PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

มาเลย์อินโดให้ที่พักพิงรมว.ต่างประเทศไทยไม่ร่วมแถลงข่าว

มาเลเซีย-อินโดนีเซียจะให้ผู้อยพทางเรือพักพิง - รมว.ต่างประเทศไทยไม่ร่วมแถลงข่าว

มาเลเซียเชิญอินโดนีเซีย ไทย ถกเรื่องผู้อพยพทางเรือ - ทั้ง 3 ชาติจะปฏิบัติตาม กม.ระหว่างประเทศ-หลักมนุษยธรรม อินโดนีเซีย-มาเลเซียสนับสนุนที่พักพิงชั่วคราวให้ผู้อพยพทางเรือ 7,000 คน ขอนานาชาติร่วมช่วยเหลือ จะจัดโยกย้ายไปประเทศที่ 3 หรือส่งกลับภูมิลำเนาภายใน 1 ปี ส่วน พล.อ.ธนะศักดิ์ ไม่อยู่แถลงตอนจบ โดย รมว.ต่างประเทศมาเลเซียตอบแทนว่าฝ่ายไทยขอไปดูกฎหมายก่อน
การแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย หลังการหารือ 3 ฝ่าย ระหว่างรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย ทั้งนี้ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย ไม่ได้ร่วมแถลงหลังการหารือ (ที่มา: Twitter/@NotThatBobJames)

20 พ.ค. 2558 - รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ไทย และอินโดนีเซีย จัดหารือกันวันนี้ที่ "วิสมา ปุตรา" หรือที่ทำการกระทรวงการต่างประเทศของมาเลเซีย ที่ปุตรา จายา ในประเด็นเรื่องการเคลื่อนย้ายประชากรอย่างไม่เป็นปกติ และเรื่องการค้ามนุษย์ ทั้งนี้ตามรายงานของสำนักข่าวเบอนามาของทางการมาเลเซียรายงานว่า
โดยผู้เข้าร่วมการหารือประกอบด้วย อะนิฟาห์ อามาน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย ซึ่งเชิญ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ จากไทย และเร็ตโน เลสตารี เปรียนซารี มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศอินโดนีเซีย
ตามแถลงการณ์ ที่เผยแพร่ในเว็บไซต์ของกระทรวงการต่างประเทศมาเลเซีย ที่เผยแพร่หลังการหารือ มาเลเซีย อินโดนีเซีย และไทย "จะดำเนินการที่จะคงไว้ซึ่งความรับผิดชอบและปฏิบัติตามพันธะกรณีภายใต้กฎหมายระหว่างเทศ และกฎหมายภายในประเทศที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งข้อกำหนดในเรื่องการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่ปกติ"
"อินโดนีเซีย และมาเลเซีย เห็นชอบที่จะดำเนินการให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมต่อผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่ปกติ ที่ยังคงอยู่ในทะเลทั้ง 7,000 คน และเห็นชอบที่จะให้ที่พักพิงชั่วคราว และให้มีกระบวนการโยกย้ายถิ่นฐานและส่งกลับประเทศต้นทาง โดยจะดำเนินการโดยประชาคมนานาชาติภายใน 1 ปี ในขณะเดียวกัน มาเลเซีย และอินโดนีเซียเชิญชวนชาติอื่นๆ ในภูมิภาคให้เข้าร่วมในความพยายามนี้"
"ส่วนหน่วยงานที่บังคับใช้กฎหมายของทั้งสามประเทศ จะร่วมมือในการแบ่งปันข้อมูลด้านข่าวกรองเพื่อที่จะต่อต้านลักลอบขนคนและการค้ามนุษย์"
ในแถลงการณ์ยังเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติ ให้ช่วยเหลือมาเลเซีย อินโดนีเซีย และประเทศไทย ในสิ่งที่จำเป็น โดยเฉพาะการช่วยเหลือด้านงบประมาณเพื่อช่วยให้สามารถจัดหาที่พักพิงชั่วคราวและความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมให้กับผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่เป็นปกติซึ่งอยู่ในภาวะเสี่ยง โดยผู้ย้ายถิ่นเหล่านี้จะได้อยู่ในที่พักพิงในพื้นที่ซึ่งถูกกำหนด และได้รับความเห็นชอบจากประเทศที่เกี่ยวข้อง
ขณะเดียวกันยังเรียกร้องต่อประชาคมนานาชาติให้มีบทบาทในการส่งกลับผู้ย้ายถิ่นที่เข้ามาอย่างไม่เป็นปกติ ให้กลับไปยังประเทศต้นทาง หรือ ให้โยกย้ายถิ่นฐานไปยังประเทศที่สาม ภายในกำหนด 1 ปีนี้
ทั้งนี้หลังการประชุม พล.อ.ธนะศักดิ์ไม่ได้ร่วมในการแถลงข่าวดังกล่าว โดยในรายงานของบางกอกโพสต์ อานิฟาห์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวแทนว่า เขาจำเป็นต้องนำไปพิจารณาเสียก่อนว่ามาตรการนี้เป็นไปตามกฎหมายของไทยหรือไม่
รายงานของสำนักข่าวเบอนามา ระบุด้วยว่า มีชาวบังกลาเทศและโรฮิงญา 1,158 คน ซึ่งมีทั้งเด็กและผู้หญิงด้วย ขึ้นฝั่งที่เกาะลังกาวี รัฐเคดาห์ เมื่อวันที่ 10 พฤษภาคม โดยเป็นการขึ้นฝั่งที่มาเลเซียเป็นจำนวนมากเท่าที่เคยบันทึกมา

ไม่มีความคิดเห็น: