PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2557

มติ สนช. 160 : 16 รับหลักการร่าง ก.ม.ภาษีมรดก

มติ สนช. 160 : 16 รับหลักการร่าง ก.ม.ภาษีมรดก

สนช.รับหลักการร่าง ก.ม.ภาษีมรดก 160 ต่อ 16 สมาชิก สนช.รุมติงต้องพิจารณาให้รอบคอบ หวั่นสร้างภาระให้ผู้มีรายได้น้อย แก้ปัญหาลดการเหลื่อมล้ำทางสังคมไม่ได้

วันที่ 18 ธ.ค.57 ที่รัฐสภา มีการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธาน สนช. ทำหน้าที่ประธานการประชุม เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก พ.ศ. ... และร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ. ... ตามที่ ครม.เป็นผู้เสนอ โดยที่ประชุมมีความเห็นให้พิจารณาร่างกฎหมายทั้งสองฉบับไปพร้อมกัน เนื่องจากมีเนื้อหาสอดคล้องกัน

โดยนายสมหมาย ภาษี รมว.คลัง ชี้แจงหลักการของ พ.ร.บ.ดังกล่าว ว่า ที่ผ่านมาการถ่ายโอนทรัพย์สินกองมรดกไม่ต้องเสียภาษี ทำให้เกิดความไม่เป็นธรรม จึงควรจัดเก็บนำเงินไปพัฒนาพัฒนาประเทศ แต่ไม่ให้กระทบผู้ได้รับมรดกพอสมควรกับการดำรงชีพ ทั้งนี้ การจัดเก็บภาษีสูงไม่ได้หมายความว่า ไปรีดเค้นจากประชาชน แต่จัดเก็บเพื่อให้มีการกระจายรายได้ ไม่ไปกระจุกแค่คนกลุ่มหนึ่ง เอาเงินมาพัฒนาประเทศ โดยการจัดเก็บภาษีมรดก 10% จากส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท ภาษีมรดกไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายประเทศมีการจัดเก็บตั้งแต่ 20-40% ซึ่งประเทศไทยไม่ได้เก็บจากมรดกตั้งแต่บาทแรก แต่เก็บจากเงินเฉพาะส่วนที่เกินจาก 50 ล้านบาท

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า หลังจากนั้นที่ประชุมเปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.อภิปรายความเห็นเรื่องร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก โดยสมาชิก สนช. ส่วนใหญ่ แสดงความเป็นห่วง อยากให้มีความรอบคอบในการจัดเก็บภาษี ไม่ให้มีผลกระทบต่อผู้รับมรดกที่มีรายได้พอแก่การดำรงชีพ จนไม่สามารถรับภาระการเสียภาษีได้ และเห็นว่า การจัดเก็บภาษีดังกล่าวลดปัญหาความเหลื่อมล้ำในสังคมไม่ได้ รวมถึงกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการเร่งให้มีการโอนเงินให้ทายาท อาจเป็นการสร้างแตกแยกภายในครอบครัวเร็วขึ้น อาทิ

นายประดิษฐ์ วรรณรัตน์ สนช. อภิปรายว่า 12 ใน 25 ประเทศ ที่จัดเก็บภาษีมรดก ปัจจุบันได้ยกเลิกไปแล้ว เช่น ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ เพราะไม่คุ้มค่าการจัดเก็บ และสัดส่วนที่จัดเก็บ 10% ถือว่า สูงเป็นลำดับที่ 5 ของโลก อีกทั้งก่อนจะมาเป็นมรดก ก็ได้ผ่านการเก็บภาษีมาแล้ว ทั้งภาษีเงินได้ ภาษีธุรกิจ หากต้องจัดเก็บภาษีมรดกอีก จะเป็นการเสียสองต่อ ซึ่งการจัดเก็บภาษีเพื่อหารายได้เพิ่มเติมยังมีทางเลือกอื่น เช่น การเก็บภาษีฟุ่มเฟือย พวกรถยนต์ เหล้า บุหรี่ จึงอยากให้พิจารณาให้รอบคอบ

ขณะที่ นายประสงค์ พูนธเนศ อธิบดีกรมสรรพากร ชี้แจงว่า การเก็บภาษีรับมรดกจะกระจายรายได้และความมั่งคั่งได้ดีกว่าการเก็บภาษีจากกองมรดก เป็นการสร้างความเป็นธรรมระบบภาษี เพราะเสียภาษีตามมูลค่าของทรัพย์ ถ้าไม่ถึง 50 ล้านบาท ก็ไม่ต้องเสียภาษี

ส่วนการเก็บภาษีดังกล่าวจะทำให้ประชาชนลดการออมลงนั้น จากผลการศึกษาของไอเอ็มเอฟ ระบุว่า ภาษีจากการรับมรดก ส่งผลกระทบต่อการออมไม่มาก แต่อาจจะส่งผลกระทบต่อการถือครองทรัพย์สิน โดยจะถือครองทรัพย์สินมากขึ้น เช่น ซื้อทอง เพชรไว้ เพื่อเลี่ยงการเสียภาษี แต่ไม่พบว่ากระทบต่อระบบเศรษฐกิจและธุรกิจเอสเอ็มอี

ทั้งนี้ หลังจากสมาชิกอภิปรายจนครบถ้วนแล้ว นายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธาน สนช. คนที่หนึ่ง ปฏิบัติหน้าที่ประธานที่ประชุม ได้ขอให้สมาชิกลงมติว่า จะรับหลักการร่าง พ.ร.บ.ภาษีการรับมรดก ในวาระแรกหรือไม่ ซึ่งที่ประชุมมีมติรับหลักการ ด้วยคะแนน 160 ต่อ 16 เสียง งดออกเสียง 10 ขณะที่ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่...) พ.ศ..... ที่ประชุมมีมติรับหลักการด้วยคะแนน 172 ต่อ 8 งดออกเสียง 7 พร้อมตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯ 25 คน มาพิจารณาร่าง พ.รบ.ทั้งสองฉบับดังกล่าวภายใน 90 วัน

ไม่มีความคิดเห็น: