PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 12 พฤศจิกายน พ.ศ. 2557

ลักษณะสำคัญของพหุนิยม

ลักษณะสำคัญของพหุนิยม 
ผศ. เชิญ ชวิณณ์ ศรีสุวรรณ

อำนาจในสังคมกระจายออกไปยัง “กลุ่ม” ที่มีอย่างหลากหลาย เช่น สมาคมธุรกิจ, สหภาพแรงงาน, กลุ่มอาชีพต่างๆ, กลุ่มศาสนาต่างๆ.

กลุ่มทั้งหลายเหล่านี้ บ้างก็มีผลประโยชน์ตรงกัน หรือ “ร่วมกัน” แต่หลายกลุ่มก็มีการขัดแย้งกันในเรื่องผลประโยชน์. ทว่า การแข่งขันกันของ “กลุ่ม” ต่างๆนั้น, ไม่มีกลุ่มเพียงกลุ่มเดียว ที่สามารถครอบงำกลุ่มอื่นได้ทั้งหมด.

การแข่งขันระหว่างกลุ่มหลากหลาย ทำให้สังคมมีความเป็นประชาธิปไตย. 
การแข่งขันเรื่อง “ผลประโยชน์” ของ “กลุ่มหลากหลาย” ช่วยรักษา “ดุล” ในสังคมเพราะกลุ่มเหล่านี้ มีอิทธิพลต่อรัฐบาล, ทำให้นโยบายของรัฐบาลและสถาบันการเมืองอื่นๆ (เช่น พรรคการเมือง, รัฐสภา, รัฐธรรมนูญ) มีความมั่นคงและดำรงเป็นสถาบันได้ยาวนาน จากการสนับสนุนของ “กลุ่มหลากหลาย” ในสังคม.

การแข่งขันของกลุ่มต่างๆ ช่วยสร้าง “ดุลอำนาจ” ในแง่ที่ว่า กลุ่มหลากหลาย จะ “ปรับวิธีการ” ในการได้มาซึ่งผลประโยชน์ เช่น มีการเจรจาต่อรองกับกลุ่มอื่น, มีการประนีประนอมกับกลุ่มบางกลุ่ม, มีการรวมตัวอย่างหลวมๆ เป็น “พันธมิตรทางการเมือง” ในบางช่วง. ดังนั้น ในการแข่งขัน (เช่น การสนับสนุน ผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือ พรรคการเมือง) บางกลุ่มอาจจะชนะ, บางกลุ่มอาจจะพ่ายแพ้ทางการเมือง. แต่ การชนะและการพ่ายแพ้ จะไม่แน่นอน หรือ คงที่อยู่เช่นนั้น. การเปลี่ยนแปลงทางการเมือง จึงเกิดได้เสมอ. สังคมจะยอมรับหลักการแข่งขันนี้.

สถาบันทางการเมือง และ สถาบันทางเศรษฐกิจ (เช่น หอการค้า, ตลาดหลักทรัพย์) จะไม่เข้าไปก้าวก่ายอำนาจของกันและกัน, แต่จะมี “ความเป็นอิสระ” และต่างฝ่าย ต่างก็ “ทำหน้าที่” ของตน, หรือ มีการ “แยกอำนาจ” ออกจากกัน, เพื่อทำให้ “การใช้อำนาจทางการเมือง” กับ “เสรีภาพทางเศรษฐกิจ” ดำเนินไปอย่าง “สมดุล” ในสังคม.

“รัฐ” มีบทบาทเป็น “กรรมการ” ที่คอย “กำกับ, ดูแล, ควบคุม” ให้การแข่งขันระหว่างกลุ่มต่างๆ เป็นไปอย่างยุติธรรม. การแข่งขันถึงขั้น “ทำลายล้าง” กลุ่มอื่น, ไม่เป็นที่ยอมรับ เท่าๆกับ การร่วมมือกับกลุ่มอื่น ต้องไม่ถึงขั้น “ผูกขาด” หรือ “มีอำนาจครอบงำ” เหนือกลุ่มอื่น (ซึ่งในประเทศไทย มีศัพท์เรียกว่า “ฮั้ว” กัน).

เพราะฉะนั้น, รัฐจึงเป็นสถาบันแห่งอำนาจ ที่ไม่มีผลประโยชน์เป็นของตนเอง, ไม่ได้ทำเพื่อตนเอง, หรือ ทำเพื่อกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ในสังคม, หรือ ทำเพื่อ “ชนชั้น (Class)” ใด ชนชั้นหนึ่งในสังคม.

รัฐ เป็นเพียง “ตัวแทน” ที่คอยต่อรอง หรือ ไกล่เกลี่ย ให้กลุ่มต่างๆ ได้รับผลประโยชน์อย่างทัดเทียมกัน (แต่ ไม่จำเป็นต้อง ได้รับผลประโยชน์ “เท่ากัน” หมดทุกกลุ่ม, หากจะเป็นลักษณะ ได้มากบ้าง, น้อยบ้าง, ตาม สถานการณ์ และ ตามสภาพความเป็นจริง ในแต่ละช่วงเวลา). ดังนั้น หน้าที่ของรัฐ ก็คือ การสร้างความสมานฉันท์ในสังคม, ซึ่งเน้น การ “จัดระเบียบ” ให้การขัดแย้งเรื่องผลประโยชน์ระหว่างกลุ่มต่างๆ ต้องเป็นไปตาม “กฎและกติกา” ทางการเมือง ที่ได้กำหนดไว้ใน รัฐธรรมนูญ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องทั้งปวง.

ปัจเจกชน ที่มีผลประโยชน์ตรงกัน สามารถ “รวมกลุ่ม” เพื่อแสดงอิทธิพลต่อ ผู้มีอำนาจทางการเมือง, และต่อ การตัดสินใจของผู้มีอำนาจฯ

อำนาจทางการเมือง จึงเกิดขึ้นจาก การแข่งขันของ “กลุ่ม” ที่เกิดขึ้นเอง “โดยสมัครใจ”, ไม่ได้ถูกบังคับโดยรัฐ, หรือ ถูกชักนำด้วย “สินจ้าง” ของคนที่ “เสียผลประโยชน์” เป็นบางเวลา (อย่างที่เกิดในประเทศไทย), หรือ “ถูกจัดตั้ง” ขึ้นโดยผู้มีอำนาจทางการเมือง.

“กระบวนการทางการเมือง” (หรือ กระบวนการ พิจารณาและตัดสินใจของผู้มีอำนาจฯ) จึงเกิดขึ้นจาก การโน้มน้าว หรือ การกดดัน ของกลุ่มต่างๆในสังคม, ที่มีความเป็นอิสระในตัวเอง, และเกิด “วิถีทางของประชาธิปไตย” คือ มีการเจรจา, การต่อรอง, การประนีประนอม, และ การประสานผลประโยชน์ เพื่อให้ “นโยบายของรัฐบาล” เป็นประโยชน์ต่อกลุ่มหลากหลาย, ไม่ใช่กลุ่มใดเพียงกลุ่มเดียว.

ปัจเจกชนในสังคม สามารถที่จะเข้าไป “ร่วมกลุ่ม” ได้มากกว่ากลุ่มเดียว ดังนั้น ฐานะของ “กลุ่ม” จึง “ไม่แน่นอน”. บางช่วงเวลา กลุ่มที่เคยมีอิทธิพลทางการเมือง จึงอาจสูญเสีย “สถานภาพเดิม”, เพราะกลุ่มที่แข่งขันทางการเมือง อื่นๆ อาจจะรวมตัวกัน และกลายเป็นฝ่ายได้ชัยชนะในการเลือกตั้ง ครั้งต่อไปก็ได้. พรรคการเมือง จึงพยายามสร้างฐานเสียงสนับสนุน จากกลุ่มต่างๆในสังคม ด้วยการ “ทำงานการเมือง” เพื่อ “ส่วนรวม” ไม่ใช่ “เพื่อส่วนตัว” หรือ “เพื่อพรรคพวก”.

ในสหรัฐอเมริกา, จึงมีคำขวัญทางการเมือง ที่บ่งบอกความเป็น “พหุนิยม” ที่เด่นชัดมาก, คือถ้อยคำที่ว่า “รัฐบาลของประชาชน, โดยประชาชน, และเพื่อประชาชน”. รวมถึงถ้อยคำที่ว่า “เท่าเทียมกันในทางกฎหมาย”, และ “การแบ่งแยกอำนาจทางการเมือง” ออกเป็น ฝ่ายบริหาร, นิติบัญญัติ, และตุลาการ, เพื่อป้องกัน การรวบอำนาจทั้งหมด มาอยู่ที่รัฐบาล, ซึ่งจะเป็นการสิ้นสุดของ “พหุนิยม”

ไม่มีความคิดเห็น: