PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

ปชป.จวกเละ-ม.44 ย้อนยุค! พท.ซัดยิ่งเบ็ดเสร็จ

ปชป.จวกเละ-ม.44 ย้อนยุค! พท.ซัดยิ่งเบ็ดเสร็จ

ไทยรัฐฉบับพิมพ์ 29 มี.ค. 2558 


สนช.-สปช.ดาหน้าหนุน ‘ปู’โต้‘บิ๊กตู่’ปมค้ามนุษย์
“ประยุทธ์” มอบ “วิษณุ” แม่งานร่างกฎเหล็ก ตีกรอบอำนาจ ม.44 รธน.ชั่วคราว ก่อนเลิกอัยการศึก “ปณิธาน” คาดต้นสัปดาห์ชัดเจน หวังนานาชาติคลายแรงกดดัน สนช.-สปช.แห่หนุน “พีระศักดิ์” เชื่อฟื้นภาคท่องเที่ยวกลับมาสดใส “วันชัย” ชี้มีแต่ได้มากกว่าเสีย “นิพิฏฐ์” จวกย้อนยุคเผด็จการ “สฤษดิ์-ถนอม” เตือนนายกฯระวังเป็นตำบลกระสุนตก แต่ “ถาวร” ตบมือเชียร์ แค่ระวังอย่าใช้ตามอารมณ์ “จตุพร” บอกเหมือนหนีเสือปะจระเข้ “เต้น” หวั่นนานาชาติยิ่งกังวล เพราะขยายอำนาจรัฐไม่มีขีดจำกัด “จาตุรนต์” ตีตราเผด็จการเบ็ดเสร็จเหนือฝ่ายบริหาร-นิติบัญญัติ-ตุลาการ รอดูเนติบริกรมือชง “บวรศักดิ์” เสียงแข็งใส่พวกวิจารณ์ รธน.เลียนแบบฝรั่ง “สังศิต” ขู่เเซงก์ชั่น กมธ.ยกร่างฯถ้าขืนดันทุรัง “ปู” ของขึ้นโพสต์โต้ “บิ๊กตู่” ปมค้ามนุษย์ ให้ไปอ่านรายงานรัฐบาลชุดก่อนแล้วจะรู้
ตามที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. เตรียมยกเลิกการใช้กฎอัยการศึก มาใช้รัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวมาตรา 44 แทน โดยมอบให้นายวิษณุ เครืองาม รองนายกฯ เป็น ผู้ดูแลการร่างระเบียบคำสั่ง โดยมีการแสดงความเห็น จากฝ่ายต่างๆ ทั้งที่เห็นด้วยและคัดค้าน
คสช.–ครม.ครึกครื้นดวลวงสวิง
เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ผู้สื่อข่าวรายงานภารกิจของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ลงพื้นที่พบปะประชาชนและประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1 ที่สวนสนประดิพัทธ์ แห่งที่ 2 อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยตั้งแต่ช่วงเช้า พล.อ.ประยุทธ์ พร้อมด้วยสมาชิกคสช.และ ครม. ร่วมทำกิจกรรมเชื่อมความสัมพันธ์ และร่วมตีกอล์ฟ ที่สนามกอล์ฟสวนสนประดิพัทธ์ โดยไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวและบันทึกภาพ ขอเป็นการส่วนตัว จากนั้นได้รับประทานอาหารกลางวันร่วมกัน ต่อมาเวลา 15.00 น. พล.อ. ประยุทธ์และคณะขึ้นเครื่องจากสนามบินท่าอากาศยานหัวหิน (บ่อฝ้าย) อ.หัวหิน ไปยังประเทศมาเลเซีย เพื่อเข้าร่วมพิธีสมรสของบุตรสาวนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย
มอบ “วิษณุ” แม่งานร่างกฎเหล็ก
นายปณิธาน วัฒนายากร ที่ปรึกษา พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เปิดเผยว่า เหตุผลสำคัญที่จะให้ยกเลิกกฎ อัยการศึก มาใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 แทน เพื่อลดแรงกดดันจากกลุ่มผู้เห็นต่างทางการเมืองและจากต่างชาติ เรื่องนี้ คสช.หารือกันตั้งแต่ต้นปีแล้ว แต่ช่วงนั้นเกิดเหตุระเบิดเชื่อมโยงการเมือง จึงต้องใช้กฎอัยการศึกไปก่อน เมื่อรัฐบาลเห็นว่าขณะนี้ถึงเวลาที่ต้องเปิดพื้นที่การแสดงออกทางการเมืองมากขึ้น จึงเห็นว่าถึงเวลานำมาตรา 44 มาใช้แทนได้ เพราะคิดว่าเป็นแนวทางที่ดีกว่าหลายด้าน แต่ต้องรัดกุมให้มาก โดยหัวหน้า คสช.มอบหมาย นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้ดูแล ซึ่งต้นสัปดาห์หน้าน่าจะมีความชัดเจนมากขึ้น ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจะหารือเพื่อออกระเบียบคำสั่ง แต่เมื่อยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วหากต่างชาติยังกดดันอยู่ ก็เท่ากับว่าต่างชาติ เช่น สหรัฐอเมริกาและองค์กรอื่น ต้องการให้รัฐบาลคืนอำนาจแก่ประชาชนสถานเดียว
สนช.หนุนเลิกอัยการศึกใช้ ม.44
ที่ศาลากลางจังหวัดอุตรดิตถ์ นายพีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) นำ สนช.กว่า 20 คน รับฟังและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เพื่อรับทราบปัญหาจากประชาชน พร้อมติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการตามนโยบายที่รัฐบาลแถลงต่อ สนช. โดยนายพีระศักดิ์กล่าวถึงกรณี พล.อ.ประยุทธ์เตรียมยกเลิกกฎอัยการศึกมาใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 แทน ว่าเห็นด้วยกับแนวทางดังกล่าว แต่จากการลงพื้นที่ไม่มีเสียงสะท้อนจากประชาชน ว่าได้รับผลกระทบจากกฎ อัยการศึก มีเพียงเสียงสะท้อนปัญหาทางเศรษฐกิจ การยกเลิกกฎอัยการศึกส่วนหนึ่งอาจมาจากการกดดันของต่างประเทศ โดยเฉพาะภาคการท่องเที่ยว และ คสช.คงมีข้อมูลชัดเจนว่า ควรใช้มาตรการใดบริหารประเทศ
เชื่อฟื้นท่องเที่ยวกลับมาสดใส
นายพีระศักดิ์กล่าวต่อว่า ถือเป็นการลดระดับการบังคับใช้มาตรการกฎหมาย จากกฎอัยการศึกลงมา แสดงว่าปัญหาเริ่มคลี่คลาย เชื่อว่าการยกเลิกกฎอัยการศึกเป็นผลดี ช่วยส่งเสริมอุตสาหกรรมท่องเที่ยวให้ดีขึ้น เพราะมาตรการนี้มีความแตกต่างจากการใช้กฎอัยการศึก มั่นใจว่าจะควบคุมสถานการณ์ได้ เชื่อว่าการประท้วงไม่น่าจะเกิดขึ้นในช่วงนี้ เพราะไม่ใช่สถานการณ์ที่เหมาะสม และเชื่อว่าชาวบ้านไม่เอาด้วย
สปช.มั่นใจมีแต่ได้มากกว่าเสีย
นายวันชัย สอนศิริ โฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (วิป สปช.) กล่าวว่า เห็นด้วยที่จะยกเลิกการใช้กฎอัยการศึกเพื่อมาใช้มาตรา 44 แทน เพราะการมีกฎอัยการศึกทำให้คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชาวต่างชาติคิดว่าบ้านเมืองเราอยู่ในสภาวะไม่สงบและมีปัญหา เมื่อยกเลิกจะทำให้เขามองเราดีขึ้นว่าบ้านเมืองเราเริ่มเข้าที่เข้าทาง ทำให้กล้ามาท่องเที่ยวและลงทุน ทำให้เศรษฐกิจประเทศดีขึ้น ประชาชนจะมีกินมีสุขมากกว่าเดิม นายกฯตัดสินใจทำได้ถูกต้องแล้ว จะได้มากกว่าเสียแน่นอน หากมีปัญหาด้านความมั่นคงนายกฯยังมีมาตรา 44 แก้ปัญหาได้ทันที หากรัฐบาลแก้ปัญหา ปากท้องประชาชนได้ ทำให้พวกเขามีอยู่มีกิน จะเป็นพลังอันยิ่งใหญ่ กลายเป็นเกราะป้องกันที่ดีให้แก่รัฐบาล มากกว่ากฎอัยการศึกหรือมาตรา 44 อีก
“นิพิฏฐ์” จวกย้อนยุค “สฤษดิ์–ถนอม”
ด้านนายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์น่าจะคงการใช้กฎอัยการศึกไว้เช่นเดิม เพราะ 1.เป็นกฎหมายเก่าที่คนไทยคุ้นเคย และมีการ ใช้ในประเทศไทยมาถึง 101 ปี เปรียบเป็นประมวลกฎหมายอาญา ที่ให้อำนาจทหารสามารถบังคับใช้ผ่านผู้บังคับกองพัน หรือแม่ทัพภาค ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ 2.กฎอัยการศึกไม่มีผลกระทบต่อสุจริตชน ในความรู้สึกของชาวบ้านยังอุ่นใจที่ควบคุมการชุมนุม การก่อเหตุใช้ความรุนแรง ใช้อาวุธฆ่าฟัน ทำร้ายกันในสังคม ส่วนรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 ให้เป็นอำนาจของหัวหน้า คสช. โดยความเห็นชอบของ คสช. ซึ่งมีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาดมากกว่า เหมือนมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ จอมพลถนอม กิตติขจร
เตือน “บิ๊กตู่” เป็นตำบลกระสุนตก
นายนิพิฏฐ์กล่าวต่อว่า มาตรา 44 ยังเป็นกฎหมายที่รวมอำนาจบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการไว้ด้วยกัน จึงมีลักษณะเป็นคำพิพากษา ที่สำคัญบุคคลใดที่ถูกคำสั่งตามมาตรา 44 จะลบล้างความผิดได้ก็ต่อเมื่อมีการออก พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเท่านั้น เช่น หากใช้อัยการศึกสามารถจับกุมคุมขังได้ 7 วันไม่ต้องขึ้นศาลจริง หลังจากนั้นก็ว่าไปตามกระบวนการยุติธรรม แต่คนที่ถูกใช้มาตรา 44 อาจถูกขังลืมไปเลย จึงไม่เห็นด้วยเพราะเป็นกฎหมายที่รุนแรงกว้างขวางกว่ามาก เชื่อว่าหากมีการใช้มาตรา 44 จริง ที่สุด พล.อ.ประยุทธ์จะตกเป็นเป้าโจมตีจากฝ่ายตรงข้ามมากที่สุด เพราะอัยการศึกมีทหารระดับ ผบ.พัน และแม่ทัพภาคใช้ คนที่จะถูกโจมตีก่อนคือฝ่ายปฏิบัติ นายกฯไม่กระทบมาก ขอแนะนำให้นายกฯ คงการใช้กฎอัยการศึกเช่นเดิม แต่ให้ลดโทนการใช้ คือไม่ใช้พร่ำเพรื่อ ไม่ใช่ใช้กฎอัยการศึกไปจับบ่อนการพนันในงานศพ งานจิ๊บๆจ้อยๆ ลดเงื่อนไขความเข้มข้นลง เช่น ให้สามารถชุมนุมทางการเมืองได้เท่าที่จำเป็น แต่หากยกเลิกกฎอัยการศึกฟันธงได้ว่าจะมีการชุมนุม เคลื่อนไหวของกลุ่มต่างๆ จนวุ่นวายขึ้นอีก
“ถาวร” ตบมือเชียร์แต่ต้องระวัง
นายถาวร เสนเนียม แกนนำ กปปส. กล่าวว่า ต้องทำความเข้าใจกับสังคมว่า กฎอัยการศึกที่ใช้อยู่นี้ นานาชาติต่างประเทศส่วนใหญ่ไม่ค่อยยอมรับ และมีภาพลักษณ์ที่ไม่ดี พูดภาษาชาวบ้านคือต่างชาติกลัว เพราะให้อำนาจเจ้าหน้าที่รัฐคือทหารหรือตำรวจ สามารถจับกุมบุคคลและกักคุมตัวไว้ได้นาน 7 วันโดยไม่ต้องนำตัวขึ้นศาลได้ และยังให้ความคุ้มครองเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติในกรณีที่ถูกฟ้องร้องฐานละเมิดสิทธิด้วย จึงเป็นกฎหมายที่ใช้กดหัวทั้งคนดีและคนชั่ว ในเวลาเดียวกัน การที่ พล.อ.ประยุทธ์มีแนวคิดจะหันมาใช้มาตรา 44 แทนถือเป็นเรื่องดี ตนเห็นด้วยและขอตบมือเชียร์ เพราะจะส่งเสริมสร้างภาพลักษณ์ของรัฐบาลและประเทศไทยให้ดีขึ้นในสายตาสากลประเทศ แต่ก็ควรระวัง อย่าใช้อารมณ์เหมือนที่เคยกับสื่อมวลชนที่ผ่านมา เพราะมาตรา 44 นี้ก็เท่ากับมาตรา 17 ในยุคจอมพลสฤษดิ์ ที่ให้อำนาจนายกฯไว้กว้างขวางมาก ถึงขนาดสั่งประหารชีวิตคนได้ นายกฯจึงควรใช้ระมัดระวัง โดยภาพรวมตนเห็นด้วยว่าเป็นการเลือกใช้มาตรการที่ผ่อนคลายในสายตานานาชาติ
“จตุพร” บอกหนีเสือปะจระเข้
ขณะที่นายจตุพร พรหมพันธุ์ ประธาน นปช. กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะนำมาตรา 44 มาใช้แทนกฎอัยการศึก สะท้อนถึงคำว่ารัฐบาลที่มาจากรัฐประหาร และสะท้อนระบอบการปกครองที่ชัดเจนยิ่งขึ้น เรามองว่ากฎอัยการศึกมีปัญหาจริงแต่ยังเห็นตัวตน มีเนื้อหาที่ชัดเจน และประกาศใช้มาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 แต่มาตรา 44 ขึ้นอยู่ที่ดุลพินิจและอารมณ์ของผู้ใช้อำนาจเท่านั้น ถือเป็นอำนาจเบ็ดเสร็จของหัวหน้า คสช.โดยคนเพียงคนเดียวเหนืออำนาจทั้ง 3 คือ นิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ จึงไม่มีหลักประกันใดที่ประชาชนจะรู้ล่วงหน้าได้ จึงไม่คิดว่าเป็นวิธีแก้ปัญหาที่ถูกทาง หากรัฐบาลคิดว่าจะลดความกดดันจากนานาชาติแล้วไปใช้มาตรา 44 จะยิ่งไม่เป็นผลดีทั้งประชาชนในฐานะผู้ถูกใช้อำนาจ และหัวหน้า คสช.ผู้ใช้อำนาจเองจะเข้ากับสำนวนไทยที่ว่าหนีเสือปะจระเข้
หวั่นนานาชาติยิ่งกังวลหนักขึ้น
นายณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ แกนนำ นปช.โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า เห็นด้วยที่รัฐบาลเตรียมประกาศยกเลิกกฎอัยการศึก ถือเป็นข่าวดีของประเทศไทย แต่การใช้มาตรา 44 แทน ดูแล้วน่าเป็นห่วงยิ่งกว่า เพราะไม่มีบทบัญญัติตายตัว ขยายอำนาจรัฐได้ตลอดเวลาไม่มีขีดจำกัด แม้ยังไม่เห็นเนื้อหาและรูปแบบว่าจะประกาศใช้อย่างไร แต่ขอตั้งข้อสังเกตไว้ให้รัฐบาลพิจารณาว่า ความต้องการลดแรงกดดันจากต่างประเทศไม่แน่ว่าจะบรรลุผลหรือไม่ เพราะความหมายโดยนัยของมาตรา 44 เท่ากับตัวบุคคลคือกฎหมาย ดังนั้นสภาพแบบนี้อาจเพิ่มความกังวลให้กับประเทศประชาธิปไตยทั้งหลายด้วยซ้ำ
ใช้ พ.ร.บ.มั่นคง-พ.ร.ก.ฉุกเฉินแทน
“ผมไม่ได้กล่าวหานายกฯว่าจะลุแก่อำนาจใช้มาตรา 44 เล่นงานใคร แต่เห็นท่านเล่นบทตบจูบตามอารมณ์อยู่กับสื่อมวลชนแล้วอดห่วงไม่ได้หากพูดแบบเข้าใจรัฐบาลก็คือต้องการกฎหมายพิเศษไว้คุมสถานการณ์ แต่หากลองดูกฎหมายที่ดีกรีน้อยกว่าแต่สาระชัดเจน อาทิ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน จะดีกว่าหรือไม่ เพราะถึงอย่างไรมาตรา 44 ก็ยืนค้ำอยู่ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวอยู่แล้ว ผมห่วงว่ามันจะยิ่งหนักกว่าเก่า แม้กฎอัยการศึกจะขี้เหร่ขนาดไหน แต่ก็ยังขี้เหร่แบบเห็นได้ชัด ตรงข้ามกับมาตรา 44 ที่นอกจากจะขี้เหร่แล้ว ยังมองไม่เห็นขอบเขตของอำนาจอีกด้วย” นายณัฐวุฒิกล่าว
“อ๋อย” ตีตราเผด็จการเบ็ดเสร็จ
นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีต รมว.ศึกษาธิการ กล่าวว่า ความคิดที่จะยกเลิกใช้กฎอัยการศึก มีข้อดีแสดงถึงความเข้าใจ ยอมรับถึงผลเสียที่ใช้ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรม แต่ไม่แน่ใจเมื่อใช้มาตรา 44 แล้วจะแก้ปัญหาทั้งหมด หรือจะแก้เฉพาะภาพพจน์ ถ้าคิดจะแก้ภาพพจน์แต่ยังคงจำกัดสิทธิเสรีภาพประชาชนและสื่อมวลชน ก็ไม่มีประโยชน์ เพราะปัญหาเดิมๆยังอยู่ แต่จะเพิ่มปัญหามากยิ่งขึ้น ทำให้ถูกสังคมโลกมองว่าประเทศไทยกำลังใช้ระบบเผด็จการแบบเบ็ดเสร็จยิ่งขึ้นไปอีก เพราะมาตรา 44 เป็นกฎหมายที่ให้ คสช.มีอำนาจเหนืออธิปไตย 3 ฝ่าย คือ บริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการอย่างเด็ดขาด ขัดต่อหลักนิติรัฐ เพราะใช้อำนาจได้อย่างไม่มีขอบเขตจำกัด ไม่มีการตรวจสอบถ่วงดุล เป็นระบบที่นานาประเทศจะยิ่งไม่ยอมรับ
รอดูเนติบริกรวางกรอบอำนาจ
นายจาตุรนต์กล่าวอีกว่า การเขียนคำสั่งของคสช.ขอให้เขียนเนื้อหาให้ชัดเจน ไม่ไปละเมิดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความเห็น ไม่นำไปใช้กับการสอบสวน ต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อกระบวนการยุติธรรมปกติ ที่จริงไม่จำเป็นต้องใช้มาตรา 44 เพราะมีกฎหมายอื่นอยู่ เช่น พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร และ พ.ร.ก.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน ดังนั้น โอกาสที่จะทำให้เกิดการไม่ยอมรับในการใช้มาตรา 44 จึงมีสูงมาก ต้องดูฝีมือเนติบริกรว่าจะคิดประดิษฐ์วิธีการอย่างไร เพราะอาจคิดออกมาแล้วเบามากจนดูเหมือนว่าไม่มีผลอะไรในทางปฏิบัติก็ได้ ต้องไปดูว่าการใช้มาตรา 44 มีวัตถุประสงค์มีหลักคิดอย่างไร ไม่เช่นนั้นจะกลายเป็นงูกินหาง
ภท.ขอผ่อนปรนเปิดช่องแสดงออก
นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า ภาพลักษณ์ของกฎอัยการศึกต่างประเทศเห็นว่าเป็นกฎหมายที่น่าสะพรึงกลัว เป็นกฎหมายของทหาร ส่วนมาตรา 44 ถ้าคนไม่รู้รายละเอียดก็จะไม่วิตกกังวล ดังนั้นถ้าเปรียบเทียบกันการยกเลิกกฎอัยการศึกจะทำให้ภาพลักษณ์ของประเทศดีขึ้น มีผลดีด้านการท่องเที่ยว และยังเป็นผลดีต่อการจัดเรตติ้งด้านสิทธิมนุษยชนด้วย ทราบว่าอีก 1-2 เดือนรัฐบาลสหรัฐฯจะประกาศผล ซึ่ง คสช.ก็คงทราบเรื่องนี้และคงเป็นเหตุผลที่ยกเลิกกฎอัยการศึก แต่หากยกเลิกกฎอัยการศึกแล้วไม่ประกาศใช้มาตรา 44 เลยก็น่าจะเป็นการดี การเปิดโอกาสให้มีการชุมนุมได้บ้างถือเป็นความงดงามในบรรยากาศของรัฐบาลทหาร เพราะกลุ่มที่เคลื่อนไหวอยู่ขณะนี้มีเพียงประชาชนและนักศึกษาบางส่วน เชื่อว่าไม่ใช้ความรุนแรงอย่างแน่นอน หรือถ้าจะใช้มาตรา 44 หัวหน้า คสช.ก็พึงใช้อย่างระมัดระวัง
“อุเทน” เตือนคนใช้ต้องมีคุณธรรม
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า มาตรา 44 เป็นการใช้อำนาจของหัวหน้าคสช.ซึ่งเป็นบุคคลคนเดียวกับนายกฯ และประธานสนช.ต้องฟังหัวหน้า คสช. ซึ่งถ้าผู้ใช้นำไปปราบปรามโจรผู้ร้าย พิทักษ์ชาติ ราชบัลลังก์ก็ดีไป เป็นประโยชน์ต่อประเทศ แต่ถ้าผู้ใช้ไม่ดีจะมีผลตรงกันข้าม ดังนั้นผู้ใช้อำนาจต้องมีคุณธรรม เที่ยงธรรม และยุติธรรม ไม่โอนเอน ไม่ลุแก่อำนาจ นำไปประหัตประหารฝ่ายตรงข้าม เพราะมาตรานี้ให้อำนาจไว้ล้นฟ้า ตามปกติเฉพาะแค่กฎหมายแพ่งและอาญาก็ให้อำนาจไว้มากอยู่แล้ว แต่ผู้รักษากฎหมายไม่รักษากฎหมายอย่างแท้จริง บ้านเมืองถึงเป็นเช่นนี้
“บวรศักดิ์” ท่องคาถาเพิ่มสิทธิ ปชช.
วันเดียวกันที่รัฐสภา คณะอนุกรรมาธิการสื่อสารกับสังคม คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จัดสัมมนาเรื่อง “บทบัญญัติของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่” โดยเชิญสื่อมวลชนทั้งส่วนกลางและภูมิภาคเข้าร่วม มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ ประธาน กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวบรรยายภาพรวมรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกติกาที่กำหนดระบบการเมือง หากวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ นายกฯในฐานะหัวหน้า คสช.สั่งอะไรทุกอย่างต้องเป็นตามนั้น เช่น ถ้าสั่งให้ไทยเข้าสู่สงคราม เราก็ต้องทำสงคราม ระบบการเมือง จึงเป็นระบบตัดสินใจแทน มีผลผูกพันทุกคน รัฐธรรมนูญฉบับนี้เรียกฉบับปฏิรูป เพราะบรรจุเรื่องลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมในสังคมและสร้างความปรองดอง บางคนบอกว่าเป็นการเขียนเพื่อสืบทอดอำนาจ ซึ่งไม่ใช่ แต่เป็นการสานงานปฏิรูป
รธน.ที่ดีต้องเหลียวหลังแลหน้า
นายบวรศักดิ์กล่าวอีกว่า รัฐธรรมนูญที่ดีคนเขียนต้องเหลียวหลังและแลหน้า แก้อดีตและมองอนาคต จึงจะรู้ว่าวันนี้บ้านเมืองเพียงไข้ลดลงเพราะฤทธิ์ยา ยังไม่หายขาด ที่สำคัญโลกเปลี่ยนภูมิรัฐศาสตร์ จากตะวันตกเป็นตะวันออก สหรัฐฯเสียแชมป์ไปให้จีน แล้วไทยจะวางอนาคตของเราในอาเซียนอย่างไร นี่คือการมองอนาคต และรัฐธรรมนูญฉบับนี้ยังพยายาม ปฏิรูปสื่อให้เป็นอิสระ ไม่ให้ถูกครอบงำจากรัฐและเจ้าขององค์กรสื่อโดยใช้ทุนนิยม ต่อไปใครจะใช้เงินรัฐไปซื้อโฆษณา ต้องโปร่งใส เรื่องนี้เป็นความฝันของตน เพราะที่ผ่านมา สื่อเป็นเหมือน “kingmaker” คือนักการเมืองคนใดจะดูดีหรือได้ดีต้องมีสื่อมวลชนคอยปั้น เพื่อแลกกับการซื้อโฆษณา จึงต้องปฏิรูป
เหน็บพวกวิจารณ์เลียนแบบฝรั่ง
นายบวรศักดิ์กล่าวว่า ส่วนเสียงวิจารณ์ที่มา ส.ว.เลือกตั้งทางอ้อม ว่ายังมีเวลาปรับแก้ไข ก่อนรัฐธรรมนูญถึงมือ สปช. ถ้าอยากให้เลือกตรงมาทบทวนกันใหม่ได้ ส่วนเรื่องระบบเลือกตั้งยืนยันว่าไม่ใช่แบบเยอรมัน มีคนวิจารณ์ว่าไปเลียนแบบฝรั่งทำไม พวกนี้แปลก ที่ท่านใช้ในชีวิตประจำวันก็ของฝรั่งทั้งนั้น ทั้งไมโครโฟน ไฟฟ้า ถ้ากลัวเลียนแบบฝรั่งก็ไม่ต้องทำอะไรกันแล้ว คนฉลาดจะไม่ปฏิเสธการกินยารักษาไข้มาลาเรีย เพียงเพราะไม่ได้ทำในบ้านเรา รัฐธรรมนูญนี้ไม่ได้สมบูรณ์ที่สุดแต่ดีที่สุดในสถานการณ์นี้ ส่วนประเด็นเลือกตั้ง ส.ส.บัญชีรายชื่อแบบเปิด หรือโอเพ่นลิสต์ ที่นักการเมืองไม่ชอบนั้น เพราะ ส.ส.พวกนี้ต้องเหนื่อยเพิ่ม นอกจากต้องเอาใจหัวหน้าพรรคแล้ว ยังต้องลงพื้นที่ทำงานเอาใจประชาชนอีก ที่นายพงศ์เทพ เทพกาญจนา แกนนำพรรคเพื่อไทย ระบุว่ามันยุ่งยากนั้น ขอร้องนายพงศ์เทพที่นับถือกันมา ก็ให้นับถือกันต่อไป เพราะการเลือกตั้งระบบนี้ทำให้พลเมืองเป็นใหญ่อย่างแท้จริง
ผุด 11 องค์กรดูแลสิทธิพลเมือง
ด้านนายมานิจ สุขสมจิตร ประธานอนุ กมธ.สื่อสารกับสังคม กล่าวว่า จะมีองค์กรเกิดขึ้นใหม่ในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปที่เพิ่มสิทธิพลเมือง ทั้งสิ้น 11 องค์กร ได้แก่ 1.องค์กรเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค 2.สภาตรวจสอบภาคพลเมือง 3.สมัชชาคุณธรรมแห่งชาติ 4.คณะกรรมการประเมินผลแห่งชาติ 5.คณะกรรมการดำเนินการแต่งตั้งข้าราชการพลเรือนโดยระบบคุณธรรม 6.สมัชชาพลเมือง 7.ศาลปกครองแผนกคดีวินัยการคลังและการงบประมาณ 8.คณะกรรมการดำเนินการจัดการเลือกตั้ง (กจต.) 9.ผู้ตรวจการแผ่นดินและพิทักษ์สิทธิมนุษยชน 10.สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมการยุทธศาสตร์การปฏิรูปแห่งชาติ และ 11.คณะกรรมการอิสระเสริมสร้างความปรองดองแห่งชาติ ทำหน้าที่ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อหาสาเหตุความขัดแย้ง ความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมถึงเสนอแนะแนวทางแก้ปัญหา และส่งเสริมการสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างความปรองดองในส่วนต่างๆ
ขู่ชุดยกร่างฯดันทุรังอาจโดนเเซงก์ชั่น
นายสังศิต พิริยะรังสรรค์ สมาชิก สปช. กล่าวถึงการพิจารณารัฐธรรมนูญร่างแรกของ กมธ.ยกร่างฯ วันที่ 20-26 เม.ย. ว่า หาก กมธ.ยกร่างฯปล่อยผ่านโดยไม่ปรับแก้ไขตามข้อเสนอท้วงติงของ สปช. แม้ สปช.จะไม่สามารถคว่ำร่างรัฐธรรมนูญได้ เพราะไม่ได้ มีหน้าที่ลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบ แต่ถ้าไม่ฟังเสียงจนมี สปช.ไม่พอใจจำนวนมาก อาจจะเกิดการแซงก์ชั่นขึ้น และถ้าการแซงก์ชั่นเกิดจริง จะมีผลกดดันทางการเมืองทำให้ กมธ.ยกร่างฯ ไม่สามารถอยู่ได้ ก็ต้องยุบสภา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ต้องตั้งคณะทำงานชุดใหม่ขึ้นมายกร่างรัฐธรรมนูญแทน แต่จะใช้เวลาร่างนานเป็นปีอีก ประชาชนคงไม่ยอม ทั้งนี้ ส่วนตัวเตรียมอภิปรายเรื่อง ศาลคดีทุจริต ที่ยังไม่มีบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ เพราะ กมธ.ยกร่างฯคง เข้าใจว่า ศาลคดีการคลังและงบประมาณ คือ ศาลคดีทุจริต แต่เห็นว่ามันไม่ใช่ เพราะศาลทุจริตมีความหมายกว้างกว่า
ปชป.ซัดตั้งธงให้เป็น รบ.แห่งชาติ
นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่นายบวรศักดิ์ยืนยันว่า ไม่สามารถบัญญัติคำว่าสถานการณ์วิกฤติในกรณีของนายกฯคนนอกไว้ได้ เคยบอกแล้วว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ถูกออกแบบมาเพื่อนำไปสู่รัฐบาลแห่งชาติ นี่คือเหตุผลว่าทำไม กมธ.ยกร่างฯถึงยืนยันว่าจะบัญญัติให้เลือกนายกฯคนนอก โดยใช้เสียง 2 ใน 3 เท่านั้น ส่อให้เห็นว่าจะนำคนนอกมาเป็นนายกฯ เพราะ ส.ส.เกือบทุกคนล้วนร่วมเป็นรัฐบาลแล้ว เหลือเพียง 1 ใน 3 เท่านั้นที่ถูกผลักให้เป็นฝ่ายค้าน ที่คงไม่สามารถทำหน้าที่คัดค้านหรืออภิปรายใดๆ ในสภาได้ เป็นเรื่องน่ากลัวที่ออกแบบมาทำลายหลักการ ตรวจสอบถ่วงดุลในระบอบรัฐสภา ทั้งที่ปี 2535 เราต่อสู้เรื่องนี้มาแล้ว เรื่องอย่างนี้คนที่รู้ทันตามทันมันมองกันออก ว่าตั้งใจจะให้มีรัฐบาลแห่งชาติ หากประชาชนเจ้าของอำนาจที่แท้จริงรับได้ ตนก็ไม่มีปัญหา
เฉ่งวางค่ายกลก่อหวอดขัดแย้ง
นายอุเทน ชาติภิญโญ หัวหน้าพรรคคนไทย กล่าวว่า มีข้อห่วงใยว่าหลายประเด็นในรัฐธรรมนูญใหม่ จะก่อให้เกิดปัญหาความขัดแย้งในอนาคต อาทิ ที่มา ส.ว. นายกฯคนนอก เหมือน กมธ.ยกร่างฯพยายามตั้งโจทย์เพื่อล้มล้างทำลายบางฝ่าย จนกลไกหลายอย่างบิดเบี้ยว ผิดเพี้ยนไปจากวัตถุประสงค์ของ คสช.ที่เคยประกาศเอาไว้ การที่ พล.อ.ประยุทธ์พยายามบอกว่าอย่าวิพากษ์วิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญ เพราะยังไม่เสร็จสมบูรณ์คงไม่ถูกต้องนัก ที่หลายฝ่ายท้วงติงเพราะเป็นห่วงปัญหาที่จะตามมา ทิศทางเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญยังพบว่ามีธงความขัดแย้ง พยายามทำทุกวิถีทางสกัดบุคคลหรือกลุ่มบุคคล ไม่ยึดโยงผลประโยชน์ประชาชน ที่สำคัญยังเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ไร้จุดยืน กลับไปกลับมา ตัวนายบวรศักดิ์ ก็เหมือนจะไร้จุดยืน เพราะรัฐธรรมนูญปี 40 ที่นายบวรศักดิ์มีส่วนเกี่ยวข้องสร้างกลไกให้พรรคการเมืองเข้มแข็ง แต่วันนี้กลับใส่เนื้อหาที่บั่นทอนความเข้มแข็งของพรรคการเมือง
“ปู” เปิดหน้าชน “บิ๊กตู่” ปมค้ามนุษย์
อีกเรื่อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กว่า จากการให้สัมภาษณ์ของนายกฯเกี่ยวกับกรณีการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ ที่ระบุว่ารัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำ อาจเป็นความเข้าใจผิดเนื่องจากท่านมีภารกิจมากจนไม่มีเวลา หรือเจ้าหน้าที่ยังไม่มีโอกาสชี้แจงให้ทราบ เพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิด ขอชี้แจงท่านรวมไปถึงพี่น้องประชาชนว่า ตลอดระยะเวลาที่ดิฉันเข้ารับตำแหน่งนายกฯ พยายามผลักดันแก้ปัญหานี้มาตลอด มีการหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อวางแผนแก้ปัญหาการค้ามนุษย์อย่างมีประสิทธิภาพ จนทำให้ในปีการประเมิน 2556 ประเทศไทยได้รับการยกเว้นจากการถูกลดระดับเป็นกลุ่มที่ 3 เพราะรัฐบาลเสนอแผนเป็นลายลักษณ์อักษร และจัดสรรทรัพยากรพอควรเพื่อดำเนินการตามแผนดังกล่าว
ให้ไปอ่านรายงานรัฐบาลก่อนจะรู้
น.ส.ยิ่งลักษณ์ระบุว่า รัฐบาลชุดก่อนจัดประชุมหลายครั้ง มีการตั้งคณะทำงานย่อยเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะด้าน เช่น เรื่องแรงงานประมง และยังปรับปรุงกระบวนการทำงานทั้งด้านการคุ้มครอง ป้องกัน และกระบวนการยุติธรรม มีการตั้งศูนย์ช่วยเหลือสังคมสายด่วน 1300 ผลการดำเนินงานของรัฐบาลชุดก่อนได้ระบุไว้ชัดเจนในรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ นายกฯอาจลองพิจารณาศึกษาเพิ่มเติมจากรายงานดังกล่าวได้ แต่ปัญหาสำคัญในเรื่องนี้อยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย รวมทั้งประสิทธิภาพการบริหารราชการ เรื่องเหล่านี้ไม่สามารถแก้ไขได้เพียงชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลาและความร่วมมือจากหลายฝ่าย ซึ่งในรายงานฉบับล่าสุดได้ยกประเด็นเรื่องการทุจริตคอร์รัปชันของข้าราชการ โดยเฉพาะความเกี่ยวพันกับกรณีแรงงานประมงชาวโรฮิงญา ถือเป็นบทเรียนว่ารัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการนำเสนอข่าวของสื่อมวลชน ตลอดจนประเด็นการเรียกร้องของ NGOs และต้องพยายามตอบสนองต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเหล่านั้น ในแนวทางที่ประชาชนและนานาชาติคาดหวัง จุดเริ่มต้นสำคัญของการแก้ปัญหาคือการยอมรับการมีอยู่ของปัญหา เพื่อร่วมมือช่วยกันแก้ปัญหาที่ท้าทายระดับนานาชาตินี้ต่อไป
แก้อารมณ์บูดต้องรีบปั่นผลงาน
น.ส.วิสาระดี เตชะธีราวัฒน์ อดีต ส.ส.เชียงราย พรรคเพื่อไทย กล่าวว่า รู้สึกเป็นห่วง พล.อ.ประยุทธ์ ที่ต้องอารมณ์เสียบ่อยครั้งกับสื่อมวลชน สาเหตุน่าจะมาจากการไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจที่ตกต่ำได้ ล่าสุดการส่งออกเดือน ก.พ.ติดลบถึงร้อยละ 6.14 ยังไม่มีทิศทางดีขึ้น ท่านอาจต้องอารมณ์เสียไปอีกนาน อยากเห็นรัฐบาลให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจประเทศมากกว่าความมั่นคงของรัฐบาล เพราะในที่สุดแล้วปัญหาทางเศรษฐกิจจะทำลายความมั่นคงของรัฐบาลเอง ที่ผ่านมาไม่ปรากฏว่ารัฐบาลมีผลงานอะไรที่จับต้องได้ ประชาชนส่วนใหญ่จำได้แค่ไม่กี่เรื่อง เช่น ความพยายามลดราคาลอตเตอรี่ ที่ยังสงสัยกันว่าถ้าลดราคาได้แล้วจะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นอย่างไร เพราะสุดท้ายผู้ได้ประโยชน์อาจเป็นร้านสะดวกซื้อที่สนับสนุนรัฐบาล แต่คนตาบอดและผู้พิการได้รับความลำบาก ความพยายามเพิ่มภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ภาษีมรดกในภาวะเศรษฐกิจย่ำแย่ การไม่สามารถอนุมัติสัมปทานพลังงานรอบที่ 21 การอนุมัตินำเข้าน้ำมันปาล์มจนทำให้ราคาผลผลิตปาล์มตกต่ำ และความพยายามเสริมความมั่นใจนักลงทุนภายใต้กฎอัยการศึก แต่ปรากฏว่าบริษัทต่างประเทศเริ่มย้ายฐานการผลิตไปประเทศอื่น จึงอยากให้รัฐบาลตั้งหลักและหาผลงานที่ประชาชนชื่นชมได้จริง จะได้ไม่ต้องอารมณ์เสียและถูกตำหนิว่าทำให้เสียของ
ป.ป.ช.จี้ สนช.เร่งเข็น ก.ม.ปราบโกง
อีกด้าน นายสรรเสริญ พลเจียก เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวว่า เมื่อวันที่ 27 มี.ค. ป.ป.ช.ได้เข้าชี้แจงข้อมูลเรื่องการแก้ไขกฎหมายเพื่ออนุวัติการอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทุจริต เพื่ออนุวัติการอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ค.ศ.2003 ซึ่งคณะกรรมาธิการวิสามัญฯพิจารณาเสร็จแล้ว รอเข้าสู่ที่ประชุม สนช.เพื่อพิจารณาในวาระ 2 และ 3 โดยเร็ว เพื่อให้กฎหมายมีผลบังคับใช้ทันการประเมิน และติดตามการปฏิบัติ การตามอนุสัญญาฯในเดือน พ.ค.นี้
ล่วงเข้าเดือนสิบ แต้ม คสช.เริ่มหด
ขณะที่สวนดุสิตโพล เปิดผลสำรวจความคิดเห็นประชาชนทั่วประเทศ จำนวน 1,896 คน ประเมินผลงาน 10 เดือน คสช. พบว่า ร้อยละ 82.44 เห็นว่า คสช.มีความตั้งใจทำงาน ขณะที่จุดเด่นของ คสช. ที่บริหารประเทศครบ 10 เดือน ร้อยละ 38.89 มองว่าเป็นความเด็ดขาด ตรงไปตรงมา ทำงานรวดเร็ว รองลงมาคือ การปราบปรามทุจริตคอร์รัปชัน ส่วนปัญหา/อุปสรรคนั้น ร้อยละ 53.01 อยากให้ คสช.แก้ปัญหาที่เป็นเรื่องสำคัญเร่งด่วน โดยเฉพาะของแพง ปัญหาปากท้องประชาชน รองลงมาคือให้รับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่าย นำมาปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด และใช้งบประมาณอย่างคุ้มค่า เมื่อถามถึงความพึงพอใจของประชาชนต่อ คสช. ร้อยละ 55.85 ค่อนข้างพึงพอใจ ร้อยละ 28.81 พึงพอใจมาก ร้อยละ 12.18 ไม่ค่อยพึงพอใจ และร้อยละ 3.16 ไม่พึงพอใจเลย โดยช่วงเดือน มี.ค. ประชาชนให้คะแนน คสช. 8.10 จากคะแนนเต็ม10 ซึ่งถือว่าลดลงเมื่อเปรียบตลอด 9 เดือนที่ผ่านมา
เสื้อแดงแห่สมัครสมาคมฌาปนกิจ
ที่ชั้น 5 ศูนย์การค้าอิมพีเรียล ลาดพร้าว กลุ่มมวลชนเสื้อแดงนับร้อยคน นัดหมายรวมตัวร่วมงานเปิดตัวสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อประชาชน ที่มีนายวรุธ ทัฬหสุคนธ์ ผอ.สถานี 24 ทีวี เป็นนายกสมาคมฯ มีนายพลท เฉลิมแสน เป็นกรรมการ โดยมีการเปิดรับสมัครสมาชิกและประชุมใหญ่สามัญของสมาคมเป็นวันแรก ท่ามกลางการจับตาอย่างเข้มงวดของเจ้าหน้าที่ทหาร จาก ร.12 รอ. ร่วมกับตำรวจสืบสวน สน.โชคชัย ตำรวจสันติบาล และฝ่ายข่าวกรองทหาร โดยนายพลทกล่าวว่า การตั้งสมาคมฌาปนกิจสงเคราะห์ไม่ได้ทำเพื่อผลทางการเมือง แต่เพื่อดูแลสมาชิกร่วมอุดมการณ์ ตั้งเป้าสมาชิกไว้ราว 1 แสนคน ซึ่งจะขยายไปยังภูมิภาคต่างๆ เพื่อจัดตั้งในรูปแบบสมาพันธ์ฌาปนกิจสงเคราะห์เพื่อประชาชนต่อไป
ชาวสวนยางขีดเส้นรอคำตอบรัฐบาล
ที่ห้องประมูลแสดงสภาวะตลาดกลางยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี นายศุภวัชร ศักดา รอง ผวจ.สุราษฎร์ธานี นายพนัส แพชนะ ผอ.ตลาดกลางยางพาราสุราษฎร์ธานี ร่วมประชุมหารือกับกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยาง ที่มาชุมนุมเรียกร้องให้ซื้อยางพารา โดยกลุ่มผู้ชุมนุมมีข้อเสนอ 3 ข้อ ได้แก่ 1.ร้องศาลปกครอง 2.ชั่งน้ำหนักแล้วนำยางกลับไปพักที่บ้านเพื่อรอราคาที่ต้องการ และ 3.เสนอคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเพื่อรับซื้อตามราคาที่ต้องการ โดยจะรอคำตอบจากรัฐบาลถึงวันที่ 1 เม.ย. นายพนัส แพชนะ แกนนำเกษตรกรฯ กล่าวว่า กลุ่มสหกรณ์และพ่อค้ารายย่อยใน จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ชุมพร ที่มารวมตัวกันเป็นกลุ่มที่เข้าชั่งน้ำหนักยางไม่ทันวันที่ 6 มี.ค. ซึ่งเปิดประมูลเป็นวันสุดท้ายในราคาที่กิโลกรัมละ 58.55 บาท ทำให้มียางตกค้างกว่า 700 ตัน ทางตลาดกลางยางพาราได้ทำหนังสือเสนอไปยังองค์การสวนยางแล้วแต่ยังไม่ได้รับคำตอบ
ประชาคม สธ.จับตาสอบ สปสช.
อีกเรื่อง พญ.ประชุมพร บูรณ์เจริญ ที่ปรึกษาสมาพันธ์แพทย์โรงพยาบาลศูนย์โรงพยาบาลทั่วไป กล่าวถึงกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เร่งรัดให้คณะกรรมการสอบการใช้งบประมาณของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ภายใน 15 วัน ว่า ประชาคมสาธารณสุขมีความสบายใจขึ้น แสดงว่านายกฯน่าจะได้รับข้อมูลมากพอสมควร แม้ไม่รู้คำว่า 15 วันจะตีความว่าตั้งแต่เมื่อไหร่ แต่ประชาคมสาธารณสุขจะยึดเอาวันที่นายกฯมีคำสั่งเร่งรัดคือเมื่อวันที่ 27 มี.ค.เป็นจุดเริ่มต้น หลังจากนี้หากยังไม่มีความคืบหน้า ทางกลุ่มจะมีการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องให้นายยงยุทธ ยุทธวงศ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่รับผิดชอบเรื่องนี้แสดงความรับผิดชอบ
ตร.รวบหนุ่มโปรยใบปลิวต้าน คสช.
ช่วงค่ำวันเดียวกัน ที่ บก.ภ.จ.ระยอง พล.ต.ต.ชุมพล ฉันทะจำรัสศิลป์ ผบก.ภ.จ.ระยอง นำตัวนายพลวัฒน์ วโรดมพุฒิกุล อายุ 22 ปี อยู่บ้านเลขที่ 33/73 หมู่ 4 ต.ทับมา อ.เมืองระยอง พนักงานบริษัท ปตท.จีซี จำกัด คนโปรยใบปลิว “ชู 3 นิ้ว ต่อต้านเผด็จการ” มาชี้แจงกับสื่อมวลชน โดย พล.ต.ต.ชุมพลกล่าวว่า ตำรวจเชิญตัวนายพลวัฒน์ จากที่ทำงานเมื่อบ่ายวันที่ 27 มี.ค. ส่งไปปรับทัศนคติ ที่ มทบ.14 จ.ชลบุรี เพิ่งนำกลับมาเตรียมส่งให้ พ.ต.อ.กิตติ ศิริคช พงส.ผทค.สภ.เมืองระยอง สอบสวนต่อไป ด้านนายพลวัฒน์กล่าวว่า ตนไม่ใช่พวกเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง เพียงแต่เห็นด้วยกับกลุ่มนักศึกษาที่ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้าน คสช. ใช้คอมพิวเตอร์ทำใบปลิวขึ้นมา นำไปโปรยแถวหอพระพุทธ อังคีรส และหน้าโรงเรียนระยองวิทยาคม
- See more at: http://www.prachatalk.com/webboard/%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%A1-%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%87/yup-%E0%B8%84%E0%B8%B3%E0%B8%AA%E0%B8%B1%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%84%E0%B8%AA%E0%B8%8A-%E2%80%9C%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B8%B9%E0%B9%88%E0%B9%80%E0%B8%AB%E0%B8%99%E0%B8%B7%E0%B8%AD%E0%B8%97%E0%B8%B8%E0%B8%81%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87-%E2%80%9C#sthash.SJwrjFy9.dpuf

ไม่มีความคิดเห็น: