PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

สมจิตต์ : เส้นแบ่งระหว่าง “ความเป็นสื่อ” กับ “มนุษยธรรมและความเป็นพลเมือง”

เส้นแบ่งระหว่าง “ความเป็นสื่อ” กับ “มนุษยธรรมและความเป็นพลเมือง”
เห็นข่าวที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้าคสช.และนายกรัฐมนตรี ปรี๊ดแตกใส่ผู้สื่อข่าวท่านหนึ่งที่ทำสกู๊ปเกี่ยวกับแรงงานไทยถูกหลอก โดยส่วนตัวเข้าใจพล.อ.ประยุทธ์ในกรณีนี้และเห็นใจน้องผู้สื่อข่าวด้วยเหมือนกัน เพราะคิดว่าน่าจะนำเสนอด้วยเจตนาดีเพื่อให้มีการแก้ปัญหา
ในความเป็นสื่อมวลชนดิฉันเคยถกเถียงกับเพื่อนหลายครั้ง โดยเฉพาะตอนที่เข้ามาเป็นนักข่าวใหม่ ๆ เวลาได้ข่าวอะไรมาก็คิดแต่จะนำเสนออย่างเดียว กระทั่งวันหนึ่งได้ข้อมูลที่เรียกว่าหากนำเสนอก็พาดหัวหน้าหนึ่ง แต่ดิฉันเลือกที่จะไม่ส่งข่าวนี้ เพราะเห็นว่าผลกระทบที่จะตามมาคือความเสียหายของประเทศ ถ้าเสนอข่าวนี้ไปก็คงได้คำชมว่า หาข่าวเก่งแต่จะมีประโยชน์อะไรถ้าข่าวนั้นกระทบต่อความมั่นคงของบ้านเมือง
ในความเป็นสื่อมวลชนนอกจากการนำเสนอความจริงแล้วยังต้องคำนึงถึงการรักษาผลประโยชน์ของชาติด้วย เหมือนกับที่ดิฉันไม่เคยเห็นด้วยกับการตีข่าว “โรฮิงญา” จนประเทศไทยกลายเป็นผู้ร้ายในสายตานานาชาติ ความมีเมตตาและมนุษยธรรมก็ต้องอยู่บนพื้นฐานศักยภาพของตัวเราเองด้วย เป็นเรื่องง่ายที่นักสิทธิมนุษยชนจะเรียกร้องให้ประเทศไทยรับผิดชอบ เพราะคนเหล่านั้นไม่เคยต้องมาร่วมรับผิดชอบด้วย สิ่งที่ประเทศไทยทำได้คือการปฏิบัติกับ “โรฮิงญา” ในฐานะเพื่อนมนุษย์ แต่จะให้แบกภาระของคนอื่นมาเป็นของตัวก็คงไม่ใช่ที่ เพราะยังมีคนไทยจำนวนมากที่ “น่าสงสาร” ขาดโอกาสและมีคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่ รอให้รัฐช่วยเหลือเช่นเดียวกัน
เมื่อไม่นานมานี้คิดว่าคงจำกันได้เกี่ยวกับ “ข่าวป้าสังเวียนจุดไฟเผาตัว” เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลช่วยเหลือเรื่องหนี้สิน สุดท้ายก็ยื้อชีวิตกันไว้ไม่ได้ ตั้งแต่แรกที่เห็นภาพข่าวนี้ ฉันเกิดคำถามทันทีว่า “ไม่มีใครเข้าไปช่วยดับไฟเลยหรือ” แต่ก็เข้าใจดีว่าสัญชาตญาณของความเป็นสื่อมวลชนพอมีเหตุการณ์ก็จะหยิบกล้องขึ้นมาบันทึกภาพไว้ก่อนเป็นอันดับแรก
เรื่องของการทำหน้าที่สื่อมวลชนกับความมีมนุษยธรรมในช่วงสถานการณ์วิกฤตจึงเป็นประเด็นที่หาคำตอบได้ยาก ยิ่งการให้รางวัลวัดกันที่ความทันเหตุการณ์ ภาพรัดทด ฯลฯ ซึ่งมีกรณีน่าศึกษาจากช่างภาพ “พูลิตเซอร์” เควิน คาร์เตอร์ ช่างภาพสารคดีชาวแอฟริกาใต้ ซึ่งเป็นเจ้าของผลงาน “ภาพเด็กหญิงชาวซูดานกำลังลมหายใจรวยรินใกล้สิ้นลมหายใจ โดยมีนกแร้งเฝ้าคอยให้เธอเป็นซากศพเพื่อจิกกินเป็นอาหาร
เควิน ได้รางวัลพูลิตเซอร์จากภาพนั้นในปี 1994 แต่เขาถูกสังคมวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงเมื่อมีข้อเท็จจริงปรากฏว่า หลังจากที่เขาถ่ายรูปแล้วสิ่งที่ทำคือไล่นกแร้งไป แต่ไม่ได้ช่วยเหลือเด็กที่พยายามจะเดินไปขออาหารจากแคมป์สหประชาชาติที่อยู่ห่างออกไปเพียงแค่ 1 กิโลเมตร
ในที่สุด เควิน ก็จบชีวิตตัวเองด้วยการทำฆ่าตัวตายในวัยเพียง 33 ปี ด้วยการรมคาร์บอนไดออกไซด์ และเขียนบันทึกสุดท้ายไว้ว่า
“ผมถูกหลอกหลอนด้วยความทรงตำบาดลึกของการฆ่าฟัน ศพ ความโกรธ ความเจ็บปวดของเด็กที่อดอยากและบาดเจ็บ ของคนบ้าที่กระหายการลั่นไกปืน ความเจ็บปวดของชีวิตมันกลืนกินความสุข จนถึงจุดที่เรียกว่า ความสุขนั้นไม่มีอยู่”
ในฐานะเป็นสื่อมวลชนมีคำตอบกับตัวเองว่า การนำเสนอความจริงและให้ความรู้กับประชาชนอย่างเต็มที่ มีค่ามากกว่าการได้รางวัลใด ๆ จากการทำข่าวโศกนาฏกรรมที่ต้องมองข้ามความเป็นพลเมืองและมนุษยธรรม
ส่วนท่าทีของ พล.อ.ประยุทธ์ แม้ดิฉันจะเข้าใจความรู้สึกของท่าน แต่ก็ไม่ได้หมายความว่า “ยอมรับได้”
ท่านบอกว่าเป็นนายกรัฐมนตรีก็มีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่มีใครเถียงหรอกค่ะ แต่ความแตกต่างของคนธรรมดากับผู้นำประเทศคือ “วุฒิภาวะทางอารมณ์” ถ้าตัวท่านยังทำงานอย่างไม่มีความสุข แล้วจะคืนความสุขให้ประชาชนได้อย่างไร
/////////////////

ไม่มีความคิดเห็น: