PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

กางโรดแมป ′บวรศักดิ์′ เขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่

กางโรดแมป ′บวรศักดิ์′ เขียนรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่

วันที่ 09 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557 เวลา 13:40:25 น.


หมาย เหตุ - นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ รองประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติคนที่ 1 ในฐานะประธานกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวปาฐกถาปิดการประชุม "8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย พลวัตแห่งดุลอำนาจ" ที่โรงแรมเซ็นทราศูนย์ราชการและคอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ แจ้งวัฒนะ เมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน

กรณีมีข่าวว่าว่าสถาบันพระปกเกล้า เสนอให้มีคณะอภิรัฐมนตรีขึ้นมาควบคุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) สภา และศาลนั้น ต้องขอแจ้ง ณ ที่นี้ว่าไม่ใช่ข้อเสนอของกลุ่ม แต่เป็นข้อเสนอของ นายสุรพล ศรีวิทยารองคณบดีวิทยานวัตกรรมสังคม ม.รังสิต เพียงคนเดียวเท่านั้น พัฒนาการของดุลแห่งอำนาจตั้งแต่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ดุลอำนาจเปลี่ยนแปลงมาตลอด เมื่อเราผ่านยุคข้าราชการทหารและพลเรือนมาสู่ยุค 2516 เป็นยุคที่เรียกว่า มีดุลแห่งอำนาจเกิดขึ้น 3 เส้า คือ ขั้วที่ 1 ดุลแห่งอำนาจระหว่างข้าราชการ ทหาร พลเรือน พรรคการเมือง และนักการเมืองที่มาจากเลือกตั้ง ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่พรรคการเมืองอ่อนแอลง และมีการทุจริต ข้าราชการทหาร พลเรือน รัฐวิสาหกิจ จะแสดงตนเข้ามาแย่งอำนาจจากนักการเมือง ขั้วที่ 2 เอกชนไทย ที่ได้รับพลพวงจากการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ตั้งแต่แผนพัฒนาเศรษฐกิจฉบับที่ 1-5 มีความเติบโตขึ้น พอที่จะเข้ามาคานและมีส่วนร่วมกับรัฐ จนทำให้เกิดคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน ในยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เกิดคณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจเกิดขึ้น และเมื่อมาถึงปี 2540 เมื่อมีการเรียกร้องให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน และไม่รับรองรัฐธรรมนูญของคณะ รสช. โดยมีการแก้รัฐธรรมนูญ ตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเกิดขึ้น ซึ่งรัฐธรรมนูญปี 2540 นำสมดุลทางการเมืองหรืออำนาจขึ้นมาใหม่ ระหว่างการเมืองของนักการเมืองกับการเมืองภาคพลเมือง อำนาจรวมศูนย์กระจายไปสู่ท้องถิ่น เอาอำนาจศาลมาทัดทานและตรวจสอบฝ่ายบริหาร และดุลยภาพแห่งอำนาจตั้งแต่ปี 2540-2541 มีผลในระดับหนึ่ง แต่มาเสียดุล ซึ่งเกิดจากผู้มีอำนาจทางการเมือง จนเกิดการยึดอำนาจในปี 2549 จนเกิดพลเมืองกลุ่มเสื้อแดงขึ้นมา

"จากสาเหตุที่เกิดจากช่อง ว่างมหาศาลระหว่างคนระดับบนและล่าง เกิดจากการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ที่เน้นการส่งออกอุตสาหกรรม และละเลยคนจนเกษตรกร และผู้ประกอบการรายย่อย ส่งผลให้คนมั่งมีกลายเป็นคนมั่งมีมหาศาล คนชนชั้นกลางธรรมดาเป็นคนระดับบน คนไม่มีก็ยังไม่มี ตรงนี้เองเป็นรากฐานในการประชานิยมสุดขั้ว ที่พรรคการเมืองนำเสนอให้ประชาชนที่ไม่มีอำนาจต่อรอง ไม่มีส่วนแบ่งทางการตลาด ได้เข้ามาลิ้มรสทรัพยาการที่เขาไม่เคยได้ ฉะนั้นการที่เขานำงบประมาณออกไปทำประชานิยม จึงได้รับเลือกตั้งจนกลายเป็นเสียงข้างมาก จนในปี 2550-2557 เกิดความไม่สมดุลในอำนาจของคนมั่งมีและคนชั้นกลางในระดับบน กับอำนาจทางเศรษฐกิจของคนไม่มีและคนชั้นกลางระดับล่าง ตลอดจนอำนาจของสถาบันทางการเมือง และอำนาจของคนบนท้องถนน หรือม็อบต่างๆ จนมีคนตั้งข้อสังเกตว่า เมื่อก่อนคนไทยเคยอยู่เย็นเป็นสุข แต่บัดนี้คนไทยอยู่ร้อนนอนทุกข์ จนคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องมาคืนความสุข และออกมาแสดงรัฏฐาธิปัตย์ ซึ่งโจทย์ใหญ่คือ เราจะช่วยให้เกิดความสันติสุขและสถาพรได้อย่างไร เมื่อตั้งโจทย์เช่นนี้ เราต้องมาดูว่าอะไรคือสาเหตุและปัญหาที่เห็นชัดคือ ความขัดแย้งระหว่างอดีตนายกรัฐมนตรีและผู้สนับสนุน คือคนเสื้อแดงกับผู้ต่อต้านนำโดยพรรคการเมืองเก่าแก่ และมีคนเสื้อเหลือง เสื้อหลากสี และกลุ่มนกหวีดเข้ามาร่วม ซึ่งความขัดแย้งนี้ยังไม่สงบ เพราะความขัดแย้งนี้ยังอยู่ ถือว่าอยู่ในบรรยากาศที่มีการใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎอัยการศึก"

การเปลี่ยนแปลงทางรัฐธรรมนูญทำให้เกิดความไม่เป็นธรรมทางสังคม เป็นรากฐานของประชานิยมสุดขั้วที่พรรคการเมืองนำเสนอให้ประชาชนที่ไม่มี อำนาจต่อรอง ไม่มีส่วนแบ่งทางการตลาด ได้เข้ามาลิ้มรสทรัพยาการที่เขาไม่เคยได้ ฉะนั้นการที่เขานำงบประมาณออกไป ทำประชานิยมจึงได้รับเลือกตั้งเข้ามาเป็นเสียงข้างมาก ถ้าประชานิยมสร้างแล้วทำให้เกิดผลดีแก่บ้านเมืองจริง คงไม่ต้องมาพูดกันวันนี้ แต่ประชานิยมสร้างความเสียหายมากมาย ตั้งแต่เอาเงินในอนาคตมาใช้ ผลักหนี้ให้ลูกหลานในอนาคต ที่สำคัญประชาชนถูกลดลงเป็นราษฎร ต้องพึ่งพิงและพึ่งพาการพรรคการเมืองและรัฐบาล เมื่อคนต้องพึ่งนักการเมืองเช่นนี้ จึงกล่าวได้ว่า ประชานิยม คือ พ่อที่แท้จริงของระบบอุปถัมภ์ ดังนั้นเราต้องทำให้เกิดความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจและสังคมที่แท้จริง โดยประชาชนไม่ต้องพึ่งพึงใคร และเพื่อให้ประชาธิปไตยเป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง

การจัดสรรอำนาจในระบบการปกครอง อำนาจการเมืองอาจจะอยู่ในรัฐสภา รัฐบาลจริง แต่ถ้ารัฐบาลอ่อนแอลง อำนาจที่แท้จริงที่ข้าราชการพลเรือนและรัฐวิสาหกิจถืออยู่จะแสดงตนเข้ามา รัฐธรรมนูญปี 2540 จึงออกแบบสร้างนายกฯและฝ่ายการเมืองที่เข้มแข็ง จนกระทั่งรัฐธรรมนูญปี 2550 มองว่าฝ่ายบริหารมีอำนาจมากเกินไป ต้องลดอำนาจให้น้อยลง มีการดึงศาลเข้ามาและเพิ่มบทบาทศาลโดยการสรรหาองค์กรอิสระ และ ส.ว. จนเกิดตุลาการธิปไตย จนเกิดการไม่ยอมรับอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ และนี่คือความเสียสมดุลจากรัฐธรรมนูญ 2550 จึงต้องดูว่าสาเหตุตรงนี้จะแก้อย่างไร ดังนั้นโจทย์ใหม่ คือ จะสร้างดุลยภาพได้อย่างไร หากดูตามรัฐธรรมนูญ (ชั่วคราว 2557) ผู้ที่ต้องรับผิดชอบคือ คสช. แต่ คสช.ก็มีการจัดตั้งดุลอำนาจให้ สนช. สปช. และคณะ กมธ.ยกร่างฯ ดังนั้นอันดับแรกต้องสร้างดุลระหว่างกันเองก่อน คือ ระหว่าง สปช.กับ กมธ.ยกร่างฯ เพราะถ้ารัฐธรรมนูญไม่ผ่านตามกำหนดก็ตายตกไปตามกัน ด่านที่สองคือ กมธ.ยกร่างฯกับ คสช. สนช. และ สปช. โดยข้อจำกัดในการยกร่างรัฐธรรมนูญคือเวลา เพราะต้องลงมติเห็นชอบภายในวันที่ 6 สิงหาคม 2558 ถ้าไม่เห็นชอบก็ต้องตั้ง กมธ.ขึ้นมาใหม่ ถ้าเห็นชอบก็จะประกาศใช้

นอกจากนั้น การเขียนรัฐธรรมนูญตามมาตรา 35 ข้อจำกัดที่ 3 คือบรรยากาศ ต้องยอมรับว่าการปฏิรูปหลังการยึดอำนาจครั้งนี้ จะมีบรรยากาศที่ดีเหมือนปี 2540 ไม่ได้ เพราะตอนนั้นไม่มีความขัดแย้งของสีเสื้อต่างๆ แต่ตอนนี้ความขัดแย้งหลบใน เพราะเราอยู่ในบรรยากาศของการใช้กฎหมายความมั่นคงและกฎอัยการศึกและความไม่ เชื่อใจกัน สื่อทั้งหลายพาดหัวว่า การเขียนรัฐธรรมนูญเป็นเหล้าเก่าในขวดใหม่ แปลว่า คนร่างรัฐธรรมนูญหน้าเก่า แต่จุดดีก็มีคือคนจำนวนมากมีบรรยากาศในความหวังกับการปฏิรูป การขับเคลื่อนของอนาคตประเทศไทย ความหลากหลายของ สปช. มีความหลากหลาย ทำให้เกิดความหวังว่าอาจจะเกิดสิ่งใหม่ๆ ขึ้นมาได้

"หากจะต้องทำรัฐ ธรรมนูญใหม่เราไม่สามารถปะผุได้ เพราะถ้าไปหยิบรัฐธรรมนูญปี 40-50 ที่มีปัญหามาปะผุ ก็แปลว่าเราไม่สามารถแก้ปัญหาได้ ดังนั้นรัฐธรรมนูญใหม่ต้องตอบโจทย์เรื่องการสร้างความปรองดอง และแก้ไขปัญหาของคู่ขัดแย้งให้ได้ สร้างความเป็นธรรมและไม่ให้ปัญหาเกิดขึ้นในระยะยาว รัฐธรรมนูญใหม่อาจสร้างกลไกโดยหลักการสำคัญไม่ให้คนไทยมาเข่นฆ่ากัน และไม่ใช่การออกกฎหมายนิรโทษกรรมแล้วจบๆ กันไปอย่างที่ผ่านมา รัฐธรรมนูญจะต้องสร้างองค์กร กลไก รวมถึงการปฏิรูปในความเป็นธรรมด้านเศรษฐกิจและสังคม ทำให้คนพอมีพอกิน มีอิสระทางสังคมและเศรษฐกิจ ดังนั้น รัฐธรรมนูญที่เกิดขึ้นนี้จึงเป็นของใหม่ ไม่ใช่เหล้าเก่าในขวดใหม่แน่ ดังนั้นขอให้คืนคำนั้นเสีย เพราะรัฐธรรมนูญ 19 ฉบับที่ผ่านมาไม่เคยพูดเรื่องปรองดอง และความเป็นธรรมในระบบเศรษฐกิจและสังคม" 

การสร้างดุลแห่งอำนาจใหม่ คือ 1.ดุลระหว่างการเมืองกับนักการเมืองกับการเมืองของพลเมือง คือความเป็นพลเมืองและระบบผู้แทนและผู้นำการเมืองที่ดี 2.ดุลระหว่างฝ่ายบริหารกับฝ่ายนิติบัญญัติ วันนี้ถ้าเราไปเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง ก็เท่ากับเราไปติดปีกให้เสือ และสามารถทำให้เสือดำน้ำได้ด้วย รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้อำนาจพรรคการเมืองสามารถขับ ส.ส.ที่ขัดมติพรรคออกได้ วันนี้ต้องเอาบัญญัตินี้ออก 3.ดุลระหว่างฝ่ายการเมืองกับศาลและองค์กรตรวจสอบ 4.ดุลระหว่างการรวมศูนย์ที่ส่วนกลางกับการกระจายอำนาจส่วนท้องถิ่น 5.ดุลระหว่างฝ่ายการเมืองกับข้าราชการประจำ และ 6.ดุลอำนาจระหว่างรัฐ องค์กรเอกชน และองค์กรภาคประชาสังคม

สภาที่ 1 เป็นสภาที่มาจากการเลือกตั้ง โดยการสมัครตั้งรัฐบาล มีเสียงข้างมาก ส่วนสภาที่สูงควรเป็นคนที่มีความหลากหลายโดยไม่ต้องมีการสรรหา แต่ไม่มีอำนาจในการไปถอดถอนนักการเมือง นอกจากการออกกฎหมาย นี่คือการสร้างดุลใหม่ ซึ่งรัฐธรรมนูญใหม่จะสั้นหรือยาว ส่วนตัวเห็นว่ารัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะไม่ยาวมาก เช่น บทบัญญัติที่ว่าด้วยศาล ใช้มา 17 ปีแล้ว ก็ใส่หลักการสำคัญไว้ ส่วนรายละเอียดควรอยู่ในกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญให้หมด การแก้ไขเพิ่มเติมควรจะเป็นไปตามความสำคัญ เช่น ภาคที่ 1.พระมหากษัตริย์ และประชาชน ภาคที่ 2.ศาลยุติธรรม และกระบวนการยุติธรรม ภาคที่ 3.ผู้นำที่ดีและสถาบันทางการเมือง ไม่ใช่อภิรัฐมนตรี และภาคที่ 4.ว่าด้วยการปฏิรูปและการปรองดอง ซึ่งภาคที่ 1-2 แก้ไขยากมาก และภาคที่ 3 ธรรมดา ส่วนภาคที่ 4 เมื่อพ้นไป 2-4 ปี ก็ให้พ้นไป เพราะไม่มีใครจะมาปรองดองทั้งปีทั้งชาติ

"การจะทำให้รัฐธรรมนูญนี้ ให้สำเร็จ กมธ.ยกร่างฯและ สปช.รู้ดีว่าเรามีต้นทุนน้อย เราไม่ได้มาจากประชาชน เรามาจาก คสช. แต่เราจะทำให้ดีที่สุด และเราอยากให้รัฐธรรมนูญเป็นสัญญาประชาชน กระบวนการในการจัดทำรัฐธรรมนูญ ทำได้ 2 ทางคือ 1.ประชาชนต้องมีส่วนร่วมอย่างแท้จริง 2.การลงประชามติให้ใช้รัฐธรรมนูญว่าผ่านหรือไม่ และนำขึ้นทูลเกล้าฯถวาย เพราะเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์และประชาชน"
(มติชนรายวัน ฉบับวันที่ 9 พฤศจิกายน 2557) 

ไม่มีความคิดเห็น: