PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันอังคารที่ 6 มกราคม พ.ศ. 2558

เศรษฐกิจโลกปี58

มองเศรษฐกิจโลกปี′58 อนาคตสหรัฐ-จีน-ญี่ปุ่น-รัสเซีย 

Prev
1 of 1
Next

คลิกภาพเพื่อขยาย

updated: 05 ม.ค. 2558 เวลา 20:59:02 น.

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์

ปี 2557 ที่ผ่านมา เศรษฐกิจโลกต้องเผชิญกับสภาพแวดล้อมที่ผันผวน ทั้งราคาน้ำมันที่ดิ่งลงหลังช่วงกลางปีแล้วถึงกว่า 50% อยู่ที่ประมาณ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล การประกาศยุติมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบ (คิวอี) ของสหรัฐ ตลอดจนเศรษฐกิจของจีนที่ชะลอตัว กระทบไปถึงห่วงโซ่การผลิตในภูมิภาคอื่นๆ

นอกจากนี้ โลกยังต้องเผชิญกับสภาวะโรคระบาดอย่างเชื้อไวรัสอีโบลาในแอฟริกาตะวันตก ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภูมิภาคดังกล่าวให้เข้าสู่สภาวะชะงักงันและถดถอย

ด้านกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ประเมินการขยายตัวเศรษฐกิจโลกในปี 2557 ว่าอยู่ที่ราว 3.4% พร้อมตั้งเป้าไว้ว่าเศรษฐกิจโลกในปี 2558 นี้จะขยายตัวที่ 4% โดยเขตเศรษฐกิจที่สำคัญอย่างสหรัฐน่าจะกลับมาเป็นพระเอกฟื้นตัวได้ที่ราว 3% ขณะที่ในกลุ่มยูโรโซนน่าจะเติบโต 1.5% ส่วนญี่ปุ่นจะอยู่ประมาณ 1.1%



ส่วนธนาคารโลกประเมินว่าศูนย์กลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจจะย้ายจากประเทศตลาดเกิดใหม่และประเทศกำลังพัฒนากลับไปยังประเทศร่ำรวย โดยคาดว่าในช่วงปี 2558-2559 เศรษฐกิจโลกน่าจะขยายตัว 3.4-3.5%

ดิ อิโคโนมิสต์ ตั้งข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจในปี 2558 นั้นมีวัฏจักรคล้ายคลึงกับช่วงวิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ซึ่งเป็นช่วงที่น้ำมันมีราคาถูก และเงินดอลลาร์สหรัฐแข็งค่า เมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่นๆ โดยคาดการณ์ปีนี้การเติบโตทางเศรษฐกิจในสหรัฐอยู่ที่ 3%, จีน 7% ขณะที่ในญี่ปุ่นและกลุ่มยูโรโซนน่าจะเติบโตราว 1.1%


โดยหากเศรษฐกิจโลกในปี 2558 ไม่กระเตื้องขึ้นก็ต้องเสียสมดุลอย่างแน่นอน เนื่องจากหลายประเทศไม่สามารถดำเนินนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจได้มากกว่านี้แล้ว เช่น สหรัฐที่คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 0-0.25% เท่านั้น


ขณะที่ในยุโรปก็ดำเนินนโยบายรัดเข็มขัดเพื่อบริหารงบประมาณของประเทศ จนเริ่มมีกระแสความไม่พอใจจากนักลงทุนที่ไม่เห็นความพยายามในการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของรัฐบาล มีแนวโน้มจะเลือกพรรคนอกสายตาเข้ามาบริหารประเทศ

เจคอบ ลิว รัฐมนตรีคลังสหรัฐ เผยกับบลูมเบิร์ก อย่างน่าสนใจว่า "เศรษฐกิจโลกจะขับเคลื่อนได้ ต้องใช้ 4 ล้อ ได้แก่ สหรัฐ ญี่ปุ่น ยูโรโซน และจีน โดยถ้าไม่มีล้อใดล้อหนึ่ง การเดินทางก็จะไม่ราบรื่น" แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจที่จะต้องเกิดขึ้นในแต่ละภูมิภาคพร้อมๆ กัน



อนาคตสหรัฐสดใส

วอลล์สตรีต เจอร์นัล ประเมินว่า เศรษฐกิจสหรัฐน่าจะเติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2558 เป็นผลจากราคาน้ำมันที่ถูกลง และตลาดงานที่คึกคักมากขึ้น โดยอัตราการว่างงานในปีนี้ประเมินว่าน่าจะอยู่ที่ราว 5.3% โดยราคาน้ำมันที่ถูกลงน่าจะช่วยกระตุ้นการบริโภคภาคครัวเรือน และการขับเคลื่อนในภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก แต่ก็อาจจะเพิ่มความเสี่ยงกับภาคการผลิตน้ำมันดิบจากหินดินดาน (เชลแก๊ส) ที่ได้รับผลกระทบจากกำไรติดลบส่วนภาคอสังหาริมทรัพย์ยังคงไม่มีดีมานด์มากนัก เนื่องจากขอสินเชื่อยาก

นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ว่าธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) น่าจะขึ้นดอกเบี้ยในปี 2558 เป็นราว 1.9% อาจส่งผลกระทบต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายกับอัตราแลกเปลี่ยนทั่วโลก ซึ่งน่าจะส่งผลดีกับญี่ปุ่นและยุโรปที่ค่าเงินในภูมิภาคอ่อนลง และกระตุ้นการส่งออก แต่ขณะเดียวกันก็เป็นพิษกับบราซิลและอินเดียที่ต้องเผชิญสภาวะเงินเฟ้อที่รุนแรงขึ้น



จีนยังต้องพึ่งการลงทุน

หลังจากที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีนพยายามปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยการบริโภคภายในประเทศ แต่กลับไม่เป็นผล ทำให้เศรษฐกิจจีนเสี่ยงเข้าสู่สภาวะเงินฝืด โดยสินค้าในประเทศนั้นมีราคาถูกลงตั้งแต่เมื่อปี 2555 เป็นต้นมา ขณะที่ การลงทุนยังคงเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจหลักของประเทศจีน คิดเป็นสัดส่วน 49% ของจีดีพี

อย่างไรก็ตาม ความเปลี่ยนแปลงในแง่ของห่วงโซ่การผลิตโลกที่มองหาแหล่งผลิตที่มีแรงงานถูก ประกอบกับการลงทุนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องในการสร้างสาธารณูปโภค และโรงงานผลิตสินค้าในประเทศจีนทำให้เกิด สภาวะ "ตลาดล้นเกิน" โรงงานหลายแห่งต้องประสบกับภาวะขาดทุน กระทบกับห่วงโซ่การขนส่งวัตถุดิบทั่วโลก



ยูโรโซนยังซบเซา

ขณะที่ยูโรโซน 18 ประเทศเศรษฐกิจในปีนี้จะยังคงขยายตัวอย่างช้า ๆ โดยประเทศที่ถือว่ามีผลงานทางด้านเศรษฐกิจดีที่สุดในภูมิภาคอย่างเยอรมนียังคงขยายตัวเพียงราว 1% และไม่มีการลงทุนเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มเลย ขณะที่เมื่อมองในภาพรวม สภาวะการว่างงาน และการเบิกจ่ายงบประมาณของภาครัฐและเอกชนยังคงไม่กระเตื้อง เนื่องจากนโยบายทางการเงินที่เคร่งครัด

ด้านฝรั่งเศสและอิตาลีต่างออกมาโจมตีนโยบายรัดเข็มขัดของเยอรมนีอย่างรุนแรง โดยทั้ง 2 ประเทศต้องการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ขณะที่เยอรมนีตั้งให้ความสำคัญเรื่องการบริหารจัดการหนี้สาธารณะ



ญี่ปุ่นรอฤทธิ์ลูกศรดอกที่ 3


หลังจากที่ประกาศขึ้นภาษีการขายเป็น 8% เมื่อเดือน เม.ย. 2557 เพื่อลดภาระหนี้สาธารณะ แต่ญี่ปุ่นภายใต้นโยบายเศรษฐกิจ "อาเบะโนมิกส์" กลับถอยหลังเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจถดถอยอีกครั้ง เนื่องจากความต้องการบริโภคสินค้าในประเทศหดหาย ประกอบกับค่าเงินเยนที่อ่อนค่าลง ทำให้สินค้านำเข้ามีราคาแพง

อย่างไรก็ตาม ด้วยสภาวะการส่งออกที่เริ่มฟื้นตัว ประกอบกับการประกาศอัดฉีดเงินเข้าสู่สภาวะเศรษฐกิจมากขึ้น และแผนการปฏิรูปเชิงโครงสร้างเพื่อกระตุ้นความสามารถในการแข่งขันของประเทศตามแผนซึ่งเป็น "ลูกศรดอกที่ 3" น่าจะทำให้เศรษฐกิจญี่ปุ่นขยายตัวที่ราว 1-2%



รัสเซียอ่วมฤทธิ์คว่ำบาตร

รัสเซียอ่วมฤทธิ์คว่ำบาตรทำเอานักลงทุนหวั่นเกรงต่อสภาวะเศรษฐกิจที่อาจลุกลามไปทั่วโลก เช่นที่เกิดขึ้นเมื่อทศวรรษ 2540 หลังจากที่ค่าเงินรูเบิลของรัสเซียตกต่ำเหลืองราว 60 รูเบิลต่อดอลลาร์สหรัฐ ธนาคารกลางรัสเซียทุ่มเงินกว่า 8 หมื่นล้านดอลลาร์เพื่อพยุงค่าเงินรูเบิลและปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเป็น 17% แต่สุดท้ายก็ไม่อาจต้านไหว ประกอบกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ตกลงมาที่ 60 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล โดยถ้าอยู่ในระดับนี้ไปถึงสิ้นปี น่าจะทำให้รัสเซียต้องเผชิญกับวิกฤตทางการเงิน เนื่องจากรายได้หายไปกว่า 2 ใน 3 ของปี 2557

นอกจากนี้ เรื่องการคว่ำบาตรทางการค้าทำให้รัสเซียขาดแคลนสินค้าอุปโภคบริโภค และต้องมองหาแหล่งสินค้าแห่งใหม่ เปิดโอกาสทางการค้าให้กับหลายประเทศ

อย่างไรก็ตาม ฟอร์บส์ตั้งข้อสังเกตว่า ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับประเทศตะวันตกนั้นอาจนำไปสู่การเผชิญหน้าที่รุนแรงมากขึ้น จนส่งผลกระทบกับตลาดเกิดใหม่ทั่วโลก



ติดตามข่าวสาร ผ่านแฟนเพจเฟซบุ๊ค ประชาชาติธุรกิจออนไลน์
www.facebook.com/PrachachatOnline
ทวิตเตอร์ @prachachat



ไม่มีความคิดเห็น: