PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2558

เลิกอัยการศึก เบาลง-หนักขึ้น?

ถ้อยคำการให้สัมภาษณ์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ หรือคสช. ก่อนบินไปประเทศบรูไน เมื่อกลางสัปดาห์ที่ผ่านมาเป็นเครื่องยืนยันถึงสภาพความเป็น "ไม้เบื่อไม้เมา" ระหว่างกันที่ยังคงเดิมนับตั้งแต่มีการจัดตั้งรัฐบาลชุดนี้ขึ้นมาภายหลังรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557

มองอย่างเข้าใจ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ยอมรับว่าตัวเองนั้นเป็นแค่ปุถุชนธรรมดาที่มีหัวจิตหัวใจเหมือนคนทั่วไป เมื่อโดนสื่อเขียนวิพากษ์วิจารณ์เสียๆ หายๆ ก็ต้องโมโหและโต้กลับ
ชนิดแรงมาก็แรงไป
แม้ว่าสื่อต่างชาติจะมีปัญหาอยู่บ้าง แต่สื่อไทยส่วนใหญ่ก็เข้าใจถึงอารมณ์ความรู้สึกของพล.อ.ประยุทธ์ เป็นอย่างดี ว่าทำไมถึงได้ประเดี๋ยวร้ายประเดี๋ยวดี ถ้าเป็นละครก็ประเภทตบ-จูบ ตบ-จูบ

นั่นเพราะพล.อ.ประยุทธ์กำลังเครียดหนักกับสถานการณ์บ้านเมืองที่เป็นอยู่ตอนนี้

ที่ดูเหมือนปัญหาหลายด้านทั้งการเมือง สังคม ความมั่นคง ต่างประเทศ เศรษฐกิจ ฯลฯ จะประเดประดังพุ่งเข้าหาพร้อมกันสี่ทิศแปดทาง

โดยเฉพาะปัญหาเศรษฐกิจที่รัฐบาลพยายามจะเข็นมาตรการหลายอย่างออกมา แต่ก็ดูเหมือนช่วยอะไรได้ไม่มากนัก

เพราะอย่างที่รู้กันว่าเศรษฐกิจประเทศ จะดีหรือไม่ดี จะทรงหรือทรุด นอกจากขึ้นอยู่กับปัจจัยเศรษฐกิจโลก ยังขึ้นกับชั้นเชิงฝีไม้ลายมือและความเป็นเอกภาพของทีมเศรษฐกิจในรัฐบาลอีกด้วย

เศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยภายนอกที่รัฐบาลสั่งการควบคุมเองไม่ได้

ที่ทำได้จึงมีแต่การบริหารจัดการภายใน ทั้งในเรื่องการคัดเลือกคนดีมีฝีมือเข้ามาเป็นรัฐมนตรี รวมถึงเมื่อเข้ามาแล้วก็ต้องมีเอกภาพในการทำงานร่วมกัน

การที่สังคมเริ่มเป็นห่วงปัญหาด้านเศรษฐกิจ โดยแสดงออกผ่านการสำรวจโพลสำนักต่างๆ ผ่านเวทีเสวนา หรือการวิพากษ์วิจารณ์ของบรรดานักเศรษฐศาสตร์และนักธุรกิจที่สื่อมวลชนนำมาถ่ายทอดต่อ

นับเป็นการสะท้อนวิธีแก้ปัญหาอย่างหนึ่งที่รัฐบาลควรเปิดใจรับฟัง

การเปิดรับฟังประชาชนเป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งของทุกๆ รัฐบาล ไม่ว่าเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชน หรือรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารก็ตาม

โดยเฉพาะรัฐบาลจากการรัฐประหารอย่างรัฐบาลคสช.ในปัจจุบัน ยิ่งต้องรับฟังประชาชนให้มาก
นั่นเพราะรัฐบาลชุดนี้ไม่มีส.ส.-ส.ว.ที่มาจากประชาชนประกอบกันเป็นรัฐสภาคอยให้คำแนะนำชี้ให้เห็นถึงจุดแข็ง-จุดอ่อน ในการออกนโยบายมาตรการแก้ไขปัญหาต่างๆ

ถึงจะบอกว่ามีสมาชิกสภานิติบัญญัตติแห่งชาติ(สนช.) คอยทำหน้าที่แทนส.ส.-ส.ว. แต่สมาชิกทั้งหมดก็มีที่มาจากการคัดเลือกแต่งตั้งของ คสช.

การให้เข้ามาแสดงความเห็นคัดง้างนโยบายของรัฐบาลที่มีนายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช.เป็นคนเดียวกัน จึงเป็นไปได้ยากในทางปฏิบัติ

พูดถึงปัญหาหลายด้านที่รัฐบาลกำลังเผชิญอยู่ในเวลานี้

ความขัดแย้งกันเองภายใน เป็นหัวข้อครหานินทาในสังคมคอการเมืองมาพักใหญ่ๆ ว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ไม่สามารถเดินหน้าไปได้เท่าที่ควร

รวมถึงการร่างรัฐธรรมนูญที่เริ่มมีความเห็นไม่ตรงกันระหว่างคนในเครือข่ายแม่น้ำ 5 สายด้วยกันเอง หรือในหมู่พรรคการเมืองที่เห็น ขัดแย้งกับคณะกรรมาธิการยกร่างฯ

แรกเริ่มเดิมทีนั้น กรรมาธิการยกร่างฯ มักอ้างว่าประชาชนส่วนใหญ่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฯ ที่กำลังจัดทำอยู่ มีเพียง 2 พรรคการเมืองใหญ่ พรรคเพื่อไทย-ประชาธิปัตย์เท่านั้นที่คัดค้านเนื่องจากตัวเองเสียประโยชน์

แต่ล่าสุดดูเหมือนไม่ใช่เช่นนั้น

เพราะปรากฏว่ามีพรรคการเมืองขนาดเล็ก ที่เรียกว่ากลุ่มสหพรรคการเมืองประชาธิปไตย 28 พรรค ได้เข้ายื่นหนังสือคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย

ในประเด็นเดียวกับที่พรรคใหญ่และภาคประชาชนจำนวนมากคัดค้านทั้งในเรื่องการเปิดช่องให้นายกฯ มาจากคนนอก ไม่จำเป็นต้องเป็นส.ส. รวมถึงการให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทางอ้อม เป็นต้น

ยังไม่นับถึงการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญ ซึ่งยังไม่รู้ว่าจะมีหรือไม่มี เนื่องจากพล.อ.ประยุทธ์ขอสงวนสิทธิ์ ในการตัดสินใจแต่เพียงผู้เดียว

ซึ่งก็ต้องรอลุ้นว่าจะอย่างไร เพราะเชื่อกันว่าการทำประชามติร่างรัฐธรรมนูญจะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่ารัฐบาล คสช.จะอยู่ต่อไปอีกยาวนานขนาดไหน

10 ปีเหมือนป้ายเชียร์ที่หัวหินหรือไม่

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกฯ ได้ออกมาแก้ไขคำพูดของตัวเองที่เคยระบุว่าจะให้มีการเลือกตั้งภายในปลายปีนี้ ว่าเป็นการพูดรวบไปหน่อย

ความจริง คสช.ยังยึดตามโรดแม็ปเดิมคือให้มีการเลือกตั้งราวต้นปีหน้า ส่วนปลายปีนี้คาดว่ารัฐธรรมนูญ จะแล้วเสร็จ

อย่างไรก็ตาม สำหรับปัญหาด้านเศรษฐกิจที่มีการขยายความเชื่อมโยงไปถึงกระแสข่าวการปรับครม.เศรษฐกิจนั้น พล.อ.ประยุทธ์ยังยืนกรานจะไม่เลือกใช้วิธีการดังกล่าว เพราะเห็นว่าไม่สามารถช่วยแก้ปัญหาให้ดีขึ้นได้

"มันไม่ได้แก้ปัญหาง่ายขนาดนั้น ประเทศชาติมีคนเกือบ 70 ล้านคน มีปัญหาร้อยกว่าเรื่อง จนถึงวันนี้ขึ้นเป็นพันกว่าเรื่อง แทนที่มาช่วยกัน วันนี้เป็นโอกาสดี ที่รัฐบาลชุดนี้เข้ามาแบบนี้ รวมพลังคนมาช่วยแก้ปัญหา ไม่ใช่ตีให้แตกไปทุกเรื่องเหมือนรัฐบาลปกติ"

จากประโยคดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า พล.อ.ประยุทธ์ กำลังได้รับแรงเสียดทานอย่างหนักจากปัญหาหลายด้านที่มะรุมมะตุ้มเข้ามาพร้อมๆ กัน สวนทางกับอารมณ์ที่เคยพูดไว้ก่อนเป็นรัฐบาลว่า "บริหารราชการแผ่นดินไม่เห็นจะยากตรงไหน"

ขณะที่การเคลื่อนไหวของมวลชนกลุ่มต่างๆ เริ่มมีให้เห็นถี่ขึ้น เพราะเริ่มชินกับกฎอัยการศึกทำให้รัฐบาล คสช.ต้องหาวิธีกระชับอำนาจเพื่อรองรับสถานการณ์ ใหม่ในอนาคต ด้วยการเตรียมยกเลิกกฎอัยการศึก หันมาใช้มาตรา 44 ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวแทน

ซึ่งอาจเป็นตัวช่วยลดแรงกดดันจากต่างประเทศลงได้ระดับหนึ่ง เพราะไม่รู้ว่ามาตรา 44 คืออะไร รู้จักแต่กฎอัยการศึก

แต่สำหรับประชาชนคนไทยยังต้องลุ้นว่าร่างกฎหมายใหม่ที่ออกมารองรับมาตรา 44

จะทำให้แนวรบด้านสิทธิเสรีภาพเบาบางลงหรือเข้มข้นมากกว่าเดิม

ไม่มีความคิดเห็น: