PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

จตุพร พรหมพันธ์:มาตรา44 กฎอัยการศึก หนีเสือปะจระเข้ ?

มาตรา 44 นั้น ความจริงก็คือมาตรา 17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ จอมพลถนอม ต่อเนื่องถึงนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ก่อนจะมีการร่างรัฐธรรมนูญ 2517 หรือมาตรา 27 ในการยึดอำนาจ เมื่อ 23 กุมภาพันธ์ 2534 หรือมาตรา 27 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวในการยึดอำนาจใน 19 กันยายน 2549 พอมาถึง 2557 มาตราเหล่านี้เพียงเปลี่ยนแค่ตัวเลข และเพิ่มเนื้อหาเข้าไปเล็กน้อย นั่นคือมาตรา 44
มาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจของรัฎฐาธิปัตย์ ของหัวหน้า คสช.เหนือกฎหมายทุกฉบับ ผมเห็นว่า การที่จะเดินเข้าไปสู่การให้อำนาจตัวบุคคลนั้น เป็นอันตรายสำหรับประชาชนที่ถูกใช้ รวมกระทั่งผู้ใช้อำนาจนั้นเอง การใช้กฎอัยการศึกนั้น เป้าก็อยู่กันเป็นคณะ แต่ทันทีที่ใช้มาตรา 44 อำนาจก็จะอยู่ที่คนประกาศใช้เพียงแค่คนเดียว
"ข้าพเจ้าคือกฎ กฎคือข้าพเจ้า คำพูดของข้าพเจ้าเป็นกฎ" ดังเช่นอำนาจของมาตรา 17 ในสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ที่จะประหารชีวิตใครก็ได้ ภายใต้วาทกรรมว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" ดังเช่นการแก้ไขปัญหาไฟไหม้ช่วงตรุษจีน ด้วยการสั่งประหารชีวิตบ้านที่เป็นต้นเพลิงที่เกิดเหตุ จับโจรผู้ร้ายมาประหารชีวิตกลางสนามหลวงหรือศาลากลาง และให้คนไทยมามุงดูในขณะยิงเป้า จับคนที่มีความคิดเห็นต่างทางการเมือง เช่น ครูครอง จันดาวงศ์ที่สกลนคร และสั่งยิงเป้าที่สนามบินสว่างแดนดิน เป้าหมายให้คนมาดูการประหารชีวิตเกิดความกลัว ภายใต้วาทกรรมว่า "ข้าพเจ้าขอรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียว" โดยมีการเล่าเกร็ดกันว่า แม้กระทั่งนางสาวไทยบางคนในขณะนั้น ก็ยังถูกรับผิดชอบแต่เพียงผู้เดียวไปด้วย
จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ บริหารประเทศ 4 ปี ก็ถึงแก่อสัญกรรม มาตรา 17 ก็ย้อนตัว เมื่อจอมพลถนอม กิตติขจรที่เป็นลูกน้องกันมา ประกาศใช้มาตรา 17 ยึดทรัพย์และบริหารประเทศต่อภายใต้วาทกรรมว่า "จงทำดี จงทำดี"
และท่ามกลางความยุ่งเหยิงทางการเมือง จอมพลถนอมประกาศยึดอำนาจตนเอง
นายอุทัย พิมพ์ใจชน นายอนันต์ ภักดิ์ประไพ และ นายบุญเกิด หิรัญคำ แจ้งความจับ แต่ภายใต้บรรยากาศที่บ้านเมือง "ข้าพเจ้าเป็นกฎ" สามารถเปลี่ยนแปลงได้แม้คำพิพากษา เหนือตุลาการ นิติบัญญัติ บริหาร ซึ่งคดีนี้ เป็นคดีที่โจทก์ถูกขัง จำเลยรอด และได้ออกจากคุกหลังเหตุการณ์ 14 ตุลาคม 2516
ประวัติศาสตร์ได้อธิบายเส้นทางมามากมาย และเป็นกงกรรมกงเกวียน เพราะหลังการถูกขับไล่และต้องเดินทางออกนอกประเทศของจอมพลถนอมและคณะ นายสัญญา ธรรมศักดิ์ก็ประกาศยึดทรัพย์จอมพลถนอมและพวก โดยอาศัยมาตรา 17 พอหลังเหตุการณ์ 6 ตุลา 19 มาตรา 17 ก็ถูกแปลงมาเป็นมาตรา 21
ในการเขียนรัฐธรรมนูญปี 2534 โดยนายมีชัย ฤชุพันธุ์ ผมเองก็ได้เป็นกงล้อเล็กๆที่ออกมาต่อต้านการเขียนมาตรา 27 ที่สามารถใช้อำนาจนิติบัญญัติ บริหาร ตุลาการ ลงในรัฐธรรมนูญฉบับนั้น และเมื่อต้านกระแสสังคมไม่ไหว นายมีชัย ฤชุพันธุ์ก็ไม่ได้ใส่มาตรานี้เข้าไป
ในรัฐธรรมนูญปี 2558 ที่กำลังเขียน ก็มีความพยายามที่จะคงไว้ซึ่งอำนาจรัฎฐาธิปัตย์ต่อไปอีก 5 ปี ที่ผมได้แสดงความคิดเห็นแล้วว่าไม่ได้เป็นผลดีต่อประชาชนและตัวผู้ใช้เอง เพราะเป้าทั้งปวงก็จะอยู่ที่ พลเอกประยุทธ์ จันทรโอชา ในฐานะผู้มีอำนาจเต็ม
การยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วมาเจอสิ่งที่หนักกว่า เปรียบดั่งหนีเสือปะจระเข้ มันก็ตายทั้งคู่
และต้องยอมรับว่า เราไม่สามารถใช้มาตรา 44 ตบตานานาชาติได้ และยิ่งใช้อำนาจที่มาจากการยึดอำนาจ และเป็นอำนาจที่รวบไว้ที่หัวหน้า คสช.เพียงคนเดียว นานาชาติก็จะพุ่งเป้ามาที่คนๆเดียวแทน


ไม่มีความคิดเห็น: