PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

สนช.ลงมติพรบ.แก้ป.วิอาญาป้องกันจำเลยหนีการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาล

วันนี้ที่ 15 กันยายน 2559 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้ลงมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติให้แก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 198 และมาตรา 216 อันเป็นบทบัญญัติที่เกี่ยวด้วยการยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาของจำเลย คือ
.....ตามมาตรา 198 บัญญัติว่า ถ้าจำเลยที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกและไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หากจำเลยอุทธรณ์คำพิพากษาศาลชั้นต้นต่อศาลอุทธรณ์ จำเลยจะต้องมาแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์ มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์
.....การยื่นฎีกาตามมาตรา 216 ก็ให้นำบทบัญญัติในมาตรา 198 มาใช้บังคับคือ ถ้าจำเลยที่ถูกศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกและไม่ได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ หากจำเลยฎีกาคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ต่อศาลฎีกา จำเลยจะต้องมาแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นฎีกา มิฉะนั้นให้ศาลมีคำสั่งไม่รับฎีกา
.....กล่าวโดยสรุปก็คือเมื่อร่างพระราชบัญัติฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จำเลยที่ถูกศาลชั้นต้นพิพากษาลงโทษจำคุกจะยื่นอุทธรณ์ หรือศาลอุทธรณ์พิพากษาลงโทษจำคุกจะยื่นฎีกา ถ้าจำเลยมิได้ถูกคุมขังอยู่ในเรือนจำ จำเลยจะต้องไปแสดงตัวต่อเจ้าพนักงานศาลในขณะยื่นอุทธรณ์หรือยื่นฎีกา มิฉะนั้นศาลจะมีคำสั่งไม่รับอุทธรณ์หรือฎีกา
.....ต่อจากนี้ไปจำเลยที่หลบหนีการลงโทษจำคุกตามคำพิพากษาของศาลจะให้ทนายความยื่นอุทธรณ์หรือฎีกาแทนไม่ได้อีกแล้ว
.....การแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาดังกล่าว เป็นแก้ไขให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติวิธีพิจารณาคดีศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบที่ได้บัญญัติในเรื่องการยื่นอุทธรณ์และยื่นฎีกาไว้ในทำนองเดียวกันและมีผลใช้บังคับแล้ว
.....สภานิติบัญญัติแห่งชาติควรแก้ไขเพิ่มประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา ในบทบัญญัติส่วนที่เกี่ยวกับคดีที่ราษฎรเป็นโจทก์ด้วยว่า ถ้าจำเลยที่หลบหนีการลงโทษตามคำพิพากษาของศาล ห้ามมิให้เป็นโจทก์ฟ้องคดีต่อศาล เพราะเมื่อตนเองไม่ยอมรับโทษตามคำพิพากษาของศาล ก็ไม่ควรให้มีสิทธิฟ้องบุคคลอื่นต่อศาลได้

ไม่มีความคิดเห็น: