตามรัฐธรรมนูญมาตรา 182(7) จากกรณีการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิล เปลี่ยนศรี เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เนื่องจากสถานะของนายกรัฐมนตรีได้สิ้นสุดลงนับแต่มีพ.รฎ.ยุบสภาแล้ว ว่า

ต้องถามว่า แล้วน.ส.ยิ่งลักษณ์ ยังปฏิบัติหน้าที่นายกรัฐมนตรีอยู่ต่อไปจนมีรัฐบาลใหม่เข้ามาใช่หรือไม่ และยังรับเงินเดือน ใช้รถประจำตำแหน่งอยู่ อีกทั้งยังคงทูลเกล้าฯการออกพระราชกฤษฎีกาต่างๆ ได้อยู่ รวมทั้งยังมีอำนาจสั่งการข้าราชการได้อยู่ เพียงแต่อำนาจถูกจำกัดลงโดยรัฐธรรมนูญมาตรา 181 เท่านั้นเอง

ดังนั้นจึงถือว่าเหตุแห่งการวินิจฉัยยังมีอยู่ และอยู่ในอำนาจศาลรัฐธรรมนูญที่จะวินิจฉัย อย่างกรณีที่ก่อนหน้านี้ส.ส.พรรคเพื่อไทยเข้าชื่อเสนอให้ประธานสภาผู้แทนราษฎรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยสมาชิกภาพการเป็นส.ส.ของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ จากกรณีกระทรวงกลาโหมมีคำสั่งปลดร.ต.อภิสิทธิ์ ออกจากราชการทหาร ศาลรัฐธรรมนูญก็มีคำสั่งรับวินิจฉัย แต่เมื่อมีการยุบสภา ศาลรัฐธรรมนูญก็ต้องสั่งจำหน่ายคดี เพราะเหตุแห่งการวินิจฉัยคดีหมดไปแล้ว ไม่ได้เป็นส.ส.ไม่ได้รักษาการส.ส. ที่ยังรับเงินเดือน หรือได้รับสิทธิพิเศษของการเป็นส.ส.อยู่

รวมทั้งกรณีประธานสภาผู้แทนราษฎร ส่งความเห็นของส.ส.พรรคประชาธิปัตย์ ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่านายยงยุทธ วิชัยดิษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อพรรคเพื่อไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรมว.มหาดไทยในขณะนั้น ขาดคุณสมบัติการเป็นส.ส.หรือไม่

จากกรณีคณะกรรมการป้องกันและปราบรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่ชี้มูลว่ามีการประพฤติชั่วอย่างร้ายแรง และมติอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) ของกระทรวงมหาดไทย มีมติให้ไล่ออกจากราชการ จากเหตุทุจริตที่ดินสนามกอล์ฟอัลไพน์ เมื่อส่งเรื่องมายังศาลรัฐธรรมนูญ นายยงยุทธ ลาออกจากทุกตำแหน่งทางการเมือง ศาลรัฐธรรมนูญก็มีมติไม่รับคำร้อง เพราะหมดเหตุแห่งการวินิจฉัยแล้ว ดังนั้นมีการกล่าวหาว่าศาลรัฐธรรมนูญสองมาตรฐานรับวินิจฉัยเรื่องของนายกรัฐมนตรี แต่กลับไม่พิจารณาเรื่องของนายอภิสิทธิ์ จึงไม่ถูกต้อง เพราะถ้าจะบอกว่าสองมาตรฐาน รายละเอียดของเรื่องทั้งสองเรื่องต้องเหมือนกันทุกกรณี แต่ตัดสินต่างกัน ซึ่งกรณีน.ส.ยิ่งลักษณ์ กับนายอภิสิทธิ์นั้นต่างกัน

นายวสันต์ ยังกล่าวด้วยว่า แม้กรณีนี้ศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาว่าการแต่งตั้งโยกย้ายนายถวิลไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่ประเด็นที่ศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเป็นเรื่องที่ผู้ร้องๆ ว่านายกรัฐมนตรีใช้ตำแหน่งหน้าที่เข้าไปแทรกแซง ก้าวก่าย เพื่อเอื้อประโยชน์ตนเองและพวกพ้อง ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ซึ่งก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งจะผิดไม่ผิดยังไม่รู้ ไม่เหมือนกับกรณียุบพรรคพลังประชาชนที่เมื่อศาลฎีกาตัดสินว่าผู้สมัครซึ่งเป็นกรรมการบริหารพรรคกระทำผิดฐานทุจริตเลือกตั้ง รัฐธรรมนูญมาตรา 237 กำหนดไว้ให้ต้องยุบพรรค ศาลรัฐธรรมนูญจึงวินิจฉัยเป็นอย่างอื่นไม่ได้

เมื่อถามว่านายกรัฐมนตรีระบุว่าได้คืนตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติให้แก่นายถวิล ตามคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดแล้ว นายวสันต์ ถามกลับว่า กรณีมีคนขโมยของในห้างสรรพสินค้า แล้วต่อมาเอาของไปคืนโดยวางไว้ในที่เดิม ถือว่าความผิดที่ได้ทำหมดไปหรือไม่ ในทางกฎหมายถือว่า ความผิดสำเร็จไปแล้ว แต่การนำของมาคืนถือเป็นเหตุให้บรรเทาโทษเท่านั้น และส่วนตัวเห็นว่าถ้าศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่าน.ส.ยิ่งลักษณ์กระทำขัดรัฐธรรมนูญจริง ความเป็นนายกรัฐมนตรีก็ต้องสิ้นสุดลงทันที เพราะตามรัฐธรรมนูญถือว่าเป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัวจะอยู่รักษาการก็ไม่ได้ และแม้โดยปกติ เมื่อนายกพ้นจากตำแหน่งก็จะมีผลให้คณะรัฐมนตรีพ้นไปทั้งคณะด้วย แต่กรณีนี้เป็นการสิ้นสุดลงเฉพาะตัว คณะรัฐมนตรีจะพ้นไปทั้งคณะด้วยหรือไม่ ก็ต้องไปดูรัฐธรรมนูญมาตรา 181 ที่บัญญัติให้คณะรัฐมนตรีที่พ้นจากตำแหน่ง ต้องอยู่ตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าคณะรัฐมนตรีที่ตั้งขึ้นใหม่จะเข้ารับหน้าที่ รวมถึงก่อนหน้านี้ที่มีการยุบ 3 พรรคการเมือง ซึ่งมีผลให้นายกรัฐมนตรีในขณะนั้นต้องพ้นจากตำแหน่ง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ทำหน้าที่รักษาการแทน ส่วนจะเทียบเคียงหรือไม่ก็ขอให้ลองคิดดู ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าบ้านเมืองไม่ควรเกิดสุญญากาศไม่มีฝ่ายบริหาร แต่ก็อาจจะไม่ถูกใจใครหลายๆคน

นายวสันต์ ยังกล่าวกรณีศูนย์อำนวยการรักษาความสงบเรียบร้อย (ศอ.รส.) เรียก ปลัดกระทรวงต่างๆเข้าพบเพื่อทำความเข้าใจกรณีเปิดกระทรวงรับฟังความคิดเห็นของนายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการ กปปส. ว่า หากการพบนายสุเทพ ที่มีหมายจับถือว่าผิด แล้วเจ้าหน้าที่ของรัฐที่เดินทางไปพบ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผู้ต้องหาหนีคดีที่ต่างประเทศทำไมไม่มีการดำเนินการทางวินัยบ้าง จะถือเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่

ไม่มีความคิดเห็น: