PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 5 ตุลาคม พ.ศ. 2558

ธงชัย วินิจจะกูล : ปัญหาวงวิชาการเมืองไทย คือหอคอยงาช้างมันอ่อนแอต่างหาก!

วันที่ 04 ตุลาคม พ.ศ. 2558 เวลา 08:00:00 น.

ความเชื่อที่ว่าประเทศไทย เป็นรัฐชาติ มีรูปร่างเป็นรูปคล้ายด้ามขวาน ที่เราจะเห็นจนเคยชินทางสื่อโทรทัศน์ โดยเฉพาะในแบบเรียนที่พร่ำสอนกันมาว่า มีมาแต่โบราณ เป็นวาทกรรมที่ทรงอิทธิพลอย่างมาก หลายคนยึดมั่นว่านั่นคือเรื่องจริง

แต่ในเเวดวงวิชาการด้านสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ มีการถกเถียงเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการกลับไปตีความและวิเคราะห์จากหลักฐานทั้งหมด จนเห็นตรงกันแล้วว่า แผนที่ประเทศไทย ในลักษณะที่เป็นเขตแดนแบบที่ปรากฎในปัจจุบันนั้น ไม่ใช่สิ่งที่มีมาแต่โบราณกาล  แต่เพิ่งจะถูกประดิษฐ์สร้างขึ้น จากปัจจัยการเปลี่ยนแปลงของโลกสมัยใหม่ เมื่อไม่นานมานี้เอง

หนังสือเรื่อง Siam Mapped: A history of the geo-body of a nationเขียนโดย ธงชัย วินิจจะกูล เป็นอีกหนึ่งผลงานการศึกษาทางประวัติศาสตร์ของไทย ที่รื้อสร้างความรู้ความคิดเรื่องพัฒนาการภูมิศาสตร์กับการเมืองขึ้นใหม่ จนแนวคิดดังกล่าวมีผู้อ้างอิงถึงจำนวนมากทั้งไทยและต่างประเทศ

ศาสตราจารย์ ดร.ธงชัย วินิจจะกูล  ปัจจุบันเป็น อาจารย์ประจำคณะประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยวิสคอนซิน แมดิสัน ประเทศสหรัฐอเมริกา ได้เดินทางมาร่วมการเสวนาสาธารณะ ในวาระครบรอบ 20 ปี Siam Mapped ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ 

งานนี้เกิดขึ้น เพราะทุกคนเห็นตรงกันว่า หนังสือเรื่อง Siam Mapped เป็นหนังสือทางวิชาการที่ก่อให้เกิดคุณูปการในการศึกษาด้านการเมืองและประวัติศาสตร์ ช่วง2 ทศวรรษอย่างมาก โดยเฉพาะการทำความเข้าใจการเกิดขึ้นของการสร้างแผนที่และพรมแดนของไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่านเป็นรัฐสมัยใหม่  โดยมีนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์สังคมศาสตร์จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จำนวนมากเข้าร่วมอภิปรายรวมถึงนิสิตและนักศึกษาเข้าร่วมนับร้อยคน

โดยศาสตราจารย์ธงชัยกล่าวช่วงหนึ่งว่ายอมรับว่าหนังสือSiamMappedคือหนังสือที่มีจุดมุ่งหมายในการพยายามสู้กับสาเหตุทั้งหลายที่เป็นตัวการก่อให้เกิดเหตุการณ์6 ตุลา  งานชิ้นนี้มีแรงบันดาลใจจากการพยายาม จะทำให้งานวิชาการของตนมีความแปลกใหม่ ออกนอกจากกรอบ

นอกจากนี้ ในช่วงนั้น ยังตนยังอยากทำงานโดยรู้สึกว่าไม่อยากให้งานตนเองมีประโยชน์ หรือไม่อยากถูกให้เอาไปใช้ โดยเฉพาะในช่วงนั้นที่พรรคคอมมิวนิสต์ล่มสลาย เมื่อตนกลับมาก็มีคนหลายคนบนว่างานของตนไม่มีประโยชน์ ซึ่งตนก็ยอมรับ ทั้งนี้ในฐานะนักประวัติศาสตร์ ตนรู้เพียงว่าอยากจะทำงานดีๆสักหนึ่งเรื่อง


Siam Mapped ฉบับภาษาอังกฤษ

"โดยในขั้นการเขียนและวิจัยเรื่อง Siam Mapped ผมก็ไม่รู้ว่ามันจะดีหรือไม่ รู้สึกแค่ว่าต้องอ่านแล้วอิ่ม ซึ่งเรื่องที่ดีสำหรับผม มีประเด็นสำคัญคือต้องไม่คุ้นหู ต้องขัดแย้งกับความรู้ที่มีมา ต้องมีลักษณะน่าเชื่อ แต่กลืนไม่ลง ไม่ตรงกับขนบ ปะทะต่อสู้กับประวัติศาสตร์กระแสหลัก โต้แย้งอย่างหนัก แต่ไม่ใช่ประวัติศาสตร์ฝ่ายซ้าย หรือมาร์กซิสม์ หรือยิ่งต่อต้านกับฝ่ายซ้ายก็ยิ่งดีใหญ่ นอกจากนี้ ยังต้องมีลักษณะเป็นทฤษฎี แต่ไม่บอกว่ามีทฤษฎี ต้องทำให้อ่านแล้วเป็นข้อมูลปกติสนุก แต่ทั้งนี้ ก็ไม่จำเป็นต้องหลบเลี่ยงประเด็นทางการเมือง แต่ไม่จำเป็นต้องพูดเรื่องทฤษฎีอยู่ตลอดเวลา โดยจุดยืนของผมยอมรับว่าตอนนั้นผมต่อสู้กับชาตินิยมและความเป็นไทย ซึ่งผมต่อสู้มานาน แต่ที่สำคัญคือต้องไม่โจ่งแจ้งเปิดเผย ให้มันอยู่ในเรื่องราวเอง" ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

โดยที่มาของงานชิ้นนี้ ธงชัยเล่าว่า เป็นการพยายามใช้กรอบคิดโพสต์โมเดิร์น กรอบคิดแบบหลังโครงสร้างนิยม ในการเข้ามาศึกษาแผนที่ โดยดูการปะทะทางสัญญะและเกิดการแปรจนเกิดเป็นมูลฐานการเข้าสู่สภาวะสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งงานของตนจริงๆ แล้วไม่มีอะไรพิศดาร เพราะคนรู้มานานแล้วว่าเขตแดนเป็นเรื่องที่เพิ่งจะเกิดขึ้น ตนไม่ใช่คนค้นพบ แต่ตนใช้มันเป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาเรื่องอื่นๆ เช่นการปะทะกันของความรู้สมัยใหม่ที่เข้ามาในสยาม และก่อให้เกิดปรากฏการณ์ ทางสังคมและการเมือง

Siam Mapped ฉบับแปลภาษาไทย

ซึ่งในฐานะคนเขียนก็เห็นว่าคนอ่านน่าจะได้ประโยชน์จากการงานดังกล่าวและอาจจะมองเห็นมิติใหม่ๆที่กว้างขึ้นและอาจมองเห็นเรื่องราวที่น่าสนใจมากกว่าตนก็ได้

ธงชัยกล่าวทิ้งท้ายช่วงแรกสั้นๆว่า"ทั้งนี้นอกจากงานชิ้นนี้จะทำให้ผมมีงานทำที่สหรัฐอเมริกาก็เคยมีคนพูดกับผมว่าข้อดีของงานชิ้นนี้ง่ายมากๆคือเป็นงานที่เบสิคมากเพราะบทสรุปของมันคือแค่บอกว่าอย่าลืมนะจมูกคุณอยู่นั้นแต่คุณอาจจะมองไม่เห็น" 



ด้าน ดร.พิชญ์ พงษ์สวัสดิ์ อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯมองว่า ข้อถกเถียงทางประวัติศาสตร์ก่อนหนังสือ Siam Mapped จะออกมาจะเน้นการวิพากษ์หลักฐานเท่านั้น แต่ Siam Mapped เป็นหนังสือที่อธิบายประวัติศาสตร์โดยมีเป้าหมายและแรงบันดาลใจ ซึ่งถือเป็นแนวทางใหม่ในการถกเถียงประวัติศาสตร์ไทย โดยเฉพาะการต่อสู้ด้านความเป็นไทย

ทั้งนี้ ตนเองทำวิทยานิพนธ์เรื่องเกี่ยวกับเมืองชายแดน ซึ่งงานของธงชัย จะอธิบายในกรอบว่ามันเกิดการสร้างพรมแดนขึ้นจริงแล้ว ขณะที่งานวิจัยของตนจะต่อยอดจากงานของธงชัย โดยจะตอบโจทย์เรื่องพลวัตการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นบริเวณชายแดน ซึ่งจะพบว่าพรมเเดนไม่ได้เกิดขึ้นเพราะเส้นเขตเเดน แต่ในปัจจุบัน พรหมแดนที่ตนศึกษามันเกิดขึ้นจากระบบของรัฐที่สร้างสถานะให้คน เช่น ระบบสัญชาติในบัตรประชาชน

ขณะที่  ดร.จักรกฤช สังคมณี จากภาควิชาสังคมวิทยา คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯเห็นสอดคล้องกันว่า  เชื่อว่าประวัติศาสตร์ชาติจากแผนที่ยังคงเกิดขึ้นอยู่เรื่อยๆ รัฐไม่ได้มีอาณาเขตที่ตายตัวอีกต่อไป แต่อำนาจรัฐกระจายตัวอยู่ทั่วไป และในทุกมิติ และรัฐก็ผลิตเครื่องมือของอำนาจในการแสดงพรมแดนของรัฐ ซึ่งก็เปลี่ยนแปลงไปจำนวนมาก

ด้าน ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวช่วงหนึ่งว่า ในรอบ20 ปี มีหนังสือวิชาการไม่กี่เล่ม ที่คนยังหยิบขึ้นมาอ่านอยู่ จนถึงปัจจุบัน แต่หนังสือเรื่อง Siam Mapped เป็นความพิเศษ ที่ปัจจุบันยังถูกนำมาพูดถึงโดยทั่วไป ตนถือว่าหนังสือเล่มนั้นเป็นของสาธารณะ และผู้เขียนก็อาจจะมีความเปลี่ยนแปลงทางความคิดไปมากแล้ว

ขณะที่ อ.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ จากภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬา ให้ข้อคิดเห็นเรื่องชาตินิยม ระบุว่า งานของธงชัย เป็นงานที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นเรื่องชาตินิยมอย่างสุดโต่ง ซึ่งส่วนตัวเห็นว่าชาตินิยมยังเป็นเรื่องสำคัญ เพราะจะเห็นว่าในยุคสมัยใหม่เรื่องชาตินิยมยังมีความจำเป็นในฐานะอุดมการณ์ ที่เป็นที่ยึดเหนี่ยวในการต่อสู้ทางการเมืองที่ดีได้ ไม่จำเป็นต้องขัดแย้งหรือต้องการปฎิเสธในขั้นแตกหัก


โดย ศ.ดร. ธงชัย  ตอบกลับผู้วิจารณ์ โดยกล่าวว่า  ยอมรับว่าในงานของตนนั้น เป็นมุมมองจากศูนย์กลาง และอยู่ในช่วงบริบทเวลาขณะนั้น ที่กระเเสโลกาภิวัตน์ ยังไม่มีอิทธิพลมาก เมื่อเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่พรมแดนเริ่มสลายตัว งานของตนโดยเฉพาะเรื่องพรมแดน จึงอาจต้องมีการเปลี่ยนแปลงเรื่องข้อสังเกตไปบ้าง   ยืนยันว่างานของตนไม่สมบูรณ์และยังไม่จบ  เเต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องสำคัญขณะนี้คือการที่ระบบคิดแบบภูมิศาสตร์สมัยใหม่ได้ครอบงำและมีปฎิบัติการณ์อยู่ตลอดเวลา

โดยในส่วนวิชาประวัติศาสตร์นั้นสำหรับตน วิชาประวัติศาสตร์เป็นเรื่องทางความคิดที่จะผลิตคนที่มีความสามารถในการฟังหูไว้หูสามารถเชื่อและไม่เชื่ออะไรก็ได้อย่างมีวิจารณญานหรือจนอาจถึงขั้นสามารถสร้างระบบศีลธรรมได้ด้วยตนเอง



ทั้งนี้ หลายคนมักวิจารณ์ว่างานวิชาการส่วนใหญ่อยู่บนหอคอยงาช้างไม่สัมผัสกับประชาชนซึ่งตนเห็นว่าการอยู่บนหอคอยงาช้างไม่ใช่ปัญหาและยอมรับว่างานของตนหากจะมองว่าอยู่บนหอคอยงาช้างก็ยินดี แต่ส่วนตัวเห็นว่า ประเทศไทยมีปัญหาหอคอยงาช้าง ที่อ่อนแอมากต่างหาก  เรามีนักวิชาการที่รับใช้รัฐบาล รับใช้เอ็นจีโอจำนวนมาก แต่ไม่มีความเข้มแข็งทางสติปัญญา และการค้นคว้าถกเถียงเพียงพอ

ศ.ดร. ธงชัย ยังพูดถึงปัญหาเรื่องการครอบงำทางความคิดเเละความเชื่อในสังคมไทยว่า

"ขอให้ตระหนักไว้ว่า การครอบงำทางความคิดและความรู้ ที่เกิดขึ้นในสังคม ไม่ได้เกิดขึ้นจากชนชั้นนำเท่านั้น เรื่องประวัติศาสตร์และความคิดต่างๆ จริงๆ แล้วเกิดจากการผลิตซ้ำทางความคิดของประชาสังคม หรือคนทั่วไปเอง  ส่วนเรื่องชาตินิยมนั้น ผมไม่ได้บอกว่าผมหลุดจากความเป็นไทย หรือบอกว่าเราสามารถหลุดพ้นจากมันได้ แต่ผมให้ความสำคัญกับความสามารถในการตระหนักรู้ วิพากษ์วิจารณ์ต่อปัญหาชาตินิยมในทางปัญญามากกว่า"

ไม่มีความคิดเห็น: