PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันจันทร์ที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558

มีชัย โต้ ไม่เห็นจะวิตถาร


http://www.matichon.co.th/online/2015/11/14474740291447474040l.jpg

"ส่วนที่มองว่าเป็นการเอื้อให้ทหารจัดตั้งรัฐบาล ผมมองว่าไม่น่าจะเกิดขึ้น มันมีกรอบป้องกันเป็นชั้นๆ แล้ว การจะทำให้เป็นอย่างนั้น ก็ต้องรู้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดประชาชนจะรู้ล่วงหน้า "

หมายเหตุ - นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงกรณีมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรคการเมืองต่อแนวทางการได้มาซึ่งนายกรัฐมนตรีโดยให้พรรคการเมืองจัดทำรายชื่อผู้สมควรเป็นนายกฯไม่เกิน 5 รายชื่อ ที่รัฐสภา เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน

เท่าที่ฟังดูสรุปเหตุผลที่เห็นด้วยไม่เห็นด้วย เอาเฉพาะส่วนที่ไม่เห็นด้วยมี 5 ข้อคือ1.การบอกว่าเป็นความวิตถาร ผมมองไม่ออกว่าวิตถารตรงไหน ในการที่ให้ประชาชนได้รู้ล่วงหน้าว่าพรรคใดต้องการเสนอใครเป็นนายกรัฐมนตรี การให้ประชาชนรู้ล่วงหน้า มันเป็นเรื่องที่วิตถารอย่างไร ก็เข้าใจยาก ไม่รู้จะชี้แจงอย่างไร 2.เปิดช่องให้มีคนนอก ก็เหมือนกล่าวหาว่า กรธ.จะไปกำหนดว่าจะให้มีนายกฯคนนอกหรือคนใน ทั้งที่ข้อเท็จจริงไม่ใช่ กรธ.ต้องการเพียงให้พรรคการเมืองประกาศรายชื่อนายกฯก่อนเท่านั้น การเสนอรายชื่อนายกฯจึงขึ้นอยู่กับมติของพรรคที่จะเป็นผู้กำหนดด่านแรก และด่านที่สองคือสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ทั้งหมดในสภา จะเป็นคนลงมติเลือก

"คำถามคือหากพรรคการเมืองไม่ชอบคนนอก แล้วจะมีเหตุอะไรที่พรรคจะเสนอชื่อคนนอก ไม่ชอบคนนอกก็ไม่ต้องเสนอ อีกทั้งด่านแรกที่เปิดให้เสนอก็ยังไม่มีใครได้เป็น ส.ส. เพราะเพิ่งจะเริ่มรณรงค์เลือกตั้ง หรือหากมีพรรคไหนเสนอชื่อคนนอก ส.ส.ในสภาที่มีอำนาจลงมติ ก็ไม่ต้องไปเอา ถ้าพรรคการเมืองและ ส.ส. 500 คนไว้ใจไม่ได้ แล้วเราจะพึ่งใครได้"

3.ขัดเจตนารมณ์ประชาชน ผมนึกไม่ออกว่าเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์อย่างไร ทั้งที่ประชาชนเห็นรายชื่อนายกฯตั้งแต่ก่อนเลือกตั้ง เมื่อดูระบบเดิม พรรคจะเสนอใครก็ได้ที่อยู่ในสภา เราก็ไม่รู้ก่อนเลยว่า ส.ส.จะเลือกใคร ไม่รู้ว่าเจตนารมณ์ของประชาชนเป็นอย่างไร 4.ไม่ยึดโยงกับประชาชน ซึ่งผมมองว่าแนวทางดังกล่าวยึดโยงกับประชาชนมากที่สุด เพราะเป็นการให้ประชาชนรู้ล่วงหน้าว่าพรรคจะเสนอผู้ใดเป็นนายกฯ ส่วนที่บอกว่าเหตุใดต้องเป็น 5 ชื่อ ผมไม่ว่าอะไรหากพรรคใดเสนอชื่อคนเดียวก็ทำได้ แต่ต้องเข้าใจว่าหากผู้นั้นเกิดง่อยเปลี้ยเสียขาขึ้นมา พรรคนั้นก็จะไม่เหลือใคร ก็ต้องไปหยิบชื่อของพรรคอื่นมาแทน เราไม่ว่าหากคิดสั้นๆ แบบนี้เพราะสุดท้ายขึ้นอยู่กับการพิจารณาของประชาชน

5.ก้าวก่ายการตัดสินใจของพรรคการเมือง ผมไม่เข้าใจเลยว่าเป็นการก้าวก่ายพรรคการเมืองตรงไหนเพราะไม่ได้บังคับ พรรคการเมืองมีอำนาจเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีกันเองก่อนเลือกตั้ง แล้วก็มาเลือกกันในสภา แต่หากก้าวก่ายหมายความว่า เป็นการกำหนดกรอบ เพื่อไม่ให้พรรคไปหยิบชื่อใครต่อใครที่คนไม่รู้จักมาก็ได้ ก็ต้องอย่าลืมว่านี่คือระบอบประชาธิปไตย ประชาชนมีสิทธิรับรู้ก่อนได้ แล้วพรรคก็เป็นผู้ตัดสินใจในการคัดเลือกทั้งหมดนี้ ผมพร้อมรับฟัง แต่ยังหาเหตุผลไม่ได้ว่าสิ่งที่กรธ.เสนอไม่ดีอย่างไร โดยเราจะขอฟังต่อไปอีก 2-3 วัน หากใครคิดสิ่งใดออก เราก็จะได้นำกลับมาดูใหม่

- การเสนอ 5 รายชื่อของแต่ละพรรคจะต้องเรียงลำดับหรือไม่

กรธ.กำลังหารืออยู่ ยังไม่มีข้อยุติว่าจะให้เรียงลำดับ หรือเปิดให้เลือกกันเองได้ แต่เบื้องต้นเรามองว่าไม่จำเป็นต้องจัดลำดับ เนื่องจากเห็นว่าการเรียงลำดับ มีข้อดีคือประชาชนจะรู้ว่ารายชื่อนายกฯแต่ละคนว่าจะอยู่ในลำดับใด ขณะเดียวกันก็มีข้อจำกัดคือหากเป็นรัฐบาลผสมแล้วอาจจะก่อให้เกิดปัญหาหรือทำให้ถึงตันได้ ถ้าพรรคร่วมรัฐบาลเกิดไม่เอาชื่อตามลำดับนั้น โดยประเด็นนี้ทาง กรธ.อยู่ระหว่างหาวิธีการที่เหมาะสม

- เมื่อตั้งรัฐบาลแล้วรายชื่อนายกฯจากพรรคใดบ้างที่จะนำมาเสนอให้ส.ส.เลือก


เฉพาะของพรรคร่วมรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งก่อนจะมีการเลือกพวกเขาก็จะเจราจากันแล้ว ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ว่าพรรคที่คะแนนมากสุดจะได้นายกฯ หรือพรรคที่มีคะแนนน้อยที่สุดจะได้นายกฯ แต่ทั้งนี้ กรธ.ก็จะกำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำว่าพรรคการเมืองร่วมรัฐบาลที่จะสามารถนำรายชื่อนายกฯมาเสนอให้สภาเลือกได้ จะต้องมี ส.ส.ในสภาอย่างน้อยร้อยละ 5 หรือ 25 คน เพื่อแก้ข้อห่วงกังวลว่าอาจมีผู้ไปตั้งพรรคการเมืองขนาดเล็กขึ้นมาหวังให้ได้ ส.ส. เพียง 1 คน เพื่อร่วมรัฐบาล แล้วมีอำนาจเสนอชื่อนายกฯให้สภาโหวต

- การเสนอรายชื่อนายกฯจะให้ซ้ำกันหรือไม่

เบื้องต้นจะไม่ให้ซ้ำกัน ส่วนรายชื่อที่เสนอนั้นจะเป็นสมาชิกพรรคหรือไม่ก็แล้วแต่พรรคการเมือง เราจะไม่เข้าไปยุ่งมากจนเกินเหตุ กรธ.เพียง 21 คน จะไปสร้างข้อผูกมัดเขาไม่ได้ แต่เราจะเขียนให้กว้าง แล้วให้พรรคไปกำหนดเอง หากไม่ชอบพรรคก็แก้กันเองได้ จะได้ไม่ต้องแก้รัฐธรรมนูญ

- จะป้องกันการฮั้วกันของพรรคขนาดใหญ่และขนาดกลางก่อนการเลือกตั้งอย่างไร


ระบบใดก็มีโอกาสเกิดขึ้น ไม่มีอะไรห้าม เขาเป็นพันธมิตรกันก็เรื่องของเขา เราเชื่อว่า การยอมที่นั่งกันในสภาจะเกิดขึ้นได้ยากกว่าเดิม ส่วนการเป็นพันธมิตรกันทางการเมืองกันเป็นเรื่องปกติ อะไรไม่เป็นอันตรายก็ปล่อยไปตามธรรมชาติ

"ส่วนที่มองว่าเป็นการเอื้อให้ทหารจัดตั้งรัฐบาล ผมมองว่า ไม่น่าจะเกิดขึ้น มันมีกรอบป้องกันเป็นชั้นๆ แล้ว การจะทำให้เป็นอย่างนั้น ก็ต้องรู้ตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้ง อย่างน้อยที่สุดประชาชนจะรู้ล่วงหน้า"

- รูปแบบการถอดถอนเป็นอย่างไร


ความเป็นไปได้ที่จะใช้ ส.ว.ถอดถอน เหมือนเดิมคงยาก เพราะพรรคการเมืองมีโอกาสครอบงำ ส.ว. ได้มาก จึงคิดว่าจะไม่ให้อำนาจ ส.ว. ถอดถอน ส่วนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่มีอำนาจสอบสวนทำสำนวนอยู่แล้ว ก็คงไม่สามารถให้อำนาจถอดถอนได้ มิเช่นนั้น ป.ป.ช. ก็จะเป็นคนทำเองทุกกระบวนการ จึงกำลังหาอยู่ว่าจะใช้กลไกอะไรได้บ้าง ที่ไม่ใช่การลงคะแนนถอดถอนโดย ส.ว. ส่วนจะไปศาลหรือไม่ ก็กำลังมองอยู่ ส่วนโทษก็คือ พ้นจากตำแหน่งไปเลย ไม่ใช่หยุดปฏิบัติหน้าที่ เหมือนคดีอาญา แต่ทั้งนี้ต้องคำนึงถึงความหนักเบาของโทษที่ดำรงตำแหน่งอยู่ ส่วนจะตัดสิทธิตลอดชีวิตหรือไม่ก็กำลังคิดอยู่

- ถ้าส.ว.ไม่มีอำนาจถอดถอน จะมาจากการสรรหาทั้งหมดหรือไม่

ยังไม่ได้คิด แต่เราอยากทำให้แน่ใจว่า ที่มาของ ส.ว. จะต้องทำให้ไม่ให้ตกอยู่ใต้อาณัติของนักการเมือง ขณะเดียวกันก็ต้องมีความยึดโยงกับประชาชนพอสมควรด้วย เพราะยังต้องทำหน้าที่กลั่นกรองกฎหมาย ส่วนจะเป็นการเลือกตั้งตามสาขาวิชาชีพหรือไม่ กรธ.ก็ยังไม่ตลกผลึกในเรื่องนี้

ไม่มีความคิดเห็น: