กปปส.เปลี่ยนไป! "คำนูณ"มึน ทำไมอยู่ดีๆไม่เอา "นายกฯคนนอก"
จากกรณีเมื่อวันที่ 4 ม.ค.ที่ผ่านมา นายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ โฆษกกลุ่มกปปส. กล่าวถึงข้อเสนอของกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ นายกรัฐมนตรีไม่ต้องเป็นส.ส. ว่า "ทางกปปส.นั้นไม่เห็นด้วยนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้เป็นส.ส. เนื่องจากเป็นการเปิดทางให้นายทุนเข้าสู่การเมือง จ้างเงินซื้อโหวตเป็นนายกรัฐมนตรี ซึ่งจะยิ่งสร้างปัญหากว่าอดีต"
ทั้งนี้ ยังมองว่าปัญหาของประเทศไม่ได้เกิดจากระบบทั้งหมด แต่เกิดขึ้นจากตัวบุคคล ดังนั้น ต้องมุ่งแก้ไปที่ตัวบุคคล อย่างการทุจริตการเลือกตั้ง คดีต้องไม่มีอายุความ และต้องเพิ่มโทษให้รุนแรงอย่างตัดสิทธิการเมืองตลอดชีวิต ขณะเดียวกันสิ่งที่ควรกำหนดคือต้องสร้างระบบพรรคการเมืองให้เข้มแข็ง เป็นสถาบันการเมือง และเป็นหลักประกันว่าระบบใหม่จะมีการเมืองที่เข้มแข็ง ประชาชนพึ่งพาได้ เพราะการทำให้พรรคการเมืองอ่อนแอ จะยิ่งทำให้นักการเมืองเข้มแข็งมีการใช้อำนาจ และทุนเข้ามาสร้างอำนาจต่อรอง
ขณะเดียวกัน ล่าสุดวันนี้ (5 ม.ค.) นายคำนูณ สิทธิสมาน สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว Kamnoon Sidhisamarn ในประเด็นเรื่องการเปลี่ยนท่าที่ของ กปปส. ต่อในเรื่อง "ที่มาของนายกรัฐมนตรี" ดังนี้
ข้อสรุปเบื้องต้นของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะได้รับการเสนอชื่อจากสภาผู้แทนราษฎรให้เป็นนายกรัฐมนตรีเสียใหม่ โดยไม่บัญญัติบังคับว่าจะต้องเป็นส.ส.เท่านั้น ก่อให้เกิดเสียงไม่เห็นด้วยอย่างกว้างขวางพอสมควร "โดยเฉพาะจากนักการเมือง"
แม้แต่โฆษกกปปส.ก็ไม่เว้น !
โดยบอกในทำนองว่า คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญอย่าได้อ้างกปปส. !!
ประเด็นนี้ ผมฟังจากข่าวค่ำของช่อง 9 อ.ส.ม.ท.คืนนี้เอง หากผิดพลาดไม่ครบถ้วนประการใดต้องขออภัย แต่ก่อนหน้านี้ หัวหน้าพรรคของท่านโฆษก กปปส. ก็แสดงความไม่เห็นด้วยกับประเด็นนี้ในระดับหนึ่งมาแล้ว !!
การที่ฟากฝั่งหนึ่งไม่เห็นด้วยกับประเด็นเปิดกว้าง ไม่บังคับให้นายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น พอเข้าใจได้ เพราะเป็นจุดยืนเดิมมาโดยตลอดช่วงวิกฤตเกือบ 10 ปีมานี้
จุดยืนที่เห็นว่าประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง อะไรที่ไม่ได้มาจากการเลือกตั้งไม่ใช่ประชาธิปไตยทั้งสิ้น จุดยืนนี้ถูกหรือผิดหรือมีที่มาอย่างไรเป็นเรื่องหนึ่ง ณ ที่นี้ เพียงแต่บอกว่าฟากฝั่งนี้ยืนอย่างนี้มาโดยตลอด ครั้งนี้ยืนอยู่จุดเดิมอีกจึงไม่น่าแปลกใจอะไรนัก
แต่กับอีกฟากฝั่งหนึ่ง มามีความเห็นตรงกันกับฟากฝั่งที่ต่อสู้ทางการเมืองมาโดยตลอดนี่ผมยังต้องใช้ความพยายามในการทำความเข้าใจอยู่
ผมไม่เคยได้ยินกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญคนใดอ้างกปปส. ได้ยินแต่ว่าการกำหนดคุณสมบัติของนายกรัฐมนตรีให้เปิดกว้างไว้ย่อมจะดีกว่า เพราะในบางสถานการณ์ประเทศอาจมีความจำเป็นต้องมีนายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากส.ส. แล้วก็ยกตัวอย่างเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 และเหตุการณ์ก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 ที่มีการเรียกร้องให้มีนายกรัฐมนตรีที่เป็นคนกลางและไม่ได้มาจากส.ส.เพื่อแก้ไขวิกฤต แต่ไม่สำเร็จ เพราะทั้งรัฐธรรมนูญ 2550 และรัฐธรรมนูญ 2540 บังคับไว้ว่านายกรัฐมนตรีต้องมาจากส.ส.เท่านั้น
ช่วงก่อนรัฐประหาร 19 กันยายน 2549 กระบวนการเรียกร้องที่อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม 2549 กล่าวว่าสามารถทำได้ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญเพราะมีมาตรา 7 รองรับไว้ แต่หลังจากปรากฎกระแสพระราชดำรัสเมื่อวันที่ 25 เมษายน 2549 เหตุผลเรื่องมาตรา 7 เป็นอันตกไป ไม่มีใครพูดถึงอีก
ในช่วงก่อนรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 มีข้อเรียกร้องให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 รักษาการประธานวุฒิสภา ใช้ความกล้าหาญทูลเกล้าฯ เสนอชื่อผู้เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ทั้งประกาศบนเวที และนำมวลมหาประชาชนกปปส. เดินขบวนมาถึงรัฐสภาเพื่อให้กำลังใจและให้แก้วิกฤตด้วยวิธีดังกล่าว โดยเลขาธิการกปปส.ได้เข้าพบรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เป็นการเฉพาะด้วย
การเรียกร้องให้รองประธานวุฒิสภาคนที่ 1 เสนอชื่อบุคคลผู้เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีตั้งแต่หลังเดือนธันวาคม 2556 เป็นต้นมา ก็เท่ากับต้องเสนอ "ผู้ที่ไม่ได้เป็นส.ส.สถานเดียว" เพราะขณะนั้นไม่มีส.ส.เหลืออยู่สักคนเดียว เพราะมีการยุบสภาแล้ว ซึ่งเป็นสถานการณ์เดียวกับช่วงเดือนมีนาคม 2549
โฆษกกปปส.ควรถามเลขาธิการกปปส.ในข้อเสนอที่ประกาศออกมาหลายครั้งหลายหน
เช่นเดียวกับควรถามหัวหน้าพรรคของท่านถึงเหตุการณ์ในช่วงเดือนมีนาคม 2549 ว่าท่านเคยแสดงความเห็นไว้อย่างไร และข้อเสนอนั้นเป็นไปไม่ได้ในเวลาต่อมาเพราะอะไร
ก็จะได้ความจริงในอดีต 2 ครั้ง ว่าในบางสถานการณ์ประเทศมีความจำเป็นต้องได้นายกรัฐมนตรีที่ไม่ได้มาจากส.ส.หรือไม่ อย่างไร
และสถานการณ์นั้นหมดไปแล้วโดยสิ้นเชิง ไม่มีทางเกิดขึ้นอีกแล้วอย่างนั้นหรือ? คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญทุกคนจะได้รับฟังให้ชัดเจนแล้วนำไปประกอบการพิจารณา
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น