PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 21 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

"7 สงครามย่อยใต้กฎอัยการศึก"


"7 สงครามย่อยใต้กฎอัยการศึก"
.....
ตอนนี้สถานการณ์การเมือง มุ่งเน้นไปที่บทบาทของกอ.รส. ที่ประกาศใช้กฎอัยการศึกเข้าควบคุมสถานการณ์และทยอยออกประกาศต่างๆ ออกมาอย่างต่อเนื่อง
ภาพมวลชนที่มาชื่นชม ยินดี โอบล้อมถ่ายรูป ซื้อข้าวซื้อน้ำให้กับทหารชุดปฏิบัติการคงทำให้เห็นว่า เริ่มต้นเกมอัยการศึกครั้งนี้ ทหารเปิดตัวได้เหมาะสม มาถูกจังหวะ และมาเต็มกำลัง รอบคอบ
แต่ความขัดแย้งนี้ ไม่ง่ายเช่นนั้น เพราะศึกที่ทหารเปิดมานี้ ต้องทำการอย่างรอบด้าน ดูได้จากเนื้อหาของประกาศ ที่แต่ละฉบับมีข้อความชัดเจนต่อการประกาศกฎการศึกชัดเจน เรียงลำดับดังนี้
(1) ศึกกับรัฐบาล :
โดยเฉพาะ ศอ.รส. หรือ ศรส. ที่ตั้งโดยรัฐบาล ที่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และกลายเป็นเครื่องมือรัฐบาลในการสร้างปัญหาความขัดแย้งเพิ่มขึ้นโดยไม่จำเป็น
การยุบหน่วยงาน ศรส. ไปจึงเท่ากับว่าเปิดฉากตัดกำลังและอำนาจของรัฐบาลให้เหลือเพียงแค่ "ลอยตัวรักษาการ แต่ไม่มีอำนาจใดๆ อีกทั้งในเชิงบริหาร จัดการ ควบคุม"
(2) ศึกกับม็อบ/มวลชน :
ที่ทั้ง 2 ฝ่าย กปปส. และ นปช. มีทีท่าว่าจะปะทะแตกหักโดยมีมือที่สามเข้ามาป่วน และการถึงจุดที่สุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียบาดเจ็บของประชาชน ให้หยุดเคลลื่อนไหว เดินหน้าทางการเมือง
ศึกด้านนี้สำคัญที่สุด เพราะเป็น "หน้าฉากของความขัดแย้ง" ที่เห็นชัดเจนและกลายเป็นตัวชี้วัดอุณหภูมิทางการเมืองที่มวลชนสนใจ
(3) ศึกกับกลุ่มเคลื่อนไหว :
ผู้ก่อความไม่สงบ จากสายข่าวกอ.รมน. ที่สืบข่าวในทางลึก เกี่ยวข้องกับกลุ่ม ขบวนการโจรร้าย และผู้หวังผลทางการเมือง โดยการซ่องสุมอาวุธเพื่อสร้างความไม่สงบ
การตามสืบสวน จับกุม ผู้ครอบครองอาวุธสงครามยังคงทำอย่างต่อเนื่องและเห็นผลชัดเจน
(4) ศึกกับสื่อทีวีการเมือง :
กอ.รส. ประกาศปิดทีวีการเมืองไปแล้ว 14 ช่อง เป็นการระงับการออกอากาศชั่วคราว โดยมุ่งเน้น ทีวี วิทยุการเมืองที่มีเนื้อหาสุ่มเสี่ยงไปในทางการสร้างความแตกแยก ปลุกปั่น ยุงยง ปลุกระดม และมีสิทธิในการเชื่อมสัญญาณโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจเพื่อสื่อสารประกาศของกอ.รส.
(5) ศึกกับแรงกดดันจากต่างประเทศ :
ตอนนี้นานาชาติกำลังทยอยแถลงการณ์ ออกปฏิกิริยาต่อการใช้กฎอัยการศึกของกองทัพ ว่าอาจจะสุ่มเสี่ยงและส่งสัญญาณต่อการทำรัฐประหาร และใจจดจ่ออยู่ว่า ทหารจะส่งสัญญาณการเจราจาสงบศึกความขัดแย้งและจะวางตัวเป็นตัวประสานทางการเมืองได้หรือไม่
(6) ศึกกับสายข้าราชการ พลเรือน :
เป็นที่ทราบว่าความขัดแย้งได้ลุกลามไปจนถึงระดับโครงสร้างสายสัมพันธ์และการล้วงลูกแทรกแซงหน่วยงานราชการหลายแห่งในการ "ใส่เกียร์ว่าง" หรือ "เดินตามน้ำ ตามเกม" รัฐบาลและนักการเมือง
การเข้ามาแก้ไขปัญหาของกอ.รส. นั้นคงมีการทำงานในทางที่จะประสานและแก้ไขปัญหานี้ด้วย
เป็นห้วงเวลาที่น่าสนใจกับอายุเกษียณของพล.อ. ประยุทธ จันทรโอชา ว่าจะเข้ามาแก้ไขปัญหาความขัดแย้งและคลี่คลายสถานการณ์ไปในทางใด และกลายเป็นความหวังของสังคมไทยว่าทหารจะกลายมาเป็นตัวหมากสำคัญที่แก้ปัญหานี้ได้เด็ดขาดที่สุด
และคงไม่ใช่ในรูปแบบการปฏิวัติ - เพราะหากทำเช่นนั้น ทางฝั่งกปปส. คงพลาดท่ายุทธศาสตร์การปฏิวัติประชาชน ส่วนนปช. คงถือเอาเป็นการรังแกซ้ำทางการเมืองเฉกเช่นกับการรัฐประหาร 2549
และฝ่ายข้าราชการพลเรือนก็จะรู้สึกว่า ตนเองไม่มีบทบาท กลายเป็นฝ่ายถูกกระทำอย่างเดียว
ฉะนั้น จึงเป็นสัญญาณที่ดี ที่กอ.รส. จะเปิดเกมแก้ปัญหาด้วยการทำตัวเป็นผู้ประสานกลาง เรียกข้าราชการระดับสูงของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเสนอปัญหา แก้ไขเรื่องวิกฤตการเมืองนี้แบบมีปากมีเสียงสำคัญ
(7) ศึกกับมวลชน สื่อออนไลน์:
ศึกนี้สู้ยากที่สุด ควบคุมยากที่สุดถึงขั้นเป็นไปไม่ได้เลย เพราะบรรดากองเชียร์-กองแช่งในโลกออนไลน์ที่ผ่านมามีส่วนอย่างมากในการปั่นข่าวลือ ส่งข่าวลวง ภาพตัดต่อ ที่มุ่งสร้างความแตกและปลุกปั่นมวลชนหน้าจอทีวี และคีย์บอร์ด
ต้องยอมรับว่า ที่ผ่านมา กระทรวงไอซีที ไม่สามารถบังคับใช้กฎหมายการกระทำความผิดคอมพิวเตอร์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งเว็บหมิ่น เพจล้มเจ้า หน้าข่าวลวง และบรรดานักรบไซเบอร์ออนไลน์ทั้งหลาย
หนำซ้ำ ชาวเน็ตส่วนหนึ่ง ก็ทำตัวเป็นแพร่ข่าวโคมลอย ผสมโรง แต่เดิมทำตัวเป็นผู้เฝ้าระวัง สังเกตุการณ์ และวิพากษ์วิจารณืด้วยสายตาและคมปาก แต่ก็ไม่ได้เข้ามาร่วมกระบวนการแก้ไขปัญหาแต่อย่างใด กลับกันยังทำตัวเป็น บ่างช่างยุ ปล่อยข่าวลือ ข่าวหลอก
อย่างไรก็ตาม การประกาศกฎอัยการศึกของทหารในพ.ศ. นี้ ต้องบอกว่าไม่ธรรมดา เพราะไม่ได้มุ่งเน้นการทำศึกกับภัยความมั่นคงกับองค์อำนาจฝ่ายต่างๆ เท่านั้น แต่ยังต้องทำสงครามข้อมูลข่าวสารรอบด้าน เป็นสงครามข้อมูลข่าวสาร สงครามกลุ่มมวลชน สงครามจิตวิทยา สงครามสื่อมวลชน สงครามกลุ่มขบวนการติดอาวุธ และ ต้องเล่นสงครามเกมการเมืองด้วย ก็ต้องยอมรับว่า บทบาทการนำของพล.อ. ประยุทธ์ จันทรโอชานั้นไม่ธรรมดา และไม่ได้ดูเป็นทหารแก่แต่อย่างใด
ทหารยุคใหม่ ไม่ได้ใช้รถถังมาทำปฏิวัติ รัฐประหาร แต่ใช้กฎหมายและอำนาจทหารเท่าที่ตนเองมีอย่างจำกัด รอบคอบ
เป็นบทเรียนว่า การประกาศอัยการศึกยุคใหม่ ไม่ได้สู้รบด้วยกำลังทหาร แต่สู้รบกันด้วยสงครามข้อมูลข่าวสารมากกว่า


ไม่มีความคิดเห็น: