PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพฤหัสบดีที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2559

เร่งแต่งตั้ง‘สังฆราช’ หึ่ง!สนช.จ่อดัน3วาระรวดแก้พรบ.สงฆ์ยึดหลักจารีต

(ข้อมูลข่าวเดิม28/12/59)

“ออมสิน” วอน “พระประสาร” อย่าปลุกม็อบค้านแก้ พ.ร.บ.สงฆ์ ปล่อยให้เป็นหน้าที่ สนช. ด้านวิป สนช.ปัดโยนเป็นเรื่องพระราชอำนาจ แจงขั้นตอนนายกฯ เสนอชื่อ เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการ "สมชาย" ยันยึดจารีตประเพณี ให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช และแก้ปัญหาการตีความ เตือนม็อบต้านระวังผิด พ.ร.บ.ชุมนุมฯ หึ่ง! สนช.เล็งดันพิจารณา 3 วาระรวด ชี้แก้มาตราเดียวไม่ต้องตั้ง กมธ.วิสามัญ "พระประสาร" ลั่นไม่มีทางเลือก พร้อมปลุกม็อบทั่วประเทศคัดค้าน "จักรทิพย์" ไม่ยืนยัน "ธัมมชโย" เผ่นหนีแล้ว
ที่ทำเนียบรัฐบาล วันที่ 28 ธันวาคม นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ (พศ.) กล่าวถึงกรณีสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) 84 คน ลงชื่อเสนอขอแก้ไขพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ.2535 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 โดยให้การแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชเป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ว่า ให้เป็นเรื่องของ สนช.ที่จะดำเนินการแก้ไขกฎหมาย ต้องรอให้ สนช.พิจารณาให้เสร็จสิ้นก่อน เท่าที่ทราบ สนช.จะพิจารณาในวันที่ 29 ธ.ค. ซึ่งตนจะเข้าไปร่วมฟังด้วย
ส่วนกรณีที่พระเมธีธรรมาจารย์ หรือเจ้าคุณประสาร เลขาธิการศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ (ศพศ.) เตรียมปลุกม็อบพระเพื่อคัดค้านการแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์นั้น นายออมสินกล่าวว่า รัฐบาลไม่อยากให้เกิดความวุ่นวาย และไม่อยากให้ตีตนไปก่อนไข้ เพราะคงไม่มีอะไรมาก อย่าเพิ่งไปปลุกม็อบเลย คนไทยด้วยกันทั้งนั้น ต้องทำให้เกิดความรักสามัคคีกัน ทุกคนรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์เหมือนกัน
ผู้สื่อข่าวถามว่า จะไปคุยกับมหาเถรสมาคม (มส.) เพื่อทำความเข้าใจเรื่องนี้หรือไม่ นายออมสินกล่าวว่า เท่าที่ติดตามจากสื่อ ไม่มีอะไรตื่นเต้น คงไม่ต้องพูดกัน เพราะอยู่ในขั้นตอนของ สนช.
เมื่อถามว่า การเสนอชื่อสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ เจ้าอาวาสวัดปากน้ำ ภาษีเจริญ ที่ มส.มีมติและเสนอผ่าน รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรีคนเก่า หากการแก้ไขกฎหมายครั้งนี้ผ่าน จะถือว่าชื่อตกไปเลยหรือไม่ นายออมสินกล่าวว่า ไม่ทราบ ต้องไปถามนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรีที่ดูแลเรื่องนี้มานาน
ด้าน นพ.เจตน์ ศิรธรานนท์ โฆษกวิป สนช. 1 ใน 84 สนช.ที่เข้าชื่อขอเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ฉบับปี พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7 กล่าวว่า ในวันที่ 29 ธ.ค. ตามที่ สนช.เชิญนายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะที่กำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติมานั้น เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว 2557 ที่เมื่อสมาชิกสนช.มากกว่า 25 คนเข้าชื่อขอเสนอแก้ไข พ.ร.บ. รัฐบาลต้องมารับไปพิจารณาว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย หากรัฐบาลมีร่างในส่วนของ ครม.อยู่แล้ว ก็ให้นำร่างนั้นมาประกบได้เลย แต่ไม่ใช่เป็นการแก้ไขเพิ่มเติมในส่วนของร่างจาก สนช. และเราจะยึดร่างรัฐบาลเป็นหลัก
"ไม่ใช่พระราชอำนาจ ต้องมีผู้รับสนองพระบรมราชโองการ โดยรัฐบาลหรือนายกรัฐมนตรีต้องเสนอชื่อขึ้นไป พระองค์ทรงลงพระปรมาภิไธย พระองค์จะไม่ลงมาเสนออะไรเองทั้งสิ้น เรื่องนี้จึงไม่ใช่เรื่องพระราชอำนาจ" นพ.เจตน์กล่าวถึงกรณีพระเมธีธรรมาจารย์แสดงความไม่เห็นด้วย พร้อมตั้งคำถามการแก้ไขถ้อยคำเท่ากับเป็นการโยนให้เป็นเรื่องของพระราชอำนาจใช่หรือไม่
เมื่อถามว่า เจ้าคุณประสารขู่ว่าหากยังมีการเดินหน้าต่อไป อาจจะมีพระสงฆ์ผู้ไม่เห็นด้วยออกมาต่อต้าน โฆษกวิป สนช.กล่าวว่า ก็คงปล่อยท่านไป เพราะต้องแสดงท่าทีเช่นนั้นอยู่แล้ว เรื่องนี้คงมีผู้เห็นต่าง ถือเป็นเรื่องปกติ เราก็ต้องชี้แจง ทำความเข้าใจไป ขณะนี้อยากให้พิจารณาปัญหาบ้านเมืองดู ทั้งนี้ ในรายละเอียดก่อนจะมีความเห็นแก้ไขออกมา มีการศึกษามากมาย ทั้งผู้เสนอร่างกรรมาธิการการศาสนาฯ จึงมีการเสนอร่างออกมา เมื่อ สนช.เห็นด้วยเลยเข้าชื่อแก้ไข ที่เราทำลงไปผ่านการศึกษามาแล้ว เพื่อต้องการผ่าทางตัน ส่วนเรื่องนี้อาจขยายกลายเป็นความขัดแย้งหรือไม่ ก็เป็นหน้าที่สภาที่จะทำเรื่องนี้ ถ้ามีปัญหาก็ต้องแก้กันไป เราก็รับฟัง
ยึดจารีตประเพณี
ถามอีกว่า หลังการหารือวันที่ 29 ธ.ค. สนช.จะกำหนดวันประชุมเพื่อพิจารณาวาระเรื่องนี้อย่างเร่งด่วนหรือไม่ นพ.เจตน์กล่าวว่า ยังไม่อยากพูดเลยไป หลังจากรับฟัง รัฐบาลต้องทำหนังสือตอบกลับมาภายใน 30วัน แต่อาจจะใช้เวลา 1-2 วันตอบกลับมาก็ได้ ขอรอฟังจากรัฐบาลก่อน ส่วนรายชื่อ สนช.ที่เสนอแก้ไข 84 คน นั้นเป็นความสมัครใจที่ต้องการแก้ทางตันของการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช โดยไม่มีใครมาสั่งการแต่อย่างใด
ส่วนนายสมชาย แสวงการ สนช. และ 1 ใน 84 สนช. ที่ยื่นเสนอรายชื่อแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ กล่าวว่า กมธ.การศึกษาฯ ของ สนช.ศึกษาประเด็นข้อกฎหมายดังกล่าวมา 2 ปี ในเรื่องการตีความมาตรา 7 ที่มีปัญหาในประเด็นแรกว่า ในมาตรา 7 วรรคแรก อำนาจการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นของมหาเถรสมาคม หรือของนายกฯ รวมทั้งมาตรา 7 วรรค 2 ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่นผู้มีอาวุโสโดย สมณศักดิ์รองลงมา ตามลำดับ และสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ ขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช เป็นเงื่อนไขปิดล็อกจนเกินไป ไม่ยืดหยุ่นในการพิจารณาถึงความเหมาะสม
"ดังนั้น สนช.จึงเห็นว่าควรแก้ไขไปใช้กฎหมายแบบเดิม โดยยึดหลักจารีตประเพณี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2484 ที่อำนาจการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชเป็นของพระมหากษัตริย์ ซึ่งใช้มาตลอด และไม่มีปัญหาแต่อย่างใด อีกทั้งเมื่อดูมาตรา 11 ในกรณีสมเด็จพระสังฆราชพ้นจากตำแหน่ง ใน (4) ที่ระบุว่า พระมหากษัตริย์ทรงพระกรุณาโปรดให้ออก ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามหลักการของกฎหมายมาตรา 7 การสถาปนาก็ควรจะเป็นอำนาจของพระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชด้วยเช่นกัน จึงจะถูกต้องตามหลักการ"
นายสมชายกล่าวด้วยว่า เราแก้กฎหมายโดยพิจารณาความถูกต้อง ไม่ได้ดูเรื่องที่เกี่ยวกับตัวบุคคล กรณีพระเมธีธรรมาจารย์ จะออกมาแสดงความไม่เห็นด้วย ก็สามารถทำได้ และ สนช.ก็รับฟัง แต่ก็หากไปชุมนุมหรือเขย่ารถ สร้างความวุ่นวาย ก็อาจจะมีความผิดตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ 2558 ได้
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันที่ 29 ธ.ค.นี้ จะมีการประชุม สนช. โดยมีระเบียบเรื่องร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ (ฉบับที่...) พ.ศ.... ซึ่งเสนอโดย พล.ต.อ.พิชิต ควรเดชะคุปต์ สมาชิก สนช.และคณะ รวม 84 คน โดยการประชุมในครั้งนี้ จะเป็นการประชุมเพื่อแจ้งให้รัฐบาลรับทราบ เพื่อให้รัฐบาลนำกลับไปพิจารณาอีกครั้ง
ทั้งนี้ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวมีสาระสำคัญคือ การบัญญัติให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง และให้นายกรัฐมนตรีลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ จากเดิมที่ พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ. 2535 กำหนดให้สถาปนาสมเด็จพระสังฆราชนั้นจะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมก่อน โดยให้ที่ประชุมมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ และนำขึ้นทูลเกล้าฯ ถวายเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช
สนช.ดัน 3 วาระรวด
สำหรับรายชื่อสมาชิก สนช.ที่ร่วมกันลงชื่อประกอบด้วย 1.พล.ต.อ.พิชิต เป็นแกนนำ โดยคณะผู้เสนอร่างพ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ได้มีการแจ้งไปยังคณะกรรมาธิการวิสามัญกิจการ สนช. (วิป สนช.) ว่ามีสมาชิก สนช.ร่วมลงชื่อทั้งหมด 84 คน แต่จากการตรวจสอบเอกสารของเจ้าหน้าที่ พบว่ามีสมาชิก สนช.ลงชื่อซ้ำ และมีสมาชิกหลายคนลงชื่อไม่ทัน เนื่องจากเร่งรีบในการเสนอร่างกฎหมาย โดยสมาชิกที่ลงชื่อซ้ำกัน จำนวน 3 คน ได้แก่ 1.นายชูเกียรติ รัตนชัยชาญ 2.พล.อ.ไพโรจน์ พานิชสมัย และ 3.นายอนุวัฒน์ เมธีวิบูลวุฒิ
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวพยายามติดต่อเพื่อสอบถามถึงรายละเอียดของร่างกฎหมายดังกล่าว แต่ปรากฏว่า พล.ต.อ.พิชิต ผู้เสนอแก้ไขกฎหมาย ไม่รับโทรศัพท์และติดต่อไม่ได้ตลอดทั้งวัน
อย่างไรก็ตาม มีแหล่งข่าวแจ้งว่า ในวันที่ 29 ธ.ค.จะมีสมาชิก สนช.เตรียมเสนอให้ สนช.ดำเนินการพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว เป็นวาระที่ 1 เพื่อรับหลักการโดยทันที จากเดิมที่วิป สนช.มีมติว่าจะเป็นเพียงการเสนอให้รัฐบาลรับทราบ และดำเนินการส่งร่าง พ.ร.บ.กลับมายัง สนช. ในนามคณะรัฐมนตรีภายหลังเท่านั้น เนื่องจากกลุ่มสมาชิก สนช.ที่ร่วมกันเสนอกฎหมายพิจารณาแล้วเห็นว่า มาตรา 14 ของรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 และข้อบังคับการประชุม สนช.เปิดโอกาสให้สมาชิก สนช.เสนอร่าง พ.ร.บ.เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของ สนช. ตั้งแต่ขั้นรับหลักการในวาระที่ 1 ได้ทันที โดยมาตรา 14 ระบุว่า “ร่าง พ.ร.บ.ที่เสนอโดยสมาชิก สนช.นั้น คณะรัฐมนตรีอาจขอไปรับพิจารณาก่อน สนช.จะรับหลักการก็ได้”
นอกจากนี้ แหล่งข่าวจาก สนช.เปิดเผยว่า จะมีสมาชิก สนช.เตรียมเสนอให้พิจารณาร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวให้เสร็จทั้ง 3 วาระภายในวันเดียว โดยไม่ต้องตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาในรายละเอียด และเสนอกลับมายังที่ประชุม สนช.ตามขั้นตอนตามปกติ เพราะเห็นว่าร่าง พ.ร.บ.ที่มีการเสนอนั้นมีการแก้ไขร่าง พ.ร.บ.คณะสงฆ์ พ.ศ.2535 เพียงหนึ่งมาตราเท่านั้น ทั้งนี้ รอสัญญาณจาก ครม.เพียงอย่างเดียวว่าจะให้ดำเนินการอย่างไร
พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม แกนนำ สนช. 1 ใน 84 สนช.ที่ร่วมลงชื่อ กล่าวว่า โดยปกติแล้ว กระบวนการพิจารณากฎหมายของ สนช.จะมี 2 ช่องทาง คือ 1.หากสนช.ร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย หรือการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ต่างๆ แล้วมีการเสนอเข้าที่ประชุม สนช. เมื่อ สนช.ลงมติแล้ว หากรัฐบาลเห็นชอบด้วยกับ สนช. ก็จะรับไปดำเนินการตามขั้นตอน แล้วต้องส่งร่างดังกล่าวกลับมาที่ สนช.ภายในไม่เกิน 30 วัน จากนั้นก็เสนอเข้าที่ประชุม สนช.ให้พิจารณาตามขั้นตอนปกติ และช่องทางที่ 2.หาก สนช.เสนอร่าง พ.ร.บ. หรือเสนอแก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.ใดๆ แล้ว รัฐบาลไม่รับดำเนินการต่อ ทาง สนช.ที่เป็นฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องคุยกันว่าจะเอาอย่างไร ซึ่งในร่างนี้ มันมีแค่มาตราเดียว ก็ขึ้นอยู่กับว่า สนช.จะทำอย่างไร หากเห็นว่า สนช.ควรดำเนินการต่อ ก็ต้องมีมติต่อไปว่าจะทำไปตามขั้นตอน คือให้ตั้งกรรมาธิการวิสามัญฯ แล้วก็พิจารณากันในวาระที่ 2 และ 3 ตามขั้นตอนปกติ กับอีกหนึ่งทางคือ จะเห็นชอบให้ตั้งกรรมาธิการเต็มสภาพิจารณาไปเลย ต้องดูมติ สนช.ว่าจะเอาอย่างไร
"ตอนที่มี สนช.มาขอให้ร่วมลงชื่อ ก็มีการสอบถามเหตุผลในการเสนอแก้ไขมาตรา 7 ดังกล่าว ก็ได้รับคำชี้แจงถึงเหตุผลต่างๆ โดยหลักคือเพื่อแก้ปัญหาที่เป็นอยู่ตอนนี้ ซึ่งพอฟังแล้วก็เห็นด้วย เพราะเรื่องนี้ หากจำกันได้ เป็นแนวทางที่ หลวงตามหาบัวท่านเคยเสนอไว้นานแล้วในเรื่องการถวายคืนพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราช ทั้งหมดก็ต้องรอดูในการประชุมวันพฤหัสบดีนี้ เพราะพอฟังเหตุผลแล้วก็เห็นว่าแนวทางนี้จะแก้ปัญหาในปัจจุบันได้ เพราะเมื่อเกิดปัญหา แต่ตามกฎหมายต้องใช้ลำดับอาวุโส แต่หากแก้กฎหมายให้เป็นเรื่องพระราชวินิจฉัย ก็อาจแก้ปัญหาได้" พล.อ.สมเจตน์ กล่าว
เช้าวันเดียวกัน ที่ศูนย์บริการประชาชน สำนักงาน ก.พ. น.อ.(พิเศษ) คัมภีร์ คัมภีรญาณนนท์ เลขาธิการพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย ในนามผู้แทนองค์กรพุทธ 48 องค์กร แถลงข่าวปกป้องพระพุทธศาสนา เรียกร้องรัฐบาลหยุดกระบวนการดำเนินคดีกับพระธัมมชโย อดีตเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย และขอให้ สนช.หยุดพิจารณาแก้ไข พ.ร.บ.สงฆ์ พ.ศ.2505 แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ.2535 ในมาตรา 7
โดยระบุว่า ตนเองและคณะได้ยื่นทูลเกล้าฯ ถวายฎีกาผ่านราชเลขานุการในพระองค์ฯ เพื่อขอให้นำความขึ้นกราบบังคมทูลสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ขอพระบารมีปกเกล้าฯ แก้ไขวิกฤติพระพุทธศาสนาแล้ว โดยได้กราบบังคมทูลขอพระบารมีปกเกล้าฯ ดังนี้ 1.โปรดให้รัฐบาลหยุดใช้กฎหมายและการกระทำที่ไม่เหมาะสมต่อพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วคราว 2.โปรดให้ สนช.ระงับการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วคราว 3.โปรดให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องหยุดการดำเนินคดีเกี่ยวเนื่องกับพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนาเป็นการชั่วคราว 4.โปรดให้จัดตั้งคณะกรรมการส่งเสริมและพิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งชาติ
น.อ.(พิเศษ) คัมภีร์กล่าวว่า ยังเสนอรัฐบาลให้จัดสังคายนาพระพุทธศาสนา โดยจัดตั้งศาลสงฆ์เพื่อพิจารณาคดีที่เกี่ยว เนื่องกับพระภิกษุสงฆ์และพระพุทธศาสนา ประกอบด้วย พระภิกษุสงฆ์ ตุลาการ พุทธศาสนิกชนผู้มีความรู้และความยุติธรรมเข้าร่วมพิจารณาคดี ดำเนินการในเรื่องอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
"ประสาร"ปลุกม็อบต้าน
ทางด้านพระเมธีธรรมาจารย์ ได้โพสต์เฟซบุ๊กส่วนตัว กรณี 84 สนช.เข้าชื่อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.คณะสงฆ์ โดยมีความเห็นแย้ง ว่า พ.ร.บ.คณะสงฆ์ในปัจจุบัน ในมาตรา 7 เขียนไว้ว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชองค์หนึ่ง" ขอถามว่า ความหมายตามความใน พ.ร.บ.คณะสงฆ์ ในปัจจุบันนี้ อำนาจการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชในปัจจุบันเป็นของพระองค์ท่านหรือไม่ และเพื่อแก้ไขความขัดแย้งนั้น ถามท่านว่า ที่ผ่านมาใครขัดแย้งกับใคร บอกมาให้ชัดเจน ยกตัวอย่างให้เห็นเป็นรูปธรรม เพราะเรื่องนี้เป็นเรื่องใหญ่ อย่าพูดอะไรลอยๆ แล้วที่ทำแบบนี้มันจะลดความขัดแย้งได้จริงหรือไม่
"วันนี้ที่เห็นว่ามีความขัดแย้ง ก็เพราะมีกลุ่มคนบางกลุ่ม บางพวก และฝ่ายกุมอำนาจรัฐจับมือกันเข้ามาก้าวก่าย วุ่นวายในกิจการภายในของคณะสงฆ์จนทำให้เกิดมีความขัดแย้งกันขึ้น แล้วชี้มือให้สังคมเห็นว่า เป็นไงคณะสงฆ์มีความขัดแย้งกัน โดยเฉพาะปมการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช ฉันจะเข้าไปแก้ปัญหาให้นะ ปัญหาทั้งปวงก็จะยุติ จึงมีการเซ็ตเรื่อง เซตคน เซตปัญหาทั้งหลายทั้งปวงให้เกิดขึ้น แล้วก็โยนบาปมาให้คณะสงฆ์ ตัวเองก็จะเป็นอัศวินม้าขาวเข้ามาแก้ปัญหา และวิธีที่ท่านกำลังคิดและร่วมกันทำอยู่ในขณะนี้ มีแต่จะนำพาความขัดแย้งวุ่นวายสับสนมาสู่คณะสงฆ์และสังคมไทย"
พระเมธีธรรมาจารย์ระบุว่า เพื่อตัดอำนาจมหาเถรสมาคมออกไป เรื่องนี้ไม่มีปัญหาใดๆ เพราะ มส. ท่านก็ไม่ได้หวงอำนาจใดๆ ของท่านอยู่แล้ว ถ้าหากว่าสิ่งเหล่านั้นจะเป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ ยุติธรรม เรียบร้อย ดีงาม ถูกต้องและชอบธรรม จึงขอให้ถามใจของท่านเองว่า ที่ท่านทำอยู่นี้ ทำเพื่ออะไร บริสุทธิ์ใจจริงหรือไม่ ซึ่งถ้าท่าน สนช.จะอ้างกันแบบนี้ ในปัจจุบันนี้ความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งนายกรัฐมนตรีก็มีสูงมากขึ้นทุกวันๆ ซึ่งการแก้ไขปัญหาก็ไม่เห็นมีใครเสนอให้ใช้วิธีการตัดอำนาจขั้นตอนการเสนอรายชื่อนายกรัฐมนตรีออกจากอำนาจของสภา เพื่อไม่ให้เกิดความขัดแย้งอย่างที่นำมาอ้างกันเลย
"ท่านประธานคณะกรรมาธิการฯ โฆษกฯ และสมาชิก สนช.ทั้ง 84 ท่าน ถ้าท่านคิดว่าการแก้ปัญหาด้วยวิธีนี้เป็นสิ่งที่ถูกต้อง แก้ปัญหาได้ตรงจุด ท่านกำลังคิดผิดอย่างมหันต์ คิดผิดจริงๆ อาตมาจึงขอเตือนท่านด้วยความปรารถนาดี แต่ถ้าท่านคิดว่าเรื่องนี้เป็นอำนาจอันชอบธรรมของท่าน ท่านจะเดินหน้าในเรื่องนี้แน่นอน ถ้าเช่นนั้น อาตมา องค์กรพุทธ และพระสงฆ์ทั่วประเทศ ก็จะเดินหน้าในเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน ไม่มีทางเลือกอื่น และขอฝากเรื่องนี้ไปถึงรัฐมนตรีออมสิน ชีวะพฤกษ์ และคณะรัฐมนตรีในรัฐบาลทุกท่านด้วย" เจ้าคุณประสารระบุ
ส่วนความเคลื่อนไหวที่วัดพระธรรมกาย ต.คลองสาม อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี ช่วงเช้า เข้าสู่ภาวะปกติ หลังจากกำลังเจ้าหน้าที่ชุดควบคุมฝูงชนเข้ารื้อถอนแผงเหล็กที่รุกล้ำพื้นที่สาธารณะ บริเวณประตู 5 เมื่อวันที่ 27 ธ.ค.ที่ผ่านมา
"แป๊ะ" ลั่นพร้อมรื้ออีก
สำหรับบรรยากาศโดยทั่วไป ยังคงมีศิษยานุศิษย์เดินทางมาร่วมสวดธัมมจักกัปปวัตตนสูตร ในช่วงเช้าบริเวณประตู 7 ซึ่งเป็นประตูหลัก ได้เปิดให้ใช้งานเข้า-ออกได้ตามปกติ โดยมีเจ้าหน้าที่ รปภ.ยังคงตรวจตรากับบุคคลที่จะเข้าไปในวัดอย่างเข้มงวดเหมือนเดิม แต่ก็ยังไม่อนุญาตให้สื่อมวลชนเข้าไปทำข่าวภายในวัดพระธรรมกายเหมือนเช่นก่อน
ด้าน พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) กล่าวกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้ารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างกีดขวางทางสาธารณะ สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชน บริเวณประตู 5 วัดพระธรรมกาย ว่าผลการปฏิบัติเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากวัตถุประสงค์ต้องการรื้อถอนสิ่งกีดขวางทางสาธารณะเท่านั้น ไม่ใช่การเข้าจับกุมพระธัมมชโย และจะพิจารณารื้อถอนสิ่งปลูกสร้างในจุดอื่นเพิ่มเติม ซึ่งหากมีการฝ่าฝืนนำสิ่งปลูกสร้างมากีดขวางทางสาธารณะอีก ก็จะดำเนินคดี รวมถึงลูกศิษย์ที่ขัดขวางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ด้วย โดยย้ำว่าการปฏิบัติการของตำรวจครั้งนี้ทำเพื่อประชาชน
ผบ.ตร.กล่าวว่า ส่วนการเข้าขอหมายค้นวัดพระธรรมกาย และจับกุมพระธัมมชโย ตำรวจอยู่ระหว่างทบทวนช่วงเวลาที่เหมาะสม ซึ่งจะต้องประสานงานกับกรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือดีเอสไอ และยังไม่ได้รับการยืนยันกระแสข่าวว่าพระธัมมชโยหลบหนีไปอยู่ชายแดนภาคเหนือ ตามที่นักการเมืองได้ออกมาเปิดเผย รวมถึงลูกศิษย์วัดให้สัมภาษณ์ว่าไม่พบพระธัมมชโยตั้งแต่เดือนเมษายน อาจเป็นการมุสา
"โดยส่วนตัวไม่ขอเปิดเผยรายละเอียดส่วนนี้ และไม่มีการตั้งกรอบระยะเวลาในการเข้าจับกุมตัวพระธัมมชโย เนื่องจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี มีความห่วงใยเหตุการณ์ไม่ให้บานปลาย และเชื่อว่าที่ลูกศิษย์วัดออกมาสวดมนต์ที่ถนนเมื่อวานนี้ ถือเป็นหลุมพรางที่ต้องการยั่วยุให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปจับกุมเพื่อให้เกิดเหตุบานปลาย" พล.ต.อ.จักรทิพย์ กล่าว
ก่อนหน้านี้ นายชาญชัย อิสระเสนารักษ์ อดีต ส.ส.นครนายก พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พระธัมมชโยไม่อยู่ที่วัดพระธรรมกาย แต่ยังอยู่ในประเทศไทยทางทิศเหนือจังหวัดใดจังหวัดหนึ่ง
นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะกำกับดูแลสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ กล่าวถึงการจับกุมพระธัมมชโยว่า ได้พูดคุยกับพศ.แล้วเมื่อวันที่ 27 ธ.ค. แต่ยังไม่ได้ลงลึกในรายละเอียด โดยจะต้องคุยกันอีกครั้งหนึ่งหลังปีใหม่ เพราะตนไม่ทราบว่าได้ดำเนินการไปมากน้อยแค่ไหนแล้ว แต่เท่าที่ได้ติดตามข้อมูลอยู่ในขั้นตอนดำเนินการตามกฎหมาย ส่วนตัวเห็นว่าคดีวัดพระธรรมกายต้องอยู่ในกระบวนการขั้นตอนของกฎหมาย.

ไม่มีความคิดเห็น: