PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

150 ปี ศรีสุริยวงศ์ กับเศรษฐกิจสยาม หลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง

วันที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 

โดย พรรณราย เรือนอินทร์


สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)
เป็นอีกหนึ่งประเด็นน่าจับตา สำหรับโครงการเสนอชื่อ "สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ (ช่วง บุนนาค)"ให้เป็น "บุคคลสำคัญของโลก" ซึ่งจะมีการยื่นต่อสหประชาชาติในปี 2561 หรืออีกราว 3 ปีข้างหน้า โดยระหว่างนี้ฝ่ายแม่งานอย่าง ม.ราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา และคณะทำงาน จะทำการรวบรวมข้อมูลและเอกสารสำคัญที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งจัดกิจกรรมต่างๆ ซึ่งมีการเบิกโรงไปตั้งแต่ช่วงต้นปีที่ผ่านมาในสัปดาห์ของงานวันคล้ายวันพิราลัย เมื่อเดือนมกราคม 

นัยว่าเป็นการเปิดตัวโครงการดังกล่าวแก่สาธารณะ โดยมีกิมมิกคือวาระครบรอบ 150 ปีของการเป็นผู้สำเร็จราชการแผ่นดินสยามในรัชกาลที่ 5 เมื่อครั้งยังทรงพระเยาว์ 

สมเด็จช่วงฯ ถือเป็นขุนนางที่มีบทบาทสูงยิ่ง โดยเป็นสมเด็จเจ้าพระยาเพียงคนเดียวในประวัติศาสตร์สยาม มีชีวิตอยู่ในช่วง "เปลี่ยนผ่าน" ของบ้านเมืองในด้านต่างๆ โดยเฉพาะเศรษฐกิจ ซึ่งมีเหตุการณ์สำคัญเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 นั่นก็คือการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง อันส่งแรงกระเพื่อมหลายระลอกในสยาม ทั้งยังกลายเป็นจุดเริ่มต้นและรากฐานสำคัญมาจนถึงปัจจุบัน 

ล่าสุดจึงเกิดกิจกรรม "ตามรอย 150 ปีศรีสุริยวงศ์" ในหัวข้อ "สังคมและเศรษฐกิจหลังสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง" ซึ่งพาไปเยี่ยมชมประจักษ์พยานแห่งประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ในห้วงเวลาดังกล่าว

พลาดิศัย สิทธิธัญกิจ นักประวัติศาสตร์ ผู้รับหน้าที่เป็นวิทยากร เล่าว่า สมเด็จช่วงฯสืบทอดงานด้านการคลังตามอย่างบรรพบุรุษ "เฉกอะหมัด" ขุนนาง "กรมท่าขวา" สมัยกรุงศรีอยุธยา ซึ่งช่ำชองในการค้ากับนานาอารยประเทศ ที่สำคัญท่านยังเป็นผู้มีบทบาทอย่างสูงในการเจรจากับเซอร์ จอห์น เบาว์ริ่ง ขุนนางอังกฤษ ในการลงนามสนธิสัญญาเบาว์ริ่งในสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อันส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงของระบบเศรษฐกิจครั้งยิ่งใหญ่ของสยามประเทศ 

"หลังการเซ็นสนธิสัญญาเบาว์ริ่ง มีการปรับเปลี่ยนระบบการทำงานของกรมเจ้าท่าที่มีมาแต่สมัยอยุธยาให้รองรับปริมาณการค้ากับต่างชาติที่มีเพิ่มมากขึ้นยกเลิกวิธีการค้าแบบพระคลังสินค้า ให้มีการค้าอย่างเสรี ไม่มีการผูกขาด และหนึ่งในสาระสำคัญของสัญญาก็ส่งผลให้สยามตั้งโรงภาษีหรือศุลกากร เพื่อตรวจสินค้าต่างๆ ที่นำขึ้นจากเรือและลงเรือเพื่อเก็บภาษีขาเข้าหรือขาออกด้วย"

นี่คือต้นกำเนิดของสถาปัตยกรรมงดงามริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาอันถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้เป็น "โรงภาษี" หรือ "ศุลกสถาน" ตามข้อตกลงที่ว่า สยามต้องปลูกโรงภาษีใกล้ท่าจอดเรือ 

สถาปนิกผู้ออกแบบคือ มิสเตอร์โจอาคิม กราซี ชาวออสเตรีย ซึ่งเคยรังสรรค์พระที่นั่งวโรภาษพิมานอันโอ่โถงเป็นศรีสง่าแห่งพระราชวังบางปะอิน รวมถึงอาคารกรมแผนที่ทหารและกระทรวงกลาโหมเดิมอีกด้วย 

http://www.matichon.co.th/online/2015/11/14472119421447212275l.jpghttp://www.matichon.co.th/online/2015/11/14472119421447212281l.jpg
"ศุลกสถาน" หรือ "โรงภาษีร้อยชักสาม"

"อาคารหลังนี้มี 3 ชั้น ใช้เป็นที่ทำการของศุลาการในสมัยรัชกาลที่ 5 ก่อนจะย้ายไปอยู่ที่คลองเตย เป็นงานแบบนีโอคลาสสิก บางคนเรียกว่านีโอปาเลเดียน ซึ่งมีลักษณะสมมาตรคือ มีจั่วลาด และปีกอาคาร 2 ฝั่งเท่ากัน ชั้น 3 มีห้องโถง สมัยก่อนใช้เป็นห้องเต้นรำ มีนาฬิกาขนาดใหญ่ด้านบน ถือเป็นอาคารที่ทันสมัยมากของกรุงเทพฯในยุคนั้น ซึ่งมีเรือสินค้าเข้ามาจอดทอดสมอ ติดต่อธุรกิจการค้า" จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรที่เชี่ยวชาญด้านศิลปกรรม อธิบายอย่างเห็นภาพ 

อีกหนึ่งประเด็นที่ไม่อาจกล่าวข้ามไปสำหรับการปฏิรูปเศรษฐกิจในช่วงนั้น ก็คือการถือกำเนิดขึ้นของธนาคารแห่งแรกในสยาม ที่ได้รับพระราชทานพระบรมราชานุญาตจัดตั้งธนาคารอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ในนาม "แบงค์สยามกัมมาจล" หรือธนาคารไทยพาณิชย์ในทุกวันนี้ 

http://www.matichon.co.th/online/2015/11/14472119421447212286l.jpg
ธนาคารแห่งแรกในสยาม "แบงค์สยามกัมมาจล"

ปิดท้ายด้วยก้าวย่างสำคัญของเศรษฐกิจสยาม คือการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ส่งผลให้มีบริษัทต่างชาติตบเท้าเข้ามาขอเปิดที่ทำการอย่างมากมายในบางกอก หนึ่งในนั้นคือ แอนเดอร์เซ่น แอนด์ โก ซึ่งส่งออกไม้สักเป็นธุรกิจหลัก ต่อมารู้จักกันในชื่อบริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างสูง

ปัจจุบันโกดังหลังเก่าอายุกว่า 100 ปี กลายเป็นส่วนหนึ่งของแหล่งท่องเที่ยวสุดชิคที่ตั้งชื่อตามบริษัทว่า "เอเชียทีค"

ผู้คนทั้งชาวไทยและต่างชาติแวะเวียนมาเยี่ยมชมและช้อปปิ้งสินค้าหลากหลาย

ภาพของความรุ่งเรืองทางธุรกิจในอดีตกับการเป็นแหล่งการค้าอันคึกคักในวันนี้ ถูกซ้อนทับกันอย่างมีความหมาย

เช่นเดียวกับสมเด็จช่วงฯ ซึ่งไม่เพียงเป็นขุนนางคนสำคัญแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ หากแต่เป็นบุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ไทย

เพราะทุกการตัดสินใจของท่านในวันนั้น ได้ส่งผลเกี่ยวพันมาถึงระบบเศรษฐกิจไทยในวันนี้ 

http://www.matichon.co.th/online/2015/11/14472119421447212270l.jpg
โกดังสินค้าของ "บริษัท อีสต์เอเชียติ๊ก"

ที่มา :http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1447211942

ไม่มีความคิดเห็น: