PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

สธ. ยันไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่



 สธ. ยันไม่มีไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ไทยระบาดแค่ 4 สายพันธุ์ สามารถเป็นซ้ำได้ 4 ครั้ง อาการจะรุนแรงขึ้น เผยสถานการณ์ป่วยพบกว่าแสนคนแล้ว แนะ ปชช. ร่วมกำจัดลูกน้ำยุงลาย 
       
        นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงกรณี ปอ ทฤษฎี สหวงษ์ ดารานักแสดงป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก และมีกระแสว่าเป็นไข้เลือดออกสายพันธุ์ใหม่ ว่า โรคไข้เลือดออกที่พบในไทยเกิดจากไวรัสเดงกี มี 4 สายพันธุ์ มียุงลายเป็นพาหะนำโรค โดยยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีสายพันธุ์ใหม่ ส่วนการป้องกันโรคไข้เลือดออกนั้น วิธีที่ดีที่สุดคือป้องกันไม่ให้ถูกยุงกัด เพราะยังไม่มีวัคซีนป้องกันโรคไข้เลือดออก แต่จากการประเมินสถานการณ์สัปดาห์ที่ผ่านมา แนวโน้มจำนวนผู้ป่วยแต่ละจังหวัดยังคงที่ มีบางพื้นที่ที่พบผู้ป่วยรายใหม่เพิ่มขึ้น ส่วนการตรวจประเมินลูกน้ำยุงลาย ยังพบว่า ภาชนะที่มีขังน้ำตามบ้านเรือน วัด และโรงเรียน มีลูกน้ำยุงลายและเกิดเป็นตัวยุง ได้กำชับให้สถานบริการและเจ้าหน้าที่สาธารณสุขร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้ทุกหมู่บ้านร่วมกันกำจัดลูกน้ำยุงลายทุกสัปดาห์ และป้องกันตัวเองไม่ให้ถูกยุงกัด 
       
        นพ.อำนวย กาจีนะ อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวว่า ผู้ป่วยโรคไข้เลือดออกจะมีอาการไข้สูงลอย คลื่นไส้ อาเจียนเป็นเลือด เบื่ออาหาร หน้าแดง มีจุดเลือดที่ผิวหนัง เลือดกำเดาไหล มีเลือดออกตามไรฟัน ขอให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการตรวจวินิจฉัยโรคและรักษา หากเป็นไข้เลือดออกแล้ว ช่วงระยะไข้ลดลงในวันที่ 3 - 4 ของการป่วย หากผู้ป่วยมีอาการซึมลง กินอาหารดื่มน้ำไม่ได้ อาจเข้าสู่ภาวะช็อก ต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างทันท่วงที เพื่อป้องกันการเสียชีวิต ทั้งนี้ การติดเชื้อครั้งแรกอาการจะไม่รุนแรงมาก แต่การติดเชื้อครั้งที่สองที่ต่างสายพันธุ์จะทำให้เกิดอาการรุนแรง
       
        นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ รองอธิบดี คร. กล่าวว่า สถานการณ์ในประเทศตั้งแต่ ม.ค.- พ.ย. 2558 พบผู้ป่วยไข้เลือดออก 102,000 ราย เสียชีวิต  102 ราย ถือว่าไข้เลือดออกระบาดหนัก แต่ไม่รุนแรงเท่าปี 2556 แต่หากพิจารณาในช่วง ต.ค.-พ.ย. พบป่วยมากขึ้นกว่าปีก่อน แต่ถือว่าผู้ป่วยเริ่มชะลอตัวลง โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 3,000 - 4,000 รายต่อสัปดาห์ จากช่วงที่มีการระบาดสูงสุดใน ส.ค. มีผู้ป่วย 7,000 รายต่อสัปดาห์ ทั้งนี้ ไข้เลือดออกเป็นโรคที่มีความรุนแรงสูง หากมีผู้ป่วย 1,000 ราย จะเสียชีวิต 1 ราย จาก 2 สาเหตุ คือ 1.ภาวะเลือดออก และ 2. เลือดรั่วจากเส้นเลือดและเกิดภาวะช็อกและเสียชีวิตได้
       
       “ ที่น่าสังเกตคือปีนี้อากาศร้อนค่อนข้างมาก ซึ่งเอื้อต่อการเจริญเติบโตของเชื้อไวรัสเดงกี บวกกับฝนตก ๆ หยุด ๆ ทำให้ลูกน้ำยุงลายมีปริมาณมาก และเจริญเติบโตได้ดี โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ เมื่อมีฝนตกมากคนอยู่รวมกันหนาแน่น โอกาสที่จะแพร่ระบาดก็เพิ่มมากขึ้น เช่น นครราชสีมา เชียงใหม่ กทม. ซึ่งการป้องกันที่สำคัญที่สุดต้องกำจัดลูกน้ำยุงลาย เพราะลูกน้ำที่เกิดจากยุงลายที่มีเชื่อไข้เลือดออกก็จะมีเชื้ออยู่ในตัวเลย แต่ปัญหาคือเจ้าของบ้านไม่กำจัดทุกสัปดาห์ และไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่เข้าไปกำจัดให้ภายในบ้าน จึงทำได้แค่บริเวณท่อระบายน้ำ ซึ่งไม่ตรงจุด เพราะลูกน้ำตามท่อน้ำเป็นยุงรำคาญ ” นพ.โอภาส กล่าว
       
       นพ.โอภาส กล่าวว่า ขอย้ำว่าไม่มีสายพันธุ์ใหม่ และความรุนแรงของทั้ง 4 สายพันธุ์ไม่ต่างกันมาก โดยแต่ละปีจะพบทั้ง 4 สายพันธุ์แบบวนเวียนกันไป บางปีสายพันธุ์ 2 อาจจะระบาดมากในภาคใต้ สายพันธุ์ 3 อาจจะระบาดมากในภาคเหนือ เป็นต้น ดังนั้น คนหนึ่งคนจะสามารถเป็นไข้เลือดออกได้ 4 ครั้ง แต่จะไม่ได้เกิดจากสายพันธุ์เดิม เนื่องจากร่างกายจะมีภูมิต้านทาน ทั้งนี้ การป่วยไข้เลือดออกครั้งแรกจะไม่ค่อยรุนแรงมาก แต่หากเป็นครั้งที่ 2 จะเกิดความรุนแรงมากขึ้น เลือดออก และช็อกได้ ส่วนการวินิจฉัยโรค ในช่วงแรกจะแยกจากอาการไข้ทั่วไปค่อนข้างยาก ต้องเจาะเลือดตรวจ ซึ่งหากป่วยเพียง 1-2 วัน การเจาะเลือดตรวจอาจจะไม่พบเชื้อ ต้องใช้เวลา 3 - 4 วัน แต่ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนบุคคลด้วย การเจาะเลือดครั้งแรกจึงอาจไม่เจอเชื้อไข้เลือดออกก็ได้ ซึ่งการรักษายังไม่มียาเฉพาะ ต้องรักษาแบบประคับประคอง ส่วนวัคซีนยังอยู่ในขั้นตอนการขอขึ้นทะเบียนยา ทั้งนี้ จากการสำรวจคนไทยรู้จักไข้เลือดออกกว่า 80% แต่มีส่วนร่วมในการป้องกันโรค กำจัดลูกน้ำยุงลายเพียง 20%

ไม่มีความคิดเห็น: