PR

@@ในความเคลื่อนไหวของสถานการณ์ที่ปรากฎเป็น"ข่าว"และ"ไม่เป็นข่าว"พยายามสแกนย่นย่อมานำเสนอและเป็นไว้เป็นฐานข้อมูลสังเคราะห์สถานการณ์ ที่นี่ "ข่าวที่ไม่เป็นข่าว"

วันพุธที่ 28 ธันวาคม พ.ศ. 2559

"คสช." งัด "ม.44" แก้ปัญหาเดินรถไฟฟ้า 1 สถานี หลังคมนาคมไม่กล้าชงเรื่องเข้าครม.

"คสช." งัด "ม.44" แก้ปัญหาเดินรถไฟฟ้า 1 สถานี หลังคมนาคมไม่กล้าชงเรื่องเข้าครม. ด้าน "รฟม." เร่งรับลูกเตรียมชงบอร์ดจ้างบีอีเอ็มเดินรถ

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่ากรณีที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)จะใช้อำนาจตามมาตรา 44 ออกคำสั่งเรื่องการดำเนินการส่วนเชื่อมต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีม่วง สถานีบางใหญ่-เตาปูน ช่วง1กิโลเมตรว่าตนยังไม่เห็นคำสั่งดังกล่าวและไม่ได้หารือกับ คสช. เพราะ คสช. สามารถพิจารณาเหตุผลการใช้มาตร 44 ได้เองและขณะนี้คงอยู่ระหว่างการหารือก่อนประกาศใช้ โดยหากมีคำสั่งออกมา ทางกระทรวงคมนาคมก็พร้อมปฏิบัติตาม 

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่าคำสั่งดังกล่าวจะเป็นการปลดล็อกเพื่อเปิดทางให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) สามารถลงนามในสัญญาว่าจ้างบริษัททางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้เดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วง บริหารการเดินรถ 1 สถานีได้ โดยไม่ต้องดำเนินการตามขั้นตอน พ.ร.บ.การให้เอกชนร่วมลงทุนในกิจการของรัฐ (PPP) 

สำหรับข้อเสนอของบอร์ด รฟม. ที่เห็นชอบให้ว่าจ้าง BEM เดินรถช่วง 1 สถานีก่อนนั้น กระทรวงคมนาคมยังไม่ได้เสนอให้ที่ประชุม ครม. พิจารณา เพราะมีการข้อสังเกตว่า ข้อเสนอดังกล่าวอาจขัดกับกฎหมาย PPP เพราะตามขั้นตอนจะต้องรอเสนอพร้อมกับการเจรจาว่าจ้างBEMเข้ามาเดินรถส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้งเส้นทาง 

ขณะนี้ รฟม. ได้สรุปผลการเจรจาว่าจ้างBEMเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินทั้งเส้นทางไปยังสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และสำนักอัยการสูงสุดแล้ว คาดว่าจะใช้เวลาพิจารณา 30 วัน ก่อนส่งเรื่องกลับมายังกระทรวงคมนาคมและเสนอขออนุมัติจาก ครม. 

เตรียมเจรจาจ้าง BEM เดินรถ 

พล.อ.ยอดยุทธ บุญญาธิการ ประธานกรรมการ การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เปิดเผยว่า ได้สั่งการให้ รฟม. เตรียมแผนเจรจาจ้าง BEM เดินรถช่วง 1สถานี ช่วงเตาปูน-บางซื่อแล้ว เพราะBEMเป็นผู้เดินรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงินและรถไฟฟ้าสายสีม่วง หากBEMเดินรถต่อในช่วงเตาปูน-บางซื่อก็จะครบเส้นทางพอดีและถือเป็นวิธีการที่ดีที่สุด 

ถ้าหาก รฟม. ใช้วิธีการเปิดประมูลหาผู้เดินรถรายใหม่ และผู้ที่ชนะการประมูลไม่ใช่BEMก็จะเกิดปัญหาขึ้น เพราะจะถือเป็นคู่สัญญารายใหม่ของ รฟม. และทำให้ผู้ใช้บริการช่วง1สถานีต้องจ่ายค่าแรกเข้าใหม่อีกครั้ง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาระค่าใช้จ่ายให้ประชาชน 

“ขณะนี้นายกรัฐมนตรีเร่งให้เปิดเดิน1สถานีโดยเร็ว แต่ รฟม. ก็ต้องดูเรื่องกฎหมายให้รอบคอบด้วย เพราะขณะนี้มีผู้ร้องคัดค้าน ว่าการที่ รฟม.เจรจากับรายเดิมเป็นการเอื้อประโยชน์และผูกขาด ของเอกชนรายเดียว แต่ รฟม. ก็ยังมองไม่เห็นวิธีอื่นที่ดีกว่านี้ พร้อมยืนยันว่าเป็นการดำเนินงานเพื่อประโยชน์ของประชาชน ไม่ใช่เอกชน”พล.อ.ยอดยุทธ กล่าว 

ทั้งนี้ได้จะเร่งเจรจาว่าจ้างBEMให้เร็วที่สุด โดยตอนนี้การลงทุนและค่าจ้างเดินรถจะเป็นวงเงินเดิมที่เคยศึกษาไว้ คือเงินลงทุนติดตั้งอาณัติสัญญาณ 693 ล้านบาท และค่ารับจ้างเดินรถปีละ52ล้านบาท ส่วน รฟม. จะจัดเก็บค่าโดยสารเอง 

คาดเสนอบอร์ดพิจารณาผลเจรจา11ม.ค. 

พล.อ.ยอดยุทธ คาดว่าจะเสนอผลการเจรจาให้บอร์ด รฟม. พิจารณาได้ในวันที่11ม.ค.นี้และจะเสนอให้ ครม. พิจารณาอนุมัติเห็นชอบเพื่อลงนามในสัญญาจ้างตามลำดับ หลังจากนั้นจะใช้เวลาวางระบบติดตั้งอาณัติสัญญาณ 6 เดือนและทดลองเดินรถอีก2เดือน คาดว่าจะเปิดเดินรถช่วง 1 สถานีได้ในเดือน ส.ค.-ก.ย. 2560 

รฟม.จะว่าจ้าง BEM เดินรถ 1 สถานีจนกว่าจะได้ตัวผู้เดินรถสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง -บางแค และช่วงบางซื่อ-ท่าพระ โดยหากผลการคัดเลือกปรากฏว่า BEM เป็นผู้ชนะการเดินรถ ก็สามารถโอนงานเดินรถ1สถานีให้ BEM ได้เลย แต่หากเป็นรายอื่น รฟม. จะต้องโอนการเดินรถดังกล่าวให้รายใหม่ พร้อมเจรจาเรื่องการแบ่งหนี้และทรัพย์สินด้วย 

พล.อ.ยอดยุทธ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าของการเจรจาเดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินว่า การเจรจาระหว่าง รฟม. และ BEM ได้ข้อยุติในขั้นต้นแล้ว จากนี้จะต้องส่งไปยัง สคร. และกระทรวงคมนาคม ก่อนเสนอเข้า ครม. เพื่อชี้ขาดว่าจะรับผลเจรจาหรือไม่ 

เบื้องต้นคาดว่าจะเสนอเข้า ครม.ได้ในช่วง ม.ค.-มี.ค.ปี2560โดยยังมั่นใจว่าจะเปิดเดินรถได้บางส่วนในปลายปี 2562ได้ และเดินครบทั้งเส้นในปี 2563 

คสช.ออกคำสั่ง‘ม.44’3ฉบับรวด 

พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงภายหลังประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)ว่าในช่วงเช้าที่เป็นการประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ก่อนการประชุมครม. ซึ่งเป็นครั้งที่ 3 ติดต่อกัน มีเรื่องสำคัญที่จำเป็นต้องออกคำสั่งคสช. มาตรา 44ทั้งหมด 3 เรื่อง 

เรื่องแรก การเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการพิจารณาอนุญาตผลิตภัณฑ์สุขภาพ ที่มีความเกี่ยวข้องกับคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่ปัจจุบันพบปัญหาผู้ผลิตทั้งในและต่างประเทศที่จะนำเข้า มีปัญหาในสินค้าที่ผลิตออกมา ไม่ว่าจะเป็น ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ยา เครื่องมือแพทย์ เป็นต้น พบความล่าช้าอย่างมาก ในกระบวนการพิจารณาอนุญาต เพื่อให้ได้ใบรับรองจาก อย. 

“เพราะฉะนั้นคำสั่ง ม.44 ครั้งนี้จะใช้ในกระบวนการพิจารณาให้เกิดความรวดเร็ว สามารถเก็บเงินค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมจากเดิมที่กำหนดได้ เพื่อนำค่าธรรมเนียมเหล่านี้ไปจ้างผู้เชี่ยวชาญต่าง ทั้งในประเทศและต่างประเทศ ให้กระบวนการมันรวดเร็วขึ้น จากการตรวจสอบในปัจจุบันพบว่า มีรายการอาหารที่รออยู่ระหว่างกระบวนการพิจารณาอนุญาต 2,600 ราย เป็นประเภทของยา มีอยู่ 5,700 ราย ” 

เปิดทางเจรจรรายอื่น-ไม่ต้องเข้าทีพีพี 

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า เรื่องที่ 2 เป็นมาตรการแก้ไขปัญหาการเชื่อมต่อโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน (เฉลิมรัชมงคล) จากหัวลำโพง-บางซื่อ และสายสีม่วง จากบางใหญ่-บางซื่อ ซึ่งปัจจุบันสถานีเตาปูน ถึงสถานีบางซื่อรางรถไฟฟ้าพร้อมใช้งานแล้ว แต่ยังไม่มีคนเดินรถ จึงออกคำสั่งให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนกรุงเทพ (รฟม.) ไปจ้างบริษัทเดินรถใดก็ได้ให้เข้ามาดำเนินการในช่วงสถานีดังกล่าวที่ไม่มีผู้เดินรถ ซึ่งอาจจะเป็นบริษัทเจ้าเดิมก็ได้ เพื่อให้ประชาชนเดินทางได้สะดวกขึ้น คำนึงถึงผลประโยชน์ของประชาชนสูงสุด 

“นายกรัฐมนตรีเป็นห่วง ไม่อยากให้มองว่าเป็นการเอื้อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการที่ลงทุน ในรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินที่เดินรถอยู่แล้ว แต่ถ้าคำนึงถึงความเป็นจริง การต้องไปจ้างบริษัทเจ้าอื่นมาดำเนินการมันจะยุ่งยาก ค่าใช้จ่ายกับประชาชนสูงขึ้น ดังนั้นคงจะเป็นเจ้าเดิมมาดำเนินการ และมีข้อตกลงแบ่งสันปันส่วนกัน ซึ่งนายกฯย้ำว่า จะต้องเกิดประโยชน์สูงสุดกับประชาชน และไม่ทำให้รัฐเสียเปรียบ” 

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่ายังได้มีข้อกำหนดว่าหากใช้อำนาจมาตรา44ในเรื่องนี้แล้ว ไม่ต้องไปนำกฎหมายลงทุนร่วมรัฐเอกชน หรือทีพีพี มาใช้ เพื่อให้รวดเร็ว หากการเจรจากับบริษัทเดิมเพื่อให้ได้ในราคาที่ถูกแต่เจรจาไม่สำเร็จ รฟม.สามารถจ้างบริษัทอื่นได้แต่ต้องคำนึงถึงประชาชน และรัฐ 

ตั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ 

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า ส่วนคำสั่งคสช.ฉบับท้ายสุดเป็นเรื่องการแต่งตั้งคณะทำงานปฏิรูปประเทศ ซึ่งตั้งแต่รัฐบาลนี้เข้ามา ในประเด็นการปฏิรูป และยุทธศาสตร์ชาติ ถูกพูดถึงบ่อยครั้ง ได้มีการสัญญากับประชาชน และภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศว่าจะเร่งขับเคลื่อนปฏิรูป และวางยุทธศาสตร์ชาติ แต่รายละเอียดในกฎหมายว่าด้วยวิธีการทำ และจะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 4 เดือน 

พล.ท.สรรเสริญ กล่าวว่า นายกฯอยากให้สิ่งต่าง ๆ ที่สัญญาไว้กับประชาชน รวมถึงที่คสช.และสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศคิดมาเป็นรูปธรรม จึงออกคำสั่งตั้งคณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ ประกอบด้วย นายกฯเป็นประธาน รองนายกฯ เข้ามาร่วมเป็นกรรมการ ประธาน และรองประธานสนช. ประธานและรองประธานสปท. รัฐมนตรี 2 ราย 

"สุดท้ายนี้ท่านนายกฯขอให้ประชาชนไม่ต้องกังวล กับคำสั่งทั้ง 3 ฉบับนี้ เพราะเป็นเรื่องที่แก้ปัญหาทั้งสิ้น ไม่ได้ไปริดรอนใคร” พล.ท.สรรเสริญ กล่าว

ไม่มีความคิดเห็น: