PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันศุกร์ที่ 4 มีนาคม พ.ศ. 2559

บัญญัติ:ถึงเวลาปชป.จะออกมา

ท่าทีของคนการเมืองต่อร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ’มีชัย ฤชุพันธุ์’ มีเสียงโห่มากกว่าเสียงเชียร์
เพราะร่างรัฐธรรมนูญร่างแรกที่ถูกเปิดเผย เต็มไปด้วยเงื่อนปม ซ่อนเงื่อนงำ กับดักทางการเมืองมากมาย
เจตนารมณ์อันเป็นกลไกข้อห้ามต่างๆ ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในบทบัญญัติมาตรา 35 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราว 2557 จำนวน 10 ข้อ ถูกนำมาติดตั้งอย่างครบถ้วน
ล้อมคอกกลไกฝ่ายบริหารในอนาคตต้องปฏิบัติตามแผน คสช. ไปถึง 20 ปี หากฝ่าฝืนอาจเจอองค์กรอิสระที่ถูกเพิ่มอำนาจตัดสินตะเพิดให้ออกไปจากกระดานการเมืองอีกคำรบ
คำนิยามของร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับที่ 20 ถูก “มีชัย” และคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) บัญญัติไว้ใต้วาทกรรมสวยหรูว่า “รัฐธรรมนูญฉบับปราบโกง”
แต่สายตานักการเมืองเก่า-เก๋าประสบการณ์ “บัญญัติ บรรทัดฐาน” กรรมการสภาที่ปรึกษาพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) และอดีตหัวหน้าพรรค ปชป. คนที่ 7 พรรคเก่าแก่คู่การเมืองไทยร่วม 70 ปี ที่เคยผ่านระบบเลือกตั้งสารพัดรูปแบบ ทั้งสูตรบัตรใบเดียว บัตรเลือกตั้งสองใบ เขตเลือกตั้งพวงใหญ่ 3 คน ไปจนระบบ one man one vote
เขากลับมองว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “มีชัย” ที่คิดค้นสูตรบัตรเลือกตั้งใบเดียวรูปแบบใหม่ กากบาทครั้งเดียวได้ทั้ง ส.ส.เขต และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ จะทำให้การเมืองไทยถอยหลัง และนำไปสู่หายนะมากกว่าพาประชาธิปไตยถึงเส้นชัย
“ผมเห็นใจ กรธ. เพราะมีข้อจำกัดเยอะ กรอบที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 35 คงทำให้ออกนอกกรอบลำบาก ปัญหาที่สำคัญคิดว่าช่วงหลังอาจเพราะการตลาดจะเข้ามามีบทบาทกับทุกเรื่องในบ้านเมืองมากเกินไป เลยมักมีนวัตกรรมขึ้นมาทำกฎหมายซึ่งมันไม่จำเป็น การเขียนรัฐธรรมนูญเช่นนี้เหมือนกับถอยหลังไปสู่การเมืองก่อนรัฐธรรมนูญปี 2540”
“พอเน้นนวัตกรรมมาก บางเรื่องซึ่งมันดีอยู่แล้วก็ไปเปลี่ยนมัน เช่น ระบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ความคิดนี้มันเป็นความคิดที่เกิดขึ้นจากคณะกรรมการคณะหนึ่ง หลังเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เรียกว่าคณะกรรมพัฒนาการเมือง มี นพ.ประเวศ วะสี (ราษฎรอาวุโสเป็นประธาน) ผมเป็นรองประธานกรรมการ วันที่มีคณะกรรมการคณะนี้ขึ้นมา การเมืองเราไม่มีเสถียรภาพ มีแต่ความสับสนวุ่นวาย ลุ่มๆ ดอนๆ เดี๋ยวมีประชาธิปไตย เดี๋ยวมีรัฐประหาร”
“แต่สุดท้ายมาลงตรงที่ เป็นเพราะพรรคการเมืองไม่เข้มแข็ง ขาดความพร้อม จึงได้ข้อสรุปว่าทางหนึ่งที่จะทำให้พรรคการเมืองมีความพร้อมมากขึ้น คือความพร้อมด้านบุคลากร บุคลากรทางหนึ่งอยู่เขตเลือกตั้ง คลุกคลีประชาชน รับปัญหาเขามาแก้ไข แต่มันควรมีบุคลากรอีกชุดที่ทำยุทธศาสตร์รวมของประเทศ ที่มีความพร้อมจริงๆ นึกถึงนักวิชาการ ข้าราชการ ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์เยอะๆ ถ้าได้คนชุดนี้เป็นบุคลากรของพรรค พรรคน่าจะเข้มแข็งมากขึ้น เวลามีรัฐบาลชุดนี้อาจไปนั่งฝ่ายบริหาร พอเริ่มมีการจัดทำรัฐธรรมนูญ 2540 ก็ไปรับเอาความคิดของคณะกรรมการมา จึงเกิดระบบเลือกตั้ง 2 ใบ”
“ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้หลังการใช้รัฐธรรมนูญ 2540 และ 2550 การใช้เลือกตั้งระบบนี้ทำให้พรรคเข้มแข็งมากขึ้น สำคัญที่สุดจะว่ายุ่งยากในการเลือกตั้งก็ไม่ใช่ ผ่านมา 15 ปี คิดว่าคนเข้าใจ และมันตรงกับเจตนารมณ์ประชาชนจริงๆ เวลาประชาชนไปเลือกตั้ง เอ๊ะ… ส.ส.เขตคนนี้อยู่พรรคไม่ดี แต่เป็นคนดี เลือกเขาสักคน แต่พรรคที่สังกัดอาจไม่เข้าท่าจึงไปเลือกพรรคโน้น นี่เรียกว่าตรงเจตนารมณ์ ไม่มีความเสียหายอะไรเลย”
“ระบบบัตรใบเดียวคนมีประสบการณ์อย่างพวกผม ซึ่งเคยได้รับเลือกตั้งมาตั้งแต่บัตรใบเดียว จนถึงบัตรเลือกตั้งสองใบ เราพบความจริงว่าระบบบัตรใบเดียวไปให้ความสำคัญกับตัวผู้สมัครสูงกว่าพรรค ในหลักทฤษฎีถือว่าผิด พอเปลี่ยนมาบัตรใบเดียวเอาผู้สมัครเป็นหลัก พรรคถูกลดความสำคัญลง เท่ากับเอาพรรคไปแอบหลังผู้สมัคร”
“แล้วฟันธงไว้เลยว่าถ้าระบบนี้เดินหน้าต่อไปสิ่งที่จะเกิดขึ้นประการแรกคือ ประมูลตัวผู้สมัครที่มีฐานเสียงแข็งแรงมาก ทีท่าว่าจะได้รับเลือกตั้งแน่นอน โดยเฉพาะพรรคที่ตั้งขึ้นมาใหม่ ฟันธงได้เลยว่าสิ่งนี้เกิด”
“บัญญัติ” ทำนายต่อว่า ถ้าบังเอิญร่างรัฐธรรมนูญผ่านประชามติ-ประกาศใช้-มีการเลือกตั้ง ห้วงเวลาที่ปั่นป่วนที่สุดคือช่วงการจัดตั้งรัฐบาล เพราะพรรคใหญ่ 2 พรรค ทั้งเพื่อไทย และ ปชป. จะถูกทอนกำลังจากระบบเลือกตั้งใหม่ สวนทางกับพรรคขนาดกลางที่จะได้จำนวนเสียง ส.ส.เพิ่มขึ้น อำนาจการต่อรองจับขั้วจัดตั้งรัฐบาลก็เพิ่มขึ้นทวีคูณ
“เมื่อพรรคใหญ่ลดลง พรรคก็จะมีมากขึ้น การตั้งรัฐบาลก็จะมีมากพรรค พวกผมมีประสบการณ์มาแล้ว ตั้งรัฐบาลกับพรรคนั้น พรรคโน้นมาหลายครั้งหลายหน พบความจริงว่าเวลาพรรคแกนนำมีพรรคร่วมรัฐบาลเยอะๆ ปวดหัวที่สุด นโยบายหลักๆ ไม่มีทางได้ทำ เพราะพรรคนั้นก็จะทำเรื่องนี้ พรรคนี้ก็จะทำเรื่องนั้น มั่วไปหมด ไม่สนองการต่อรองเดี๋ยวรัฐบาลก็แตกหักอยู่ร่วมกันไม่ได้”
ทว่า จุดอ่อนที่อันตรายมากกว่าระบบเลือกตั้ง และเป็นจุดอ่อนอันน่ากลัวที่สุดในสายตานักการเมืองเก๋าประสบการณ์ คือ จุดอ่อนที่ร่างรัฐธรรมนูญไม่สามารถแก้ไขได้
“บัญญัติ” กล่าวว่า การทำจุดอ่อนอื่นที่มีอยู่แล้วกลายเป็นจุดอ่อนถาวรไม่สามารถแก้ไขได้ คือ การไปกำหนดให้รัฐธรรมนูญแก้ไขยาก จนเกือบจะแก้ไม่ได้เลย เพราะจะแก้รัฐธรรมนูญในวาระแรกได้จะต้องมี ส.ว.รับรองจำนวน 1 ใน 3 ถ้า ส.ว.เลือกกันเอง 20 กลุ่มอาชีพเช่นนี้ คนคิดจะแก้รัฐธรรมนูญกลับสู่การเลือกตั้ง ส.ว. ปิดสนิทเลย เป็นไปได้อย่างไรที่ ส.ว.สรรหาจะไปรับรัฐธรรมนูญเรื่องแก้ ส.ว.”
“ที่หนักไปกว่านั้น ทุกพรรคการเมืองที่มีที่นั่งในสภา จะต้องเห็นด้วยอย่างน้อย 1 ใน 10 ทำลายหลักการ เพราะเมื่อ ส.ส. บวก ส.ว. มี 700 คน คน 685 คนเห็นว่าควรแก้รัฐธรรมนูญในเรื่องนี้ แต่มี 15 คนไม่เห็นด้วย คุณแก้ไม่ได้ ผมว่าเป็นจุดอ่อนอย่างแรงที่สุด เพราะทำให้จุดอ่อนอื่นๆ ที่คนดูแล้วให้ผ่านไปก่อนค่อยแก้ไขทีหลังเกิดขึ้นไม่ได้ ผมไม่เข้าใจว่าทำไปเพื่ออะไร กรธ. ควรถอยเรื่องนี้”
แม้สัญชาตญาณการเมืองของ “บัญญัติ” จะอ่านเกมการเมืองในอนาคตขาดทะลุปรุโปร่ง แต่ท่าที ปชป. ต้นสังกัดเขายังออกอาการ “แทงกั๊ก” แบ่งรับแบ่งสู้ เพราะมีทั้ง “ชมปนด่า” ไม่ชัดเจนทางใดทางหนึ่ง ต่างจากคู่อริการเมืองอย่างพรรคเพื่อไทย ที่แสดงเจตนารมณ์ย้ำจุดยืนว่าอยู่ตรงข้ามร่างรัฐธรรมนูญมีชัย
อดีตหัวหน้าพรรค “บัญญัติ” จึงไขคำตอบว่าทำไมถึงเป็นเช่นนั้น
“คนโวยวายกันมากว่ายังไม่เห็นพรรคแสดงออกอะไร ที่ชมเขาก็มี วิจารณ์เขาก็มี อันนี้เป็นเรื่องธรรมดา อันไหนดีก็บอกว่าดี อันไหนไม่ดีก็บอกไม่ดี”
“พรรคการเมืองไม่ละเลย วันนี้แสดงความคิดเห็นบ้างพอสมควร ไม่อยากให้บรรยากาศขุ่นมัว แต่ในทันทีที่รัฐธรรมนูญจะลงสู่เวทีการทำประชามติ ถึงเวลาเข้าด้ายเข้าเข็ม ถึงเวลาที่ความเป็นความตายจะปรากฏขึ้น วันนั้นทุกคนก็ต้องช่วยกันให้ความเข้าใจกับประชาชน แต่จะไปปลุกระดมให้ประชาชนมาคว่ำกันเถอะ มาคว่ำกันเถอะ คงไม่ถึงขนาดนั้น อาจบอกประชาชนให้รู้ว่าในความรู้สึกของเราซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ยาวนาน เราเห็นแล้วว่ารัฐธรรมนูญดีตรงไหน ไม่ดีตรงไหน รับได้หรือไม่ได้ด้วยเหตุผลอย่างไร แล้วให้ประชาชนตัดสินเอาเอง”
เขาลั่นวาจาว่า “ถ้าไม่ทำเช่นนั้นก็จะทรยศต่ออุดมการณ์ประชาธิปไตย ทรยศต่อชาวบ้าน”
แต่ในทางกลับกัน คำครหาที่เป็นชนักติดหลังกับพรรคเก่าแก่ในรอบ 2 ทศวรรษคือ ปชป. เป็นพรรคที่ไม่ชนะการเลือกตั้ง แต่รอ “ส้มหล่น” เป็นรัฐบาล เพราะผลพวงจากการรัฐประหาร และมีรัฐธรรมนูญที่เอื้อประโยชน์ ปชป. มีเหตุผลอะไรที่จะคว่ำรัฐธรรมนูญ?
“บัญญัติ” แย้งทันทีว่า “การทำการเมืองจะมาคิดแต่ผลประโยชน์ที่พรรคการเมืองจะได้อย่างเดียวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ถ้าคิดแต่เพียงเราได้ประโยชน์แล้วรับได้ ถ้าเสียประโยชน์กับเราแต่สังคมได้ประโยชน์กลับไม่รับ หรือสังคมเสียประโยชน์แต่เราได้ประโยชน์เรารับ เราก็แย่ ความที่ทำให้พรรคการเมืองนี้ได้ชื่อว่าเป็นสถาบันการเมืองผมคิดว่ามันก็ไร้ประโยชน์ ไปทำอย่างนั้นไม่ได้”
“และไปคิดถึงเรื่องส้มหล่นคงไม่ได้ มันก็ไม่ใช่พรรคการเมือง พรรคการเมืองต้องเตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ เตรียมยืนอยู่บนขาตัวเองอย่างแข็งแรงภายใต้การสนับสนุนของประชาชน นั่นคือจะเป็นทิศทางที่ถูกต้อง ส่วนผลที่เกิดขึ้นตามมาอย่างไรค่อยว่าอีกที”
แม้ว่าพรรคประชาธิปัตย์จะยังไม่แสดงจุดยืนชัดเจนว่าจะ “รับ” หรือ “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญมีชัย
แต่สัญญาณต่อร่างรัฐธรรมนูญของ “บัญญัติ” อดีตหัวหน้าพรรคคนที่ 7 ในพรรคอายุ 70 ปี ตกผลึกแล้วว่า “แบ่งสู้มากกว่าแบ่งรับ”

ไม่มีความคิดเห็น: