PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 10 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

พระปกเกล้าเสนออภิรัฐมนตรีถ่วงดุลนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ

พระปกเกล้าเสนออภิรัฐมนตรีถ่วงดุลนิติบัญญัติ-บริหาร-ตุลาการ

การประชุมวิชาการสถาบันพระ ปกเกล้า ในหัวข้อ "8 ทศวรรษ ประชาธิปไตยไทย : พลวัตแห่งดุลอำนาจ" โดยมีนักวิชาการชั้นนำเข้าร่วมประชุมได้สรุป ข้อเสนอที่จะนำไปสู่การแก้ไขรัฐธรรมนูญในหลายประเด็น

นายปณิธาน วัฒนายากร สรุปผล การประชุมในกลุ่มการสร้างดุลยภาพใน ระบบโครงสร้างอำนาจรัฐ ว่าจะต้องร่างรัฐธรรมนูญให้สอดคล้องกับดุลอำนาจระหว่างสถาบันการเมืองต่างๆ ไม่ให้เกิดการก้าวล่วงขอบเขตอำนาจระหว่างกัน เพื่อป้องกันวิกฤตความขัดแย้ง

"ที่ประชุมยังมีการเสนอให้มีการ จัดตั้งอภิรัฐมนตรีให้เป็นอีกดุลอำนาจหนึ่ง นอกเหนือจากฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ โดยจัดวางให้ อภิรัฐมนตรีมีอำนาจมากที่สุด ในฐานะรัฏฐาภิบาล ทั้งนี้
เพื่อช่วยในการแก้ปัญหาเมื่อ 3 อำนาจ หลักในอำนาจอธิปไตยมีความขัดแย้งกัน อภิรัฐมนตรี จะเป็นผู้มีอำนาจชี้ขาด" นายปณิธาน กล่าว

สำหรับข้อเสนอว่าด้วยองค์กรอิสระนั้น เสนอให้ที่มาขององค์กรอิสระจะต้องหลากหลายและยึดโยงกับประชาชน ส่วนบทบาทของคณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต. ควรให้ทำหน้าจัดการเลือกตั้งเพียงอย่างเดียว ไม่มีอำนาจการวินิจฉัย ชี้ขาดให้ใบเหลือง-ใบแดง

อย่างไรก็ตาม ข้อสรุปดังกล่าวเป็นเพียงข้อเสนอเบื้องต้นจากการประชุม ทางวิชาการ โดยสถาบันพระปกเกล้า จะนำไปทำให้สมบูรณ์ขึ้น ก่อนจะเสนอ ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.พิจารณาต่อ
ไป

นายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เลขาธิการสถาบันพระปกเกล้า กล่าวปาฐกถาตอนหนึ่งว่า องค์กรที่จะสร้างดุลอันดับแรก คือ การสร้างดุลระหว่าง สปช. และ กมธ. ยกร่างรัฐธรรมนูญ หากไม่ได้ดุล รัฐธรรมนูญจะไม่ผ่าน สปช.ในวันที่ 6 ส.ค. 2558 จากนั้นคือการสร้างดุลระหว่าง กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ สปช. สนช. ครม. เพื่อ ให้การปฏิรูปและการทำกฎหมายอื่นๆ เดิน หน้าได้

นายบวรศักดิ์ กล่าวว่า สิ่งที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ คือ การสร้างความปรองดอง ซึ่งรัฐธรรมนูญสามารถสร้างองค์กร และกลไกที่นำไปสู่กระบวนการสำคัญ ที่ใช้ในการปรองดองเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าไม่ให้สีหรือคนไทยฆ่ากันได้ ทั้งนี้ไม่ใช่การเสนอกฎหมายนิรโทษกรรม ดังนั้นรัฐธรรมนูญเพื่อความปรองดอง จึงเป็นของใหม่ที่ต้องให้ความสำคัญ ก่อนการสร้างความเป็นธรรมทางเศรษฐกิจ สังคม และการจัดสรรอำนาจใหม่ในเชิงโครงสร้าง

//////////////
อภิรัฐมนตรีสภา (อังกฤษ: Supreme Council of State of Siam) เป็นสภาที่ปรึกษาและนิติบัญญัติที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงตั้งขึ้น พระองค์มีพระราชประสงค์ที่จะตั้งสภาคล้ายกับคณะรัฐมนตรี ที่ซึ่งเจ้าหน้าที่ที่สำคัญที่สุดของรัฐจะประชุมเพื่อตัดสินใจในการงานของรัฐ สภาได้รับการก่อตั้งเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468

สภาประกอบด้วยสมาชิก 5 พระองค์ ซึ่งล้วนเป็นเจ้านายแห่งราชวงศ์จักรี ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีในรัชกาลที่ 5 และ 6 สมาชิกอภิรัฐมนตรีสภา ได้แก่

สมเด็จพระราชปิตุลาบรมพงศาภิมุข เจ้าฟ้าภาณุรังษีสว่างวงศ์ กรมพระยาภาณุพันธุวงศ์วรเดช
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าบริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิต
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจิตรเจริญ กรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์
สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าดิศวรกุมาร กรมพระยาดำรงราชานุภาพ
พระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้ากิติยากรวรลักษณ์ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ

สภานี้มิใช่องค์กรเดียวของรัฐบาลในเวลานั้น หากแต่ยังมีสภากรรมการองคมนตรี (Privy Council) และเสนาบดีสภา (Council of Secretaries) อย่างไรก็ดี อภิรัฐมนตรีสภาถือว่าสำคัญสุด เจ้าฟ้า

บริพัตรสุขุมพันธุ์ กรมพระนครสวรรค์วรพินิตเป็นสมาชิกที่เด่นที่สุดของอภิรัฐมนตรีสภา เพราะเป็นรัชทายาทและเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย

บทบาทหน้าที่ของอภิรัฐมนตรีสภา[แก้]

อภิรัฐมนตรีสภา เป็นสถาบันใหม่เทียบเท่าได้กับสภาที่ปรึกษาราชการแผ่นดินในรัชกาลที่ 5 ซึ่งได้ตั้งขึ้นภายหลังที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จขึ้นครองราชย์ได้ 2 วัน (วันเสาร์ที่ 28 พฤศจิกายน พ.ศ. 2468) มีหน้าที่เป็นสภาที่ปรึกษาชั้นสูงแก่พระมหากษัตริย์ ซึ่งให้คำปรึกษาเกี่ยวกับกิจการการเมืองการปกครองและนโยบายของประเทศ อภิรัฐมนตรีสภา มีการกำหนดการประชุมทุก ๆ วันศุกร์ สัปดาห์ละครั้ง โดยมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประธานในการประชุม เริ่มการประชุมครั้งแรกเมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน พ.ศ. 2486 ณ พระที่นั่งบรมพิมาน อภิรัฐมนตรีสภา ได้ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่องที่เกี่ยวกับราชการแผ่นดินหลายเรื่องที่สำคัญ กล่าวคือ

1. ให้คำปรึกษาหารือข้อราชการเรื่อง ร่างพระราชบัญญัติสภากรรมการองคมนตรี ซึ่งพระราชทานลงมาให้ศึกษาและนำคำปรึกษาขึ้นถวายบังคมทูล

2. วางรูปแบบการปกครองท้องถิ่นในรูปของเทศบาล โดยการปรับปรุงแก้ไขสุขาภิบาลที่มีอยู่ให้เป็นเทศบาล ซึ่งได้จัดตั้งกรรมการขึ้นคณะหนึ่ง ทำการศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ และได้ทูลเกล้าฯ ถวายรายงานและความเห็นเกี่ยวกับหลักการของร่างพระราชบัญญัติเทศบาล

3. พิจารณาโครงร่างรัฐธรรมนูญที่พระยากัลยาณไมตรี (Francis B.Sayre) ได้ทูลเกล้าฯ ถวาย มีลักษณะเป็นระบบนายกรัฐมนตรีให้มีหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินโดยตรงแทนองค์พระมหากษัตริย์ โดยนายกรัฐมนตรีมีสิทธิเลือกคณะรัฐมนตรีเอง ส่วนพระมหากษัตริย์ยังคงไว้ซึ่งอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ ตามแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ ให้อภิรัฐมนตรีสภามีหน้าที่เพียงถวายคำปรึกษาเท่านั้นไม่มีอำนาจในการบริหารราชการแผ่นดิน โครงร่างรัฐธรรมนูญของพระยากัลยาณไมตรีฉบับนี้จึงไม่ได้รับความเห็นชอบจากอภิรัฐมนตรีสภา โดยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ซึ่งเป็นสมาชิกพระองค์หนึ่งของอภิรัฐมนตรีสภาทรงคัดค้านว่า การมีนายกรัฐมนตรีเป็นเรื่องและวิธีการปกครองในระบอบรัฐสภา ไม่ใช่การปกครองแบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ซึ่งไม่มีรัฐสภา เมื่อเป็นเช่นนี้พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว จึงทรงระงับพระราชดำริเรื่องการพระราชทานรัฐธรรมนูญไว้ก่อน แล้วทรงเริ่มงานวางพื้นฐานการปกครองแบบรัฐสภาขึ้นในปี พ.ศ. 2470 โดยการให้นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ ที่ปรึกษาราชการกระทรวงการต่างประเทศและพระยาศรีวิสารวาจา ปลัดทูลฉลองกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้พิจารณาร่างหลักเกณฑ์ของรัฐธรรมนูญ และทรงมีพระราชดำรัสถึงความประสงค์ที่จะให้รัฐธรรมนูญแก่ราษฎรโดยเร็วที่สุด และต้องให้ทันวันที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันครบรอบมหาจักรี นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์ และพระยาศรีวิสารวาจา จึงยกร่างรัฐธรรมนูญ และได้นำทูลเกล้าฯ ถวายต่อพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในวันที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2474

นอกจากนั้น นายเรมอนด์ บี. สตีเวนส์และพระยาศรีวิสารวาจายังได้แนบบันทึกความเห็นประกอบเค้าโครงการเปลี่ยนแปลงการปกครองอีก 2 ฉบับว่าไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นแบบพระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญในขณะนั้น เพราะประชาชนยังไม่พร้อม และเทศบาลก็ยังไม่ได้มีการจัดตั้งขึ้นมา โครงร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ที่ประชุมอภิรัฐมนตรีสภาและพระบรมวงศานุวงศ์ได้พากันคัดค้านไม่เห็นด้วย โดยอ้างเหตุผลว่ายังไม่ถึงเวลาอันสมควร เนื่องจากราษฎรยังมีการศึกษาไม่ดีพอ เกรงว่าเมื่อพระราชทานรัฐธรรมนูญแล้วจะก่อให้เกิดความเสียหายภายหลัง คำคัดค้านดังกล่าวทำให้พระองค์ทรงลังเลพระทัยว่าควรจะพระราชทานรัฐธรรมนูญเมื่อใดจึงจะเหมาะสม ความไม่แน่นอนและเงื่อนไขต่าง ๆ ทำให้ระบบการเมืองไม่สามารถปรับตัวได้ทันกับเหตุการณ์ การปฏิวัติในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 จึงเกิดขึ้น

ไม่มีความคิดเห็น: