แกะรอยข่าวบีบ 3 นายพลไขก๊อก เกมยาว 'บูรพาพยัคฆ์' สยายปีก
เคยประเมินสถานการณ์เอาไว้ตั้งแต่ก่อนปีใหม่ว่า ปีแพะบ้าปีนี้ รัฐนาวา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ และหัวหน้า คสช. จะเผชิญกับคลื่นยักษ์อย่างน้อยๆ 3 ลูก คือ 1.ความขัดแย้งทางการเมือง 2.เศรษฐกิจส่อเค้าวูบ และ 3.เอกภาพในกองทัพ
สองข้อแรกมีการวิเคราะห์วิจารณ์กันไปเยอะแล้ว แต่ที่มาร้อนแรงช่วงปีใหม่คือข้อ 3 ตามที่สื่อในเครือเนชั่นได้ประเมินเอาไว้ก่อนปีใหม่
จริงๆ แล้วข่าวร้อนๆ เกี่ยวกับกองทัพมีด้วยกัน 3 เรื่อง คือ 1.ปฏิวัติซ้อน 2.กดดันสามนายพลลาออก และ 3.เอกภาพในกองทัพ
สามเรื่องนี้ถ้ามองอย่างแยกส่วนก็มองได้ และสามารถวิเคราะห์ความเป็นไปได้ได้ดังนี้
เริ่มจากเรื่องแรก "ปฏิวัติซ้อน" หลายคนอาจจะอยากให้เกิดขึ้นจริง แต่ถ้าดูตามแนวโน้มสถานการณ์ ณ ปัจจุบันแล้ว บอกได้คำเดียวว่า "ยาก" เพราะทหารด้วยกันมักรู้ทางกัน ปฏิวัติพวกเดียวกันจึงยากยิ่งกว่ายาก (ยกเว้นปฏิวัติตัวเอง) และทหารสายที่ไม่พอใจการปรับย้าย หรือมีจุดยืนตรงข้ามกับรัฐบาลชุดนี้ ก็ถูกโยกไปอยู่ในตำแหน่งที่ไม่มีอำนาจบังคับบัญชากำลังพล หรืออาจจะเรียกว่า "ไม่มีกำลังในมือ"
พล.ท.นันทเดช เมฆสวัสดิ์ อดีตนายทหารระดับสูงจากศูนย์รักษาความปลอดภัย (ศรภ.) นักการข่าวชื่อดัง เขียนวิเคราะห์เอาไว้ในเฟซบุ๊กสอดคล้องกันว่า รัฐประหารซ้อนเรื่องของคนขี้โม้ มีความพยายามที่จะอธิบายจากสื่อต่างๆ ทั้งที่ปรารถนาดีและไม่ดี ถึงเรื่อง "การขาดเอกภาพของ ทบ." อาจทำให้เกิดการปฏิวัติซ้อนขึ้นมาใหม่ได้
ขอยืนยันว่า "เป็นข่าวปล่อยจากทหารสีแดงบางคนเพื่อปลอบใจตัวเองต่อสื่อมวลชน หรืออาจมีทหารบางคนพูดออกมาโดยไม่เข้าใจสภาวะที่แท้จริงของการปฏิวัติโดยละเอียด เพราะ 1.ใน ทบ.การปฏิวัติจะต้องทำพร้อมกันทุกกองทัพภาค 4 ภาค และหน่วยรบพิเศษอีก 2 หน่วย นอกจากนั้นโครงสร้างย่อยลงมาของแต่ละทัพภาคยังมีกองพลสำคัญๆ ที่ต้องเอาด้วยอีก เช่น พล.ร.9 (กองพลทหารราบที่ 9) เป็นต้น จึงเป็นเรื่องลำบากที่จะลงมือทำให้พร้อมกัน
2.ถ้า ทบ.ลงมือทำโดยไม่บอก ทอ. (กองทัพอากาศ) และ ทร. (กองทัพเรือ) แล้ว ก็ยากที่จะสำเร็จ เช่น การรัฐประหารของ พ.อ.มนูญ รูปขจร (ยศในขณะนั้น) หรือการรัฐประหารโดยกองทัพเรือในอดีต เป็นต้น
3.องค์ประกอบสำคัญอีกเรื่องหนึ่ง คือ เงื่อนไข ความเดือดร้อนที่ประชาชนจะได้รับจากรัฐบาลนั้นมีมากขนาดไหน ถ้ามีไม่มาก ทำไปก็ถูกต่อต้านจากประชาชนเอง
จากเงื่อนไขดังกล่าวนี้ จะเห็นได้ว่า ถ้ารัฐบาลดี ก็จะไม่มีเงื่อนไขให้รัฐประหารแน่นอน ดังนั้นใครไปพูดว่าจะมีการรัฐประหารซ้อน ก็อย่าไปเชื่อถือ" เป็นบทสรุปจาก พล.ท.นันทเดช
เรื่องที่สอง "กดดันสามนายพลลาออก" นายพล 3 คนที่ว่านี้ คือ นายทหารยศพลเอกในกองทัพ (ยังไม่เกษียณ) แต่ควบตำแหน่งเสนาบดีอยู่ในคณะรัฐมนตรี (ครม.) ด้วย ได้แก่ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รองผู้บัญชาการทหารบก (รองผบ.ทบ.) ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา รองผู้บัญชาการทหารสูงสุด (รองผบ.ทสส.) ควบรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และ พล.อ.สุรเชษฐ์ ชัยวงศ์ หัวหน้าคณะนายทหารฝ่ายเสนาธิการประจำผู้บังคับบัญชา ควบรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ
จริงอยู่กระแสต้านเรื่อง "ควบเก้าอี้" ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่เป็นประเด็นพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์กันมานานแล้ว ในแง่ของความเหมาะสม ผลประโยชน์ทับซ้อน และธรรมาภิบาล แต่เนื่องจากแต่ละคนล้วนเป็นนายทหารชั้นผู้ใหญ่ และนายกฯ ประยุทธ์เองก็ควบเก้าอี้ ผบ.ทบ.อยู่ด้วยในช่วงเป็นนายกฯ ใหม่ๆ (ยังไม่เกษียณ) ทำให้เสียงวิจารณ์ไม่ดังมากนัก
แต่ในที่สุดก็มีการหยิบยกเรื่องนี้ขึ้นมาพูดกันอีกรอบ คราวนี้ขยายประเด็นไปอ้างถึงผลสัมฤทธิ์ของการทำงานในตำแหน่งรัฐมนตรีในปี 2558 ที่น่าจะมีสถานการณ์กดดันรุมเร้ารัฐบาลมากขึ้น รัฐมนตรีน่าจะต้องทุ่มเทกำลังกาย กำลังใจ กำลังสติปัญญา และ "เวลา" ในการทำงานมากกว่าเดิม...ฟังๆ ดูก็มีเหตุมีผลดี
ทว่าเมื่อตรวจสอบลึกลงไปถึงต้นตอของข่าว ก็ปรากฏว่า เป็นการ "เล่นกันเอง" ของ "คนในกันเอง" ไม่ใช่ฝั่งอกหัก แต่เป็นฝั่ง "นักรบตะวันออก" ที่ต้องการเปิดทางให้มีการขยับไลน์
และไม่ใช่แค่ขยับสำหรับปีนี้ แต่เป็น "เกมยาว" วางฐานอำนาจ "บูรพาพยัคฆ์" ในอีก 3-4 ปีข้างหน้ากันเลยทีเดียว!
วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการที่ศึกษาด้านความมั่นคงทางทหาร จากมหาวิทยาลัยรังสิต วิเคราะห์ว่า เป้าหมายหลักของการกดดันอยู่ที่ 2 นายพล ไม่ใช่ 3 เพราะถ้ากดดันให้เลิกควบตำแหน่งกันหมด พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร ผบ.ทบ.ก็ต้องลาออกด้วย เนื่องจากควบเก้าอี้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงกลาโหมอยู่
สองนายพลที่ว่าคือ พล.อ.ฉัตรชัย และ พล.อ.ไพบูลย์ ส่วน พล.อ.สุรเชษฐ์ นั้น ตำแหน่งในกองทัพไม่ใช่ตำแหน่งหลัก ถึงลาออกก็ไม่ส่งผลอะไร
ล่าสุดมีข่าวยืนยันจากคนใกล้ชิดของ 2 นายพลว่า จะไม่ลาออก แต่ก็มีข่าวอีกกระแสหนึ่งว่า อาจมีการเจรจาให้ขยับ "ขึ้นหิ้ง" โดยอาจเปิด "ตำแหน่งเฉพาะตัว" ให้ ในการปรับย้ายวาระกลางปี (เม.ย.58)
ผลทางฝั่ง ทบ.ก็คือ ตำแหน่งรองผบ.ทบ.จะว่างลง จากนั้นจะมีการขยับ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช หรือ พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา ผู้ช่วย ผบ.ทบ. คนใดคนหนึ่งไปเป็น รองผบ.ทบ.แทน เพื่อจ่อขึ้น ผบ.ทบ. แล้วดึง พล.ท.กัมปนาท รุดดิษฐ์ แม่ทัพภาคที่ 1 มาเข้าไลน์ 5 เสือ ทบ. เพื่อเปิดทางให้ พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ แม่ทัพน้อยที่ 1 สายเลือดบูรพาพยัคฆ์ ขึ้นเป็นแม่ทัพภาคที่ 1 ครึ่งปี แล้วส่งเข้าไลน์ 5 เสือทันทีในการปรับย้ายวาระประจำปี (ก.ย.58)
อาจารย์วันวิชิต มองว่า พล.อ.ธีรชัย กับ พล.อ.ปรีชา คู่แคนดิเดต ผบ.ทบ.คนใหม่ต่อจาก พล.อ.อุดมเดช นั้น ใครสมหวังได้ขึ้นเป็น ผบ.ทบ.ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะคนหนึ่งก็เป็น "น้องรัก" ของทั้ง "พี่ตู่-พี่ป้อม" (นายกฯ ประยุทธ์ และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ) ขณะที่อีกคนก็เป็น "น้องแท้ๆ" ของ พล.อ.ประยุทธ์ ฉะนั้นเรื่องความไว้วางใจในช่วงการเมืองเปลี่ยน (ปี 2559) หรืออาจต้องการอยู่ในอำนาจต่อไป จึงไม่ใช่ปัญหาไม่ว่าจะเลือกใคร
ปัญหาจะอยู่ที่เดือนกันยายน 2559 ต่างหาก เพราะถ้าไม่ทำตามแผนดังว่า จะไม่มี "บูรพาพยัคฆ์" ขึ้นเป็น ผบ.ทบ. เพราะ พล.ท.กัมปนาท นอกจากไม่ใช่บูรพาพยัคฆ์แล้ว ยังเกษียณปี 2559 พร้อมกับ พล.อ.ธีรชัย และ พล.อ.ปรีชา ด้วย
ดังนั้น พล.ท.เทพพงศ์ ทิพยจันทร์ บูรพาพยัคฆ์ขนานแท้ และมีอายุราชการยาวถึงปี 2562 จึงเป็น "จิ๊กซอว์" ที่ลงตัวที่สุด
ส่วนทางฝั่ง บก.ทสส. หาก พล.อ.ไพบูลย์ ลาออกหรือขยับขึ้นหิ้งเหมือน พล.อ.ฉัตรชัย ก็จะมีนายทหารบูรพาพยัคฆ์คนสำคัญอีกคน คือ พล.อ.วลิต โรจนภักดี รองเสนาธิการทหาร รอเสียบแทน เพื่อก้าวขึ้นเป็น ผบ.ทสส.ในลำดับต่อไป
อาจารย์วันวิชิต สรุปว่า นี่จึงเป็นเกมยาวในการสยายปีกและรักษาฐานอำนาจของ "บูรพาพยัคฆ์" โดยแท้!
สำหรับเรื่องที่สาม คือ "เอกภาพในกองทัพ" นั้น ได้เคยวิเคราะห์ไปแล้วว่า การรับตำแหน่ง ผบ.ทบ.ของ พล.อ.อุดมเดช ในยามที่อดีต ผบ.ทบ.คนที่ส่งไม้ให้ตัวเองผงาดขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์) และพี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์อย่าง พล.อ.ประวิตร ก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม (ขณะที่ พล.อ.อุดมเดช เป็นรัฐมนตรีช่วย) ทำให้ พล.อ.อุดมเดช ไม่ได้มี "อำนาจเต็ม" อย่างแท้จริงในการบริหารจัดการกองทัพ
กระทั่งมีแรงกดดันจาก "เพื่อน ตท.14" เพราะหลายคนยังต้องลุ้นเป็น "พลเอก" ก่อนเกษียณ ทั้งๆ ที่เพื่อนนั่งเป็น ผบ.ทบ.อยู่
จุดโฟกัสสำคัญจึงอยู่ที่การปรับย้ายเดือนเมษายน 2558 และนี่คือจุดเชื่อมโยงให้ทั้งสามเรื่องนี้อาจไม่ได้ "แยกส่วนกัน" แต่สามารถมองแบบ "ภาพรวม" ที่ส่งผลถึงกันและกันได้ด้วย
เพราะปัญหาเอกภาพในกองทัพ อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดข่าวลือเรื่องสามนายพล เพื่อให้มีการขยับตำแหน่ง ยืดเส้นยืดสาย และระบายความอึดอัด ซึ่งแน่นอนว่า ถ้าผู้มีอำนาจบริหารจัดการไม่ดี อาจบานปลายกลายเป็นรอยร้าวในกองทัพได้เหมือนกัน
เมื่อถึงวันนั้น หากสถานการณ์ด้านอื่นๆ สุกงอม และไม่เป็นไปตามที่รัฐบาลวาดหวัง เช่น เศรษฐกิจแย่ ราคาพืชผลทางการเกษตรไม่ดีขึ้น กลุ่มอำนาจเก่าขยับจากใต้ดินขึ้นมาบนดิน ฯลฯ ข่าวเรื่องปฏิวัติซ้อนอาจไม่ใช่ข่าวโคมลอยก็ได้
ที่สำคัญการปฏิวัติ หรือเปลี่ยนขั้วอำนาจสมัยนี้ ไม่จำเป็นต้องลากรถถังออกมายิงกันเสมอไป!
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น