PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2557

เปิดโครงสร้าง ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ กับภารกิจขจัด “คนหมิ่นสถาบันฯ”

เปิดโครงสร้าง ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ กับภารกิจขจัด “คนหมิ่นสถาบันฯ”

เขียนวันที่
วันพฤหัสบดี ที่ 17 เมษายน 2557 เวลา 15:46 น.
เขียนโดย
ณัฐพร วีระนันท์
หมวดหมู่
“…เบื้องต้นคือต้องจับพวกตัวเล็ก ๆ ต้องเล่นให้หนัก ออกข่าวให้หนัก จะได้ไม่มีการกระทำแบบนี้อีก โดยพวกตัวใหญ่ที่รู้กันอยู่แล้วมันเล่นยาก ส่วนพวกที่มีพฤติกรรมกำกวมนั้น จะต้องใช้มาตรการต่อต้านทางสังคมกดดันเข้าไปอีก…”
PIC-เหรยญทอง-องคกรเกบขยะแผนดน
“เราทำในสิ่งที่ประชาชนคนหนึ่งที่ทำตามหน้าที่ เพื่อถวายอารักขา และปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ทั้งนี้องค์กรเก็บขยะแผ่นดินเป็นองค์กรเปิดเผย ไม่ใช่องค์กรลับ จัดตั้งเป็นองค์กรมหาชน ไม่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมืองใด ๆ ทั้งสิ้น ไม่มีวาระซ่อนเร้นหรือแอบแฝง”
เป็นถ้อยคำบางส่วนของ “พล.ต.เหรียญทอง แน่นหนา” ผู้อำนวยการโรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ ในฐานะแกนนำ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ ที่กล่าวระหว่างการประชุมองค์กรครั้งแรก เมื่อวันที่ 18 เมษายน 2557 ที่โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ เพื่อเฟ้นหาทีมงานและทนายความอาสามาจัดการกับกรณี “หมิ่นพระบรมเดชานุภาพ” ทั้งในประเทศไทย และทั่วโลก
อย่างไรก็ดี สิ่งที่น่าสนใจคือ องค์กรเก็บขยะแผ่นดินที่ว่านี้ มีรูปแบบการทำงาน – ภารกิจหลักเป็นอย่างไร โครงสร้างเป็นอย่างไร
และมีใครอยู่เบื้องหลังหรือไม่ ?
เพื่อความกระจ่างชัด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ขอนำผลการประชุมดังกล่าวมานำเสนออย่างละเอียด ดังนี้
“เราจะเก็บขยะ และทำให้สังคมไทยกลับมาสะอาดอีกครั้ง แม้อาจจะต้องใช้เวลาอีกหลายปีก็ตาม เราจะรณรงค์และปลูกฝังในทุกชุมชนให้ถูกต้อง เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์แบบนี้อีก แม้จะทำสำเร็จแล้วก็จะทำต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะอีกกี่เดือนหรือกี่ปีก็ตาม”
เป็นภารกิจหลักของ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ ที่ “พล.ต.เหรียญทอง” กล่าวย้ำในการประชุม ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมว่า การระดมพลังแผ่นดิน ไม่ได้ทำเพียงคนไม่กี่คน แต่ทำด้วยหัวใจของคนที่รักในสถาบันพระมหากษัตริย์อย่างแท้จริง
“วิธีการขององค์กรไม่มีนโยบาย เนื่องจากแต่ละคนมีดุลยพินิจที่แตกต่างกันไป ไม่สามารถควบคุมหรือสั่งใครได้ และในเมื่อแต่ละคนมีความสามารถในการจัดการที่แตกต่างกันไป แต่โดยหลักขององค์กร ต้องทำให้เกิดเครือข่าย ให้เกิดการแทรกซึมเข้าไปในทุกอณูของสังคม”
“วันนี้คนที่มีความคิดจงรักภักดีในสถาบันกษัตริย์เหมือนกับเรา ได้แทรกซึมอยู่ในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน เพียงแต่เขายังไม่ทราบว่าต้องทำอย่างไร แต่หลาย ๆ คนก็ทราบว่าต้องทำอย่างไร และเราจะใช้สิ่งเหล่านี้เพื่อกดดันหน่วยงานที่มีหน้าที่ทางกฎหมายให้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างจริง ต่อเนื่อง และไม่ชักช้าเอื่อยเฉื่อยเหมือนที่ผ่านมาอีก”
นอกจากนี้ “พล.ต.เหรียญทอง” ยังระบุถึงวิธีการสำคัญที่จะได้ตัวการคนหมิ่นสถาบันฯคือ “เงินมีพลังอำนาจอย่างหนึ่ง เงินเหล่านั้นจะทำให้เราได้ตัวคนเหล่านี้” พร้อมกล่าวสำทับว่า ต้องเริ่มด้วยรูปแบบบูรณาการ ซึ่งการเข้าถึงกลุ่มก่อการเหล่านี้ บางทีต้องใช้เงินเพื่อให้ได้มาซึ่งข้อมูลและพฤติกรรม เพราะคนเหล่านี้อยู่ด้วยความไม่จริงใจต่อกัน ผลประโยชน์บางอย่างสามารถทำให้ขายกันเองได้ ส่วนอีกรูปแบบคือใช้มาตรการกดดันทางสังคม ให้คนเหล่านี้อยู่ร่วมกับคนอื่นด้วยความยากลำบาก เป็นต้น
โดยโครงสร้างองค์กร แบ่งออกเป็น
1.หน่วยงานบริหารกองทุนและการสนับสนุน ทำหน้าที่เป็นกองทุนเก็บขยะ ประกอบด้วย นักบัญชีและนักการเงิน โดยรวบรวมอาสาสมัครเบื้องต้นก่อนเป็นจำนวน 11 คน เพื่อคิดการจัดการระบบบัญชี
“หน่วยงานบริหารกองทุนและการสนับสนุน จำเป็นต้องมีกองทุนขยะ ซึ่งจะไม่มีนโยบายขอ แต่ประเมินได้ว่าถ้าเกิดขึ้นมาจริงเมื่อไหร่จะมีเงินจำนวนเยอะมาก เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ต้องรอบคอบ เปิดบัญชีไม่ยาก แต่ปัญหาคือองค์กรนี้ต้องบริหารด้วยความโปร่งใสจริง ไม่ใช่ว่าทำขึ้นมาแล้วผู้บริหารไปซี้ซั้วกัน อย่างนี้ทำไม่ได้”
2.หน่วยปฏิบัติงานสำรวจขยะ ทำหน้าที่เป็น ชุดประมวลข่าวกรอง ประกอบด้วย
2.1 เจ้าหน้าที่เทคโนโลยีสารสนเทศ ที่สามารถสืบค้นได้ถึงข้อมูล ชื่อ – นามสกุลจริง ที่อยู่จริง ทำหน้าที่ตรวจเช็คในขั้นเก็บหลักฐาน เพราะบางทีอาจมีการกลั่นแกล้งกัน ซึ่งอาจทำให้เสียรูปคดีได้
2.2 ชุดสืบค้น ประกอบด้วย จิตอาสาสืบค้น คอยรวบรวมข้อมูลทั้งจากสื่อวิทยุ สื่อโทรทัศน์ สื่อสิ่งพิมพ์ และสื่อออนไลน์ โดยรวบรวมข้อมูล ชื่อ – นามสกุล ภาพถ่าย และพฤติกรรมการหมิ่นของผู้กระทำ โดยหน่วยงานนี้สำคัญมาก และต้องการเครือข่ายเยอะมากในด้านเว็บไซต์ โดยเฉพาะในเฟซบุ๊ก (Facebook)
“เบื้องต้นคือต้องจับพวกตัวเล็ก ๆ ต้องเล่นให้หนัก ออกข่าวให้หนัก จะได้ไม่มีการกระทำแบบนี้อีก โดยพวกตัวใหญ่ที่รู้กันอยู่แล้วมันเล่นยาก ส่วนพวกที่มีพฤติกรรมกำกวมนั้น จะต้องใช้มาตรการต่อต้านทางสังคมกดดันเข้าไปอีก”
3.หน่วยปฏิบัติงานเก็บขยะ ทำหน้าที่เป็น ชุดเจรจา และชุดปฏิบัติการจับกุมและดำเนินคดี ซึ่งประกอบด้วย อัยการ ทนายความ และตำรวจ โดยบางส่วนจะเป็นการเจรจา และมีการพูดคุย ไม่มีการข่มขู่ แต่จะมีการเก็บภาพไว้เป็นหลักฐาน กับอีกส่วนที่ต้องทำหน้าที่ส่งฟ้อง แจ้งความดำเนินคดี และเร่งรัดจับกุม
โดยในการแจ้งความมีการเสนอให้ทนายผู้รับคดีเป็นผู้ยื่นแจ้งความ เพราะการให้ถ้อยคำกับพนักงานสอบสวน ถ้าไม่ลงในรายละเอียดว่า เห็นพฤติกรรมมาเป็นอย่างไร จากไอพีแอดเดรส (IP Address) อะไรให้ดีแล้วนั้น เมื่อเรื่องเข้าสู่ศาลอาจถูกยกฟ้องได้
“ส่วนใหญ่เมื่อตรวจสอบเจอ และส่งไอพีแอดเดรสให้กับกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (ไอซีที) จะได้รับคำตอบกลับมาว่า “เซิร์ฟเวอร์อยู่ต่างประเทศ ไม่สามารถตรวจสอบได้” ศาลจะยกฟ้องทันที ดังนั้นต้องแม่นในด้านข้อเท็จจริง โดยเฉพาะเลขบัตรประชาชน เพราะในโลกออนไลน์ไม่สามารถตรวจสอบได้ ฉะนั้นคนในองค์กรต้องพร้อมเข้าให้ปากคำในชั้นศาลด้วย”
4.หน่วยรณรงค์ป้องกัน ทำหน้าที่เป็น ชุดคิดค้นมาตรการต่อต้านทางสังคม และชุดพัฒนาเครือข่ายชุดชม ประกอบด้วย หน่วยงานและบุคคลที่มีความสัมพันธือันดีกับผู้นำชุมชน
ก่อนที่ “พล.ต.เหรียญทอง” จะเอ่ยถึงบุคคล “เบื้องหลัง” ที่คอยช่วยเหลืออยู่วงนอกว่า มีเพื่อนและลูกศิษย์ที่เป็นทหารในกองทัพหลายคนที่คอยดูแลตรวจสอบเรื่องเหล่านี้อยู่
“ถึงแม้ว่าฉากหน้าเราจะเห็นว่าเขาไม่ได้ทำอะไรกับเรื่องเหล่านี้เท่าไหร่นัก แต่เบื้องหลังนั้นเขากำลังขะมักเขม้นทำกันอย่างแข็งขัน พยามสืบค้นบุคคลที่หมิ่นสถาบันฯอย่างเต็มที่ แต่จะบอกให้คนอื่นรู้มากไม่ได้”
ทั้งหมดนี้คือโครงสร้างองค์กร และรูปแบบการทำงานของ ‘องค์กรเก็บขยะแผ่นดิน’ ที่มีเป้าหมายเพื่อ “กำจัด” ผู้หมิ่นพระบรมเดชานุภาพของพระมหากษัตริย์ ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 112
อย่างไรก็ดี ต้องจับตาดูกันต่อไปว่าองค์กรที่ว่านี้ จะสามารถทำได้สำเร็จจริงหรือไม่ ท่ามกลางกระแสวิพากษ์วิจารณ์จากบุคคลบางกลุ่ม รวมถึงหน่วยงานเอกชนต่างประเทศบางองค์กรว่า มาตรา 112 ละเมิดสิทธิมนุษยชนอยู่ในขณะนี้ !

ไม่มีความคิดเห็น: